มุมมองในการใช้สเต็มเซลล์ ดีจริงหรือไม่…!!!


642 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - เปิดใจรับเทคโนโลยีสเต็มเซลล์
ช่วงนี้กระแส “สเต็มเซลล์” ที่ค่อนข้างรุนแรงทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ประชาชนทั่วไปอาจเริ่มสับสนและสงสัย ดังนั้นผมในฐานะที่ทำงานด้านนี้และมีโอกาสได้ผ่านการประชุมสัมนาทั้งในและต่างประเทศมาพอสมควรจึงอยากแสดงความคิดเห็นดังนี้ครับ ก่อนอื่นลำดับแรกเราต้องเปิดใจกันก่อนว่าปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก เรียกได้ว่าทุกๆ 5 ปี ความรู้ที่เรามีอยู่จะได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น บางครั้งความรู้ที่เราเรียนมาอาจถึงขั้นเปลี่ยนทฤษฏีไปเลยก็มี สเต็มเซลล์ก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีบทบาทสูงในการรักษาโรค แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มที่อาศัยคำว่าสเต็มเซลล์นี้ในการหากิน โดยมิได้มีความรู้และไม่ได้คิดถึงเงินทองที่ผู้ป่วยอาจต้องเสียไปซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมาก ดังนั้นขอแบ่งกลุ่มคนที่ใช้สเต็มเซลล์ออกเป็นกลุ่มๆดังนี้ 1.บุคคลที่นำไปใช้โดยไม่รู้จริง ไม่มีความรู้ หรือกลุ่มที่หลอกลวง ว่านี่คือสเต็มเซลล์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มบุคคลที่น่ากลัวที่สุด เพราะคนไข้ที่หลงไปรักษาไม่ว่าจะทั้งในและต่างประเทศ แต่ผลที่ได้รับกลับมาคือ ไม่เกิดผลในเชิงบวกเลย มีแต่เสียเงินเท่านั้น และอาจเกิดปัญหาจากการรักษาตามมาได้ และกลุ่มบุคคลนี้เองที่จะทำให้เทคโนโลยีด้านสเต็มเซลล์ได้รับความเสียหายจากการเข้าใจผิดของผู้ที่ทำการรักษาแล้วไม่ได้ผล 2. บุคคลที่เน้นการทำทัวร์คนไข้ส่งไปรักษายังต่างประเทศ คนกลุ่มนี้มีทั้งที่มีความรู้ด้านสเต็มเซลล์และบางคนก็ไม่ได้มีความรู้จริง ในต่างประเทศที่มีการใช้เซลล์จากสัตว์ไปรักษาคน (Xenograft) บางที่ก็อาจเป็นการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของคนก็มี ข้อนี้ต้องเปิดใจยอมรับก่อนว่าหลายๆประเทศในยุโรปรวมถึงจีน รัสเซีย และยูเครน ประเทศเหล่านี้มีการใช้เซลล์มารักษาผู้ป่วยมานานแล้ว ผลการรักษาก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลประเทศนั้นๆ หมอในไทยหลายคนก็เห็นโอกาสในการส่งคนไข้จากไทยไปรักษายังประเทศนั้นๆ ซึ่งบางรายก็ได้ผลดี บางรายก็ไม่ได้ผล ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถาบันนั้นๆว่าได้รับการรับรองหรือไม่ เพราะมีทั้งของจริงและของปลอมเช่นกัน บางบริษัทก็ถูกหน่วยงานสืบสวนสอบสวนของประเทศตามจับอยู่ข้อหาหลอกลวงก็มี 3. บุคคลที่มีความรู้ด้านเซลล์บำบัด และ/หรือ สเต็มเซลล์บำบัดในประเทศไทย มีบุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ในไทยหลายท่านที่ได้ศึกษาเรื่องนี้จากทั้งในและต่างประเทศ บุคคลเหล่านี้มีความรู้จริง แต่ในเชิงธุรกิจการแพทย์นั้นก็คงแล้วแต่ว่าใครจะใช้โอกาสและความรู้นี้ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมและส่วนตัวมากน้อยเพียงไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ เครื่องมือที่ใช้ในการทำสเต็มเซลล์นั้นมีราคาที่แพงมหาศาลจริงๆ 4. บุคคลที่ทำการทดลองด้านสเต็มเซลล์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักวิจัย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ที่มาทำการทดลองวิจัยด้านนี้ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยก็มีหลายกลุ่มหลายสถาบัน มีทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้ผลการทดลองในเชิงบวก และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้รักษาได้จริงในอนาคตอันใกล้ แต่ทั้งนี้ก็คงต้องเก็บตัวเลขข้อมูลให้ได้มากเพียงพอเพื่อนำไปใช้จริง จากกลุ่มต่างๆที่ผมได้สรุปกว้างๆออกมานี้ปัญหาหลักใหญ่จริงๆน่าจะอยู่ในกลุ่มที่ 1 มากที่สุดเพราะนอกจากจะไม่ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆแล้วยังส่งผลเสียต่อการพัฒนาสเต็มเซลล์อีกด้วย รองลงมาคือปัญหาของกลุ่มที่ 2 อันนี้เป็นปัญหาที่พูดยาก เพราะยังมีบุคลลในประเทศไทยหลายกลุ่มที่ส่งคนไข้ไปรักษายังต่างประเทศ โดยบางครั้งอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทต่างประเทศเหล่านี้มีความรู้ในการใช้สเต็มเซลล์จริงหรือไม่ อันนี้ก็คงต้องให้ผู้ป่วยใช้วิจารณญาณให้รอบคอบก่อนไปรักษา สำหรับปัญหาของกลุ่ม 3 ก็คงเป็นพวกที่เน้นแต่ธุรกิจ รู้ทั้งรู้ว่าโรคบางโรคไม่สามารถรักษาได้ด้วยสเต็มเซลล์แต่ก็ยังอ้างทำนองว่ารักษาได้ทุกโรค ส่วนกลุ่มที่ 4 นั้น ผมเชื่อว่าเป็นบุคคลที่ต้องการเห็นการพัฒนาด้านสเต็มเซลล์เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นในแง่ของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงไม่น่ามีปัญหาใดๆ
[[47875]]

หน้าที่ 2 - จ่ายสูงและผลที่ได้สูงด้วยไหม....?
การทดลองด้านสเต็มเซลล์สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เครื่องมืออุปกรณ์รวมทั้งสารเคมีที่ใช้มีราคาที่สูงมาก ดังนั้นผมเองไม่แปลกใจที่การรักษาด้วยวิธีการนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ปัญหามันอยู่ที่ว่า จ่ายสูงและผลที่ได้สูงด้วยไหม....? อันนี้เองเป็นสิ่งที่แพทย์จะต้องให้ข้อมูลกับผู้ป่วยถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการรักษา เปอร์เซนต์ของการหายจากโรค หรือโอกาสที่ดีขึ้นมีมากหรือน้อยเพียงไร ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบที่อาจตามมา อื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเป็นผู้ที่ตัดสินใจเองว่าเขาเองเป็นผู้ที่อยากร่วมในการรักษาหรือทดลอง และแพทย์เองก็ไม่ควรชักจูงคนไข้เพื่อให้เข้าร่วมด้วยเช่นกัน ตัวผู้ป่วยเองก็ควรซักถามข้อสงสัยจากแพทย์เพื่อให้เข้าใจทุกอย่างหรือมากที่สุดก่อนเริ่มทำการรักษาหรือทดลอง สิ่งหนึ่งที่ผมพบเห็นคือเมื่อทำการรักษาไปถึงจุดหนึ่ง นักวิจัยเองก็คงภูมิใจกับผลงานที่ได้ถึงแม้ว่าจำนวน n ทางสถิติที่ได้ยังมีน้อยแต่ก็อยากที่จะเปิดเผยผลวิจัยให้สังคมรับรู้ ซึ่งสิ่งนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นดังนั้นเมื่อนักวิจัยเสนอผลงานเหล่านี้ เราก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดี หากสงสัยก็ถาม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่อยากเห็นก็คือการแย้งตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทำไมจำนวน n ของผู้ป่วย หรือสัตว์ทดลองมีน้อย ทำไมต้องกำหนดรูปแบบการทดลองแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากบอกคือ ค่าใช้จ่ายในการทดลองที่สูงมาก ทุนที่ได้มามีไม่เพียงพอที่จะทำมากไปกว่านี้ ดังนั้นการถามจึงควรเป็นคำถามที่สร้างสรรค์มากกว่า เรื่องสเต็มเซลล์เป็นเรื่องใหม่ที่แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ยังมีความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์นี้น้อยมาก หากเราย้อนไปอ่านหนังสือตำราเรื่องสเต็มเซลล์เมื่อปี ค.ศ.2004 หรือก่อนหน้านั้น หลายทฤษฏีหรือหลายหัวข้อก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้เรามีความเข้าใจมากขึ้นกว่าก่อนปี ค.ศ.2004 มากมายนัก
[[47874]]
จริงๆแล้วเรื่องสเต็มเซลล์ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่เป็นเวลากว่า 10 ปีที่เรารู้จักการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งจริงๆก็คือสเต็มเซลล์รูปแบบหนึ่งที่ปัจจุบันเราสามารถแยกสเต็มเซลล์ออกได้จากส่วนต่างๆของร่างกายไม่ว่าจะเป็น จากเลือด จากฟันน้ำนม จากผิวหนัง จากไขมัน หรือหากเป็นสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนก็มีวิธีการใหม่ในการแยกเซลล์ในระยะ 4 blastomeres ออกมาเพื่อไม่ให้เซลล์ตัวอ่อนนี้ต้องตายไป ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีพัฒนากันอยู่ตลอดเวลา การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แพทย์ที่ทำงานด้านนี้ก็รู้กันดีว่าโดสที่ใช้ในการปลูกถ่ายนั้นอาจแยกเป็น 2 กรณี คือ จากค่า Marker ที่เราทำการแยกจำเพาะออกมา หรือจากจำนวนเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า Mononuclear cells (MNC) ก็ได้ จากจุดนี้เราจะพบแพทย์บางส่วนทั้งในและต่างประเทศที่ไม่สนใจการศึกษาเชิงลึกของสเต็มเซลล์ แต่ต้องการประยุกต์การใช้ โดยการฉีดจำนวน MNC ในระดับสูงเข้าหลอดเลือดแดงของผู้ป่วย ซึ่งตามทฤษฏีแล้วมันมีความเป็นไปได้ แต่ก็ควรศึกษาให้ลึกซึ้งต่อไปน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า การจะเข้าใจให้ถึงเรื่องของสเต็มเซลล์นั้น ผู้ที่ศึกษาควรจะให้ความสำคัญของเรื่องการแบ่งตัวของเซลล์ที่แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ Endoderm , Ectoderm และ Mesoderm ซึ่งจาก 3 ชั้นนี้เองที่เราแยกเอาส่วนของสเต็มเซลล์ในชั้นเหล่านั้นมาสร้างเป็น Progenitor cells เพื่อเข้าไปซ่อมแซมอวัยวะที่มาจากชั้นนั้นๆนั่นเอง กับคำถามที่มักถามกันบ่อยว่า แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าสเต็มเซลล์นี้จะไปยังเป้าหมาย หรือบริเวณที่มีรอยโรค ก่อนตอบคำถามนี้จะต้องแยกแยะให้ออกก่อนว่าเราจะใช้สเต็มเซลล์ชนิดไหน (ขอพูดแต่ Adult stem cell) อวัยวะเป้าหมายนั้นสร้างมากจากชั้นไหน ก็ต้องใช้สเต็มเซลล์ที่มีพื้นฐานจากชั้นนั้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น จะให้ไปสร้างเลือด ก็ต้องใช้ Hematopoietic stem cell จะให้ไปสร้างกระดูก ก็ต้อง Mesenchymal stem cell แต่จากความรู้ใหม่เราจะพบว่าสเต็มเซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้อาจใช้ร่วมกัน แล้วเสริมประสิทธิภาพให้กันได้เช่นกัน กลับมาที่คำตอบ การที่สเต็มเซลล์จะวิ่งไปยังเซลล์เป้าหมายหรือที่เราเรียกว่า Homing นั้น เซลล์ที่มีปัญหาเองนั้นก็จะหลั่งสาร Chemokine และ Chemokine receptor ในขณะที่ตัวสเต็มเซลล์ก็จะวิ่งไปตาม chemokine ที่หลั่งออกมาและมีตัวจับ หรือ receptor ที่เข้ากันได้พอดี และเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันไปจริงๆ ก็มีการทดลองว่าหากเรามีผู้ป่วยเพศหญิง แต่เราใส่สเต็มเซลล์ของเพศชายลงไป เราก็จะพบยีนส์เพศชายอยู่ในเซลล์ของผู้ป่วยเพศหญิงนั่นเอง ยกตัวอย่างอีกกรณี เช่น รู้ได้อย่างไรว่าสเต็มเซลล์นี้หลั่งอินซูลินได้ นักวิจัยก็ใช้ maker ที่จะปรากฎเรืองแสงสีเมื่อเซลล์ที่หลั่งอิซุลินหลั่งออกมา หากสเต็มเซลล์ที่เราใส่เข้าไปแล้วปรากฎยังเป้าหมายและปรากฎสารเรืองแสงขึ้น นั่นก็แสดงว่าเซลล์กลับมามีคุณสมบัติหลั่งอินซูลินอีกครั้ง หรือเรียกว่า Insulin-like cell เป็นต้น [[47879]]
หน้าที่ 3 - การพัฒนาสเต็มเซลล์ที่บริสุทธิ์
วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นทำให้เราเชื่อว่าหากเราสามารถทำให้สเต็มเซลล์นั้นบริสุทธิ์ได้ ก็จะไม่มีส่วนที่เรียกว่า HLA* (Human Leukocyte Antigen) ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีเครื่องมือที่สามารถทำได้แล้ว ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาสเต็มเซลล์ที่บริสุทธิ์ต่อไป ซึ่งการทำให้บริสุทธิ์นี้แนวโน้มที่จะใช้สเต็มเซลล์จากคนอื่นมารักษาผู้ป่วย (Allogeneic) ก็จะมีโอกาสมากขึ้น แต่ทั้งนี้นักวิจัยเองก็จำเป็นต้องศึกษามากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าหากเราทำให้บริสุทธิ์แล้วนั้น มีความบริสุทธิ์มากเพียงใด แน่ใจว่าจะไม่ส่งผลให้เกิด Graft VS Host Disease (GVHD) ตามมาโดยเฉพาะแบบที่เกิดหลังจากการปลูกถ่ายไปนานมากแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาก็มีรายงานว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้อื่น (Allogeneic) เมื่อตอนปลูกถ่ายใหม่ไม่พบความผิดปกติใดๆทั้งสิ้น แต่เมื่อผ่านไปปีกว่าจึงพบว่าเกิดมี Antibody ต่อต้าน HLA ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะมาจากการที่มี HLA คงเหลืออยู่ถึงแม้ว่ามีเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเซลล์มีการแบ่งตัวที่มากขึ้น HLA จากคนอื่นก็จะเพิ่มมากขึ้นจนเพียงพอที่จะเกิดการไม่ยอมรับเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้เช่นกัน
[[47876]]
การเพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์ หากเป็นในส่วนของ Mesenchymal stem cell นั้นก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากเป็น Hematopoietic stem cell นั้นเราพบว่าใน In vitro ศักยภาพที่ลดลงจากการเพิ่มจำนวนเนื่องจาก เซลล์จะไประยะ Gที่น้อยมากเมื่อเทียบกับ In vivo กรณีการเกิดมะเร็งจากการใช้สเต็มเซลล์ ข้อนี้คงตอบยากมากและคงจะหาสิ่งที่มาพิสูจน์ว่าสเต็มเซลล์ที่เป็น Adult stem cell นั้นก่อให้เกิดมะเร็งรึไม่ ในระบบ Cell cycle ของร่างกายเองก็มีจุดตรวจความผิดปกติ 2 จุดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น G1/S checkpoint และ G2/M checkpoint แต่ถึงอย่างไรผมเชื่อว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ อย่างเช่นเซลล์ที่มีปัญหาและอยู่ที่อยู่ระยะ Lating phase Gเองก็สามารถที่จะหลุดรอดจาก G1/S checkpoint และไปถูกทำลายที่ G/M checkpoint แทน ดังนั้นก็เชื่อว่าต้องมีเซลล์ที่มีปัญหาและหลุดรอดจาก G2/M checkpoint ไปได้และเกิดเป็นมะเร็ง แต่ถึงอย่างไรก็คงต้องทำการศึกษาผลตรงนี้ต่อไปเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดอีกที สิ่งหนึ่งที่ผมอยากทิ้งท้ายไว้ก็คือ ตามสถิติประชากรไทยมีเพียง 1.31% เท่านั้นที่ถือว่าเป็นผู้มีรายได้มากกว่า 500,000 บาทต่อปี นั่นหมายความว่าคนไทยกว่า 55 ล้านคนที่เขาก็ควรที่จะมีสิทธิในการรักษา ในการใช้ยา ในการใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างสเต็มเซลล์เช่นเดียวกัน ดังนั้นในความจริงที่ว่าเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายต้นทุนที่สูงมาก จึงไม่แปลกที่ผู้ที่จะได้ใช้จะต้องเป็นผู้ที่มีฐานะดีมากคนนึงแต่ที่ผมหวังไว้ก็คืออยากจะเห็นการใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยทุกชนชั้นมากกว่าครับ และสุดท้ายเราเป็นคนไทยเหมือนกันก็อย่าหลอกลวงคนไทยพี่น้องเรากันเองเลย หันหน้าจับมือกันทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้กันเถอะครับ * คนจะมี HLA 6 ตำแหน่งซึ่งหากมี HLA ที่ไม่ตรงกันทั้ง 6 ตำแหน่งก็จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับเนื้อเยื่อที่ใส่เข้าไป (ยกเว้นกรณีการใช้เลือดจากสายสะดือที่ยอมรับความเหมือนกันได้ 4 ใน 6 ตำแหน่ง)
ที่มา  https://vcharkarn.com/varticle/32173

อัพเดทล่าสุด