การพัฒนาแบบทดสอบวัดระดับสติปัญญาสำหรับคนไทย


1,247 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - การพัฒนาแบบทดสอบวัดระดับสติปัญญาสำหรับคนไทย

ขอขอบคุณศูนย์ข้อมูล สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
โดย รัตนศักดิ์ สันติธาดากุล นักจิตวิทยา


           ในปี ค.ศ. 1905 อัลเฟรด บิเนท์นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสได้ร่วมมือกับ ทีโอดอร์ ไซมอน ได้สร้างเครื่องมือวัดเชาวน์ปัญญาได้สำเร็จเพื่อใช้การจัดการศึกษาสำหรับ เด็กที่มีข้อจำกัดทางเชาวน์ปัญญา

          ส่วนในประเทศไทย โดยศูนย์สุขวิทยาจิตได้นำแบบทดสอบดังกล่าวมาดัดแปลงใช้บ้างส่วนให้เหมาะสม กับเด็กไทย ต่อมาหลังจาก อ. สมทรง สุวรรณเลิศ ได้กลับมาปฏิบัติงานที่ศูนย์สุขวิทยาจิตได้มีส่วนในการดัดแปลงแบบทดสอบให้ เหมาะสมกับเด็กไทยมากขึ้น(ปราณี ชาญณรงค์ : 94,2545)โดยในปี 2521 ได้มีโครงการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาที่เป็นมาตรฐานสำหรับ คนไทยขึ้น และเสร็จสิ้นในปี 2526 แต่เครื่องมือดังกล่าวพบข้อจำกัดว่า ผู้นำไปใช้ก็ต้องเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่ได้รับการอบรมในการทดสอบทาง จิตวิทยาโดยตรงอีกเช่นกัน และมีอุปสรรคด้านการนำไปใช้หลายประการ ทั้งด้านเวลา และอุปกรณ์ จากเหตุผลที่กล่าวมา จึงมีความต้องการที่จะให้มีแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาที่ง่าย ไม่มีอุปสรรค์ดังที่กล่าวมา ฝ่ายจิตวิทยา ศูนย์สุขวิทยาจิต(เดิม) จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัย คู่มือประเมินความสามารถทางเชาวน์ปัญญา เด็กอายุ 2 – 15 ปีขึ้นโดยงานวิจัยดังกล่าวนำมาเผยแพร่ในวารสารจิตวิทยาคลินิก ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2524 พบว่า คู่มือที่สร้างขึ้นพอจะนำไปใช้ทดสอบเชาวน์ปัญญาเด็กวัย 2 – 15 ปีได้ โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ (Mean IQ และS.D)ระหว่างผลการทดสอบโดยใช้คู่มือกับแบบทดสอบมาตรฐานได้แก่ แบบทดสอบ stanford binet Form L-M และ แบบทดสอบ WISC มีค่า IQ ไม่ต่างแตกต่างกัน ซึ่งมีข้อแนะนำว่าผู้ที่มิใช้นักจิตวิทยาอาจนำคู่มือ ที่สร้างขึ้นไปใช้ได้แต่ควรจะต้องมีการนิเทศและสาธิตหรือฝึกหัดการใช้คู่มือ รวมทั้งศึกษารายละเอียดต่างๆ ในการการแปลผลและแนวทางในการนำคู่มือ ไปใช้ให้คำปรึกษาจากนักจิตวิทยาก่อน

          และในปี 2533 ได้มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคู่มือดังกล่าว โดยมีการวิจัยเรื่อง การหามาตรฐานคู่มือประเมินความสามารถทางเชาวน์ปัญญาเด็ก 2-5 ปี(ศึกษาเฉพาะช่วงอายุ 2-5 ปี)(กาญจนา วณิชรมณีย์และคณะ : บทคัดย่อ,2533)ในเขต กรุงเทพมหานคร นครสรรค์ เชียงใหม่ นคราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี และจังหวัด สงขลา พบว่ามีความสัมพันธ์ (Coefficiet Correlation)กับระหว่างค่าคะแนน IQ ที่ทดสอบโดยใช้แบบทดสอบมาตรฐานและคู่มือการประเมิน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่าคู่มือประเมินความสามารถทางเชาวน์ปัญญาสามารถใช้เป็นมาตรฐานในการ ทดสอบวัดระดับเชาวน์ปัญญากับ ประชากรเด็กในช่วงอายุ 2- 5 ปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีก 2 ปีต่อมาในปี 2535ได้มีการประเมินผลการใช้คู่มือประเมินความสามารถทางเชาวน์ปัญญาเด็กอายุ 2 – 15 ปี ของครูโรงเรียนระดับประถมศึกษา ในเขต อำเภอเมือง จังหวัดนครราชศรีมา(จินตนา หะรินเดช และคณะ : 53-63, 2533)มีของเสนอว่า
          1. ผู้เข้าอบรมควรเป็นครูแนะแนวหรือครูที่ปรึกษาที่มีเวลามากพอในการศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล
          2. การอบรมควรคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการใช้จริงเพราะมีบางกลุ่มยังไม่เห็นความจำเป็น
          3. ควรแยกคู่มือเป็น 2 ชุด สำหรับผู้ทดสอบ 1 ชุด และผู้ถูกทดสอบ 1 ชุด การจัดรูปควรแยกเป็นสัดส่วนจากเนื้อหา
          4. พบว่ามีอุปสรรค คือ ตัวผู้ประเมินเองขาดความมั่นใจในการใช้ และการสร้างสัมพันธ์ภาพกับเด็กในการทดสอบควรแทรกวิธีในการสร้างสัมพันธภาพ กับเด็กในคู่มือ
          5. ควรมีการสนับสนุนทางวิชาการให้ครูอย่างต่อเนื่อง
          6. ในกรณีที่เด็กมีปัญหาควรกำหนดแนวทางในการช่วงเหลือที่เป็นระบบชัดเจน

          ส่วนในปี 2536 ได้มีการศึกษาแบบทดสอบความสามารถทางเชาวน์ ปัญญา เด็กอายุ 2 – 15 ปี เพื่อเปรียบเทียบกับแบบทดสอบมาตรฐาน WISC อีกครั้งพบว่าแบบทดสอบทั้งสองชนิดให้ผลไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติ และมีค่า Sensitivity จัดอยู่ในเกณฑ์ดี (89.4%) ส่วนค่า Specificity พอใช้ได้(76.9%)ซึ่งการทดสอบเชาวน์เล็กเป็นการทดสอบที่ทำง่าย และใช้เวลาน้อยจึงเป็นการทดสอบที่สมควรจะนำมาใช้เพื่อจัดชั้นเรียนของเด็ก นักเรียนประถมได้อย่างเป็นประโยชน์(อรพรรณ เมฆสุภะ : 65- 70,2536)จากผลงานวิจัยชิ้นนี้เองในปีเดียวกันจึงได้นำเครื่องมือดังกล่าวมา ทำการศึกษาระดับความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาใน โรงเรียน กทม. จำนวนทั้งสิ้น 1,369 คนพบว่าส่วนใหญ่มีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 52.5 ระดับทึบร้อยละ 16.9 คาบเส้นร้อยละ 6.9 และปัญญาอ่อนร้อยละ 2 ฉลาดและฉลาดมากร้อยละ 20.1(อรพรรณ เมฆสุภะและทัสสนี นุชประยูร : บทคัดย่อ,2536)

          คู่มือประเมินความสามารถทางเชาวน์ปัญญาเด็กอายุ 2 – 15 ปีได้มีการปรับปรุงแก้ไขทั้งสิ้น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2530 ครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2541 และครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2546 ภายใต้การดูแลของกรมสุขภาพจิตในปัจจุบัน

อัพเดทล่าสุด