เด็กพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือภาวะพูดช้า (Child’s Delayed language or speech development)


1,094 ผู้ชม


ความหมาย

พัฒนาการภาษาล่าช้าหรือภาวะพูดช้า (Child’s delayed language or speech deve lopment) หมายถึง เด็กอายุ 2 ขวบยังไม่เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย หรือเด็กอายุ 18 เดือนยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย ร่วมกับยังไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆได้

พบเด็กพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือพูดช้าบ่อยไหม?

เด็กพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือภาวะพูดช้า

พบเด็กพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือพูดช้าได้ประมาณ 5–8 % ของเด็กอายุ 2–5 ปี ส่วนใหญ่พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 2–3 เท่า

พัฒนาการภาษาหรือการพูดปกติตามวัยเป็นอย่างไร?

การพัฒนาภาษาหรือการพูดปกติของเด็ก ควรเป็นดังนี้

อายุ พัฒนาการภาษา
4–6 เดือน หันหาที่มาของเสียง หัวเราะ ส่งเสียงอ้อแอ้ เล่นน้ำลาย
7-9 เดือน ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ ส่งเสียงยังไม่เป็นภาษา
10–12 เดือน ทำท่าตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบ พูดเป็นคำที่มีความหมาย
18 เดือน ชี้รูปภาพ/อวัยวะตามคำบอกได้ ทำตามคำสั่ง 1 ขั้นได้ พูดคำ 1 พยางค์ได้ 10 คำ
2 ปี พูดคำ 2–3 คำติดกันได้อย่างมีความหมาย
3 ปี พูดเป็นประโยคได้ เล่าเรื่องได้เข้าใจ 50 %
 

อะไรเป็นสาเหตุของพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือพูดช้า?

สาเหตุของพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือภาวะพูดช้า ได้แก่

  1. การได้ยินผิดปกติ เด็กมีพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือพูดช้าโดยไม่เข้าใจคำสั่ง พูดไม่ ได้ ร่วมกับ ไม่ตอบสนองต่อเสียง จ้องมองหน้าหรือริมฝีปากของคู่สนทนา และใช้ภาษาท่า ทางในการสื่อสาร อาจพบปัญหาทางอารมณ์ร่วมด้วยได้คือ ร้องไห้โวยวายเมื่อขัดใจเนื่อง จากไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้ แต่มีทักษะทางสังคมและการเล่นปกติ
  2. ภาวะสติปัญญาบกพร่อง/ปัญญาอ่อน เด็กมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าด้านภาษาร่วมกับพัฒนาการด้านอื่นๆล่าช้าด้วย โดยเฉพาะความสามารถในการใช้ตาและมือทำงานประสานกัน เช่น การร้อยลูกปัด การต่อบล็อกไม้ หรือการวาดรูปทรงเรขาคณิต
  3. ออทิสติก (Autistic child ) เป็นภาวะที่เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าร่วมกับความบกพร่องด้านสังคม ทักษะการเล่นและมีพฤติกรรมหรือความสนใจหรือกิจกรรมที่ซ้ำๆ โดยเด็กจะไม่มองหน้า ไม่สบตา เรียกไม่หัน ไม่เข้าใจคำสั่ง ไม่มีภาษาท่าทางในการสื่อสาร เวลาต้องการอะไรจะไม่ใช้นิ้วมือของตัวเองชี้สิ่งที่ต้องการ แต่จะจับมือคนอื่นไปที่สิ่งนั้นแทน ไม่มีความสนใจร่วมกับคนอื่น ไม่แสดงความผูกพันกับคนเลี้ยง สีหน้าเรียบเฉย ไม่เข้าใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ไม่สนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เล่นคนเดียว เล่นเสียงตนเอง ส่งเสียงไม่เป็นภาษา เล่นซ้ำๆ เล่นสมมติไม่เป็น ไม่แสดงท่าทางเลียนแบบ สนใจเพียงบางส่วนของวัตถุ เช่น เล่นแต่ล้อรถหรือใบพัด มีท่าทางหรือการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ติดวัตถุบางประเภท เอาของมาเรียงเป็นแถว ชอบของหมุนๆ ดูหนังการ์ตูนเรื่องเดิมๆ มีกิจกรรมเดิมๆซ้ำๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ลำบาก
  4. พัฒนาการทางภาษาผิดปกติ เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าพัฒนาการด้านอื่นๆ และล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันโดยไม่ได้มีความผิดปกติของสมอง การได้ยิน กล้าม เนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูด โรคออทิสติก หรือขาดการดูแลอย่างเหมาะสม โดยเด็กจะมีพัฒนา การทางภาษาที่ผิดปกติในด้านต่างๆ ได้แก่ การเรียนรู้และความเข้าใจคำศัพท์จำกัด แต่งประ โยคไม่ถูกต้อง ใช้ภาษาไม่ถูกต้องตามสถานการณ์ทางสังคม จำแนกเสียงในภาษาไม่ได้ พูดไม่ชัด โดยพัฒนาการด้านภาษาที่ผิดปกติแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้
    1. ความผิดปกติด้านการสื่อสาร (พูดช้ากว่าวัย) เด็กกลุ่มนี้ความเข้าใจภาษาปกติแต่บกพร่องด้านการสื่อภาษาจึงทำให้พูดช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน สามารถสื่อความต้องการได้โดยภาษาท่าทาง เมื่อพูดได้ จะสื่อสารและเรียนรู้ได้ทันเด็กปกติ
    2. ความผิดปกติด้านความเข้าใจและการใช้ภาษา พัฒนาการภาษาล่า ช้าทั้งการเข้าใจภาษาและการใช้ภาษา ถ้าความบกพร่องรุนแรงจะส่งผลต่อทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ตามมาด้วย
    3. ความบกพร่องในการใช้ภาษาอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคม ทำให้เด็กมีปัญหาการใช้ภาษาในปฏิสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งต้องติดตามเพื่อแยกโรคจากกลุ่มออทิสติก
  5. ขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม การเลี้ยงดูมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา โดยส่วนใหญ่มักเป็นสาเหตุร่วมของภาวะพูดช้า แต่ถ้าเป็นสาเหตุหลักต้องเป็นการละเลยทอดทิ้งที่รุนแรง เมื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูให้เหมาะสม จะทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น
 

เมื่อไหร่ควรต้องไปพบแพทย์?

บิดา มารดา หรือผู้ปกครองควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อ

อายุ พัฒนาการภาษา
18 เดือน ไม่เข้าใจหรือทำตามคำสั่งอย่างง่ายได้
2 ขวบ ไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย
2 ขวบ 6 เดือน ยังไม่พูด 2 คำติดกัน หรือยังไม่พูดเป็นวลี
3 ขวบ ยังพูดไม่เป็นประโยค
 

แพทย์วินิจฉัยเด็กมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าหรือพูดช้าอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเด็กมีพัฒนาการทางภาษาช้าหรือพูดช้า โดย

  1. การซักถามประวัติ: ประวัติพัฒนาการด้านภาษา ทั้งความเข้าใจภาษาและความสามารถในการสื่อสาร พัฒนาการด้านอื่นๆ ประวัติการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้อง ประวัติการตั้งครรภ์และการคลอด ภาวะพูดช้าในครอบครัว การเลี้ยงดู
  2. การตรวจร่างกาย: เพื่อตรวจความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง รวมถึงความผิดปกติแต่กำเนิดและความผิดปกติทางพันธุกรรม
  3. การสังเกตพฤติกรรม: ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อ แม่ และแพทย์ การเล่น ทักษะทางสังคม ภาษาท่าทางในการสื่อสาร พฤติกรรมซ้ำซาก พฤติกรรมการตอบสนองต่อเสียงและพฤติกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุของการพูดช้า
  4. การประเมินพัฒนาการ: ประเมินพัฒนาการด้านต่างๆ ได้แก่ การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (มัดที่ใช้ในการเคลื่อนไหว)กล้ามเนื้อมัดเล็ก (มัดที่เกี่ยวกับการใช้มือและสายตา) ความเข้าใจภาษา และการสื่อสาร การช่วยเหลือตัวเองและทักษะทางสังคม รวมถึงการตรวจ วัดระดับพัฒนาการหรือเชาวน์ปัญญา (IQ, Intelligence quotient) ซึ่งถ้าพัฒนาการด้านอื่นๆปกติ หรือเชาวน์ปัญญาที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษาปกติ จะบ่งบอกถึงการพยากรณ์โรคที่ดี
  5. การตรวจการได้ยิน
 

การดูแลรักษาช่วยเหลือเด็กควรทำอย่างไร?

ควรดูแลช่วยเหลือเด็กมีพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือพูดช้า โดย

  1. ให้การเลี้ยงดูที่เอื้อต่อพัฒนาการด้านของเด็ก เช่น การเล่น การเล่านิทานการพูดคุยกับเด็ก ไม่ให้ดูโทรทัศน์มากเกินไป และควรสังเกตพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กอย่างใกล้ชิด
  2. ตรวจประเมินเพื่อหาสาเหตุของภาวะพูดช้าและให้การรักษาที่ตรงกับสาเหตุ รวมถึงใช้อุปกรณ์ช่วยฟังถ้ามีความบกพร่องทางการได้ยิน
  3. ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและด้านอื่นๆที่บกพร่องอย่างสม่ำเสมอ ดูแลเด็กให้มีโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในชีวิตประจำวัน และครอบครัวควรต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการ
  4. การใช้ยา การใช้ยาอาจจำเป็นเพื่อบรรเทาปัญหาพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ซน ไม่อยู่นิ่ง ต่อต้าน อาละวาด ก้าวร้าว แต่ไม่มียา หรือวิตามิน หรืออาหารเสริมชนิดใดที่ทำให้พัฒนาการดีขึ้น
  5. ตรวจหาและรักษาความผิดปกติที่พบร่วม เช่น ปัญหาซน สมาธิสั้น การใช้กล้าม เนื้อมือและสายตา ทักษะทางสังคม และปัญหาการเรียนรู้
  6. การช่วยเหลือด้านการศึกษา ถ้าเด็กได้รับการประเมินจากแพทย์และโรงเรียนร่วมกันว่ามีความพร้อมเพียงพอเด็กสามารถเข้าเรียนได้ตามวัย และควรเรียนในโรงเรียนทั่ว ไปร่วมกับเด็กปกติ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม การสื่อสารและทักษะอื่นๆในการดำรงชีวิตประจำวันไม่ใช่เพื่อเน้นเนื้อหาสาระในการเรียน ควรมีการจัดแผนการสอนเฉพาะ ตัวสำหรับเด็กโดยความร่วมมือของ ครู แพทย์ และพ่อแม่ให้สอดคล้องกับปัญหาและระดับพัฒนาการของเด็ก เช่น ใช้สื่อการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา เช่น สื่อรูปภาพ เป็นต้น
 

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครอง

ผู้ปกครองควรให้การดูแลเด็กมีพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือพูดช้า โดย

  1. สื่อสารกับเด็กมากขึ้นโดยเลือกใช้คำที่ง่ายและสั้น รวมถึงออกเสียงพูดให้ชัดเจน
  2. ควรพูดในสิ่งที่เด็กสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
  3. สร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ทางภาษาเพิ่มเติมจากการเล่านิทาน การดูรูปภาพ การพูดคุย งดการดูโทรทัศน์และการเล่นหรืออยู่คนเดียว
  4. ฝึกพูดให้ลูกผ่านการพูดคุย โดยฟังลูกพูดอย่างตั้งใจ ตั้งคำถามที่เหมาะสมกับพัฒนาการของลูก ช่วยขยายความคำตอบของลูก และชื่นชมเมื่อลูกร่วมมือในการฝึก
 

สรุป

การเลี้ยงดูลูกให้มีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาตามวัยจะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการปกติ แต่อย่างไรก็ตามควรสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิดเมื่อพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้า ควรพบแพทย์เพื่อประเมินปัญหาและให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว การได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้องและรวดเร็วตั้งแต่เริ่มแรก เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการรักษา
ที่มา   https://haamor.com/th/เด็กพัฒนาการภาษาล่าช้าหรือภาวะพูดช้า/

อัพเดทล่าสุด