เชื้อแบคทีเรียเข้าสมองและก่อโรคได้อย่างไร ?


897 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - เชื้อแบคทีเรียเข้าสมองและก่อโรคได้อย่างไร ?

 


            เชื้อแบคทีเรียสามารถก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตามมาด้วยเส้นเลือดในสมองอักเสบ อุดตันก่อให้เกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ หรือเกิดฝีในสมอง การเกิดโรคดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ จำต้องมีสภาวะเกื้อหนุน ได้แก่ ตัวเชื้อเอง ซึ่งมีคุณสมบัติทะลุทะลวงเข้าในเยื่อหุ้มสมอง ปัจจัยเอื้ออำนวยให้เชื้อรุกล้ำเข้าในสมองได้ง่ายขึ้น และขึ้นกับผู้ป่วยว่ามีระบบป้องกันต่อสู้เชื้อโรคดีหรือไม่เพียงใด
            โดยปกติโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดได้ทุกอายุ โดยที่ชนิดของเชื้อในต่างกลุ่มอายุจะต่างกันออกไปบ้าง ตั้งแต่ในช่วงทารกจนถึง 1-3 เดือน  ในเด็กโต ผู้ใหญ่และคนแก่ที่มีอายุมากกว่า 50-60 ปี  เชื้อตัวการที่พบบ่อย คือStreptococcus pneumoniaeHemophilus influenzaeNeisseria meningitidis ทั้งนี้จะมี “กลุ่มพิเศษ” ที่จะมีเชื้อพิเศษที่แตกต่างออกไปและจะลุกลามได้มาก คือ เด็กทารก คนแก่ และมารดาที่คลอดบุตรใหม่ๆรวมทั้งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเชื้อ HIV มีตับแข็ง ติดสุราเรื้อรัง จากที่เป็นมะเร็ง หรือได้รับสารกดภูมิคุ้มกัน หรือมีโรคแพ้ภูมิตนเอง ปัจจัยเอื้ออำนวยอื่นๆให้เชื้อรุกล้ำเข้าในสมองได้ง่ายขึ้นเช่น การที่มีกะโหลกศีรษะแตกร้าว (เช่นจากอุบัติเหตุ) ทำให้เยื่อหุ้มสมองฉีกขาด  และมีช่องทางติดต่อระหว่างโครงสร้างภายนอกสมอง เช่นโพรงจมูก รูหู กับเยื่อหุ้มสมอง คนที่มีหูน้ำหนวก มีโพรงไซนัสอักเสบเป็นหนอง รากฟันติดเชื้อมีหนองเหล่านี้ จะเป็นโอกาสเฉพาะทำให้เชื้อรุกล้ำเข้าโดยตรงหรือเอื้ออำนวยให้เชื้อเข้าได้ง่ายขึ้น  
            อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อที่เกิดทั่วไปมักจะเกิดจากการที่มีเชื้อกองกระจุกอยู่ในโพรงจมูกส่วนหลัง โดยได้เชื้อมาจากการถูกไอ จาม รด แต่เชื้อต้องมีคุณสมบัติพิเศษในการหลบหลีก กระบวนการขจัดเชื้อของร่างกาย ในขณะเดียวกัน ก็เสริมสร้างประสิทธิภาพเขี้ยวเล็บของตัวเอง จนกระทั่งสามารถลุกลามเข้ากระแสเลือด โดยที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ ปวดเมื่อย และเมื่อรุกล้ำเข้าหลอดเลือดในสมองได้ก็จะเข้าไปในน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไข สันหลังก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การอักเสบที่เกิดขึ้นเกิดจากทั้งตัวเชื้อเองและกลไกการต่อสู้ของร่างกาย ถ้าเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะเสียชีวิต หรือถ้าได้รับการรักษาช้าไป แม้ไม่ตายก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ เส้นเลือดดำและแดงในสมองอักเสบอุดตัน เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต มีความดันสูงในสมอง  ซึ่งจะมีความพิการตลอดชีวิต

            เชื้อบางชนิดนอกจากกลวิธีดังกล่าว ยังอาจเข้าร่างกายจากทางการกิน เช่น เชื้อ Listeria monocytogenes มีท้องเสียก่อนและเกิด “ ก้านสมอง “ อักเสบ โคม่า หรือเกิดฝีในบริเวณใต้ผิวสมอง (subcortical abscess) แต่เชื้อนี้โดยปกติชอบ”กลุ่มพิเศษ” มากกว่าที่จะเกิดในคนปกติ เชื้อที่ชอบ “กลุ่มพิเศษ“ อีกตัวคือ Streptococcus agalactiae (Streptococcus group B) โดยมีคุณสมบัติคือ มีความสามารถเกาะติดกับเส้นเลือดในสมองตั้งแต่แรก เกิดการอักเสบ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ตั้งแต่ต้น (โดยที่เชื้ออื่นๆมักเกิดในระยะหลัง) พร้อมกับเลือดเป็นพิษและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  เชื้อแบคทีเรียอีกชนิดที่อาจเข้าร่างกายทางการกินอาหารที่ไม่สุก หรือสัมผัสกับเนื้อหมูที่มีเชื้อขณะชำแหละ ได้แก่ Streptococcus suis เชื้อนี้จะทำให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อแม้กระทั่งเกิดข้ออักเสบ และก่อให้เกิดโลหิตเป็นพิษอย่างเฉียบพลันได้ แต่ก็อาจเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แบบค่อยเป็นค่อยไปแบบเชื้อวัณโรค และเกิดเส้นประสาทหูอักเสบทำให้เกิดหูดับได้มากกว่าเชื้ออื่นๆบ้าง
            นอกจากนั้นเชื้อบางชนิดยังอาศัยตัวกลางก่อนเข้าสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง เช่น เกิดการติดเชื้อในลิ้นหัวใจ และเกิดก้อนอักเสบที่มีเชื้อภายในหลุดลอยไปยังเส้นเลือดในสมองเกิดเส้นเลือด อักเสบ ฝีในสมอง เส้นเลือดตัน หรือ พองจนแตก เกิดอัมพาต ในกรณีอื่นๆ เชื้ออาจจะไม่ได้ชอบสมองตั้งแต่ต้น แต่เข้าไปติดเชื้อในปอดหรือไตเกิดปอดบวม ไตอักเสบ ถ้าแก้ไม่ทันค่อยเข้าสมองตามหลัง
            การรักษาต้องได้รับการวินิจฉัยทันท่วงทีตั้งแต่ต้น มิฉะนั้นจะมีความพิการหรือถึงแก่ชีวิต และประเมินตัวผู้ป่วยว่าเป็นกลุ่มพิเศษหรือไม่ ซึ่งมีโอกาสได้รับเชื้อที่ต่างจากคนปกติ หรือผู้ป่วยนั้นๆมีภาวะปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เชื้อลุกลาม เข้าสมองโดยตรงจากภายนอก เช่น มีหูน้ำหนวก ไซนัสมีหนอง กะโหลกร้าว เยื่อหุ้มสมองฉีกขาด และเมื่อได้ตัวเชื้อแล้วต้องประเมินว่าดื้อต่อยาที่ให้หรือไม่ และนอกจากรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบแล้วก็ต้องรักษาภาวะแทรกซ้อน เช่นเมื่อเชื้อทะลุทะลวงเข้าหลอดเลือด หรือมีความดันสูงในสมอง
            หลักปฏิบัติที่ควรทำในคนทั่วไปคือ รักษาสุขอนามัย ออกกำลังสม่ำเสมอ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าออกกำลังกายมากเกินไปทำให้เกิดโรคติดเชื้อหรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ รับประทานอาหารสะอาด ปรุงสุก ผักผลไม้สดต้องล้างสะอาด ถ้ามีไอ จาม ต้องหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อจากตัวเองสู่คนอื่นโดยการปิดปากปิดจมูก และคนปกติต้องหลีกเลี่ยงที่แออัด เลี่ยงจากคนที่มีอาการไอจาม หรือมีอาการป่วย รับประทานอาหารควรมีช้อนกลาง คนที่มีเชื้อซ่อนเป็นพาหะควรป้องกันการแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆ  โรงฆ่าชำแหละสัตว์และสุกรต้องมีการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด สุราในปริมาณเหมาะสมแม้จะช่วยป้องกันโรคหัวใจ สมอง แต่ที่ปฏิบัติกันกลับดื่มจนเมามาย และเกิดตับแข็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ


ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/41671

อัพเดทล่าสุด