โรคหัด (Measles)


903 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ทั้งตัว  ระบบโรคติดเชื้อ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ไข้  ผื่น 

บทนำ

โรคหัด (มีเซิลส์/Measles หรือ รูบีโอลา/Rubeola) เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่สามารถพบได้ในทุกวัย โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้

โรคหัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ มอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) ซึ่งคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต และโรคนี้มีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงเกือบ 100%

โรคหัดมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอย่างไร?

ถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค เด็กมีโอกาสเป็นหัดได้เมื่อภูมิคุ้มกันที่ผ่านมาจากแม่หมดไปเมื่ออายุประมาณ 6-9 เดือน ทั้งนี้สามารถเป็นได้ทุกอายุ แต่อายุที่พบบ่อยคือ 1-6 ปี ในประเทศไทย เริ่มให้วัคซีนป้องกันหัด เมื่อ พ.ศ. 2527 ทำให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ก็ยังพบโรคได้ประปราย และมีการระบาดเป็นครั้งคราวในชนบท ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน และเป็นเด็กอายุเกิน 5 ปีมากขึ้น

โรคหัดติดต่อกันได้ง่ายมาก แพร่หลายได้รวดเร็ว มักจะพบในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แต่ก็อาจพบได้ประปรายตลอดปี การติดเชื้อเกิดโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส (Air borne transmission) เข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ซึ่งผู้ติดเชื้อจะเกิดโรคเกือบทุกราย

เมื่อไวรัสหัดมาสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกหรือเยื่อบุตา จะมีการแบ่งตัวและลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง และเข้าสู่กระแสเลือด (กระแสโลหิต)ครั้งที่ 1 จากนั้นจะไปแบ่งตัวเพิ่มเติมในเยื่อบุทางเดินหายใจและระบบน้ำเหลือง ม้าม และตับแล้วเข้าสู่กระแสเลือดครั้งที่ 2 ทำให้เกิดผื่นบริเวณผิวหนัง การติดเชื้อทางเดินอาหาร และการติดเชื้อในระบบอื่นๆ ได้

โรคหัดมีอาการอย่างไร?

เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อหัด จะมี ระยะฟักตัว ของโรค โดยถ้านับจากสัมผัสโรคจนมีอาการ (ระยะก่อนออกผื่น) โดยเฉลี่ยประมาณ 8-12 วัน หรือนับตั้งแต่เริ่มสัมผัสโรคจนถึงระยะมีผื่น จะประมาณ 14 วัน

อาการของโรคหัดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะ ก่อนออกผื่นและระยะที่เป็นผื่น

  1. ระยะก่อนออกผื่น เริ่มต้นด้วยมีไข้สูง ต่อมมีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ตาแดง หรือตาแฉะ (3 อาการหลัก) อาการอื่นๆคือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 วัน ก่อนที่จะออกผื่น 1-2 วัน ถ้าสังเกตุให้ดี จะเห็นจุดขาวๆ เล็กๆ เหมือนเกลือป่น มีขอบสีแดง อยู่ภายในกระพุ้งแก้ม ส่วนบริเวณติดฟันกราม ซึ่งเรียกว่า ตุ่มโคปลิค (Koplik spots) เป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัด ซึ่งจะไม่พบในโรคติดเชื้ออื่นๆเลย และเมื่อผื่นขึ้นแล้ว จุดเหล่านี้จะหายไป
  2. ระยะออกผื่น จะเริ่มขึ้นบริเวณใบหน้าชิดขอบผม หลังใบหู ก่อนที่จะกระจายไปตามลำตัว แขน-ขา ลักษณะผื่นเป็นแบบนูนแดง อาจติดกันเป็นปื้นๆใหญ่ เป็นผื่นแบบไม่คัน เมื่อผื่นขึ้นมาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นในระยะแรกมีสีแดง ต่อมามีสีเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง ซึ่งคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุยได้

ผู้ป่วยหัดจะมีเชื้อไวรัสในลำคอและแพร่เชื้อได้ในระยะจาก 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ (3 ถึง 5 วันก่อนผื่นขึ้น) ไปถึงระยะหลังผื่นขึ้นแล้วประมาณ 4 วัน

ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ผื่นจะมีจำนวนมาก และขนาดใหญ่กว่าในเด็ก และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัดและการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียมากกว่าเมื่อเกิดโรคในเด็ก (อ่านในหัวข้อผลข้างเคียงจากโรค)

แพทย์วินิจฉัยโรคหัดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหัดได้จากอาการ ซึ่งรวมถึงลักษณะของผื่น โดยเฉพาะการพบจุดขาวที่กระพุ้งแก้ม และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือ การตรวจเลือด (ซีบีซี) จะพบภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

นอกจากนั้น คือ การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะต่อโรคหัด ได้แก่

  1. การตรวจหาสารภูมิต้านทานโรคหัด (แอนติบอดี/Antibody) ชนิด จี (G) โดยการเจาะ 2 ครั้งเทียบกัน ครั้งแรกเจาะวันที่ 7 หลังมีผื่นขึ้น ครั้งที่ 2 เจาะหลังจากครั้งแรก 10-14 วัน ซึ่งจะพบว่ามีค่าต่างกันมากกว่า 4 เท่า
  2. การตรวจหาสารภูมิต้านทานโรคหัดชนิดเอ็ม (M) โดยให้เจาะตรวจภายในระหว่างวันที่ 4-30 หลังจากมีผื่นขึ้น
  3. การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานของโรคหัด (แอนติเจน/Antigen) ในเสมหะ หรือ สารคัดหลั่งที่ได้จากการป้ายหลังโพรงจมูก หรือ จากปัสสาวะในระยะที่มีไข้ ซึ่งเป็นการตรวจโดยเทคนิคพิเศษและยุ่งยาก จึงมักให้การตรวจในผู้ป่วยที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มักตรวจหาแอนติบอดีไม่พบ

โรคหัดรักษาได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหัด คือ

  1. แนวทางการรักษาหลัก คือ การรักษาแบบประคับประคองตาอาการ เช่น การเช็ดตัว การให้ยาลดไข้ ให้อาหารและน้ำให้เพียงพอ ให้ยาแก้ไอ ขับเสมหะ ถ้ามีอุจจาระร่วงก็ให้น้ำเกลือแร่
  2. การให้วิตามิน เอ (A) เสริมในขนาดสูง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ (ให้การรักษาโดยแพทย์เท่านั้น เพราะอาจก่อผลข้างเคียง คือ ตับอักเสบรุนแรง ปวดศีรษะ และอาเจียน) พบว่าจะช่วยลดอัตราการตายและอัตราการพิการจากผลข้างเคียงจากโรคหัดได้ถึง 50% ดังนั้น แพทย์จะให้การรักษาในผู้ป่วยเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ดังนี้
  3. การให้ยาปฏิชีวนะ ถ้าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น คือ เกิดหูชั้นกลางอักเสบ หรือปอดอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้ำซ้อน
  4. ผู้ป่วยอาการรุนแรงที่มีข้อบ่งชี้เหล่านี้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาสารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ ได้แก่

โรคหัดมีผลข้างเคียงไหม? รุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

เนื่องจากเชื้อไวรัสจากโรคหัด เข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโรคต่างๆนี้เอง ทำให้เมื่อติดเชื้อหัดแล้ว จึงมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียง (ภาวะ/ผลแทรกซ้อน) ต่างๆได้ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะทุพโภชนาการ และในเด็กเล็ก (เด็กกลุ่มนี้ มักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ) โดยแบ่งผลข้างเคียงออกตามระบบ ได้แก่

  1. ระบบทางเดินหายใจ (พบได้บ่อย) เช่น
  2. ระบบทางเดินอาหาร พบอุจจาระร่วงจากลำไส้อักเสบได้บ่อย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ ส่วนในระบบอื่นๆของทางเดินอาหาร เช่น เกิดตับอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ
  3. ระบบประสาท
    • สมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 ใน 1000 รายที่ป่วยเป็นโรคหัด และประมาณ 10% ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต ส่วนผู้ป่วยที่รอดชีวิตส่วนใหญ่จะมีโรคลมชัก และสติปัญญาด้อยลง
    • ภาวะเนื้อสมองอักเสบกระด้าง (พบได้น้อย) พบได้ประมาณ 1 ใน 100,000 ราย ถึง 1 ใน 1,000,000 รายที่ป่วยเป็นโรคหัด โดยเกิดจากการเสื่อมของสมองส่วนกลาง อาการ คือ จะมีปัญหาทางด้านการเรียน สติปัญญาจะค่อยๆด้อยลงไปเรื่อยๆ มีอาการหลงลืม พร้อมๆกับพฤติกรรมที่แปลกไป จนถึงขั้นปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีอาการชักร่วมด้วย ซึ่งเวลาโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ติดเชื้อหัดจนถึงเริ่มต้นเกิดอาการคือประมาณ 10-11 ปี และตั้งแต่เกิดอาการจนถึงเสียชีวิตจะประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะนี้จะเป็นโรคหัดตอนอายุน้อยกว่า 2 ปี
    • ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรงและอาจทำให้ตาบอด

มีวิธีดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นหัด? และจะป้องกันโรคหัดได้อย่างไร?

วิธีดูแลตนเอง และป้องกันโรคหัด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย โดยแยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดจนถึงประมาณ 4 วันหลังผื่นขึ้น

แต่ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ฉีดวัคซีนป้องกัน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยทั้งสองครั้งให้ในรูปของวัคซีนรวม ป้องกันได้สามโรค คือโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน เรียกว่า วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR, M= Mumps/มัมส์/โรคคางทูม M= Measles/มีเซิลส์/หัด และ R=rubella/รูเบลลา/โรคหัดเยอรมัน)

อนึ่งเด็กที่เคยฉีดวัคซีนมาเพียง 1 ครั้ง (ปกติต้องฉีด 2 ครั้งดังกล่าวแล้ว) เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะลดลงจนไม่สามารถป้องกันเชื้อหัด และทำให้เป็นโรคหัดได้

ในบางกรณี แม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็อาจเป็นโรคหัดได้ แต่จะเป็นแบบชนิดที่อาการต่างๆจะเป็นน้อย มีผื่นขึ้นน้อย

สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง อาจพิจารณาให้วัคซีนหัดทันที ซึ่งจะป้องกันการเกิดโรคได้เมื่อยังไม่เคยเป็นหัดมาก่อน และ/หรือ เมื่อไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อเป็นโรคหัด หรือ สงสัยโรคหัด ควรพบแพทย์เมื่อ

  1. มีอาการของหัดค่อนข้างรุนแรง เช่น ไข้สูง ทานอาหารไม่ได้
  2. ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ต้องให้สารภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และ/หรือวิตามินเอ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ แนวทางการรักษา
  3. เมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัดเกิดขึ้น เช่น การกลับมีไข้ขึ้นมาใหม่หลังจากไข้ลงแล้ว ซึ่งปกติแล้วเมื่อผื่นขึ้นมา 2-3 วัน ไข้จะหายไป และ/หรือมีอาการติดเชื้อตามระบบต่างๆ เช่น ปวดหู มีน้ำหนองไหลจากภาวะหูอักเสบ มีอาการไอมีเสมหะมาก หอบเหนื่อย หายใจเสียงดังจากภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจในส่วนต่างๆ มีอาการปวดศีรษะ ซึม ชัก จากภาวะสมองอักเสบ มีอาการอุจจาระร่วงจากลำไส้อักเสบ และมีอาการปวดท้องมากจากไส้ติ่งหรือต่อมน้ำเหลืองในท้องอักเสบ

ที่มา   https://haamor.com/th/โรคหัด/

อัพเดทล่าสุด