ฮอร์โมนกับการเปลี่ยนแปลง เมื่ออายุมากขึ้น(Hormonal chane in Aging)


857 ผู้ชม


  • ฮอร์โมนในร่างกายของคนเรา มีหน้าที่หลักในการทำงานคือ การควบคุมอวัยวะและระบบต่างๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ ทั้งในแง่การ
ดำรงชีวิตประจำวัน การเจริญเติบโต การนอนหลับพักผ่อน การเผาผลาญพลังงาน การสืบพันธุ์ การควบคุมอารมณ์ ฯลฯ ซึ่งในร่างกายเราก็มีฮอร์โมนหลายชนิด และร่างกายก็ผลิตหรือหลั่งฮอรโมนจากอวัยวะต่างๆ หลากหลาย เช่น ต่อมทัยรอยด์ ก็จะหลั่งธัยรอยด์ฮอร์โมน รังไข่ก็หลั่งฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน อัณฑะก็หลั่งฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในผู้ชาย ฯลฯ
  • เมื่อเราอายุมากขึ้น หรือแก่ขึ้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งตามทฤษฎีว่าด้วยความแก่ (Theory of Aging) พบว่าทฤษฎีเกี่ยวกับฮอร์โมน (The Neuroendocrine Theory) จัดเป็นทฤษฎีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการอธิบายกลไกการเสื่อมของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น โดยพบว่า เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนต่างๆ จะลดระดับลง หรือการมีสร้างลดลง เมื่อมีระดับฮอร์โมนต่างๆ ลดลง สุขภาพของเราก็จะเสื่อมถอยลง เพราะขบวนการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายลดลง ไม่ว่าจะเป็น การซ่อมแซมสิ่งทีสึกหรอ การเจริญเติบโต สมรรถภาพทางเพศ ผิวพรรณ ฯลฯ
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ เริ่มต้นเมื่อไหร่ โดยตามทฤษฎีพบว่า เมื่อเราอายุย่างเข้า 30-40 ปี ฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งเคยมีระดับสูงในวัยหนุ่มสาว ได้มีการ ลดปริมาณลงเรื่อยๆ มากน้อยแล้วแต่ชนิดของฮอร์โมน ทำให้บางคนเกิดมีภาวะพร่องฮอรโมน ( Hormonal Depletion) เป็นช่วงๆ อาการจะรุนแรงมากน้อย ก็แตกต่าง กันไปแล้วของแต่ละคน ฮอร์โมนหลักๆ ที่มีการลดลงให้เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ 
    1. Growth Hormone: จัดเป็นฮอร์โมนที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย (Anabolic Hormone) โดยมีบทบาทในการสร้างความเจริญเติบโตของสรีระของร่างกาย จากวัยทารก สู่วัยรุ่น สู่วัยหนุ่มสาว จนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว การขาดฮอร์โมนนี้ในวัยเด็ก ก็จะทำให้เราเตี้ย แคระแกร็นได้ (Dwarfs) หรือถ้าเรามีระดับฮอรโมนนี้มากเกินไป ก็จะทำให้เรามี ร่างกายโตผิดปกติ (Giantism) แต่ถ้าภาวะปกติ เราก็จะสูงเตี้ย ตามกรรมพันธุ์และเชื้อชาติของเรา มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการและการออกกำลังกายด้วย เมื่ออายุมากขึ้น การสร้าง Growth Hormone จะลดลง ทำให้เราเกิดมีอาการอ่อนเพลียได้ง่าย ผิวพรรณเหี่ยวย่น ลงพุง กล้ามเนื้อหย่อนคล้่อย และเกิดไขมันสะสมในร่างกายได้ง่ายขึ้น ขาดความกระฉับกระเฉงในการทำงาน 
    2. Melatonin:จัดเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ทำให้รู้สึกง่วงนอน อยากพักผ่อน และมีผลทำให้การนอนหลับได้สนิท นอกจากนี้ยังมีบทบาทหลายอย่าง อาทิ ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงเช่นกัน มีผลทำให้เรานอนหลับได้ยากขึ้น หลับไม่เต็มอิ่ม สะดุ้งตื่นได้ง่าย และนอนหลับต่อได้ยากขึ้น 
    3. Testosterone: จัดเป็นฮอรโมนเพศชาย ที่ทำให้ลักษณะเพศชายเด่นชัด เช่น มีหนวดเครา มีกล้ามเนื้อ ขนตามลำตัว อวัยวะเพศชาย ฯลฯ เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และมีความสำคัญเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ เมื่ออายุมากขึ้น ( ประมาณ 40 ปี) ระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงเช่นกัน ทำให้มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย อ่อนเพลียได้ง่าย อ้วนง่าย หงุดหงิดง่ายขึ้น ความจำช้าลง ฯลฯ 
    4. Estrogen: จัดเป็นฮอรโมนเพศหญิง ที่ทำให้ลักษณะเพศหญิงเด่นชัด เช่น มีหน้าอก สะโพกผาย ทำให้มดลูกมีสภาพพร้อมที่จะมีบุตร ผิวพรรณเนียนนุ่ม มีความต้องการทางเพศ ฯลฯ เมื่ออายุมากขึ้น ( ประมาณ 40-50 ปี) ระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงเช่นกัน ทำให้มีผลต่อการเกิดริ้วรอยได้ง่าย อ้วนง่าย ความต้องการทางเพศลดลง รอบเดือนผิดปกติ เกิดอาการที่เรียกว่าวัยทอง (Perimenopausal syndromes) อาทิ วิงเวียนศีรษะ ร้อนวูบวาบตามลำตัว หงุดหงิดง่าย เครียดบ่อยๆ หดหู่ ซึมเศร้าได้ง่าย ความจำลดลง และทำให้เกิดภาวะกระดูกผุได้ง่าย (Osteoporosis) 
    5. Progesterone: จัดเป็นฮอรโมนเพศหญิงที่ช่วยปรับสมดุลย์ของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีรอบเดือน ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของกระดูกและเต้านม เมื่ออายุมากขึ้น ( ประมาณ 40-50 ปี) ระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลง ถ้าขาด ก็จะทำให้มีอารมณ์ปรวนแปร ฉุนเฉียวได้ง่าย ก้าวร้าว กระวนกระวาย ขี้วิตกกังวล ปวดรอบเดือน ความรุ้สึกไวต่อการเจ็บปวดทั้งหลาย ไม่ค่อยถึงจุดสุดยอดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ 
    6. Thyroid Hormone: จัดเป็นฮอรโมนที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญและการใช้พลังงานของร่างกาย มีผลควบคุมระดับความดันโลหิต ชีพจร การคิด การพูด ระบบย่อยอาหาร ระบบปัสสาวะ ระดับไขมันในเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ในบางคนระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงหรือพร่องไป ซึ่งจะมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ท้องผูก นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ไวต่ออากาศเย็น มือเท้าเย็น ติดเชื้อง่าย ง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา ความจำเสื่อม ความคิดอ่านช้าลง และอาจจะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย 
    7. DHEA:จัดเป็นฮอรโมนที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือด ระบบภูมิคุ้มกันและเมตาโบลิซึม จัดเป็นต้นกำเนิดของฮอร์โมนเพศ เทสโตเตอโรน และเอสโตรเจน เมื่ออายุมากขึ้น ในบางคนระดับฮอรโมนนี้ก็จะลดลงหรือพร่องไป ซึ่งจะมีผลทำให้ป่วยด้วยโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และโรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนปกติ 
    การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมน เมื่ออายุมากขึ้น 1. การซักประวัติ 2. การตรวจร่างกาย 3. การตรวจระดับฮอร์โมน : ซึ่งมีการตรวจได้หลายอย่างแล้วแต่ชนิดของฮอร์โมน เช่น อาจจะวัดระดับฮอร์โมนจากเลือด น้ำลาย หรือปัสสาวะ 
    แนวทางแก้ไข 1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น อาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน ฯลฯ เพื่อเพิ่มระดับฮอรโมนต่างๆ 2. การให้วิตามิน อาหารเสริม ที่มีผลต่อการกระตุ้นระดับฮอร์โมน เช่น Arginine,leucine,Glutamine ซึ่งช่วยเพิ่มระดับ Growth Hormone 3. ให้ฮอร์โมนทดแทน Hormonal Replacement Therapy (HRT)
  • นอกจากนี้ยังมีระดับฮอรโมนอื่นๆ อีกหลายตัว ที่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น รายละเอียดและแนวทางป้องกัน แก้ไขและรักษาจะได้กล่าวโดยละเอียดของ ฮอร์โมนแต่ละตัวในบทความคราวต่อๆ ไป ซึ่งในที่นี้ ได้เกริ่นให้ทุกคนได้เริ่มมีความรู้ด้าน Aging รู้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เมื่อเราอายุมากขึ้น จะมีอาการอย่างไร มีผลกระทบอย่างไร จะแก้ไขได้อย่างไร การขาดฮอร์โมนที่กล่าวมาแล้ว ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ถือว่าเป็นโรคแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของเราลดลง แพทย์ทางเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-Aging) จะเป็นแพทย์เฉพาะสาขาใหม่ ซึ่งจะมีความรู้ ความชำนาญในด้านนี้ จะมาตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้ท่านได้ในอนาคต 
    เรียบเรียงและค้นคว้าโดย นพ.จรัสพล รินทระ...............20 May,2008

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=10&sdata=&col_id=328

อัพเดทล่าสุด