พ่อแม่ยุคใหม่ฟังลูกพูดให้มากขึ้น


688 ผู้ชม


การเลี้ยงดูลูกตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น พ่อแม่เป็นหลักสำคัญในการรับคำปรึกษา และเป็นที่พึ่งของลูก ๆ ได้ มาดูคำแนะนำของแพทย์จิตเวชเด็กครับ 
สถาบันครอบครัวรักลูกร่วมกับสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเทพศิรินทร์ จัดเสวนาเรื่อง “ เลี้ยงลูกอย่างไรในยุค… IT ” โดยมี พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต และ ดร. วัฒนา มัคคสมันศึกษานิเทศก์ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรรับเชิญ แนะเทคนิคการเลี้ยง ลูกวัยรุ่นในยุคนี้ ให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์

พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล เปิดประเด็นว่า ธรรมชาติของวัยรุ่นมี 2 ช่วงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน ช่วงแรกคือมัธยมต้นจะเริ่มเห็นการเปลี่ยน แปลงทางร่างกาย เด็กจะเกิดความหวาดระแวง สงสัย เมื่อเขาถามเรื่องนี้จากพ่อแม่แล้วถ้าไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนก็จะไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อน เพราะมีการ เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เพื่อนก็จะแนะนำแหล่งข้อมูลที่อาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกซึ่งก็มีส่วนทำให้ลูกรับข้อมูลแบบผิด ๆ ไป ทั้งๆ ที่พ่อแม่ควรจะวางตัว ให้เป็นแหล่ง ข้อมูลและหาข้อมูลที่ดีมาให้กับลูกได้ ส่วนช่วงที่สองจะเป็นช่วงมัธยมปลาย คุณหมอแนะว่าเพียงให้เขาหาตัวตนให้พบ และจัดการชีวิตเมื่อยามที่เกิดปัญหา เขาก็จะสามารถผ่านชีวิตช่วงนี้ไปได้อย่างสมบูรณ์

ส่วนในเรื่องของอารมณ์นั้นพบว่าเด็กส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ประมาณ 80 % และที่เหลืออีก 20 % จะเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่จะมีอารมณ์นิ่งๆ สบายๆ แต่ส่วนใหญ่เด็กจะผ่านช่วงอารมณ์ที่ไม่นิ่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในส่วนที่พ่อแม่จะช่วยลูกให้ผ่านช่วงวัยนี้ได้คือจะต้องมีความนิ่ง ไม่เข้าไปยุ่งวุ่นวายกับลูก และไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องในชีวิตลูกก็ได้ แต่พ่อแม่ควรให้ลูกมีอิสระอย่างมีขอบเขต ซึ่งลูกจะรู้สึกภูมิใจว่าได้ทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง

ส่วนประเด็นวิถีชีวิตที่สำคัญคือการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้น ดร. วัฒนา มัคคสมัน หรือครูมัคให้ความเห็นว่า การเรียนรู้ของเด็กไม่ควรที่จะเกิดขึ้นภาย ในห้องเรียนเท่านั้น การเรียนรู้ควรจะเชื่อมโยงกันทั้งที่บ้าน และโรงเรียนโดยมีเด็กเป็นผู้พูด ในส่วนของครู พ่อแม่ก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีแล้วกระตุ้นให้เด็กคิดต่อ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือต้องมีทักษะของชีวิตคือมีความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดูแลตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยโดยผ่านกระบวนการและวิธีคิดที่ดี
อีกปัญหาที่พ่อแม่ห่วงเด็กๆ ก็คงไม่พ้นเรื่อง “ติด” ซึ่งคุณหมอได้แนะทางรับมือกับเรื่องนี้ว่า อาการ “ติด” ของวัยรุ่นไม่ว่าจะเป็นการติดโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต เพื่อน ฯลฯ ในกรณีนี้จะต้องหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูกซึ่งจะต้องไม่ล้ำเส้นซึ่งกันและกัน ไม่ตักเตือนลูกด้วยการใช้อารมณ์ การตำหนิที่รุนแรง ประชดประชัน และที่สำคัญที่คุณหมอเน้นย้ำคือไม่ควรเตือนบ่อยครั้ง และอย่าให้คำตอบสำเร็จรูปกับลูก หัดให้ลูกรู้จักใช้สถานการณ์แก้ปัญหา ส่วนครูมัคเสริม ว่าการแก้ปัญหาอาการ “ ติด “ ควรหากิจกรรมร่วมกันในครอบครัว หาข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดเวลาที่เหมาะสม และอธิบาย ทำความเข้าใจฟังก์ชั่นของสิ่งต่างๆ ว่ามีหน้าที่ทำอะไร และทำให้เป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมของครอบครัว

ในเรื่องวัยรุ่นต้องเผชิญภาวะความเสี่ยงนั้น คุณหมอชี้แจงว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับวัยรุ่นในยุคนี้คือปัญหาเรื่องยาเสพติด การเรียนรู้เรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมและการที่ไม่รู้ว่าจะจัดการชีวิตได้อย่างไรตกเป็น สาวกของกระแสการบริโภค เช่น ต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุก ๆ 6 เดือน ในมุมมองของครูมัคมองว่า เป็นเพราะเด็กไม่เชื่อมั่นในตัวผู้ใหญ่ มองว่าผู้ใหญ่ล้าสมัย สำหรับพ่อแม่ก็ต้องมีวิธีบอกลูกให้สามารถจัดการกับตัวเองได้ เช่น ถ้าลูกอยากทดลองสูบบุหรี่ ก็ต้องมีบอกให้ลูกรู้ว่า สังคมเรามีกฎเกณฑ์อย่างไร เช่น ไม่ให้สูบในที่สาธารณะ บุหรี่มีคุณโทษอย่างไร แต่อย่าไปตีโพยตีพาย ว่าลูกจะไปติด บุหรี่เป็นการถาวร เด็กเพียงแค่อยากทดลองเพราะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ส่วนปัญหาเรื่องดื่มเหล้า คุณหมอแนะนำว่าต้องสอนลูกว่า ในสังคมของผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบตัวเองได้ ต้องรู้จักดื่มอย่างฉลาด และไม่ให้เกิดผลข้างเคียง โดยที่จะต้องรู้ ว่าแก้วที่เท่าไรที่ดื่มแล้วเริ่มเมา และแก้วที่เท่าไรที่เมาอย่างไม่มีสติ เมื่อไม่มีสติยั้งตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ควรดื่ม เพราะมันจะก่อผลเสียอีกมากมายที่ลูกไม่ทันนึกถึง เช่น การไปเที่ยวตามเพื่อน หรือทดลองยาเสพติด ฯลฯ และในส่วนของครูมัคก็มีมองคล้ายกันว่าต้องรู้ว่าดื่มแค่ไหนควรพอ ไม่ห้ามแต่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าถ้าลูก ไปลองดื่ม อะไรจะเกิดขึ้น และให้คอยติดตามผลว่าเป็นอย่างไร แล้วก็มาพูดคุยกันถึงความเหมาะสม

ส่วนในเรื่องเพศคุณหมอกล่าวว่าให้สอนลูกในเรื่องเพศให้เหมาะกับวัยและทำให้เป็นเรื่องปกติ ซักถามพูดคุย ถ้าลูกหมกมุ่นเรื่องนี้มากเกินไป ก็ให้เบน ความ สนใจของลูกออกไป เช่น หากิจกรรมอื่นทำ หรือออกกำลังกาย แต่ในบางกรณีก็อาจจะให้พ่อคุยกับลูกชาย และแม่คุยกับลูกสาว เพราะถ้าเป็นเพศเดียว กันก็จะช่วยลดอาการเขินอายได้ นอกจากนี้ยังต้องสร้างสภาวะแวดล้อมในบ้านให้เป็นปกติ สงบเย็น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ให้จัดการอย่างตรงไปตรงมา

คุณหมอสรุปฝากกับคุณพ่อคุณแม่ว่า....ทักษะชีวิตนั้นอยู่ที่การจัดการตัวเอง กำหนดเส้นทางเดินของตัวเองและรู้ว่าจะไปทางไหน ส่วนของครูมัคคำตอบน่า จะอยู่ที่กระบวนการทางความคิด วิเคราะห์โดยมีข้อมูลจากผู้ใหญ่ที่จะทำให้เด็กจัดการและสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งเป็นทักษะในการดำรงชีวิตต่อไปได้

การเสวนาในวันนั้นทั้งคุณหมอและครูมัคก็ได้ให้มุมมองหลายๆ แบบในการเลี้ยงดูลูกในยุค IT ปัญหาของวัยรุ่นเป็นเรื่อง ที่ซับซ้อนจนไม่สามารถหา คำตอบที่ สำเร็จรูปได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวว่าจะมีวิธีการเลี้ยงดูอบรมลูกในวัยนี้ให้มีทักษะชีวิตได้อย่างไร ข้อสำคัญก็คือคุณควรจะเป็นผู้ฟังลูกให้มาก เพราะถ้า ลูกรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา เขาก็จะนึกถึงและปรึกษาเราทันทีที่มีปัญหา และแน่นอนว่าเขาจะได้พัฒนาทักษะ เติบโตและรับผิดชอบ ได้เต็มวุฒิภาว ของเขาในที่สุด

เนื้อหาเพิ่มเติมที่plan publishing
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article9.html

อัพเดทล่าสุด