สอนลูก แพ้ ให้เป็น


802 ผู้ชม


ผมว่าการสอนเด็กให้รู้จักแพ้เป็นการฝืนธรรมชาติ ของสัญชาตญาณมนุษย์ ทำไมถึงว่าอย่างนั้นก็เพราะธรรมชาติไม่ได้กำหนดให้มนุษย์ยอมรับความพ่ายแพ้ได้ง่ายๆ มนุษยชาติถึงอยู่รอดถึงวันนี้         ผมว่าการสอนเด็กให้รู้จักแพ้เป็นการฝืนธรรมชาติ ของสัญชาตญาณมนุษย์ ทำไมถึงว่าอย่างนั้นก็เพราะธรรมชาติไม่ได้กำหนดให้มนุษย์ยอมรับความพ่ายแพ้ได้ง่ายๆ มนุษยชาติถึงอยู่รอดถึงวันนี้ 

แพ้ไม่เป็น...สัญชาตญาณคน

‘มนุษย์เคยแพ้ แต่มนุษย์ชาติไม่เคยยอมจำนน’ แต่เราก็ต้อง ‘ขัดเกลา’ ธรรมชาติข้อนี้ เพราะมนุษย์พัฒนามาเกินการอยู่ด้วยกันตามสัญชาตญาณนานแล้ว เราอยู่กันด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมและวัฒนธรรม เด็กจะอยู่รอดในสังคม และสังคมจะรอดในมือเด็ก ก็ด้วยการสอนบทเรียนบทนี้ บทที่ว่าด้วยการ ‘รู้แพ้’

 

เด็กเริ่มแพ้เป็นครั้งแรกตอนเริ่มรู้จักต่อต้านพ่อแม่ช่วงอายุ 2 ปี ส่วนมากพ่อแม่มักจะเอาอยู่ จัดการกับเด็กสำเร็จ แม้จะยุ่งยากตามแบบของ Terrible Two แต่ในที่สุดก็รู้หมู่รู้จ่าในบ้าน จะเห็นชัดว่าใครเป็นรัฐบาลใครเป็นฝ่ายค้าน ส่วนมากพ่อแม่จะกุมอำนาจรัฐสำเร็จ ยกเว้นบางบ้านฝ่ายค้านตัวน้อยสามารถใช้เกมนอกสภากุมอำนาจต่อรองไว้สูง ทำให้ดูเผินๆ เหมือนพ่อแม่จัดการบ้านสำเร็จ แต่มองลึกลงไปทุกเรื่องเด็กเป็นคนกำหนดข้อสรุปทุกที

 

พอลูกเริ่มโตขึ้นแม้พ่อแม่จะควบคุมสำเร็จ เด็กได้เรียนรู้แล้วว่าในบ้านพ่อแม่เป็นคนตั้งกฎ แต่สัญชาตญาณการไม่ยอมแพ้ยังไม่หมดไป แค่พักฟื้นรอการกลับมา ทันทีที่เริ่มมีการเล่นที่มี ‘กฎ’ เด็กๆ จะเริ่มไม่ยอมให้ใคร ‘กด’ อีกครั้ง เลยออกอาการ ‘แพ้ไม่เป็น’ แพ้เมื่อไร เป็นวีนแตกอาละวาดเหมือนตอน Terrible Two ไม่มีผิด

 

เด็กบางคนไม่เลือกวิธีวีน แต่พอคะเนได้ว่าถึงเล่นก็ไม่ชนะ หรือเคยวีนแตกแล้วเกิดการเรียนรู้ว่าเกมแบบนี้ไม่มีทางชนะแน่ ก็อาจจะเลือกวิธีการใหม่ คือไม่ยอมเล่น จะเห็นได้ทั้งการเล่นและลามไปถึงกิจกรรมอย่างอื่นที่เราต้องการฝึกฝนด้วย ทันทีที่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่าเด็กจะไม่ยอมทำ เรื่องนี้ผมถูกถามเป็นประจำตอนเป็นวิทยากรและเจอเองด้วย

 

การสอนลูกเรื่องนี้ในวัยนี้ ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและถูกต้อง ทั้งถูกเรื่องและถูกเวลา แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้ผลในเร็ววัน เพราะเด็กยังต้องเรียนรู้บทเรียนเรื่องการต่อสู้ การแพ้ชนะไปอีกนาน

ฝึกลูกแพ้ให้เป็น

 

1.ให้ลูกแพ้มากกว่าชนะ

สำหรับบทเรียนที่ต้องการฝึกทักษะใหม่ที่อาจจะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้องวางกติกาให้เด็กชนะมากกว่าแพ้หรือไม่แพ้เลย เช่น ตีแบดมินตัน ถ้าพ่อตีข้ามลูกรับได้ลูกได้แต้ม จะติดเน็ตหรือไม่ก็ได้แต้ม ถ้าพ่อตีไม่ข้ามพ่อเสียแต้ม และถ้าพ่อตีข้ามแต่ลูกรับไม่ได้แสดงว่าพ่อป้อนไม่ดี พ่อเสียแต้ม เด็กอายุ 3-4 ปี สนุกกับเกมและกติกามากครับ อาจจะไม่ได้บทเรียนเรื่องการหัดแพ้ แต่ได้บทเรียนเรื่องทักษะตามือประสาน แต่หากจะสอนลูกให้แพ้เป็น ต้องให้ลูกแพ้บ้าง ชนะบ้างสลับกันครับ

 

2. เรียนรู้การแพ้

บทเรียนที่ให้จิตใจรู้จักยอมรับความพ่ายแพ้ หรือหัดทำเรื่องยากๆ ก่อนอื่นต้องให้คอนเซ็ปต์ก่อนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่อง ‘ท้าทาย’ หมายถึงทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าเมื่อเข้าใจ

คอนเซ็ปต์แล้วจะยอมทำทันทีนะครับ

 

หัวคิดน่ะเข้าใจแต่หัวใจยังเด็กมาก อาจจะลดแรงต้านลงได้แต่จะให้เข้าใจการแพ้เลยนั้น ต้องวางอุบายด้วย เช่น ตีปิงปองกับพ่อ ให้แม่ช่วยลูกฝั่งลูกเล่นสองคน ฝั่งพ่อเล่นคนเดียว ช่วงแรกพ่อต้องแพ้ก่อน พอได้จังหวะก็ให้ทีมลูกแพ้บ้างแต่คนผิดเป็นแม่ แบบนี้เด็กก็จะพอรับได้ อาจจะวีนกับแม่ แต่ได้เรียนรู้และรับความพ่ายแพ้แม้ครึ่งเดียวก็เป็นบทเรียนสำคัญ ดังนั้นในวัยอนุบาลอาจจะไม่จำเป็นต้องรับรสชาติความพ่ายแพ้แบบศิโรราบ เอาเพียงได้ “ชิม ๆ” พอเป็นไอเดียก็น่าจะพอ

 

ที่ผมเสนออย่างนี้เพราะรสชาติที่แท้จริงของการพ่ายแพ้จะเกิดตอนประถม เช่น ตอนทำเลขผิด ท่องสูตรคูณแล้วจำไม่ได้ เล่นปิงปองกับเพื่อนทีไรแพ้ทุกที สอบได้ลำดับที่หรือคะแนนน้อยกว่าเพื่อน ทำการฝีมือสวยสู้เพื่อนไม่ได้จริงๆ หรือเข้าประกวดบนเวทีแล้วไม่ชนะ

 

ในตอนประถมการเรียนรู้สิ่งใหม่จะมีบทเรียนที่ต้องพบเจอและพัฒนาอีกคือ ทักษะส่วนที่เป็นนิสัย คือ ความมานะพยายาม และอีกส่วนคือ การหาทางออกให้จิตใจ เด็กจะต้องภูมิใจตนเองได้ทั้งที่บางทีก็ไม่ใช่คนเก่งบางเรื่องก็ทำไม่ได้ดี

 

คนเราต้องแพ้เป็นแต่แพ้ทุกเรื่องไม่ได้ ใจแหลกสลายแน่ๆ จิตใจต้องสรุปให้ได้ ชัยชนะของฉันคืออะไร ถ้าข้อสรุปนี้ออกมาดีก็ดีไป แต่ออกไม่ดีก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้กันต่อไปนะครับ
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=789&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด