เสือตายจากไข้หวัดนก 29 ตัว สั่งปิดสวนเสือไม่มีกำหนด


1,093 ผู้ชม


ผลตรวจชี้ชัดเสือศรีราชาติดหวัดนก เชื่อกินซี่โครงไก่ติดเชื้อ สั่งปิดไม่มีกำหนด รัฐเต้นสอบฟาร์มเลี้ยงไก่ชลบุรี ด้านครูอยุธยานำ นร.ทัศนศึกษา โวยสวนเสือไร้ความรับผิดชอบ เปิดให้เข้าชม

สงครามล้างเผ่าพันธุ์เชื้อโรคไข้หวัดนกของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. ซึ่งเริ่มมีผู้บริหารหลายรายในรัฐบาลออกมาประกาศความสำเร็จเบื้องต้นนั้น อาจจะกลายเป็นหมันเสียแล้ว เมื่อมีการตรวจพบว่าเสือกว่า 20 ตัวในสวนเสือศรีราชาตายอย่างผิดปกติ จนหวั่นกันว่าองค์การอนามัยโลก อาจจะนำกรณีมาสั่งจับตาสถานการณ์ไข้หวัดนกในเอเชีย จนเกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลกอีกครั้ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 18 ต.ค. ได้รับรายงานจากคณบดีสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าได้นำชิ้นส่วนเสือในสวนเสือศรีราชามาตรวจสอบ ผลในเบื้องต้น สงสัยว่าเสือที่ตายนั้น อาจจะเป็นโรคไข้หวัดนก จนถึงวันที่ 14 ต.ค. เสือตายไปแล้ว 19 ตัว ซึ่งในวันเดียวกันก็ได้หารือและสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค เข้าไปเก็บชิ้นส่วนเพื่อเข้าตรวจสอบเพิ่มเติม

"ล่าสุดในเช้าวันที่ 19 ต.ค.นี้ ได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า เสือตายรวมแล้ว 23 ตัว และมีอาการป่วย 30 ตัว จากเสือในสวนเสือศรีราชาทั้งหมด 400 ตัว และได้สั่งให้นำซากเสือที่แช่แข็งมาตรวจเพิ่มเติม เพื่อรอผลการยืนยันชัดเจนคาดว่าน่าจะรู้ผลได้ในคืนวันที่ 19 ต.ค. ขณะนี้ผู้ที่ให้อาหารเสือ 5 คนก็เป็นห่วงตัวเอง จึงขอตรวจสุขภาพว่า จะติดโรคหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความเขาเป็นโรคไข้หวัดนกแล้ว อาจจะทราบผลในบ่ายวันนี้" นายจาตุรนต์ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อบ่ายวันที่ 19 ต.ค. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะเข้าไปดูความเรียบร้อยในสวนเสือ และนายพิสิฐ เกตุผาสุก ผู้ว่าฯ ชลบุรี จะแจ้งเรื่องการควบคุมโรคกับเจ้าของสวนเสือศรีราชา ซึ่งเจ้าของสมัครใจที่จะขอปิดสวนสัตว์ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปตั้งแต่วันนี้ จนกว่าจะรู้ผลการตรวจที่ชัดเจน

"เราคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการกินเนื้อไก่สด ซึ่งฝ่ายวิชาการจะแถลงให้ทราบต่อไป" นายจาตุรนต์ กล่าว

สั่งตรวจโรงฆ่าไก่อาหารเสือ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่แยกเสือที่ป่วยออกจากสัตว์ที่ไม่ป่วย และได้ฆ่าเชื้อในบริเวณที่เสืออยู่ โดยสวนเสือแจ้งว่า พบเสือตายตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. และสงสัยว่าตายด้วยโรคหวัดนก เพราะมีอาการระบบทางเดินหายใจ และเซื่องซึมก่อนตาย ซึ่งการพบเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกิดขึ้นได้ ทั้งหมดต้องรอผลตรวจที่ชัดเจนอีกครั้ง

นายยุคล กล่าวอีกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สถาบันสุขภาพสัตว์ ของกรมปศุสัตว์ อยู่ระหว่างการตรวจสอบชิ้นเนื้อเสือในห้องแล็บ คาดว่าจะรู้ผลได้ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เสือกินไก่สด และเริ่มป่วย-ตาย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบโรงฆ่าไก่ ที่นำมาเป็นอาหารเสือแล้ว

"ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ เพราะไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสชนิดพิเศษ กลัวอย่างเดียวก็คือองค์การอนามัยโลกจะจับตาเอเชียเป็นพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ไข้หวัดนก" นายยุคล กล่าว

ผู้ว่าฯ ชลบุรี สั่งปิดสวนเสือไม่มีกำหนด

เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกัน นายพิสิฐ ผู้ว่าฯ ชลบุรี พร้อมปศุสัตว์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด และตำรวจ ได้เดินทางมายังสวนเสือศรีราชา พร้อมสั่งให้สาธารณสุขและปศุสัตว์ ตรวจสอบทั้งคนเลี้ยงเสือและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเสือ มาตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกทั้งหมดกว่า 40 คน และได้เข้าประชุมร่วมกับนายไมตรี เต็มศิริพงษ์ ประธานกรรมการบริษัท ศรีราชา ไทเกอร์ซู จำกัด โดยห้ามผู้สื่อข่าวเข้าร่วมรับฟังด้วย

ล่าสุดจังหวัดได้มีคำสั่งปิดสวนเสือศรีราชาตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 19 ต.ค.นี้โดยไม่มีกำหนด ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ต้องการจะเข้าชมต่างรู้สึกผิดหวัง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในช่วงเช้า ยังเข้าชมภายในสวนเสือได้ ยกเว้นเฉพาะส่วนการแสดงโชว์เสือ โดยทางสวนเสือได้ปิดประกาศว่า "อยู่ระหว่างปิดปรับปรุง" ไว้ที่ซุ้มขายบัตรเข้าชม ส่วนพนักงานสวนเสือนั้น ทางบริษัทให้หยุดงานได้ 3 วัน

นายวีระวิทย์ วิวัฒนวานิช รองผู้ว่าฯ ชลบุรี กล่าวว่า ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังทราบเรื่อง ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพราะจังหวัดมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว จึงหวั่นว่าจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

โวยปิดข่าวไม่ห่วงชีวิตนักท่องเที่ยว

สำหรับบรรยากาศทั่วไปในสวนเสือศรีราชานั้น ปรากฏว่าผู้มาเที่ยวส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้เข้าชมการแสดงของเสือ โดยครูคนหนึ่งจากจ.พระนครศรีอยุธยา ที่พานักเรียนและคณะครูกว่า 90 คน มาเที่ยวตามโครงการพาเด็กทัศนศึกษา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สวนเสือได้พาชมเฉพาะการแสดงโชว์ของจระเข้ และช้างเท่านั้น

“ก็นึกสงสัยว่า ทำไมในส่วนโชว์เสือถึงปิดปรับปรุง แต่คิดว่าอาจเกิดจากปัญหาที่กรมป่าไม้อายัดเสือที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่เมื่อรู้ว่าเกิดจากสาเหตุไข้หวัดนกทำให้เสือตาย ก็ตกใจและไม่กล้าบอกกับเด็กนักเรียน ทางสวนเสือควรจะแจ้งให้รู้โดยทั่วกันก่อน เพราะหากนักเรียนติดเชื้อ จะเป็นปัญหาใหญ่มากๆ ทุกส่วนห่วงแต่ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวมากกว่าความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว” ครูคนเดิม กล่าว

นายสุรินทร์ เจริญพิริยะนนท์ มัคคุเทศก์ กล่าวว่า นำนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงมาเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่สงสัยว่า ทำไมในส่วนของสวนเสือจึงปิดปรับปรุง แต่ตนชี้แจงว่า เป็นเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ วันนี้มีการตรวจสอบภายในบางอย่างจึงต้องปิดบางส่วนไม่ให้เข้าชม แต่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากสวนเสือได้ เพราะไม่ได้กำหนดว่านักท่องเที่ยวจะได้เข้าชมอะไรบ้าง

"เมื่อปิดส่วนการแสดงของเสือ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง จีน และไต้หวันกว่า 500 คน ที่มาเที่ยวต้องผิดหวัง ต้องถือว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเหมือนกัน คนที่มีโปรแกรมมาเที่ยวที่นี่ พอรู้ว่าไม่ได้ชมส่วนการแสดงโชว์ของเสือก็ติดต่อขอยกเลิกอย่างกะทันหัน" นายสุรินทร์ กล่าว

ผลตรวจชี้ชัดเสือติดหวัดนก

เมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก แถลงข่าวกรณีที่เสือ 23 ตัวของสวนเสือศรีราชาเสียชีวิตว่า ได้รับรายงานว่ามีเสือ 23 ตัว อายุระหว่าง 8 เดือน- 2 ปี เสียชีวิตผิดปกติ โดยเริ่มทยอยตายตั้งแต่วันที่ 14-19 ต.ค. วันละ 2-5 ตัว และยังมีเสืออีกกว่า 30 ตัวกำลังป่วย จึงประสานไปยังผู้ว่าฯ ชลบุรี และสั่งให้ทีมสอบสวนโรค สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการตรวจสอบโดยด่วน

จากการตรวจสารคัดหลั่งด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นที่สถาบันสุขภาพสัตว์ ให้ผลบวก พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จริง

"ผลการตรวจขั้นยืนยันด้วยวิธีมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการพบว่า ติดเชื้อไข้หวัดนก จึงได้ขอความร่วมมือเจ้าของสวนเสือศรีราชา ให้ปิดทำการตั้งแต่ 12.00 น. วันที่19 ต.ค. เป็นต้นไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทั้งสามหน่วยงานทำการควบคุมโรคจนกว่าจะปลอดภัย สาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากปัจจัยเสี่ยงที่กินโครงกระดูกไก่สด ที่อาจจะมีเชื้อไข้หวัดนกอยู่ เพราะอาการเสือที่ป่วยจะมีอาการระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก มีไข้สูง 42 องศาเซลเซียส โดยป่วยประมาณ 3 วันก่อนตาย สัตวแพทย์ได้ผ่าศพเสือพบปอดอักเสบอย่างรุนแรง ขณะนี้ได้เก็บซากเสือไว้รอการตรวจจากเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรฯ ก่อนที่จะทำลายต่อไป" น.พ.จรัล กล่าว

ทั้งนี้ภายในสวนเสือศรีราชาเลี้ยงเสือไว้ 441 ตัว ในพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อให้นักทองเที่ยวชม มีประวัติการให้วัคซีนครบถ้วน และภายในสวนเสือยังมีสัตว์ที่เสี่ยงจะเกิดโรคได้คือ นกกระจอกเทศ นกยูง และ หมู ซึ่งได้แยกสัตว์เหล่านี้ไว้ที่ควบคุมโดยเฉพาะแล้ว

"ขณะนี้ได้สั่งเข้มงวดเรื่องการฆ่าเชื้อโรค การป้องกันการติดเชื้อของคนงานที่มีประมาณ 200 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นพบว่าไม่ติดเชื้อ แต่ต้องอยู่เฝ้าระวังไว้ 10 วัน รวมทั้งเฝ้าระวังรอบจุดเกิดเหตุรัศมี 5 กิโลเมตร ห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายสัตว์ คาดว่าจะควบคุมโรคไว้ในวงจำกัดได้" น.พ.จรัล กล่าว

ยันไม่ใช่พาหะไม่สั่งฆ่าเสือที่เหลือ

น.พ.จรัล กล่าวว่า จากตรวจสอบพบซากไก่ที่ใช้เป็นอาหารเสือมาจากโรงเชือดไก่ในจ.ชลบุรี ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วว่า ไก่เหล่านั้นมาจากฟาร์มใดบ้าง รวมทั้งได้ตรวจผู้ที่ทำงานในโรงเชือดไก่ ซึ่งมีกว่า 600 คนแล้ว ซึ่งพบว่าไม่ได้มีอาการป่วย และการตรวจอาการป่วยนี้จะตรวจย้อนหลังไปถึง 6 เดือนด้วย

ในส่วนพนักงานให้อาหารเสือนั้น น.พ.จรัล กล่าวว่า ได้ตรวจพนักงาน 5 รายที่มีอาการไข้ขึ้นสูง แต่ผลตรวจเชื้อเบื้องต้นพบเป็นไข้หวัดธรรมดา แต่จะติดตามเฝ้าระวังในช่วงการฟักเชื้อต่อไปอีก 7 วัน

"ส่วนเสือที่เหลือ เราจะไม่ทำลายเสือทั้งหมด เพราะเสือไม่ได้เป็นพาหะนำโรคไข้หวัดนกมาติดคนเหมือนไก่ แม้แต่เสือที่ติดเชื้อไข้หวัดนก หากตรวจพบเราก็จะพยายามรักษา ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สามารถติดเชื้อไข้หวัดนกได้ ได้แก่ หมู แมวและเสือ แต่ไม่ได้เป็นพาหะแพร่เชื้อมาสู่คนได้" น.พ.จรัล เผย

ทั้งนี้สำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ออกหนังสือเวียนไปยังสวนสัตว์ต่างๆ ให้เฝ้าดูแลการให้อาหารแก่เสือและสัตว์อื่นๆ โดยกำชับว่าหากจะให้ไก่เป็นอาหารก็ควรต้มให้สุกเสียก่อน ซึ่งสวนสัตว์ส่วนใหญ่จะให้เสือบริโภคเนื้อวัว แต่เนื่องจากสวนเสือศรีราชามีเสืออยู่จำนวนมาก เข้าใจว่าคงต้องการลดต้นทุนจึงหันมาให้เสือกินโครงไก่แทน สำหรับสัตว์ชนิดอื่นๆในสวนสัตว์ที่กินไก่สด เช่น จระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็นที่มีความไวในการติดเชื้อน้อยกว่าสัตว์เลือดอุ่นมาก

อย่างไรก็ดีมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด 116 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ทั่วประเทศ ได้คัดกรองคนป่วยเข้ารักษา 1,019 ราย กว่า 90% เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ส่วนสถานการณ์ในสัตว์ปีก ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-18 ต.ค. พบเชื้อในสัตว์ปีก 39 จังหวัด 60% เป็นไก่พื้นเมือง ไก่ชน ได้กำจัดไก่ติดเชื้อไปแล้ว 177,069 ตัว ก่อนหน้านี้ก็ได้กำจัดไปแล้ว 855,790 ตัว มีฟาร์มไก่ไข่ 1 ฟาร์ม 380,000 ตัว รวมกำจัดไก่ไปแล้ว 1,032,859 ตัว

"ทักษิณ" ย้ำครม. พบหวัดนกห้ามปิดข่าว

นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จ.ตาก ถึงมาตรการเอกซเรย์เชื้อไข้หวัดนกว่า จะต้องตรวจสอบให้ครบทุกบ้าน ภายในเงื่อนไขเวลาเดิม 31 ต.ค.นี้ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้ให้ถือเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแฝงตัว แม้ว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดและไม่พบการแพร่เชื้อแล้ว เมื่อฤดูหนาวมาถึงโอกาสที่เชื้อไข้หวัดนกจะแพร่กระจายออกไปนั้นมีมากจึงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป

"นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงหลักความโปร่งใส คือ ชี้แจงให้ประชาชนทราบทันทีที่พบโรคไข้หวัดนกและขอให้ครม.ทุกคนถือเป็นเรื่องนโยบาย" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

เกษตรฯ ยัน 20 ต.ค.รู้ผลเอกซเรย์

นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเอกซเรย์ไข้หวัดนกทุกพื้นที่ว่า ขณะนี้หลายจังหวัดได้สำรวจจำนวนสัตว์ปีกเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาทิ จ.อุดรธานี และ จ.สกลนคร ส่วนใหญ่คืบหน้าไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าจะสรุปข้อมูลของทั่วประเทศได้ในวันที่ 20 ต.ค.นี้

ส่วนอนาคตการส่งออกเนื้อไก่ของไทย ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ว่ายังดีอยู่และยังไม่มีผู้ส่งออกรายใดได้รับผลกระทบ โดยยอดส่งออกไก่สุกเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนตันเป็น 2 แสนตันในปีนี้ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ซื้อในต่างประเทศ อย่างไรก็ดีขณะนี้รัฐบาลจะหันมารณรงค์ให้คนบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น เพราะระบาดในรอบแรกคนบริโภคไก่ลดลงเหลือเพียงคนละ 10 กิโลกรัมต่อปี จากเดิม 12 กิโลกรัมต่อปี

"เราจะต้องสร้างความมั่นใจผู้บริโภคให้กลับมา โดยตั้งเป้าให้คนไทยบริโภคไก่ให้ได้คนละ 15 กิโลกรัมต่อปีในปี 2548 ซึ่งขอทำความเข้าใจว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับอันตรายจากการบริโภคเนื้อไก่แต่อย่างใด" นายบรรพต ระบุ

ปชป.ตั้งกระทู้ถามสดหวัดนก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงผลการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาลอีกครั้ง ถึงปัญหาโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นกรณีที่พบว่า นอกจากเกิดปัญหาภายในประเทศแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในต่างประเทศ และรัฐบาลยังไม่เคยมีมาตรการใดๆ แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบย้อนกลับมาถึงกรณีการส่งออก รวมทั้งปัญหาอื่นติดตามมา

ด้านนายตรีพล เจาะจิตต์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการเกษตร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตอนแรกนายกรัฐมนตรีบอกว่า จะล้างไวรัสไข้หวัดนกให้หมดจากประเทศไทยภายในวันที่ 30 ต.ค. หรือภายใน 30 วัน แต่ปรากฏว่า รมว.เกษตรฯ คนใหม่ บอกว่าต้อง 4 เดือน แล้วจะให้ประชาชนเชื่อใคร

"จากการที่ผมเดินทางไปติดตามการประชุมของคณะกรรมการสหภาพยุโรป (อียู) ปรากฏว่า ภาพลักษณ์ของไทยแย่มาก จึงอยากถามว่า รัฐบาลมีความคิดที่จะสร้างภาพลักษณ์ดีๆ ให้เกิดขึ้นกับอียูบ้างหรือไม่ เพราะกรณีที่เกิดไข้หวัดนกที่ รพ.พุทธชินราช ได้มีการปกปิดข้อมูล ผมเกรงว่าพอถึงวันที่ 30 ต.ค. นี้ จะมีการปิดบังกันอีก" นายตรีพล กล่าว

ปศุสัตว์เร่งช่วยผู้เลี้ยงนกเขาจะนะ

ส.พ.ญ.โศภิษฐ์ ธัญลักขณากุล ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า หลังไข้หวัดนกระบาดรอบ 2 ในประเทศไทยและทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงนกเขาในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ได้รับผลกระทบจนต้องสูญเสียรายได้ไปหลายสิบล้านบาทนั้น ล่าสุดทางปศุสัตว์จังหวัดพร้อมจะช่วยเหลือเป็นการด่วนแล้ว โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญประธานชมรมและผู้เลี้ยงนกเขาใน อ.จะนะ มาประชุมร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้

อย่างไรก็ดีเข้ามารับซื้อนกเขาของกลุ่มลูกค้าชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้น ขณะนี้ทางปศุสัตว์จังหวัดต้องขอความร่วมมือให้ระงับไว้ก่อน เนื่องจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่า จะไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่า อาจจะเป็นการนำเชื้อโรคเข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ได้ แต่การเคลื่อนย้ายระหว่างพื้นที่ขณะนี้ก็สามารถทำได้โดยต้องมีใบรับรองสุขภาพสัตว์ปีกจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเท่านั้น

ส่วนข้อร้องเรียนที่ นายสมหมาย ขวัญทองยิ้ม ประธานชมรมนกเขาจะนะ ที่เสนอให้มีการพัฒนาสายพันธุ์และการผสมพันธุ์พร้อมจัดระเบียบมาตรฐานฟาร์มนั้น ส.พ.ญ.โศภิษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในแผนงานของปศุสัตว์จังหวัดสงขลาทั้งหมดแล้ว เพียงแต่อยู่ในระหว่างการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

"ทางปศุสัตว์จังหวัดคำนึงอยู่เสมอว่า นกเขาที่ อ.จะนะ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวสงขลามหาศาลในแต่ละปี จึงไม่อยากเห็นเศรษฐกิจในพื้นที่ต้องสูญเสีย จึงอยากให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามคำร้องขอของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้เศรษฐกิจตัวนี้ดีขึ้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว" ส.พ.ญ.โศภิษฐ์ กล่าว

ชัยภูมิคุ้มเข้มนกเป็ดน้ำบึงแวง

สถานการณ์การป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก นายปิยะ ปรีดารมย์โรจน์ นายอำเภอคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า หลังเอกซเรย์ทุกพื้นที่เมื่อวันที่ 12 ต.ค.พบไก่พื้นบ้านล้มตายในพื้นที่ 170 ตัว จึงได้ประสานชุดปฏิบัติการปศุสัตว์อำเภอ เข้าไปตรวจสอบและทำลายสัตว์ปีกในพื้นที่รัศมี 5 กม.ทันที ผลการตรวจสอบทุกพื้นที่จนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่ามีไก่ล้มตายเพิ่มเติม แต่ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวที่อ.คอนสวรรค์ มีแหล่งท่องเที่ยว คือบึงแวง ซึ่งมีนกเป็ดน้ำนานาชนิดบินมาพักอาศัยหลายหมื่นตัว ในปีนี้ก็มีจำนวนมากกว่าปกติ ทางอำเภอจึงได้ประสานปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ด้านสัตว์ป่าสงวน มาร่วมกันเข้าตรวจสอบทุกบริเวณโดยรอบบึงแวง ว่ามีนกตายผิดปกติด้วยหรือไม่ รวมทั้งพ่นยาฆ่าเชื้อและนำมูลนกไปตรวจหาเชื้อซึ่งน่าจะรู้ได้ใน 2 สัปดาห์

น.พ.ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า หลังไข้หวัดนกกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ทางศูนย์ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค โดยเฉพาะโครงการอาหารปลอดภัยจากตลาดสดมาตรฐาน โดยได้ขอความร่วมมือจากตลาดสดทุกแห่งให้ล้างตลาดอย่างน้อยเดือนละครั้ง ส่วนช่วงที่เกิดโรคระบาด เช่น โรคไข้หวัดนก อุจจาระร่วง ควรล้างตลาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

เชียงใหม่คุยยังไม่พบหวัดนก

นายสมพร พรวิเศษศิริกุล นายสัตวแพทย์ 8 วช.หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้หวัดนกของจ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1-19 ต.ค. ว่าขณะนี้ไม่มีรายงานการตายของสัตว์ปีกด้วยเชื้อไข้หวัดนกในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังอาการทางคลินิก พบยอดสัตว์ปีกป่วย 17,663 ตัว ตายไป 558 ตัว โดยไม่ได้ตายจากโรคไข้หวัดนก แต่ส่วนใหญ่จะพบสัตว์ป่วย และตายจากโรคอหิวาต์, โรคนิวคาสเซิล, และเครียดจากสารพิษและเชื้อราเท่านั้น

ส่วนศูนย์ปฏิบัติการไข้หวัดนก จ.เชียงใหม่ได้นำซากสัตว์ปีกชันสูตร 34 ตัวอย่าง ส่งตัวอย่างมูลสัตว์ปีก 705 ตัวอย่างไม่มีผลยืนยันว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนกจากห้องปฏิบัติการ

ส่วนการเอกซเรย์ทุกตารางพื้นที่ในจ.เชียงใหม่ได้ตรวจตัวอย่างมูลสัตว์ปีก 1,400 ตัวอย่าง และเจาะเลือดส่งตรวจตามแผนเฝ้าระวังอำเภอละ 6 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 20 ตัวอย่าง 2,880 ตัวอย่าง ซึ่งได้ส่งตรวจยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบนจ.ลำปาง (ห้างฉัตร) อยู่ระหว่างรอผลการตรวจ

ส่วนมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ทางปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งจุดตรวจสัตว์ 7 จุด ที่ แม่อาย, ฝาง, เชียงดาว, แม่แตง, ฮอด, สันกำแพง, จอมทอง ล่าสุดได้เพิ่มอีก 1 จุดคือ กิ่ง อ.แม่ออน เพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้อง
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article545.html

อัพเดทล่าสุด