เด็กโรคหืด (Childhood asthma)


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

หลอดลม  ระบบทางเดินหายใจ 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

หายใจลำบาก 

โรคหืดในเด็กมีอาการอย่างไร?

โรคหืดในเด็ก (Childhood asthma) เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้ประมาณหนึ่งในสิบของเด็ก ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือหายใจเสียงดังวิ๊ซ (บางรายบอกว่าเสียงหายใจดังฮืด) อาการดังกล่าวคล้ายกับอาการของการติดเชื้อในทางลมหายใจ

อาการที่ชวนสงสัยว่าจะเป็นโรคหืด มีลักษณะดังนี้คือ

  1. อาการต่างๆดังกล่าวมักจะเป็นๆหายๆ
  2. มักเกิดอาการเหล่านั้นในเวลากลางคืน หรือช่วงใกล้สว่าง
  3. มักเกิดอาการภายหลังการติดเชื้อโรคหวัด
  4. มักเกิดอาการเมื่อมีอากาศเปลี่ยนแปลง หรือมีมลภาวะ เช่น ควันบุหรี่
  5. มักเกิดอาการเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด?

เด็กที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้ มีโอกาสเป็นโรคหืดได้ง่ายกว่าเด็กที่ไม่มีครอบครัวเป็นโรคนี้ เมื่อเด็กจากครอบครัวที่มีความเสี่ยงดังกล่าวสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ได้รับการเลี้ยงดูด้วยน้ำนมวัว การสัมผัสกับไรฝุ่น รังแคสัตว์ และ/หรือแมลงสาป ก็จะมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคหืด

ในบางรายอาจเริ่มจากการแพ้น้ำนมวัวแล้วเกิดผื่นที่แก้ม และข้อพับ และ/หรือตามตัว อาจมีอาการหายใจครืดคราด และหอบตามมาได้

การติดเชื้อไวรัสบางชนิดในทางเดินหายใจ ยิ่งทำให้โอกาสเกิดโรคหืดสูงขึ้น ดังนั้น พ่อแม่น่าจะพิจารณาให้ดี ในการที่จะนำเด็กไปฝากเลี้ยงในศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่อยู่กันอย่างแออัด หรืออยู่รวมกันมากๆในห้องปรับอากาศเพราะเพิ่มโอกาสติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจในเด็ก

นอกจากนี้ยังพบว่า ลูกที่มีมารดาสูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคหืด

โรคหืดในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีแนวทางรักษาอย่างไร?

ลักษณะสำคัญของโรคหืด คือการที่หลอดลมของเด็กที่เกิดโรคมีความไวกว่าคนปกติ ส่งผลให้ภายหลังการติดเชื้อโรคหวัดหรือเมื่อสัมผัสกับสารที่ผู้ป่วยแพ้ หรือจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง เด็กจะมีอาการไอ เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก เพราะหลอดลมที่ถูกกระตุ้น จะมีการตีบแคบ บวม และมีเสมหะมาก

ความไวของหลอดลมนี้เกิดจากผนังหลอดลมมีการอักเสบชนิดไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ ดังนั้นการรักษาโรคหืดที่เหมาะสมในขณะนี้คือ การใช้ยาที่ลดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ มักใช้ในรูปยาพ่นสูด หรือบางคนเรียกว่า ยาสูดพ่น ในกลุ่มสเตียรอยด์ (Inhaled corti costeroid) ซึ่งให้ผลดี และค่อนข้างปลอดภัยหากใช้ได้ถูกวิธีและสม่ำเสมอทุกวัน หรืออาจเลือกใช้ยารับประทานในกลุ่มที่เรียกว่า มอนตีลูคาสท์ (Montelukast) ซึ่งหากเด็กมีอาการรุน แรงอาจต้องใช้ยาทั้งสองร่วมกัน หรือใช้ยาพ่นสูดสเตียรอยด์ควบคู่กับยาขยายหลอดลมชนิดที่ออกฤทธิ์นาน ซึ่งยาต่างๆเหล่านี้ ต้องได้รับการแนะนำการใช้จากแพทย์เท่านั้น เพราะต้องเลือกชนิดและขนาดยาให้เหมาะสมกับเด็ก การซื้อยาใช้เอง มักควบคุมโรคไม่ได้ และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้สูง (เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง วิงเวียน ไม่มีแรง ปวดไซนัส หน้าบวม ขึ้นผื่น หายใจไม่ออก มีไข้ หรือมีอาการคล้ายโรคหวัด หรือโรคไข้หวัดใหญ่)

แพทย์จะทราบได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคหืด?

  • ในเด็กวัยก่อนวัยเรียนโรคหวัด และบางครั้งอาจมีเพียงอาการไอและเหนื่อยง่ายเสมอภายหลังการออกกำลังกาย ก็ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคหืด ซึ่งเมื่อร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ จะช่วยวินิจฉัยโรคได้

    เด็กที่มีคนในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อหรือแม่เป็นโรคหืด โรคภูมิแพ้ หรือผู้ป่วยเด็กเองมีอาการโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น แพ้อากาศ ผื่นแพ้จากน้ำนมวัว ก็จะช่วยสนับสนุนว่าเด็กน่าจะเป็นโรคหืด

    นอกจากนั้น หากเด็กมีการตอบสนองที่ดีต่อยาขยายหลอดลม หรือต่อยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ เมื่อเกิดมีอาการ จะทำให้ช่วยเพิ่มน้ำหนักการวินิจฉัยโรคหืดได้

    มักใช้การวินิจฉัยจากอาการร่วมกับการตรวจร่างกาย เพราะเด็กยังเล็กมากจนไม่สามารถตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจสมรรถภาพปอดได้ ทั้งนี้โดยเด็กมักมีอาการไอเรื้อรังเป็นๆหายๆ มีอาการหอบเมื่อติดเชื้อ
  • ในเด็กวัยเรียน การตรวจสมรรถภาพของปอด ร่วมกับประวัติอาการและการตรวจร่าง กาย จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โรคหืดในเด็กสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่?

  • การรักษาเมื่อมีอาการหอบ: การสูดยาขยายหลอดลม เมื่อเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ หรือไอ อาการจะดีขึ้น และยามีฤทธิ์ได้นานประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงอาจสูดซ้ำได้อีก แต่หากสูดยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือเคยมีประวัติหอบรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร่ง ด่วน ก่อนที่จะมีอาการรุนแรงจนยากแก่การรักษา
  • การรักษาระยะยาวเพื่อการควบคุมโรค
    1. ป้องกันไม่ให้มีอาการหอบฉับพลันอีก
    2. ไม่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อระงับอาการหอบ
    3. มีสมรรถภาพของปอดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
    4. ให้เด็กดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ สามารถเล่น เรียน ออกกำลังกาย และนอนหลับ พักผ่อนได้ปกติ
    5. ไม่ต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉินเนื่องจากอาการหอบ
    คือ การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบของผนังหลอดลม ซึ่งเป็นการรักษาพยาธิสภาพของโรคโดยตรง จะช่วยให้ควบคุมโรคได้ และมีผลดีต่อผู้ป่วย โดยเป้าหมายในการรักษาระยะยาว คือ

ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากเด็ก ผู้ปกครอง และแพทย์/พยาบาล เพื่อการใช้พ่นยาสูดได้ถูกต้องและสม่ำเสมอทุกวัน จนกว่าแพทย์จะให้คำแนะนำในการเพิ่มหรือลดขนาดของยา

นอกจากการใช้ยาแล้ว เด็กต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมากระตุ้นให้เกิดการหอบ การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพของปอด การพักผ่อนที่เพียงพอ และการได้สารอา หารที่เหมาะสม จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้น และมีผลดีถึงในระยะยาวด้วย

โรคหืดในเด็กกับวัคซีนไข้หวัด

เนื่องจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบฉับพลัน การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จึงช่วยป้องกันอาการดังกล่าวได้บ้าง

โรคหืดในเด็กรุนแรงหรือไม่? มีโอกาสหายหรือไม่?

โรคหืดในเด็กส่วนใหญ่จะมีอาการในระดับไม่รุนแรงจนถึงระดับปานกลาง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น (ประมาณ 5%) ที่มีอาการรุนแรง

การรักษาในปัจจุบันสามารถรักษาโรคหืดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะมีอาการรุนแรงเพียงใด หากเด็กปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และสามารถใช้ยาได้ถูกต้อง สม่ำเสมอ

ในทางกลับกันเด็กที่ใช้ยาให้ถูกต้อง หรือใช้ยาไม่สม่ำเสมอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ซึ่งมีการศึกษาที่พบว่าเด็กเหล่านี้ถึงแม้จะมีอาการในระดับไม่รุนแรง ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้เหมือนในเด็กที่มีอาการ รุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายขาดจากโรคนี้ อาจเป็นไปได้ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไม่รุนแรง และได้รับการรักษาที่เหมาะสม เด็กและผู้ปกครองมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติตัว ใช้ยาสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดี ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเด็กปกติได้

เนื่องจากการรักษาด้วยยาพ่นสูดหรือยารับประทานเพื่อรักษาโรค มีประสิทธิภาพสูง ผู้ ป่วยเด็กเมื่อเริ่มใช้ยาไปไม่นาน เช่น 1-3 เดือน อาการก็จะดีขึ้นจนเด็กและผู้ปกครองเข้าใจว่าหายจากโรคแล้ว จึงมักหยุดยา หรือเริ่มใช้ยาไม่สม่ำเสมอ และไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ที่ถูกต้อง ทำให้โรค (พยาธิสภาพที่หลอดลม) ยังคงดำเนินต่อไป และอาจจะมีอาการกลับมาอีกได้เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น หรือเมื่อเข้าสู่วัยชราที่การทำงานของปอดไม่สมบูรณ์เท่าเมื่อมีอายุน้อย อาการของหลอดลมตีบจึงชัดเจนขึ้น เหมือนกับว่าโรคหืดนี้รักษาไม่หาย แต่แท้จริงเกิดจากการรักษาที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก

อะไรเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การรักษาโรคหืดในเด็กได้ผลดี?

ปัจจัยที่ช่วยให้การรักษาโรคหืดในเด็กได้ผลดี คือ

  1. การพ่นสูดยาได้ถูกต้อง
  2. การใช้ยาต่างๆตามแพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ
  3. การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด หรือโรคหวัด
  4. การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหอบ
  5. การพบแพทย์เป็นระยะๆตามแพทย์นัด เพื่อตรวจร่างกาย และตรวจสมรรถภาพของปอด เพื่อการปรับการใช้ยาและวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง

ผู้ป่วยเด็กโรคหืดควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

หลักการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเด็กโรคหืด คือ

  1. หลีกเลี่ยงสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบ เช่น ควันบุหรี่ จัด สภาพแวดล้อมในบ้านให้โปร่ง ไม่อับชื้น หรือเป็นที่สะสมฝุ่น ห้องครัวหรือห้องอาหารควรรักษาให้สะอาดเพื่อป้องกันมิให้มีแมลงสาป ที่สำคัญคือ การจัดห้องนอนให้โปร่ง และมีเครื่องนอนเฉพาะเท่าที่จำเป็น ลดการสะสมฝุ่น

    ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหืดจากสาเหตุการแพ้อาหาร เช่น เด็กอาจแพ้น้ำนมวัว ไข่ หรืออาหารทะเล ต้องหลีกเลี่ยงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอาหารเหล่านี้ หากเด็กเล็กที่เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่ แม่ก็จะต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ลูกแพ้ด้วย

    บริเวณที่มีผู้คนจำนวนมาก แออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่ดี จะทำให้ติดเชื้อของทางเดินหายใจได้ง่าย จึงต้องหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน รวมทั้ง หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ปีก สัตว์มีขน

  2. ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ
  3. ติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์นัด หากมีโอกาสควรติดตามสมรรถภาพการทำงานของปอด ปีละ 1-2 ครั้ง หรือตามแพทย์แนะนำ เพราะในกรณีที่การทำงานของปอดผิดปกติ อาจต้องตรวจบ่อยกว่านี้ จนกว่าระดับการทำงานของปอดใกล้เคียงปกติ
  4. การออกกำลังกาย ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก จากการศึกษาสมรรถภาพการทำงานของปอดของเด็กปกติในโรงเรียนมัธยม พบว่าสมรรถภาพของปอดในเด็กที่เล่นกีฬาจะดีกว่าเด็กทั่วไป 20-40% ดังนั้นการออกกำลังกายจึงช่วยให้พื้นฐานสมรรถภาพการทำงานของปอดของเด็กป่วยโรคนี้ดีขึ้น (เด็กโรคหืด โดยทั่วไปมักมีสมรรถภาพการทำงานของปอดต่ำกว่าเด็กปกติ) ซึ่งมีความสำคัญไปจนถึงในระยะยาว

    ผู้ป่วยเด็กโรคหืดจะขาดความมั่นใจในการออกกำลังกาย เพราะอาจมีอาการเหนื่อยหอบภายหลังการออกกำลังกาย ดังนั้น เด็กจึงอาจเริ่มจากการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรง ไม่เป็นการออกกำลังกายที่ต้องแข่งขัน หากจำเป็นอาจต้องพ่นสูดยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกาย และเมื่อการรักษาได้ผลดี เด็กก็จะสามารถออกกำลังกายได้เป็นปกติ

ป้องกันเกิดโรคหืดในเด็กได้อย่างไร?

เนื่องจากการวินิจฉัยและการรักษาโรคหืดเพื่อให้หายขาด เป็นสิ่งที่ทำได้ยากในเด็ก การป้องกันการเกิดโรคนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น

โรคหืดในเด็กมักมีสาเหตุจากโรคภูมิแพ้ การป้องกันการกระตุ้นไม่ให้ร่างกายสร้างภูมิแพ้เป็นเรื่องที่อาจช่วยได้ เช่น การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดเป็นเวลานานอย่างน้อย 6 เดือนในเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรค และแม่ต้องไม่ดื่มหรือรับประทานอาหารที่เป็นผลิต ภัณฑ์จากน้ำนมวัวด้วย ในกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรเลือกใช้นมวัวที่ผ่านการย่อยโปร ตีนจนเหลือโปรตีนที่ไปกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ต่ำสุด อย่างน้อยระดับโปรตีนนี้ไม่ควรมากกว่าในน้ำนมแม่ เรียกนมในกลุ่มนี้ว่า เอ็กซ์เท็นซีพ โปรตีน ไฮโดรไลเซด (Extensive protein hydro lysate) ไม่แนะนำการใช้นมแพะ และหลีกเลี่ยงการให้ไข่ หรืออาหารทะเลในช่วงอายุ 2 และ 3 ปีแรก เพราะเด็กช่วงนี้อาจแพ้ได้

นอกจากนั้นคือ การจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ ไรฝุ่น สัตว์ปีก หรือสัตว์ขน หรือห้องที่อับชื้นซึ่งจะมีเชื้อราขึ้นง่าย

สรุป

โรคหืดในเด็กเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นสาเหตุให้สุขภาพโดยรวมของเด็กไม่ดี มีผลต่อการทำ งานของปอดในระยะยาว การรักษาในปัจจุบันจะช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปลอดภัยจากการใช้ยา และจากมีอาการหอบที่รุนแรงในอนาคต
ที่มา   https://haamor.com/th/เด็กโรคหืด/

อัพเดทล่าสุด