ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ โรคเอสแอลอี


700 ผู้ชม


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคเอสแอลอี โดยสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย

1. โรคเอสแอลอีหรือโรคลูปัสคืออะไร ? 
โรคเอสแอลอีหรือโรคลูปัส มีชื่อเต็มว่า systemic lupus erythematosus เป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ที่สามารถมีอาการและอาการแสดงได้กับทุกระบบในร่างกาย โรคจะมีลักษณะเด่นคือมีการกำเริบและสงบเป็นช่วง ๆ ในระยะที่กำเริบอาจมีอาการรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
2. สาเหตุของโรคเอสแอลอีคืออะไร ?
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้เป็นผลจากการผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งต่อต้านเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายตนเอง โรคนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การติดเชื้อบางอย่าง หรือยาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคได้
3. โรคนี้เป็นกับใครได้บ้าง ?
โรคนี้พบได้เกือบทุกอายุ แต่จะพบมากในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยพบได้มากกว่าเพศชายประมาณ 10 เท่า
4. ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีจะมีอาการอย่างไรบ้าง ?
ผู้ป่วยโรคนี้สามารถมาหาแพทย์ด้วยอาการทางระบบต่าง ๆ ดังนี้
1. ไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจเป็นอาการนำในระยะแรกของโรค
2. อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นแพ้แดดบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือต้นแขน อาจมีจุดเลือดออกตามปลายมือปลายเท้า
3. อาการทางระบบข้อ เช่น อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ ปวดตามกล้ามเนื้อ
4. อาการทางระบบเลือด เช่น ซีด จุดเลือดออกตามตัว
5. อาการทางระบบไต เช่น อาการบวม ไตอักเสบ
6. อาการทางระบบสมอง เช่น อาการซึมเศร้า ชัก โรคจิต เป็นต้น
7. อาการทางระบบหัวใจและปอด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจหรือปอดอักเสบ เป็นต้น
ในรายที่มีอาการตั้งแต่ข้อ 4-7 บ่งบอกว่าโรคมีอาการรุนแรง
5. แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร ?
แพทย์จะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะมีประโยชน์มากในการวินิจฉัยและติดตามการรักษาโรคนี้ การตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ย์ต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายมักจะให้ผลบวกในโรคนี้ (ศึกษาจากเอกสารเรื่องการตรวจทางห้องปฏิบัติการ)
6. การรักษาโรคเอสแอลอี
เนื่องจากโรคนี้มีการกำเริบและการสงบสลับกันไป ผู้ป่วยควรติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เนื่องจากในบางครั้งอาการอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
1. การรักษาทางยา เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้ ยาจะประกอบไปด้วยหลายกลุ่มซึ่งแล้วแต่ความรุนแรงของโรค และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่มีอาการในโรคนี้ ยาที่ใช้รักษาได้แก่ ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาต้านมาลาเรีย ยาคอติโคสเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ อนึ่ง เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงมาก ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหา และไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากอาจทำให้โรคกำเริบได้
2. การรักษาอื่น ๆ มักจะเป็นส่วนประกอบในการรักษา เช่น ยากันแดด ยาลดความดันในรายที่มีความดันโลหิตสูง เป็นต้น
7. การตั้งครรภ์และการคุมกำเนิด
ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี การตั้งครรภ์และการรับประทานยาคุมกำเนิดอาจกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะตั้งครรภ์ไม่ได้ ในรายที่สามารถควบคุมอาการได้และมีการสงบของโรคเป็นเวลานานพอควร ผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้เช่นคนปกติ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดในระยะที่โรคกำลังกำเริบ และปรึกษาถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมีบุตร
8. การมีชีวิตอยู่กับโรคเอสแอลอี
ผู้ป่วยโรคนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจได้บ่อย ยาที่ใช้รักษาอาจทำให้ผู้ป่วยหน้าบวมหรือผมร่วงดูไม่สวยงาม แพทย์ เพื่อนฝูง และญาติพี่น้องควรช่วยกันให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ ยอมรับ และปรับตัวให้เข้ากับโรคได้เพื่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article269.html

อัพเดทล่าสุด