โรค...เพื่อนทรงคุณค่า


613 ผู้ชม


อันตรายของโรคภัยไข้เจ็บนั้น มิได้อยู่ที่ตัวเชื้อโรคเสมอไป แบคทีเรียบางชนิดไม่ได้สร้างสารพิษมาทำร้ายร่างกายของเราเลย อีกทั้งไม่ได้ขัดขวางการทำงานของอวัยวะใดๆแม้แต่น้อย แต่ใครที่ติดเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ ก็อาจมีสิทธิ์ตายได้         อันตรายของโรคภัยไข้เจ็บนั้น มิได้อยู่ที่ตัวเชื้อโรคเสมอไป แบคทีเรียบางชนิดไม่ได้สร้างสารพิษมาทำร้ายร่างกายของเราเลย อีกทั้งไม่ได้ขัดขวางการทำงานของอวัยวะใดๆแม้แต่น้อย แต่ใครที่ติดเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ ก็อาจมีสิทธิ์ตายได้ 

ถ้าแบคทีเรียเหล่านี้มิใช่ตัวการ แล้วอะไรคือสาเหตุของความตาย?

ตัวการที่แท้จริงก็คือภปฏิกิริยาตอบโต้ของภูมิต้านทานในตัวเรานั่นเองภเมื่อใดก็ ตามที่ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อแบคทีเรียอย่างเกินพิกัด สิ่งที่ตามมาก็คือ การอักเสบอย่างรุนแรงและแผ่กว้าง จากนั้นก็จะมีเลือดคั่งและอุดตามเส้นเลือดเล็กๆ ทำให้ เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ถูกทำลาย และความดันเลือดลดลง ถ้าเป็นมาก อวัยวะสำคัญก็จะหยุดทำงาน ทำให้ช็อกและตายได้

ความทุกข์ทรมานในร่างกายอันเนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดเกิดขึ้นในลักษณะนี้ กล่าวคือ เชื้อโรคไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง ปฏิกิริยาตอบโต้ของเราเองต่างหาก ที่เป็นตัวการสร้างความเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม ระบบภูมิต้านทานของเราถูกออกแบบให้เป็นแบบนี้ การจะไปควบคุมมันไม่ให้มีปฏิกิริยาเกินขีดไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ กระทั่งทุกวันนี้ ยาที่ส่อแววว่าจะสามารถระงับหรือบรรเทาปฏิกิริยาดังกล่าวอย่างชะงัด ก็ยังไม่ออกมาจากห้องทดลองเลย

ด้วยเหตุนี้ เราทุกคนจึงมีสิทธิ์ที่จะเจ็บป่วยเพราะโรคแบบนี้ต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรื่องจะยุติเพียงเท่านี้ อย่าลืมว่า คนเราไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยระบบภูมิต้านทานหรือในระดับเซลล์เท่านั้น เรายังมีปฏิกิริยาตอบโต้ในระดับอื่นๆ หรือด้วยวิธีการอื่นๆ อีกด้วย ที่สำคัญก็คือภการปฏิกิริยาตอบโต้ในทางจิตใจ

ลำพังโรคภัยไข้เจ็บก็ทำให้เราทุกข์กายพอแรงแล้ว บ่อยครั้งความทุกข์กลับทับทวีขึ้นเพราะใจของเราไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ในทางลบต่อโรคดังกล่าว เช่น กังวล วิตก หวาดกลัว ใครที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจนถึงขั้นกินไม่ได้นอนหลับ ก็เตรียมใจได้เลยว่า อาการป่วยจะหนักขึ้นและทนได้ยากขึ้นทุกที

กล่าวได้ว่าภโรคภัยไข้เจ็บทุกชนิดในโลกนี้ ไม่น่ากลัวเท่ากับปฏิกิริยา(ทางลบ) ของเราต่อโรคเหล่านั้น

ถ้าไม่เชื่อก็ลองนึกดูว่า อะไรจะเกิดขึ้นหากหมอบอกผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบว่า เขาเป็นมะเร็งขั้นร้ายแรง และจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3เดือน

หากผู้ป่วยคนนั้นเชื่อจริงๆว่าตนเป็นมะเร็ง และวิตกกังวลไม่เลิกรา ก็มีหวังว่าเขาจะอยู่ได้ไม่นานตามที่หมอว่า คำถามก็คือ ในกรณีเช่นนั้น เขาตายเพราะโรคกระเพาะ หรือเพราะความหลงผิดและวิตกกังวลต่อโรคดังกล่าวกันแน่?

แม้แต่โรคมะเร็งหรือเอดส์ก็เช่นกัน มันไม่น่ากลัวเท่ากับความหวาดวิตกต่อโรคเหล่านั้น รวมไปถึงความรู้สึกสิ้นหวัง โดดเดี่ยว และเคียดแค้น ผู้ป่วยมะเร็งหรือเอดส์ หลายคนไม่ได้ตายเพราะโรคดังกล่าว แต่ตายเพราะความทุกข์ใจจากโรคดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่าถ้าทำใจสบายหรือยอมรับโรคภัยไข้เจ็บดังกล่าวแล้ว เราจะไม่ตายเพราะโรคเหล่านี้ ไม่ว่ามะเร็งหรือเอดส์ ใครที่เป็นเข้าก็มีสิทธิ์ตายได้ทั้งนั้น ถึงจะเป็นพระอรหันต์ก็ตาม

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายไม่ทำให้เราทุกข์ทรมานได้มากเท่ากับความรู้สึกนึกคิดของเราเอง ยิ่งใจเราคิดผลักไสมันเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น ต่อเมื่อเรายอมรับมันและพร้อมที่จะเผชิญกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น แทนที่จะครุ่นคิดผลักไสมัน ก็ลองเรียนรู้และหาประโยชน์จากมัน ถือว่ามันเป็นครูหรือสัญญาณเตือนภัยให้เราตระหนักถึงความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา

ด้วยท่าทีเช่นนี้ แม้แต่โรคร้ายถึงตายก็กลับจะทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้น แทนที่มันจะเป็นศัตรูที่น่าชิงชัง ก็กลับกลายมาเป็นเพื่อนที่ทรงคุณค่า

แต่เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว ใช่ว่าเราจะปฏิเสธกับการรักษาก็หาไม่ การรักษานั้นสำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาก็คือจะรักษาอย่างไร บางครั้งวิธีการรักษากลับก่อความทุกข์แก่ผู้ป่วยยิ่งกว่าตัวโรคภัยไข้เจ็บด้วยซ้ำ ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนจึงแทนที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง หรือฉีดสารเคมีเพื่อทำลายเนื้อร้ายให้สิ้นซาก เขากลับยอมให้เซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกายต่อไป เพียงแต่สร้างเงื่อนไขให้มันอยู่เป็นที่เป็นทางเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ ยอมรับมันให้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและชีวิต เท่านี้ก็พอใจแล้ว

ไม่ว่าเราจะมีปฏิกิริยาต่อโรคด้วยความรู้สึกหรือด้วยการรักษาก็ตาม อย่าลืมว่า ปฏิกิริยาดังกล่าวมีผลต่อสุขทุกข์ของเรายิ่งกว่าโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายในโลกนี้เลยทีเดียว
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=935&sub_id=3&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด