เลเซอร์ความงาม:ปัจจัยที่มีผลต่อการรักษา


962 ผู้ชม


  • โลกเราในปัจจุบันนี้ มีองค์ความรู้หรือศาสตร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นกันอย่างมากมาย และต่อเนื่อง ในเกือบทุกสาขาวิชาชีพ ต่าง��
�ีการพัฒนากันอย่างไม่หยุดยั้ง ในยุคหนึ่ง อาจจะมีข้อมูลแบบหนึ่ง แต่ต่อมาก็มีข้อมูลใหม่ ๆ มาทำให้ผลพิสูจน์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ซึ่งผู้เขียนอยากจะแนะนำหรือให้ข้อคิดแต่ทุกท่านว่า เมื่อใดที่เราติดตามข้อมูลบางอย่าง ต้องสังเกตให้ดีกว่าข้อมูลที่ได้มานั้น ณ เวลาใด เพราะในอนาคต อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการขัดแย้งกับข้อมูลที่เคยรู้มาได้ ตามยุค ตามสมัย ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
  • Laser( เลเซอร์) ในแวดวงความงามก็เช่นเดียวกัน เมื่อสิบกว่าปีก่อน อาจจะมีเลเซอร์ด้านความงามไม่กี่ชนิด แต่ในเวลาไม่กี่ปี ก็มีเลเซอร์ตัวใหม่ๆ ออกมาสู่ท้องตลาด หลากหลายยี่ห้อ หลายแบบ และก็มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายท่าน แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เอง ถ้าไม่ติดตามข่าวสารโดยละเอียด และต่อเนื่อง ก็อาจจะตกยุค หรือเกิดความสับสนกันได้ และจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ก็เคยมีปัญหาแบบนี้มาก่อน จึงมีความคิดว่า เราน่าจะรวบรวมสาระสำคัญหลักๆ ของเลเซอร์ด้านความงาม อย่างง่ายๆ มาให้ทุกท่านได้พิจารณา ก่อนจะตัดสินใจเลือกการรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดใดๆ เพื่อการหวังผลที่ดีที่สุด และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
  • laser ย่อมาจาก Light Amplification by Stimulated Emission of Radiations ซึ่งมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกับแสงทั่วๆไป คือ เลเซอร์เมื่อทำงาน จะมีพาพลังงานจำนวนมากไปด้วย ทำให้สามารถผลิตความร้อนได้ในปริมาณมากด้วยเช่นกัน สมบัติเด่น 4 ประการของแสงเลเซอร์ คือ 
    1. มีทิศทางเดียวแน่นอน ( Collimated) 
    2. มีความถี่เดียว เป็นแสงสีเดียว ( Monochromatic) 
    3. มีเฟสเดียวกัน และ มีหน้าคลื่นเดียว (Coherent) 
    4. มีความเข้ม/จ้าสูง
  • เลเซอร์แต่ละชนิดจะมีต้นกำเนิดของพลังงานลำแสงที่แตกต่างกัน จึงมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยหลักที่แพทย์จะเลือกเลเซอร์ประเภทใด มาใช้ในการรักษาปัญหาด้านผิวหนัง หรือด้านความงาม จึงต้องเลือกจากปัจจัยหรือคุณสมบัติของเลเซอร์นั้นๆ ให้เหมาะสม หรือ พูดง่าย ถ้าจะรักษาด้วยเลเซอร์แล้ว คุณภาพหรือประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะได้ผลดีเพียงใด น่าพอใจมากน้อยแค่ไหน นอกจากยี่ห้อของเครื่องที่ได้มาตรฐานสากลแล้ว ยังต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีก ดังนี้ 
    1. Wavelenth ( ความยาวช่วงคลื่น ) : มีหน่วย เป็น นาโนเมตร(nm) ส่วนตัวผู้เขียน ถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดของเลเซอร์แต่ละประเภท เพราะความยาวช่วงคลื่น จะตัวกำหนดในเรื่องของการยิงเลเซอร์ไปยังเป้าหมายหรือปัญหาของผิวพรรณ ได้ถูกต้องและได้ผล หรือไม่ เพราะหลักการทำงานพื้นฐานของแสงแต่ละช่วงคลื่น จะมีการดูดซึม ( absorb ) พลังงานที่เป้าหมาย ( targets ) แตกต่างกัน ซึ่งจะเรียกว่า Chormophores เช่น กลุ่มเลเซอร์ที่จะรักษาเส้นเลือดได้ดี จะต้องมีช่วงคลื่นระหว่าง 532-694 nm ยกตัวอย่างเลเซอร์ประเภทนี้ เช่น Pulses Dye Laser 585 nm ( V-Beam ), Ruby Laser 695 nm , IPL 590 nm หรือ ถ้าจะรักษาเม็ดสีผิวเมลานินที่ผิดปกติ เช่น รักษารอยดำ ฝ้า กระ รอยสัก ปานดำ ปานแดง กลุ่มเลเซอร์ที่จะรักษาได้ดี จะต้องมีช่วงคลื่นระหว่าง 510-1064 nm ยกตัวอย่างเลเซอร์ประเภทนี้ Q-Switch Nd:YAG ( Medlite C6, Revlite ),IPL 510-550 nm เป็นต้น จึงทำให้บางท่าน แบ่งประเภทของเลเซอร์ตามคุณสมบัติของ Wavelenth ( ความยาวช่วงคลื่น ) ตามที่ผู้เขียนได้เขียนบทความไว้แล้วที่นี่https://www.clinicneo.co.th/2007/detailcolumn.php?grp=9&sdata=&col_id=315 
    อีกอย่างที่ควรทราบก็คือ ยิ่งช่วงคลื่นที่มากเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสลงลึกลงไปที่ผิวหนังมากเท่านั้น และก็มีโอกาสทำลายชั้นผิวหนังได้ลึกกว่า เลเซอร์ที่มีช่วงคลื่นน้อยกว่า แม้จะได้ผลมากกว่า แต่ก็มีผลข้างเคียง เกิดรอยดำ หรือแผล เป็นได้มากกว่า เช่น เลเซอร์รักษารอยหลุมที่มี ความยาวช่วงคลื่น 10,600 nm ( Fractional CO2 Laser ) ก็จะทำลายผิวหนังได้ลึกกว่า เลเซอร์ความยาวช่วงคลื่น 1550 nm ( Fractional Erbium Laser เช่น ยี่ห้อ Fraxel ,Fine Scan 1550 ) โดยเฉพาะในคนสีผิวเข้ม เช่น คนเอเซีย หรือคนผิวดำ โอกาสจะเกิดรอยดำจากเลเซอร์กลุ่มความยาวช่วงคลื่นมากๆ เช่น กลุ่ม CO2 Laser ก็จะยิ่งมีโอกาสมากกว่าคนผิวขาว 
    2. Fluence ( พลังงาน ) : มีหน่วยเป็น จูลหรือมิลลิจูล( J/mJ ) โดยเมื่อแพทย์เลือกช่วงคลื่นของเลเซอร์ที่เหมาะสมแล้ว ต่อมาแพทย์จะเลือกพลังงานในการยิงเพื่อทำลายเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งถ้าใช้พลังงานมาก ก็ได้ผลมากกว่า แต่ก็เกิดผลข้างเคียงได้มากกว่า ตรงนี้แหละ คือความชำนาญและประสบการณ์ของแพทย์ที่ทำเลเซอร์ แต่ละคน จะเลือกพลังงานในการยิงให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของคนไข้ และสีผิวของคนไข้ โดยถ้าพลังงานมาก ก็เกิดผลข้างเคียงมาก สีผิวเข้ม ก็เกิดผลข้างเคียงมากกว่าสีผิวอ่อนกว่า 
    3. Pulse Duration ( ระยะเวลาในการยิงแต่ละครั้ง ) : มีหน่วยเป็น วินาที(sec) ถ้าใช้ระยะเวลาในการยิงต่อ Shots นาน ก็จะได้พลังงานมาก ได้ผลดี แต่ก็มีผลข้างเคียงมาก ดังนั้น แพทย์อาจจะต้องเลือกให้เหมาะสมเช่นกัน ดังนั้น เลเซอร์บางเครื่อง ก็สามารถแบ่งระยะเวลาการยิงเป็น Single/Double/Triple Pulses โดยเว้นช่วงการยิงแต่ละครั้ง เพื่อให้ผิวหนังเย็นลง ที่เรียกว่า Thermal Relaxation Time(TRT) แล้วก็ยิงต่อเพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอที่ต้องการ แต่มีความร้อนสะสมน้อย หรือย่นระยะเวลาการยิงแต่ละครั้งลง เพื่อลดผลข้างเคียงจากเลเซอร์ 
    4 . Spot size ( ขนาดหัวยิง ) : ถ้าขนาดใหญ่ พลังงานก็ลงได้ลึก ลดการกระจายของพลังงานไปยังที่ที่ไม่ต้องการได้น้อยลง สามารถกำหนดบริเวณยิงได้ทั่วถึงและแม่นยำ และก็ไม่ต้องใช้ช็อตในการยิงมาก ประหยัดเวลา ซึ่งบางคนเข้าใจผิด ชอบถามกันบ่อยๆ ว่า ยิงกี่ช็อต คิดว่าจำนวนยิ่งมาก ยิ่งดี แต่ไม่ได้คำนึงว่าเลเซอร์บางยี่ห้อ Spot size หรือหัวยิงใหญ่ ยิงไม่กี่ช็อตก็ทั่วหน้าแล้วเพราะคนเรา ส่วนมากจะพิจารณาจากปริมาณมากกว่าคุณภาพ นั่นเอง ในความเห็นส่วนตัวผู้เขียน ชอบยิงเลเซอร์ที่มี Spot size ( ขนาดหัวยิง ) มากกว่า ประหยัดเวลาทั้งคนไข้และแพทย์ที่ทำ และผลการกระจายพลังงานของเลเซอร์ได้ทั่วถึงและเนียนกว่า ไม่มีการกระจายลำแสง (scatter ) ไปที่จุดใดจุดหนึ่ง มากเกินไป หรือบางจุดน้อยเกินไป 
    4 . Cooling System (ระบบการให้ความเย็น ) : อันนี้คงอธิบายได้ไม่ยาก เพราะพลังงานจากเลเซอร์ ก็มีความร้อนเกิดขึ้น ดังนั้น ก่อนจะยิงเลเซอร์ ต้องเตรียมผิวหนังคนไข้ให้พร้อม เช่นอาจจะแปะหรือทายาชาทิ้งไว้ให้ชา หรือทำให้ผิวหนังของคนไข้มีความเย็นระดับหนึ่ง เพื่อมิให้เจ็บเกินไป ระหว่างที่ทำ หรือ มิให้ผิวหนังบริเวณที่ยิงเกิดรอยไหม้จากความร้อนของเลเซอร์ ซึ่งอาจจะมีหลายแบบ เช่น การใช้เจลเย็นทาก่อนยิง IPL,การใช้หัวยิงเลเซอร์ที่มีระบบ cooling อยู่แล้ว เช่น กลุ่มหัว Saphire,Copper แบบ Cryotherapy หรือการพ่นไอเย็นจัด ระหว่างทำ เช่น เครื่อง Cooling Jet 
    5 . Scanner Type (การปรับลำแสงเลเซอร์ ) : จริงๆ จะมีในเลเซอร์บางประเภท เช่น กลุ่ม Fractional Laser เพราะจะเป็นการยิงลำแสงเป็นรูเล็กๆ โดยผ่านเครื่องกรองเลเซอร์ ซึ่งมีหลายแบบ ตั้งแต่เริ่มแรกที่ใช้ตะแกรงกรองเลเซอร์ให้ผ่านเป็นรูเล็ก ๆจนพัฒนาเป็นเครื่อง scanner ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวณ ซึ่งก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จาก Single scanner ในเครื่อง Fraxel จนมาเป็น Dual Scanner ในเครื่อง Fine Scan 1550 รุ่นหลังๆ เพราะการยิ่งทำให้การกระจายของลำแสงเลเซอร์ละเอียดเท่าไหร่ กระจายตัวทั่วๆ ไป มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ความร้อนสะสมเฉพาะจุดน้อยลง (MTZ =Microthermal necrotic Zone) น้อยลง โอกาสเกิดรอยดำหรือผลข้างเคียงยิ่งน้อยลง
  • ดังนั้น รพ.หรือคลินิกด้านความงาม ที่ทำการรักษาด้วยเลเซอร์ จำเป็นต้องมีเครื่องเลเซอร์ไว้หลายประเภท แต่ละประเภทจึงมีลักษณะ เฉพาะ แตกต่างกัน ไม่สามารถใช้เลเซอร์เครื่องเดียว รักษาปัญหาผิวพรรณได้ทุกชนิด แพทย์จะต้องเลือกชนิดของเลเซอร์ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา ที่สำคัญ สิ่งที่ควรรู้ก่อนจะตัดสินใจไปทำเลเซอร์ก็คือ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำเลเซอร์แล้วได้ผลดีเหมือนกันหมด เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่อาจทำให้การทำเลเซอร์กับคนหนึ่งอาจไม่ได้ผลดีเท่ากับอีกคน อันได้แก่ 
    - การทำเลเซอร์ทั่วไป คนผิวขาวจะเห็นผลดีและชัดเจนกว่าคนผิวคล้ำ และคนที่มีริ้วรอยมาก ทำแล้วก็จะเห็นผลชัดเจนกว่าคนที่มีริ้วรอยน้อย 
    - คนผิวคล้ำ อาจมีความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์มากกว่าผิวขาว เช่น อาจเกิดรอยดำที่ผิวหลังการทำ ที่เรียกว่าอาการ hyper pigmentation หรือเกิดรอยไหม้ของผิวได้ และในทางกลับกัน คนผิวขาวเมื่อทำเลเซอร์ ก็อาจเกิดอาการ hypo pigmentation หรือสภาวะผิวขาวมากกว่าปกติขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากเป็นเลเซอร์แบบที่ทำแล้วเกิดแผล 
    - การทำเลเซอร์กับผิวรอบดวงตาบ่อยๆ หรือใช้พลังงานมากเกินไป อาจทำให้เกิดสภาวะการดึงรั้งของตา ทำให้หลับตาได้ไม่เต็มที่ขึ้นได้
  • หลังการทำก็อาจมีอาการบวมแดงของผิวหรือแสบร้อนได้ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ผิวจึงจะกลับคืนสู่สภาพปกติซึ่งก็อยู่ที่การดูแลรักษาหลังการทำด้วย และควรหลบแดดให้มากที่สุดหลังจากที่ทำเลเซอร์มาแล้ว ที่สำคัญ ควรจะมาพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลการรักษา และแก้ไขปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาในครั้งต่อๆ ไป ให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนมากที่สุด (Individual Evaluations) 
    เรียบเรียงและค้นคว้าโดย นพ.จรัสพล รินทระ ………………..9 Febuary,2010

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=9&sdata=&col_id=356

อัพเดทล่าสุด