ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน


3,729 ผู้ชม


เบาหวานคืออะไร



                เบาหวาน คือโรคหรือความผิดปกติที่มีลักษณะพิเศษคือ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง คำว่าเบาหวาน มาจากคำสองคำคือ “เบา” แปลว่าปัสสาวะ และคำว่า ”หวาน”  ซึ่งหมายถึงมีรสหวานหรือมีน้ำตาลในปัสสาวะนั่นเอง ซึ่งเป็นอาการสำคัญของผู้ป่วยโรคนี้  เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนไตไม่สามารถเก็บกักน้ำตาลไว้ได้  น้ำตาลส่วนเกินก็จะออกมากับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน มีมดมาตอมได้


 
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน

               ส่วนใหญ่รู้เมื่อมีอาการจากการที่มีน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง  ได้แก่อาการคอแห้ง หิวน้ำบ่อย  ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะเป็นจำนวนมาก หิวบ่อย ทานจุ แต่น้ำหนักลดลงเรื่อยๆ อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง เป็นต้น  บางคนอาจไม่มีอาการดังกล่าวหรือมีอาการไม่มาก ไม่ชัดเจน แต่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน  เช่น ตามัว มองเห็นไม่ชัดเนื่องจากมีต้อกระจกหรือจอประสาทตาเสื่อม เท้าชา ไม่รู้สึก หรือมีอาการปวดแสบร้อนที่เท้า เป็นแผลที่เท้าเรื้อรังไม่หาย หรือนิ้วเท้าดำเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง หรือมีอาการของโรคไตวาย  เช่น บวม ซีด ปัสสาวะเป็นฟอง เป็นต้น  อาการของโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านี้จะปรากฏเมื่อเป็นโรคเบาหวานมานานหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมาก  คนที่เริ่มเป็นเบาหวานใหม่ๆ มักจะไม่มีอาการ  แต่ไม่ควรรอจนเป็นมากค่อยมาตรวจและเริ่มการรักษา  เพราะภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานส่วนใหญ่ถ้าเป็นมากแล้วจะรักษาไม่หาย  ดังนั้นคนที่สงสัยว่าจะเป็นเบาหวานหรือมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานควรได้รับการตรวจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่เสียแต่เนิ่นๆ


ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

                ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเบาหวาน  พบว่าคนบางคนเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน  ซึ่งได้แก่คนที่มีความเสี่ยงหลายๆ อย่าง ได้แก่ คนที่อ้วนหรือลงพุง คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน เช่นพ่อ แม่ หรือพี่น้องเป็นเบาหวาน  คนที่เคยเป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์ คนที่ได้รับยาบางชนิดเช่น สเตียรอยด์ คนที่เป็นโรคของตับอ่อนหรือแม้กระทั่งคนที่สูงอายุก็มีโอกาสเป็นเบาหวานได้  เป็นต้น 


การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
                การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นการวินิจฉัยโรคที่ดีที่สุด  การตรวจวัดน้ำตาลในปัสสาวะมักจะสายเกินไป  การตรวจวัดน้ำตาลในเลือดทำได้สองวิธีคือ  ตรวจโดยการเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำบริเวณข้อพับแขนหรือโดยการตรวจจากปลายนิ้วมือ  ในคนที่ไม่มีอาการชัดเจนควรตรวจขณะที่อดอาหารในช่วงตอนเช้า  โดยงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง  ในคนที่มีอาการชัดเจนอาจตรวจเลือดโดยไม่ต้องอดอาหารก็ได้  ระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติที่ไม่เป็นเบาหวานในช่วงขณะอดอาหารจะอยู่ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร  ถ้าหากตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารได้ตั้งแต่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน ในกรณีที่ไม่แน่ใจแนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่ถ้าตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยกว่า 126 แต่มากกว่า 100 มิลลิกรัมขึ้นไปถือว่าผิดปกติ  อาจมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานต่อไปในกาลข้างหน้า  ควรพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามต่อไป


ชนิดของโรคเบาหวาน

                เบาหวานมีหลายชนิดไม่เหมือนกันโดยทีเดียว  เบาหวานที่มักเป็นกันในผู้ใหญ่ คนสูงอายุ มักเป็นเบาหวานชนิดที่สอง ซึ่งสาเหตุเกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนที่ชื่อว่าอินซูลินไม่เพียงพอ  และมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน อินซูลินเป็นตัวสำคัญในการช่วยให้น้ำตาลเข้าไปในเซลล์เนื้อเยื่อร่างกายใช้เป็นพลังงานได้  ถ้าหากอินซูลินไม่พอหรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน  น้ำตาลก็จะไม่สามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ คั่งค้างสะสมอยู่ในเลือดทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้  เบาหวานชนิดนี้มักเกิดกับคนที่อ้วน หรือมีอายุมาก  ส่วนเบาหวานชนิดที่หนึ่งนั้นมักเกิดในเด็กและวัยรุ่น  มีความรุนแรงมากกว่า เพราะว่าเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลย  ร่างกายแทบไม่มีอินซูลินเหลืออยู่  ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ต้องรักษาด้วยการฉีดยาอินซูลินเท่านั้น  เบาหวานชนิดที่สามเกิดจากโรคทางกรรมพันธุ์เช่นมีอาการหูหนวก หรือมีภาวะอ้วนผิดปกติ  เบาหวานชนิดนี้พบได้น้อย  ส่วนชนิดสุดท้ายคือเบาหวานที่พบตอนขณะที่ตั้งครรภ์  เบาหวานชนิดนี้มักหายไปหลังจากคลอดบุตร


ที่มา :  https://www.sp.worldmedic.com/dm/education_program.php


หน้าที่ 2 - โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน

หัวข้อ

1. ทำไมจึงเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน
2. ไตเสื่อม ไตวาย จากเบาหวาน
3. จอประสาทตาเสื่อมและต้อกระจกจากเบาหวาน
4. ปลายประสาทเสื่อม
5. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
6. โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 
7. แนวทางการป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวาน


                     ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานานหลายปี  มักพบโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง  เช่น ปัญหาด้านสายตา ไตวาย  โรคหัวใจ อัมพาต ขาชา แผลเน่าโดยเฉพาะบริเวณเท้า  ความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย  ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน และระดับน้ำตาลในเลือด การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติมากเท่าไร ช่วยชะลอและลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนเรื้อรังลงได้มากเท่านั้น  และที่สำคัญคือ  โรคแทรกซ้อนเรื้อรังดังกล่าวอาจกลับคืนสู่สภาพปกติได้  ถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้น  และได้รับการรักษาแต่เริ่มแรก

ทำไมจึงเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน
                    ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง เป็นระยะเวลานาน จะเป็นพิษต่อร่างกาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบหลอดเลือดซึ่งเป็นเสมือนท่อส่งน้ำเลี้ยงของร่างกาย  ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมไม่ดีจะมีความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดด้วย โดยจะมีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ และมีความดันเลือดสูงกว่าปกติ  ทั้งระดับน้ำตาลที่สูง ไขมันในเลือดที่สูง และความดันโลหิตที่สูงจะมีผลต่อผนังหลอดเลือด เกิดการเสื่อมสภาพ มีการอักเสบ และมีการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือดทำให้ตีบ แคบลง หรืออาจตันไปในที่สุด เลือดผ่านไปยังอวัยวะต่างๆ ไม่ได้ เกิดภาวะขาดเลือด ขาดสารอาหาร ขาดออกซิเจน ทำให้อวัยวะนั้นๆ เสียหาย  เช่นถ้าเกิดกับหลอดเลือดหัวใจเกิดเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ถ้าเกิดกับเส้นเลือดสมอง ก็จะเกิดอาหารอัมพาต ถ้าเกิดกับเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทเสื่อม  โดยเฉพาะที่บริเวณเท้า  ถ้าเกิดกับจอประสาทตาทำให้จอประสาทตาเสื่อม มีเลือดออก จอประสาทตาหลุดลอก ทำให้ตาบอด  ถ้าเกิดกับเส้นเลือดที่ไต  ทำให้ไตขาดเลือด  ไตเสื่อม เป็นโรคไตวายในที่สุด  



โรคแทรกซ้อนเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน


ไตเสื่อม ไตวาย จากเบาหวาน

                   ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองสารต่างๆที่อยู่ในกระแสเลือด  มีเส้นเลือดขนาดเล็กมากมายบริเวณไต  เมื่อผนังเส้นเลือดถูกทำลายโดยน้ำตาลในเลือดที่สูงอยู่เป็นเวลานาน  การทำหน้าที่ในการกรองของไตจะเริ่มเสื่อมลง  ทำให้โปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานานกว่า  10  ปี มักเกิดปัญหาไตเสื่อม  แต่ความรุนแรงและระยะการเกิดจะมากหรือน้อยขึ้นกับการควบคุมน้ำตาลในเลือด  และที่สำคัญที่สุดคือ  การตรวจหาปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ ตั้งแต่เริ่มแรกที่ยังไม่มีอาการด้วยวิธีตรวจหาปริมาณ  ไข่ขาวในปัสสาวะที่เก็บภายใน  24  ชั่วโมง  ซึ่งเมื่อตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้นนี้  จะมีการดูแลรักษาเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้มาก  สามารถยืดระยะเวลาการดำเนินของโรค เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังได้อีกหลายปี
                   สำหรับผู้ป่วยที่มีปริมาณไข่ขาวออกมาในปัสสาวะปริมาณมาก จนสามารถตรวจพบได้โดยใช้แถบตรวจ  แสดงว่าไตเสื่อมมากแล้ว  ระยะนี้การควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่สามารถชะลอความเสื่อมของไตลงได้  แต่การรับประทานอาหารโปรตีนต่ำและการได้รับยาลดปริมาณไข่ขาวที่รั่วออกมาในปัสสาวะ ช่วยทำให้ไตไม่ต้องทำหน้าที่หนักเกินไป 
                    เมื่ออาการเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย  ผู้ป่วยจะมีอาการบวม  ความดันเลือดสูงมาก  คลื่นไส้  อาเจียน ซีด  อ่อนเพลีย  อาหารโปรตีนต่ำจะช่วยลดอาการไม่สบายจากของเสียคั่งค้างในกระแสเลือดได้ 
ในระยะนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ได้รับการบำบัดรักษาด้วยวิธีฟอกเลือก  ล้างไตทางช่องท้อง  หรือเปลี่ยนไต 
ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย
 
เมื่อเริ่มมีภาวะไตเสื่อม    การปฏิบัติตัวที่ถูกวิธีสามารถลดความรุนแรงและชะลอความเสื่อมของไต
 ได้ดังนี้
1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติมากที่สุด
2.  เริ่มรับประทานอาหารที่มีโปรตีนน้อยลง  และเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งได้แก่  ไข่เนื้อที่ไม่ติดหนัง  หลีกเลี่ยงส่วนของเอ็น  พังผืด  เครื่องในสัตว์  เพราะเนื้อสัตว์เหล่านี้จะเพิ่มภาระหนักให้กับไตที่ต้องขับของเสียออก  ควรรับประทานเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อปลา เนื้อไก่
3. ลดอาหารที่มีรสเค็ม  และอาหารที่มีผงชูรส  สารกันบูดต่างๆ  เพราะมีส่วนผสมของเกลือ
โซเดียมที่ทำให้ความดันเลือดสูงและเกิดอาการบวม
4. ควบคุมความดันเลือดอย่างเคร่งครัด  ไม่ให้เกิน  130/80  มม.ปรอท


จอประสาทตาเสื่อมและต้อกระจกจากเบาหวาน


                   บริเวณจอตา  เป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงมาก  เมื่อเส้นเลือดฝอยถูกทำลายทำให้ผนังเส้นเลือดฝอยโป่งพองจนแตก มีเลือดไหลออกมาในบริเวณวุ้นตา  เมื่อรอยรั่วหายดีแล้วเกิดแผลเป็นซึ่งจะขัดขวางการไหลของเลือดภายในตา  จึงเกิดการงอกใหม่ของเส้นเลือดฝอย เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือด  แต่เส้นเลือดฝอยที่งอกใหม่จะเปราะบาง  แตกง่าย  ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในวุ้นตาและจอตา  ระยะนี้จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการตามัว  เมื่อแผลเป็นเกิดมากขึ้นจะสร้างเส้นใยเป็นร่างแหในลูกตา  เมื่อรอยแผลเป็นหดรัดตัว  เกิดการดึงรังและฉีกขาดของเนื้อเยื่อบริเวณส่วนหลังของลูกตา  จะมีอาการเหมือนมีม่านดำขึงผ่านขวางตาหรือเหมือนมีแสงสีดำพาดผ่านตา  ซึ่งเมื่อมีอาการเช่นนี้ให้พบจักษุแพทย์ทันทีเพราะอาจทำให้ตาบอดได้
 การตรวจพบความผิดปกติของผนังเส้นเลือดในตา ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ยังไม่มีอาการตามัวโดยการพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตา  จะช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้  เมื่อตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือดฝอยในลูกตา  การรักษาด้วยเลเซอร์ให้ผลดีโดยจะช่วยป้องกัน  หรือชะลอการสร้างเส้นเลือดฝอยใหม่  และสามารถทำลายเส้นเลือดฝอยที่สร้างใหม่แต่เปราะนั้นได้ด้วย


มีสาเหตุจากการสะสมรวมตัวกันของน้ำตาลบริเวณเลนส์ตา  ทำให้เลนส์ตาบวมและมัวลงไม่เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดภายในลูกตา  ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการควบคุมน้ำตาลในเลือด และรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์


ปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน


เป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน  โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้รู้สึกรำคาญและทุกข์ทรมาน  เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทถูกทำลาย   ไม่สามารถส่งออกซิเจนมาตามกระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงเส้นประสาทได้  รวมถึงการมีน้ำตาลสะสมรวมตัวกันอยู่บริเวณเส้นประสาทเองด้วย จึงทำให้การทำงานของเส้นประสาทเสื่อมลง   การรับรู้ความรู้สึกต่างๆลดลง  โดยเฉพาะบริเวณปลายมือปลายเท้า จะเกิดอาการชา  เมื่อกระทบถูกความร้อนหรือเจ็บปวดจะไม่ค่อยรู้สึก  จึงเป็นอันตรายกับผู้ป่วยเบาหวาน  เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้ง่ายโดยไม่รู้สึกตัว  เมื่อเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กลง  ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง  นอกจากนั้นยังส่งผลต่อเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณระบบทางเดินอาหารด้วย จึงทำให้เกิดอาการท้องผูกโดยไม่ทราบสาเหตุ สำหรับผู้ชายที่เป็นเบาหวานมานามมักพบปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย
การรักษาอาการปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน ทำได้เพียงบำบัดตามอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้คืนกลับสู่สภาพเดิมได้  แต่การควบคุมน้ำตาลในเลือดจะช่วยลดความรุนแรงได้


โรคหลอดเลือดหัวใจ
                   นับเป็นโรคแทรกซ้อนที่คุกคามต่อชีวิตได้  ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก จากเส้นเลือดหัวใจตีบ  กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนกระทั่งกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด
ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ  ได้แก่
ควบคุมเบาหวานไม่ดี  ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ไม่ออกกำลังกาย อ้วน สูบบุหรี่ประวัติโรคหัวใจในครอบครัว  และเป็นผู้ที่เครียดเป็นประจำ
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวข้างต้น  และตรวจร่างกายเป็นประจำจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้มาก


โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน


เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณสมองตีบตัน  ทำให้เกิดการพิการหรืออาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้  โอกาสเกิดหลอดเลือดสมองตีบตันจะสูงมากขึ้น ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันเลือดสูงร่วมด้วย  ทำให้อวัยวะที่สมองส่วนนั้นควบคุมอยู่ อ่อนแรงลงไปเกิดอัมพฤกษ์  หรืออัมพาต   ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด  ผ่านพ้นภาวะอันตรายแล้ว  การทำกายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูสภาพการทำงานของขาที่อ่อนแรงนั้นได้ดียิ่งขึ้น


แนวทางการป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวาน


1. ควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้เกิน   140 มก./ดล.
2.   ควบคุมความดันเลือดไม่ให้เกิน   130/80  มม.ปรอท   
3.   ควบคุมน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วน
4.  ควบคุมระดับไขมันในเลือด
             • คอเลสเตอรอล    ต่ำกว่า   200  มก./ดล.
             • ไตรกลีเซอไรด์    ต่ำกว่า   150  มก./ดล.
             • เอชดีแอล          สูงกว่า    40   มก./ดล.
5. งดสูบบุหรี่
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
7. ดูแลรักษาเท้า โดยป้องกันไม่ให้เกิดแผลและหมั่นตรวจเท้าสม่ำเสมอ
8. ตรวจตา  และตรวจหาปริมาณไข่ขาวในปัสสาวะ  ปีละ  1 ครั้ง แม้ยังไม่มีอาการ
   
                      โรคแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวานก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ  ส่งผลต่อการทำงานและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน  สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น  และบางครั้งโรคแทรกซ้อนนั้นอาจอันตรายถึงแก่ชีวิต  หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที  การมีความรู้ในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าว  ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีสุขภาพที่ดี  ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการรักษาโรคแทรกซ้อน  และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี




 


บรรณานุกรม


1. Kinson J, et al Caring for  the diabebetic.London , Churchlll Livington , 1984 : p92.
2. Consensus Statement “ The phamacological treatment if hyperdlycemia in NIDDM”.Diabetes Care , 1995 ; 18:11.
3. Mayer B, David Son , et al.Diabetes education for the nurse ,  patient and family. Diabetes Mellitus Diagnosis and Treatment. Churchill Livington , 1991: p316.
4. John C, Pickup & Gareth Wikams. The heart and macrovascular disease in mellitus. Chronic Complication of Diabetes. London , Blackwell Scientific Publications, 1994 : p 195-209.
5. ดุษณี สุทธปรียาศรี. Clinical Nutrition. โครงการตำราวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม. กรุงเทพมหานคร 2532 : หน้า 172.



หน้าที่ 3 - โภชนาบำบัด


หัวข้อ

1. ความสัมพันธ์ของอาหาร  ระดับน้ำตาลในเลือด  และระดับอินซูลินในเลือด
2. สารอาหารชนิดต่างๆ กับระดับน้ำตาลในเลือด
3. คาร์โบไฮเดรต
4. โปรตีน
5. ไขมัน
6. เกลือแร่และไวตามิน
7. รายการอาหารแลกเปลี่ยน
8. แนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี





ความสัมพันธ์ของอาหาร  ระดับน้ำตาลในเลือด  และระดับอินซูลินในเลือด


                 ร่างกายมนุษย์ต้องการพลังงานเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตเหมือนกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ พลังงานส่วนใหญ่ได้มาจากน้ำตาลที่อยู่ในเลือด เมื่อเรารับประทานอาหาร  สารอาหารต่างๆ จะถูกน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้ย่อยจนมีขนาดเล็กมากและดูดซึมผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด  สารอาหารบางจำพวกจะถูกย่อยสลายจนกลายเป็นน้ำตาลกลูโคสซึ่งมีขนาดเล็กมาก  และดูดซึมผ่านผนังสำไส้เข้าสู่กระแสเลือด  ภายหลังรับประทานอาหารเราจึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น 


สารอาหารชนิดต่างๆ กับระดับน้ำตาลในเลือด



                 อาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันประกอบด้วยสารอาหารหลัก  6 ชนิดที่สำคัญ  ได้แก่  โปรตีน  คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ แต่สารอาหารที่ให้พลังงานและมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดมี  3  ชนิดคือ  คาร์โบไฮเดรต  โปรตีนและไขมัน  มีผลในการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดต่างกัน โดยคาร์โบไฮเดรตจะถูกเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ โปรตีนจะให้พลังงานราวครึ่งหนึ่ง ส่วนไขมันจะถูกสะสมไว้เป็นพลังงานสำรองมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดราว 10 %
  
คาร์โบไฮเดรต 


อาจแบ่งเป็น  2 ประเภทที่สำคัญ คือ 
1. คาร์โบไฮเดรตจำพวกน้ำตาล  ได้แก่  น้ำตาลชนิดต่างๆ เช่น  น้ำตาลทราย น้ำตาลปีบ น้ำตาลอัดก้อน น้ำหวาน  เยลลี่  ลูกอมรสชนิดต่างๆ น้ำผลไม้   คาร์โบไฮเดรตชนิดนี้ดูดซึมได้รวดเร็ว  ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทาน  ยกเว้นในกรณีมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งมักเกิดเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารช้ากว่าเวลาที่กำหนด หรือรับประทานน้อยไป
2.  คาร์โบไฮเดรตจำพวกธัญพืชและผักผลไม้  ได้แก่  ข้าว  ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง  เผือกมัน  และผลไม้  อาหารประเภทนี้มีใยอาหารมาก  และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของผู้ป่วยเบาหวาน


                 คาร์โบไฮเดรตทั้งสองชนิดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ไม่แตกต่างกัน  ปริมาณคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับแต่ละมื้อ แต่ละวันจึงมีความสำคัญมาก  ถ้าได้รับแต่ละครั้งมากเกินไป ก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง  ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรกระจายอาหาร ที่มีคาร์โบไฮเดรตในแต่ละมื้อให้เหมาะสม  ปัจจุบันไม่ได้ห้ามผู้เป็นเบาหวานรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลทั้งหมด  แต่ควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารประเภทน้ำตาลที่ไม่มีสารอาหารอื่นนอกจากคาร์โบไฮเดรตอย่างเดียว    เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นรวดเร็ว  ผู้เป็นเบาหวานควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตจำพวก  ข้าว  ก๋วยเตี๋ยว  ผัก  ผลไม้  ซึ่งมีวิตามิน เกลือแร่  และใยอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายแทนน้ำตาล


โปรตีน 


เป็นสารอาหารช่วยในการเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนต่างๆ ใน ร่างกายมีมากใน  เนื้อสัตว์ต่างๆ  ไข่   ถั่วเมล็ดแห้ง  เต้าหู้  โปรตีน  เมื่อผ่านการย่อยแล้วจะต้องอาศัยอินซูลินนำเข้าสู่เซลล์   เพื่อใช้ในการเสริมสร้างร่างกาย  สารโปรตีนสามารถเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสได้ 58 % จึงทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน


ไขมัน
เป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน และช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันแบ่งเป็น 3 ชนิด


1. ไขมันอิ่มตัว  (Saturated  fat)  พบมากในไขมันสัตว์  น้ำมันมะพร้าว  กะทิ   ไขมันชนิดนี้ทำให้ระดับคอเลสเตอรอล ในเลือดเพิ่มขึ้น
2.  ไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated fat) มีมากในถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันชนิดนี้ช่วยลดระดับโคเรลเตอรอลในเลือดและ LDL–C  ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลว
3.  ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว  (Monounsaturated fat)   มีมากในน้ำมันมะกอก  น้ำมันรำข้าว  น้ำมันถั่วลิสง  น้ำมันปาล์ม  น้ำมันชนิดนี้ช่วยลดระดับโคเรลเตอรอลในเลือด  LDL-C  คอเลสเตอรอล  และไม่ลด HDL- C ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ดี
 
วิตามินและเกลือแร่
    


ช่วยในการเสริมสร้างร่างกาย และควบคุมการทำงานต่างๆในร่างกาย  ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารครบ  5 หมู่ ได้แก่  ข้าว  เนื้อสัตว์  ไขมัน  ผัก  ผลไม้  ในปริมาณที่เพียงพอ  ก็จะได้วิตามิน  เกลือแร่  ตามที่ร่างกายต้องการโดยไม่ต้องเสริม
 
ใยอาหาร     
มีมากในผัก  ผลไม้  แบ่งออกเป็น  2  ชนิด
1. ใยอาหารชนิดละลายน้ำ  ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้เล็ก  และช่วยลดคอเลสเตอรอล
2. ใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ  ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ  ป้องกัน  อาการท้องผูก  ริดสีดวงทวาร  และมะเร็งลำไส้ใหญ่   และใยอาหารยังช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น


แนวทางการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี
                 เพื่อการมีสุขภาพที่ดี  ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารตามข้อปฏิบัติ  การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย  ตามรูปธงโภชนะบัญญัติ  ของกระทรวงสาธารณสุข  โดยรับประทานให้ครบ  5 หมู่  ตามสัดส่วนแสดงในภาพ  เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน



1. กลุ่มข้าว แป้ง


เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีโปรตีน  วิตามิน  เกลือแร่   และใยอาหาร  ผู้ป่วยควรได้รับให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย  ซึ่งจะแตกต่างกันตามน้ำหนักตัว  และกิจกรรมการทำงานของแต่ละคนในผู้ที่อ้วน  และได้รับคำแนะนำให้ลดน้ำหนัก  ควรลดปริมาณหรืออาหารแป้งชนิดอื่นลงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยได้รับ หรือปริมาณมื้อละ 2 ทัพพี สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักปกติ ไม่อ้วนแต่ทำงานเบา สามารถรับประทานได้มื้อละ 3 ทัพพี  ถ้าเป็นผู้ที่ใช้แรงงานมาก  อาจเพิ่มได้มากกว่านี้


2. กลุ่มผัก 


เป็นอาหารที่มีวิตามิน  เกลือแร่ใยอาหารมาก  โดยเฉพาะผักสีเขียวเข้ม  ผักสีเหลือง  เช่นผักบุ้ง  ผักคะน้า  แครอท  ผักกวางตุ้ง   ใยอาหารในผักช่วยให้น้ำตาลในลำไส้ดูดซึมได้ช้าลง  และช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลด้วย  นอกจากนี้ในผักยังมีสารไฟโตเคมีคอล  (phytochemical)  ช่วยป้องกันมะเร็งในอวัยวะต่างๆ  ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับมื้อละ  ½ -1  ถ้วยตวง   วันละ  2-3   ครั้ง


3. กลุ่มผลไม้  


เป็นอาหารที่มีวิตามิน  เกลือแร่  และใยอาหารมาก  ผลไม้แต่ละชนิดมีน้ำตาลมากน้อยต่างกัน  บางชนิดมีรสหวานจัด  เช่น  ทุเรียน  ขนุน  ลำไยไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน  ผู้ป่วยควรเลือกผลไม้ที่หวานน้อย  เช่น  ส้ม  ฝรั่ง  มะละกอสุก  แอปเปิล   และรับประทานแต่พอควร    หากได้รับครั้งละมาก สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้  


การเลือก 1-2 ชนิด/ มื้อ   ตามปริมาณที่แนะนำ  เช่น


ฝรั่ง

1/2

 ผลใหญ่             

น้ำส้มคั้น

1/2

ถ้วย

ชมพู่เขียว    

3

ผล

มะละกอสุก        

8

ชิ้นคำ

เงาะ

5

ผล

แอปเปิล

1

ผลเล็ก

สับปะรด

6

ชิ้นคำ

ลองกอง

10

ผล

แตงโม   

10

ชิ้นคำ

กล้วยน้ำว้า         

1

ผล

ส้มเขียวหวาน

1

ผล       

มะม่วงน้ำดอกไม้

1/4

ผล

เป็นอาหารที่ให้โปรตีน  ควรรับประทานเป็นประจำทุกวัน   มื้อละ  3-4  ช้อน (45-60 กรัม)  วันละ  2-3  ครั้ง  และควรเลือกชนิดไม่ติดมันและหนัง  เครื่องในสัตว์ เช่น  เซ่งจี้  หัวใจ  ตับ  ปอด มีคอเลสเตอรอลมาก ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงควรงด  รวมทั้งกุนเชียง ไส้กรอกหมูยอ ควรรับประทานปลาให้บ่อยขึ้น สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง   กุ้ง ปู  รับประทานได้   เต้าหู้   ถั่วเมล็ดแห้งควรรับประทานบ่อยๆ


 ไข่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี   ไม่ควรงด   ถ้าไขมันในเลือดปกติ รับประทานได้สัปดาห์ละ  4-5  ฟอง  ถ้าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง  รับประทานสัปดาห์ละ  2  ฟอง  หรือรับประทานแต่ไข่ขาว


5. กลุ่มน้ำนม 


ประกอบด้วยโปรตีน   คาร์โบไฮเดรต   ไขมัน  ไวตามิน  เกลือแร่  โดยเฉพาะมีแคลเซียมมาก   ควรดื่มวันละ  1-2  แก้ว  ควรเลือกนมไม่มีไขมัน  หรือไขมันต่ำ  ชนิดไม่ปรุงรสและไม่เติมน้ำตาล   
ไม่ควรดื่มนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เนื่องจากมีน้ำตาลและน้ำผลไม้
 ผู้ป่วยเบาหวานที่ตรวจพบไข่ขาวในปัสสาวะ แสดงว่าประสิทธิการทำงานของไตลดลง   และแพทย์ให้จำกัดโปรตีนในอาหาร  ให้ลดปริมาณเนื้อสัตว์ทุกชนิดลง ทั้งปลา   และน้ำนม  โดยให้รับประทานเนื้อสัตว์มื้อละ  2  ช้อนกินข้าว  วันละ  3 มื้อ  ถ้าดื่มน้ำนม ให้ลดลงเหลือ ½ - 1 กล่อง  (120-240 ซีซี)    รับประทานไข่ขาววันละ  2 ฟองเป็นประจำ หรือในปริมาณที่แนะนำ


6. กลุ่มไขมัน  


ควรรับประทานแต่พอควร  และเลือกน้ำมันรำ  น้ำมันถั่วลิสง  น้ำมันถั่วเหลือง  ในการประกอบอาหาร  รับประทานอาหารที่มีกะทิน้อยลง
 
เกลือ  ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานแต่น้อย  โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูง  เลี่ยงอาหารหมักดองเค็ม  และการเติมซอสรสเค็ม ขณะรับประทานอาหาร
น้ำตาล เป็นอาหารให้พลังงานอย่างเดียว  ไม่มีวิตามิน  เกลือแร่   ใยอาหาร เป็นสาเหตุทำให้น้ำตาลในเลือดสูงควบคุมไม่ได้    ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรหลีกเลี่ยง   อาหารที่มีน้ำตาลมาก  ขนมหวาน  น้ำหวาน   ถ้าติดรสหวานให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน  ในบางโอกาสเมื่อต้องการรับประทาน
ขนม
  เช่น  วันปีใหม่  วันเกิด  ผู้ป่วยต้องรู้จักวางแผนการรับประทานอาหารล่วงหน้า และรู้จักแลกเปลี่ยนอาหาร   โดยแลกเปลี่ยนขนมกับข้าวหรือผลไม้ที่รับประทานในมื้อนั้น  เช่น  วางแผนรับประทานขนมชั้น  1  ชิ้น  (2x2 นิ้ว)  ต้องลดข้าวลง  1 ทัพพี ถ้าเคยรับประทานอยู่  2 ทัพพี  ก็ต้องรับประทานเพียง  1 ทัพพี และงดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
แอลกอฮอล์   ไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยง  ในงานเลี้ยงหากต้องดื่มควรเลือกวิสกี้เจือจางไม่เกิน  2 เป๊ก  และไม่ควรดื่มขณะท้องว่าง  เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ถึงหมดสติได้  ทั้งนี้เพราะแอลกอฮอล์ไปเสริมฤทธิ์ยารักษาเบาหวาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงรวดเร็ว
 



โดยสรุป   


       จะเห็นว่า  การควบคุมอาหารในปัจจุบัน  ผู้ป่วยมีอิสระในการเลือกรับประทานได้หลากหลาย   ไม่ได้จำกัดอาหารอย่างเข้มงวด   แต่ผู้ป่วยต้องรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ  เรียนรู้การใช้อาหารแลกเปลี่ยน อ่านฉลากโภชนาการที่หน้ากระป๋องหรือกล่องบรรจุอาหารและทำความเข้าใจ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนอาหารของตนเอง   จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างสม่ำเสมอ  ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง  และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
  


บรรณานุกรม


1. American  Diabetes  Association.  Evidence-Based Nutrition Principles and Recommend for the Treatment and Related  Compilcation ,Diaetes Care,Diabetes Care,Vol 6 Suppl ;Jan 2003.
2. คณะทำงานจัดทำข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย. คู่มือกินพอดี สุขีทั่วไทย. กองโภชนาการ กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข 2542.


หน้าที่ 4 - เบาหวานกับการออกกำลังกาย
หัวข้อ


1. ความหมายของการออกกำลังกาย
2. ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
3. ผลการออกกำลังกายต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
4. การประเมินสุขภาพก่อนออกกำลังกาย
5. ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ยา
6. วิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง

                  ระดับน้ำตาลในเลือดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดวัน เนื่องจากอาหารที่รับประทานแต่ละมื้อมีผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน น้ำตาลในเลือดจะถูกใช้เป็นพลังงานในอวัยวะต่างๆ  ของร่างกาย กล้ามเนื้อเป็นอวัยวะสำคัญใช้กลูโคสเป็นพลังงาน ขณะเดียวกันก็เป็นอวัยวะที่เก็บกลูโคส ที่เหลือใช้จากอาหารที่รับประทาน เป็นพลังงานสำรองในรูปของไกลโคเจน การออกกำลังกายที่เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอจะทำให้กล้ามเนื้อ สามารถใช้กลูโคสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเก็บกักกลูโคสได้มากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
                   การออกกำลังกาย    หมายถึง การมีกิจกรรมเสริมจากกิจวัตรประจำวัน โดยมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ ทั่วร่างกาย มีการสูบฉีดไหลเวียนโลหิตเพิ่มขึ้น ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดและหัวใจดีขึ้น ช่วยลดความเครียด ความกังวลลงได้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะทำให้สุขภาพทั่วไป รวมทั้งการควบคุมเบาหวานดีขึ้น

ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
           การออกกำลังกายมีประโยชน์ คือ
1.1 ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เนื่องจากอินซูลินออกฤทธิ์ดีขึ้น และร่างกายใช้อินซูลินลดลง
1.2 เพิ่มสมรรถภาพการใช้ไขมันเป็นพลังงาน
1.3 ทำให้การทำงานของหัวใจและระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
1.4 รู้สึกสดชื่นผ่อนคลายร่างกายมีพละกำลังและคล่องตัว

การออกกำลังกายมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

การออกกำลังกายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย 2 ระบบ ได้แก่
ระบบการหมุนเวียนของเลือดและการหายใจ  การออกกำลังกายช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและการขนถ่ายออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายดีขึ้น
ระบบพลังงานและฮอร์โมนอินซูลิน การออกกำลังกายทำให้การใช้อินซูลินลดลงแต่
ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนอื่นๆ ทำงานดีขึ้น เช่น กลูคากอน, 
อีพิเนฟริน มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อสลายกลัยโคเจนในตับ และสร้างกลูโคส ไปสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น จึงทำให้ไขมันลดลง

การประเมินสุขภาพก่อนออกกำลังกาย

                ผู้ป่วยเบาหวานมีความผิดปกติหรือความบกพร่องของอินซูลิน เป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว เมื่อออกกำลังกายต้องคำนึงถึงระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าสูงกว่า 250 มก./ดล. หรือมีภาวะแทรกซ้อนในระยะรุนแรงต้องงดการออกกำลังกาย ถ้าไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ และให้คำนึงถึงเรื่องการออกฤทธิ์ของยาและการรับประทานอาหารว่าง

ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ยา
               เมื่อมีการออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวานจะมีการตอบสนองของฮอร์โมนต่างจากคนปกติคือ

ผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลิน
               ผู้ป่วยที่มีอินซูลินสูงจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่ายขณะออกกำลังกาย เนื่องจาก
อินซูลินที่สูงจะยับยั้งการสร้าง และปลดปล่อยน้ำตาลจากตับ รวมทั้งการสลายไขมัน และกล้ามเนื้อสามารถใช้น้ำตาลได้มากขึ้น ผลคือ ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ตรงกันข้ามถ้าระดับอินซูลินไม่พอ ตับจะสร้างและปลดปล่อยน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดมาก แต่กล้ามเนื้อไม่สามารถใช้น้ำตาลได้มาก อาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดสูง (ketoacidosis) จากการสลายไขมันมากเกินไป ดังนั้นการออกกำลังกายในผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลินจำเป็นต้องปรับอาหารและยา ให้เหมาะสมตามเวลาการออกกำลังกาย ระยะเวลาและประเภทของการออกกำลังกาย
 
               หลักปฏิบัติ
                     1. ควรฉีดยาที่หน้าท้องเมื่อวางแผนจะออกกำลังกาย งดการฉีดยาที่แขนหรือขาเพื่อหลีกเลี่ยงการดูดซึมของยาอย่างรวดเร็ว 
                    2. ไม่ควรออกกำลังกายขณะยาออกฤทธิ์สูงสุด เช่นเมื่อใช้อินซูลินชนิดน้ำใสควรออกกำลังกายหลังยาออกฤทธิ์ประมาณ 4 ชั่วโมง หากใช้อินซูลินชนิดน้ำขุ่น ควรออกกำลังกายหลังฉีดยาประมาณ 8 ชั่วโมง เป็นต้น
                    3. ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ก่อนและหลังการออกกำลังกายในระยะเริ่มแรก เพื่อให้ทราบการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลของตนเองและเพื่อจะเป็นแนวทางการปรับขนาดยา และปริมาณอาหารให้เหมาะสม เพราะภาวะน้ำตาลต่ำอาจเกิดขณะออกกำลัง หรือภายหลังการออกกำลังแล้วหลายชั่วโมง
                    4. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย เพราะมีการสูญเสียน้ำทางเหงื่อและการหายใจ ซึ่งการขาดน้ำมาก เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ผู้ป่วยที่ใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาล
                    ผู้ป่วยที่อ้วนและใช้ยาชนิดรับประทาน ไม่จำเป็นต้องมีอาหารเสริม ควรเริ่มออกกำลังกายพอสมควร และค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้น เมื่อน้ำตาลในเลือดเริ่มลดลง แพทย์จะปรับลดขนาดยาลง

5.  วิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง
                    1. ควรเริ่มที่กิจกรรมเบาๆ ปฏิบัติกิจกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที และปฏิบัติสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
                    2. ขั้นตอนการออกกำลังกายแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
                                ก. ระยะอุ่นเครื่อง เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อ ใช้เวลา 5 นาที
                                ข. ระยะออกกำลังกาย ใช้เวลา 20 นาที
                                ค. ระยะผ่อนคลาย เพื่อให้ระบบต่างๆ ของร่างกายคืนสู่ภาวะปกติ ใช้เวลา 5 นาที
                    3. ควรเลือกประเภทที่ชอบและสนใจ ที่ให้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลิน เพื่อจะปฏิบัติได้ต่อเนื่องไม่เบื่อหน่าย
                    4. กิจกรรมที่นิยมได้แก่ การเดิน วิ่งเหยาะ เต้นรำเข้าจังหวะ ว่ายน้ำ รำมวยจีน ในรายที่มีข้อจำกัดจากสภาพหัวใจ หรือโรคอื่นๆ ควรออกกำลังกายชนิดเบาๆ เช่น กายบริหารในท่ายืน ท่านั่ง หรือท่านอน เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและ การเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย
                    5. ควรกำหนดเวลาออกกำลังกายในเวลาใกล้เคียงกันเป็นประจำ

 เป้าหมายการออกกำลังกายคือ ต้องการให้หัวใจทำงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60-80 ดังนั้น ผู้ป่วยอายุ 60 ปี ควรออกกำลังกายจนอัตราชีพจร เท่ากับหรือใกล้เคียงกับ 112 ครั้ง/นาที

7.  ภาวะน้ำตาลขณะออกกำลังกาย
                     อาการผิดปกติขณะออกกำลังกาย
                    1. ถ้ารู้สึกเหนื่อย หอบ เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ ควรหยุดกิจกรรมนั้นทันที
                    2. หาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ควรตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด โดยใช้เครื่องตรวจเลือดด้วยตนเอง
                    3. รับประทานน้ำตาลชนิดที่เคยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอาการดีขึ้น


8.  การเลือกอาหารว่างให้เหมาะสมกับประเภทการออกกำลังกาย
                     ขณะออกกำลังกายร่างกายจะใช้กลูโคสเป็นพลังงาน ดังนั้นการจัดปริมาณและมื้ออาหารว่าง จะขึ้นกับประเภทของการออกแรง และระยะเวลาที่ใช้ในการออกแรง
                    1. อาหารประเภทข้าว แป้ง น้ำตาล เช่น น้ำผลไม้ นม ขนมปัง จะเปลี่ยนสภาพเป็นกลูโคสได้รวดเร็ว
                    2. ผลไม้ชิ้นเล็ก นม 1 แก้ว หรือ ขนมปัง 1 แผ่น เหมาะสำหรับการออกกำลังกาย ที่ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที
                    3. อาหารว่างที่ประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันเล็กน้อย เช่น แซนด์วิชไส้เนื้อทาเนย เหมาะสำหรับการออกกำลังกาย ที่ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที
                    4. กรณีออกกำลังกายยาวนาน ไม่จำเป็นต้องหยุดรับประทานอาหารว่างทุก 30 นาที ควรเพิ่มปริมาณอาหารว่างมากขึ้นขณะก่อนออกกำลังกายและภายหลังการออกกำลังกายแล้ว ให้รับประทานอีกครั้ง

9.  ความสมดุลระหว่างอาหารว่างและกิจกรรม
                    1. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อปรับอาหารว่างให้เหมาะสมในครั้งต่อไป
                    2. ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 80-180 มก./ดล ควรรับประทานอาหารว่างก่อนออกกำลังกาย
                             • ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 180-240 มก./ดล. ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารว่าง ก่อนออกกำลังกาย แต่อาจให้ในระหว่าง 30-60 นาที ของการออกกำลังกาย
                             • ถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการรับประทานอาหารว่าง ภายหลังการออกกำลังกายที่ยาวนาน ระดับกลูโคสอาจต่ำกว่าปกติได้ ผู้ป่วยควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดภายหลังการออกกำลังกาย เพื่อประเมินความต้องการอาหารว่างของผู้ป่วย ว่าต้องการหรือไม่


บรรณานุกรม

1.   วรรณี  นิธิยานนท์ “Exercise and Diabetes” Diabetes in Practice. มหานครออฟเซทกรุงเทพ 2530 
      หน้า  53 ISBN 974-586-155-3.
2.   สุนิตย์  จันทรประเสริฐ  “เบาหวานในผู้สูงอายุ” โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสมสำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป 
      โครงการตำราอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
3.   Fitzgerald PL. Exercise for the elderly. Med Clin N Am.1985.
4.  Gordon T el “Predicting Coronary Heart Disease in middle aged and persons. The  
     Framingham Study JAMA, 1977.5. Horton ES, Exercise and physical training effects on  insulin sensitivity and glucose metabolism. Diabetes Metabolism Review 1986.


หน้าที่ 5 - ยารักษาเบาหวาน
หัวข้อ


1. ยาเม็ดลดระดับน้ำตาลคืออะไร
2. ประเภทของยาเม็ดลดระดับน้ำตาล
3. การดูแลและการเก็บรักษายา
4. ข้อควรระวังในการใช้ยา

                     ภาวะน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองนั้น อาจแบ่งออกได้เป็นระดับน้ำตาลที่สูงภายหลังการรับประทานอาหาร และน้ำตาลที่สูงแม้ในขณะที่อดอาหาร กลไกที่สำคัญของการเกิดน้ำตาลในเลือดที่สูงนี้เกิดจาก ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่วมกับความผิดปกติของเบต้าเซลล์ที่ตับอ่อน ไม่สามารถสร้างและหลั่งอินซูลินได้เพียงพอ การรักษาในระยะแรกนั้น มุ่งเน้นที่การควบคุมอาหาร ซึ่งจะลดระดับน้ำตาลภายหลังการ รับประทานอาหารลงได้ การลดน้ำหนักตัวลงร่วมกับการออกกำลังกายจะช่วยให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินดีขึ้นจนทำให้ระดับน้ำตาลในขณะอดอาหาร (น้ำตาลในตอนเช้า) ลดลงได้อย่างไรก็ตามเมื่อการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไม่เป็นผล จำเป็นต้องได้รับยาซึ่งจะออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาต่างๆ เหล่านี้ในปัจจุบันมีมากมาย และมีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันไป แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย การเลือกใช้ยาแต่ละชนิดควรต้องพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ของการใช้ยา ข้อห้าม รวมทั้งอาการอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ การใช้ยาต่างๆ เหล่านี้ ควรต้องคำนึงถึงปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยา เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักมีโรคต่างๆ หลายอย่างร่วมด้วย การได้รับยาหลายๆ ชนิดรวมกัน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนการใช้ยาได้โดยง่าย

ยาชนิดรับประทานคืออะไร

• ยาเบาหวานชนิดเม็ด ใช้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด
• ยาเบาหวานชนิดเม็ด มิใช่อินซูลิน อินซูลินไม่สามารถใช้รับประทานได้  เนื่องจากอินซูลินเป็นโปรตีนที่ถูกทำลายได้ด้วยน้ำย่อย เช่น โปรตีนชนิดอื่นๆ
• ยาชนิดเม็ดจะมีประสิทธิภาพเมื่อตับอ่อนยังผลิตอินซูลินได้บ้าง

ยาชนิดเม็ดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1. ยากระตุ้นการทำงานของตับอ่อน
2. ยาเสริมสร้างการทำงานของอินซูลิน
3. ยาลดการดูดซึมของน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย

1. ยากระตุ้นการทำงานของตับอ่อน  ยากลุ่มนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น  2  กลุ่มคือ

1.1 กลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย  เช่น  กลิปีไซด์  กลิคาไซด์  ไกลเบนคลาไมด์
1.2 กลุ่มรีพาไกลไนด์            
• วิธีใช้     รับประทานก่อนอาหาร  30  นาที สำหรับยากลุ่มแรก  ยารับประทานก่อนอาหารทันที  สำหรับยากลุ่มที่  2 
• ข้อห้ามใช้    ประวัติแพ้ยา  โรคตับ  และโรคไตเรื้อรัง
• ข้อควรระวัง  อาการน้ำตาลต่ำ 

2. ยาเสริมสร้างการทำงานของอินซูลิน
2.1 ไบกวาไนด์ เม็ทฟอร์มิน เสริมสร้างการทำงานของอินซูลินที่ตับ  โดยทำให้ตับผลิตน้ำตาลลดลง 
• วิธีใช้  รับประทานหลังอาหาร
• ข้อห้ามใช้    ประวัติแพ้ยา  โรคตับ  และโรคไตเรื้อรัง
• คุณสมบัติพิเศษ    ลดน้ำหนักในผู้ป่วยเบาหวานที่อ้วน  ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด  มีผลดีต่อระดับไขมันในเส้นเลือด
• ข้อควรระวัง      ท้องอืด   ท้องเฟ้อ  ท้องเสีย  ท้องผูก          
2.2 โทรกลิตาโซน โรสิกลิตาโซน ไพโอกลิตาโซน เสริมสร้างการทำงานของอินซูลินที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อได้แก่   

• วิธีใช้  รับประทานหลังอาหาร
• ข้อห้ามใช้  ประวัติแพ้ยา  โรคหัวใจวาย  โรคตับ  และโรคไตเรื้อรัง   
• ข้อควรระวัง ต้องมีการตรวจการทำงานของตับ อย่างสม่ำเสมอและ ขาบวม น้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นได้ 
3. ยาลดการดูดซึมของน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย       
3.1 เอคาร์โบส และโวกลิโบส ยากลุ่มนี้จะรบกวนการทำงานของน้ำย่อยที่ใช้ย่อยสารอาหารจำพวกแป้ง  (คาร์โบไฮเดรต )  ในทางเดินอาหาร   ยากลุ่มนี้จะลดระดับน้ำตาลได้เล็กน้อย  ใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่น  
• วิธีใช้              รับประทานพร้อมกับอาหารคำแรก
• ข้อห้ามใช้       ประวัติแพ้ยา  โรคไตเรื้อรัง
• ข้อควรระวัง     ท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ท้องเสีย


การใช้ยาเม็ด
• ไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่นหรือแบ่งปันให้ผู้อื่น
• เรียนรู้ชื่อยา ขนาดและวิธีใช้ยา

ระยะเวลาออกฤทธิ์
• ระยะเวลาการออกฤทธิ์ คือ ช่วงเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์จนหมดฤทธิ์ยา
• เวลาออกฤทธิ์สูงสุด และจำนวนครั้งที่ใช้ต่อวัน โดยทั่วไปประมาณ 6-24 ชั่วโมง ยกเว้น 
คลอโปรพาไมด์ (Chlorpropamide) (48 ชม.) และ อะคาร์โบส  (1 ชม.)

ใช้ยาเมื่อใด
- ผู้ป่วยอาจใช้ยาวันละครั้งหรือ 3 ครั้งต่อวัน ความถี่ของการใช้ยาขึ้นอยู่กับระยะเวลาการออกฤทธิ์ และปฏิกริยาตอบสนองของร่างกาย
- ควรใช้ยาตามแผนการรักษา
- ควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
- ไกลพิไซด์ (Glipizide) ควรใช้ก่อนอาหาร 30 นาที
- อะคาร์โบส  ควรใช้ขณะรับประทานพร้อมอาหาร ไม่ควรรับประทานยาหากลืมหรืออาหาร

ควรจดจำเวลาที่ใช้ยา
• ถ้าลืมรับประทานก่อนอาหารมื้อเช้า ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้
• ถ้าใช้ยาวันละครั้งและลืมรับประทานยา 1 วัน ไม่ควรรับประทานยาชดเชยเป็น 2 เม็ด ในวันถัดไป
• ถ้าใช้ยาวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และลืมรับประทานยามื้อเช้า ไม่ควรรวบยา 2 มื้อ ในมื้อเย็น
• ข้อเตือนใจ
- ใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
- ใช้ยาในเวลาเดียวกับยาอื่นๆ ที่มี หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น การแปรงฟัน
- เก็บยาไว้ในที่มองหาง่ายและหยิบง่าย
- ให้ความสนใจมื้อที่มักจะลืมเสมอ เช่น มื้อกลางวันหรือมื้อเช้า
- จัดลำดับมื้อยาให้จำง่ายด้วยตนเอง
- แบ่งขนาดยาเป็นมื้อๆ ต่อวัน

การดูแลและการเก็บรักษายา
• เก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้องไม่ต้องแช่เย็น
• ไม่ใช้ยาที่หมดอายุ
• สังเกตสีของยาที่เปลี่ยนไปไม่ควรใช้
• เก็บยาไว้ติดตัวเมื่อเดินทาง ไม่ควรใส่ในกระเป๋าเสื้อผ้า และควรเตรียมยาให้เกินปริมาณที่จะใช้สักเล็กน้อย ควรมีใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้กรณีเดินทางไปต่างประเทศ

อาหารและการออกกำลัง
• ยาเม็ดจะออกฤทธิ์ได้ดีต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วย
• รับประทานอาหารตรงเวลาและสม่ำเสมอ รับประทานอาหาร 3 มื้อใหญ่ จะดีกว่ารับประทานเพียงมื้อเดียวต่อวัน ช่วยให้ตับอ่อนทำงานตามรูปแบบซึ่งทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลดีขึ้น
• การออกกำลังกายช่วยเผาผลาญพลังงานทำให้จิตใจเบิกบาน เพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน และทำให้ระดับกลูโคสต่ำลง อาหารเสริมสำหรับการออกกำลังกาย มักไม่จำเป็นในผู้ป่วยที่ใช้ยารับประทาน

ข้อควรระวังในการใช้ยา
• ไม่ควรใช้ยาเม็ดในหญิงมีครรภ์ หรือ ระยะให้นมบุตร
• แม้จะเจ็บป่วยและรับประทานอาหารไม่ได้ ควรใช้ยาต่อไปไม่ควรขาดยา และควรปรึกษาแพทย์

บรรณานุกรม


1. Learning To Live Well With Diabetes “Information for People with Type 2 Diabetes-Diabets Pill: 
    Giving Natural Insulin a Boost” International Diabetes Center. Park Nicollet Medical 
    Foundation, Minnesota, 1985.
2. การอบรมแพทย์เฉพาะทางภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2540.
    Lebobitz HE: Oral hypoglycemic agents, In Diabetes Mellitus: Theory and Practice 4th ed. 
    Rifkin H, Porte D rr, Eds., New York, Elsevier, 1990, p 554-74.
3. Bailey CJ : Biguanides and NIDDM. Diabetes Care 15:755-72, 1992.
4. Balfour JA, Mc Tarish D, Acarbose : An update of its pharmacology and therapeutic use in 
    diabetes mellitus. Drugs 46 : 1025-54, 1993.
5. Clissold SP, Edwards C : Acarbose. Drugs 35 : 214-43, 1988.
6. Vigneri R, Goldfine ID : Role of metformin in treatment of diabetes mellitus. Diabetes Care 10 : 
    118-22, 1987.
7. Medical Management of Non-insulin-Dependent (Type II) Diabetes. Raskin P, Ed. Alexandria, 
    VA. Am Diabetes Asscoc,. 1994.
โดย     รศ.นพ. สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร
สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ 
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หน้าที่ 6 - การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะด้วยตนเองที่บ้าน

การดูแลสุขภาพโดยทั่วไป และขณะเจ็บป่วยขณะเจ็บป่วย

- การดูแลตนเองในภาวะปกติ  
- การดูแลตนเองขณะที่เจ็บป่วย  เช่นไม่สบาย  เป็นหวัด  เกิดโรคติดเชื้อต่างๆเป็นต้น  
- ควรจะมาพบแพทย์เมื่อไร

การดูแลรักษาเท้า

- การตรวจและดูแลเท้าในชีวิตประจำวัน
- การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม


หัวข้อ


1. ระดับน้ำตาลในเลือดในคนปกติ
2. ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และระดับน้ำตาลก่อนและหลังอาหาร 
3. ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม เอวันซี
4. ระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด


                     อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน และจะหลั่งออกมาเมื่อมีการกระตุ้นจากอาหารที่รับประทานโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลกลูโคส อินซูลินทำหน้าที่พากลูโคสเข้าสู่เซลล์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น ช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ ควบคุมระดับไขมันในเลือด เป็นต้น
                     โรคเบาหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน โดยที่ตับอ่อนสร้างอินซูลิน
ออกมาไม่เพียงพอหรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจากเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้กลูโคสไม่ถูกพาเข้าสู่เซลล์ ทั้งสองสาเหตุทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติได้ ในระยะแรกของโรคเบาหวาน การควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย รวมทั้งการใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาล จะช่วยแก้ไขภาวะเหล่านี้ได้ แต่เมื่อโรคดำเนินไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะพบว่าผู้ป่วยจำนวนมาก จะเริ่มใช้ยาเม็ดไม่ได้ผล เนื่องจากตับอ่อนเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สามารถสร้างและหลั่งอินซูลินออกมาได้เพียงพอ เป็นเหตุให้ระดับน้ำตาลสูงจนควบคุมไม่ได้ เมื่อถึงระยะนี้จำเป็นต้องได้รับอินซูลินจากภายนอกเพิ่มเติม จึงจะสามารถรักษาระดับน้ำตาลให้กลับมาเป็นปกติได้อีก
                      อินซูลินเป็นสารประกอบโปรตีน ไม่สามารถรับประทานได้เหมือนยาเม็ดทั่วไป จำเป็นต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนัง การฉีดยาที่ถูกต้องตามหลักวิธี เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนปฏิบัติ จึงจะป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดอินซูลินได้


1.  อินซูลินคืออะไร

1.1 อินซูลิน คือ ฮอร์โมนสร้างจากเซลล์เล็กๆ ภายในตับอ่อน (เบต้าเซลล์)
1.2 อินซูลิน หลั่งออกมาเมื่อมีการกระตุ้นจากอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะการทำงานของ
อินซูลินในคนปกติ แตกต่างจากผู้ป่วยเบาหวาน
1.3 อินซูลิน ทำหน้าที่นำพากลูโคสเข้าสู่เซลล์ และเผาผลาญเป็นพลังงาน อินซูลินทำหน้าที่เสมือนรถบรรทุกกลูโคสนำไปสู่อวัยวะต่างๆ
1.4 โรคเบาหวาน เกิดจากการขาดอินซูลิน หรืออินซูลินออกฤทธิ์ไม่เพียงพอ ทำให้กลูโคสไม่ถูกพาเข้าสู่เซลล์ ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดลดลงช้า
1.5 อินซูลินใช้เป็นยารับประทานแทนการฉีดยาเข้าใต้ชั้นผิวหนังไม่ได้ อินซูลินเป็นโปรตีนถูกทำลายได้โดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และลำไส้ก่อนจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด


2.  การเก็บรักษาอินซูลิน

2.1 อินซูลินที่เก็บไว้ใช้นานๆ ควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส โดยวางตามชั้นต่างๆ ในตู้เย็น ยกเว้นช่องทำนำแข็ง และบริเวณดวงไฟให้ความสว่างในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง
2.2 อินซูลินที่เปิดฝาแล้วสำหรับใช้ฉีดทุกวัน หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง (30 องศา) จะอยู่ได้นาน 1 เดือน 
- เมื่อเดินทางไกล ไม่ต้องแช่ขวดอินซูลินในกระติกน้ำแข็ง เพียงระวังไม่ใช้ถูกแสงแดด หรือความร้อนอบอ้าว หรือทิ้งไว้ในรถที่มีอุณหภูมิสูง
2.3 ก่อนใช้ตรวจสอบป้ายแสดง วัน เวลา ยาหมดอายุข้างขวด


3.  ชนิดของอินซูลินจำแนกตามการออกฤทธิ์

3.1 อินซูลินออกฤทธิ์ระยะสั้น (น้ำใส)
3.2 อินซูลินออกฤทธิ์ระยะปานกลาง (น้ำขุ่น)
3.3 อินซูลินออกฤทธิ์ระยะยาวนาน (น้ำขุ่น)
3.4 อินซูลินออกฤทธิ์ผสมสำเร็จรูป (น้ำขุ่น)


4.  วิธีเตรียมยา

4.1 อินซูลินชนิดน้ำใส ไม่ต้องคลึงขวดให้น้ำยาคืนรูป
4.2 อินซูลินชนิดน้ำขุ่น ต้องคลึงขวดให้น้ำยาคืนรูปก่อนดูดน้ำยา
- นำขวดอินซูลินวางบนฝ่ามือแล้วคลึงไปมาเบาๆ ห้ามเขย่าขวด จะทำให้เกิดฟองอากาศ
- ในรายที่มือชาควรกำขวดยาไว้ในอุ้งมือ แล้วพลิกข้อมือไปมาเพื่อป้องกันขวด
      ลื่นตก
4.3 เตรียมยาฉีดอินซูลิน
- ชนิดขวดเดียว
- ชนิด 2 ขวด

5.  ตำแหน่งที่ฉีดยา

 

ตำแหน่งที่อินซูลินดูดซึมได้ดีที่สุด คือ บริเวณหน้าท้อง รองลงมา คือ หน้าขาส่วนบน และแขน ตามลำดับ
แต่การดูดซึมของยาจะแตกต่างกันจากปัจจัยต่อไปนี้

- บริเวณหน้าท้อง ใช้ฉีดขณะอยู่ในช่วงการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
- บริเวณหน้าขา ใช้ฉีดเวลาก่อนนอน แม้ผู้ป่วยจะใช้ปริมาณยาเท่ากันทุกวัน


• ตำแหน่งการฉีดยา
• การประคบความร้อน ความเย็น
• นวดคลึง หรืออบเซาน่า
• การออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนที่ฉีดยา
• การสูบบุหรี่ ทำให้หลอดเลือดตีบแข็ง ขาดความยืดหยุ่น การดูดซึมของยาจะช้าลง

6.  วิธีฉีดยา


6.1 สาธิตวิธีจับหลอดฉีดยา
6.2 การมีเลือดซึมภายหลังถอนเข็มฉีดยา
วิธีฉีดยาที่นุ่มนวลจะช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อโดยวิธีดังนี้
- ดึงผิวหนังบริเวณที่จะฉีดยาหรือแยกผิวหนังให้ตึง ใช้มือที่ถนัดจับหลอดฉีดยาให้คล้ายจับดินสอ ให้นิ้วชี้แตะที่ปลายแกนหลอดฉีดยา และเพื่อให้ฉีดยาให้นุ่มนวล ควรวางแขนแนบลำตัว วางข้อมือแนบหน้าท้องหรือบริเวณที่ฉีด แล้วปักเข็มตรงๆ ตั้งฉาก แล้วผลักยาเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังจนหมด


 
7.  หลอดฉีดยา

7.1 หลอดฉีดยาสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ป่วยภายหลังฉีดยา สวมฝาครอบหัวเข็มทันที
-  ไม่ควรใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ทำความสะอาดหัวเข็ม ซึ่งเคลือบสารกันฝืดไว้ จะทำให้สารหลุดลอกออก ทำให้ฉีดยาครั้งต่อไปรู้สึกเจ็บหรือมีเลือดออกได้ การใช้หลอดฉีดยาซ้ำหลายครั้งทำให้เกิดภาวะการติดเชื้อน้อยมาก
7.2 การทิ้งและกำจัดเข็มฉีดยาที่ใช้แล้ว
-  หลอดฉีดยาและหัวเข็ม เป็นของมีคมห้ามใช้ร่วมกับผู้อื่น ทิ้งหลอดฉีดยาพร้อมหัวเข็มในภาชนะโลหะมีฝาปิดสนิท ป้องกันการแทงหรือตำผู้อื่น อาจใช้เครื่องมือสำหรับตัด ทำลายหัวเข็มแยกบรรจุเก็บกักของมีคมอย่างปลอดภัย


8.  ความสัมพันธ์ระหว่างการออกฤทธิ์ของอินซูลินและมื้ออาหาร

8.1 ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที
8.2 ควรมีอาหารมื้อว่าง เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลต่ำ
-  คนปกติจะหลั่งอินซูลินภายหลังการรับประทานอาหารและปริมาณอินซูลินจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาล ผู้ป่วยควรฉีดอินซูลินก่อนอาหาร 30 นาที เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และควรฉีดยาและรับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกวัน ไม่ควรฉีดยาแล้วเดินทาง การจราจรอาจทำให้การรับประทานอาหารล่าช้า
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/36790

อัพเดทล่าสุด