ปวดหัวบ่อย-รุนแรง อย่าละเลย เสี่ยงถึงชีวิต


697 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - ปวดหัวบ่อย-รุนแรง อย่าละเลย เสี่ยงถึงชีวิต

             ศูนย์โรคสมอง โรงพยาบาลรามคำแหง ระบุถึงอาการของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาโดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วย อาการปวดศีรษะซึ่งถือเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วประชากรทั่วโลกกว่าร้อยละ 40 เคยประสบอาการปวดศีรษะรุนแรงจนไม่สามารถทำงานได้อย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งระดับความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการยอมทนต่ออาการปวดของผู้ป่วยแต่ละราย

             ทั้งนี้ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยที่ปัจจัยภายนอกอาจมาจากอาหาร สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมความเครียด เป็นต้น ส่วนปัจจัยภายในสมองของผู้ป่วยเองได้แก่ โรคทางสมองต่างๆ อาทิ โรคเนื้องอกในสมอง โรคพยาธิในสมอง หรือการอักเสบของเส้นประสาทสมองและไขสันหลัง เป็นต้น รวมถึงอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อศีรษะ ซึ่งล้วนก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะของผู้ป่วยแทบทั้งสิ้น
             อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะจนต้องเข้ารับคำปรึกษาจากอายุรแพทย์เฉพาะทางแล้วนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมประสาทวิทยาโรงพยาบาลรามคำแหง เผยว่า จะเริ่มด้วยการซักประวัติถึงอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นโดยละเอียด รวมถึงการตรวจร่างกายทางระบบประสาท เพื่อดูว่ามีอาการแสดงที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของสมองหรือไม่ ซึ่งหากสงสัยว่าจะมีความผิดปกติทางสมอง อายุรแพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ (CT SCAN) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติภายในสมองได้อย่างชัดเจน อันจะนำมาซึ่งการวางแผนการรักษาในขั้นตอนต่อไป
             สำหรับวิธีการรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของโรคทางสมอง อาทิ โรคเนื้องอกในสมอง โรคพยาธิในสมอง เป็นต้น ศูนย์โรคสมองโรงพยาบาลรามคำแหง ได้เตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับในการรักษาผู้ป่วยโรคทางสมองด้วยเทคนิคการผ่าตัดโดยที่ให้ผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัวขณะผ่าตัดและการใช้เทคโนโลยีเครื่องนำทางระหว่างผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยยังสามารถรับรู้และตอบสนองกับแพทย์ได้ อันจะเป็นหลีกเลี่ยงความพิการภายหลังผ่าตัดได้เป็นอย่างดี 
             ในตอนท้าย พญ.สุธิดา เย็นจันทร์ ยังได้ฝากคำแนะนำถึงลักษณะของอาการปวด ศีรษะ ที่ควรต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาทิ อาการปวดศีรษะรุนแรงและเกิดขึ้นเฉียบพลัน ปวดศีรษะจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะร่วมกับการชัก ปวดศีรษะอย่างเฉียบพลันโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปวดศีรษะเมื่อไอ จาม ก้มตัวหรือเบ่งอุจจาระหรืออาการปวดศีรษะเฉียบพลันในผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งหากเกิดอาการไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากปล่อยไว้อาจมีความเสี่ยงให้เกิดโรคทางสมองและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/41538

อัพเดทล่าสุด