วิธีรักษาโรคเอสแอลอี


1,519 ผู้ชม


วิธีรักษาโรคเอสแอลอี อาการโรคเอสแอลอี ดาราโรคเอสแอลอี

ยาสมุนไพร ช่วยปรับสมดุล หนึ่งวิธีรักษาโรค เอสแอลอี

คลิกเพื่อดูขนาดจริง
อีกโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุก วัย มีอาการเกิดขึ้นได้กับหลายระบบ และเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไปที่เรียกกัน ในชื่อ โรคหลอดเลือดผิวหนังบวมอักเสบบนใบหน้าเป็นรูปผีเสื้อ หรือ SLE (Systemic Lupus Erythe- matosus) ในชื่อนี้อาจจะ ไม่เป็นที่คุ้นเคย
แต่หากบอกว่าเป็น โรคพุ่มพวง อาจทำให้หลายคนนึกออก และเข้าใจในอาการของโรคกันเพิ่มขึ้น !?!
โรคเอสแอลอี เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองโดยเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการ เปลี่ยนแปลงแทนที่ จะทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมจากภาย นอกร่างกาย แต่กลับมาต่อต้านหรือทำลายเซลล์ของ อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายเอง ถือเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะหรือหลายระบบของร่าง กาย หรือในบางรายอาจมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งทีละระบบ
ส่วนสาเหตุหรือต้นตอของการเกิดโรคนั้น สุรพรรณ ศิริธรรมวานิช อาจารย์พิเศษการแพทย์แผนไทยเภสัชภาควินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า จวบถึงเวลานี้โรคดังกล่าวก็ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดถึงการเกิดขึ้นของโรค
โรคนี้มีความสัมพันธ์หลายประการกับอาการเจ็บป่วยของแต่ละบุคคลซึ่งโดยทั่วไป ระยะสุดท้ายของโรคจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งทำลายตัวเอง และหากมองว่าโรคเอสแอลอีเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุหรือหลายโรคที่ เกิดขึ้นพร้อมกันไม่น่าจะมาจากเพียงสาเหตุเดียว เมื่อสาเหตุของการเกิดโรคในแต่ละ บุคคลมีปัจจัยผสม ที่ต่างกัน การตอบสนองต่อยาและการบำบัดต่าง ๆ ที่ใช้รักษาโรคนี้ในแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน
“ก่อนที่จะเป็นโรคเอสแอลอี ส่วนมากคนไข้มักจะเป็นโรคอื่นมาก่อน เพราะโดยทั่วไปมักจะไม่เป็นโรคนี้ โรคนี้เป็นโรคที่ภูมิคุ้มกันร่างกายไปทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกายเอง ซึ่งโดยปกติ ภูมิคุ้มกันร่างกายจะเป็นตัวป้องกันเชื้อโรคโดยถ้ามีอะไรผิดปกติภูมิคุ้มกัน จะช่วยเหลือเราเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดี
แต่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวภูมิคุ้มกันจะไปทำลายตนเอง เมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกทำลายไป ภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องโรคต่าง ๆ ก็จะถามหาตามมาด้วยหลายอาการต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเป็นก็จะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ร่างกายก็จะทรุดโทรมลง”
จากการศึกษาและผลงานวิจัยต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าโรคดังกล่าวเกิดจากสภาวะหลาย ๆ ด้าน อย่างเช่น แสงแดด หรือ อัลตราไวโอ เลตจากแสงอาทิตย์, สารเคมีบางชนิด เช่น ยาแก้อักเสบ หรือความเครียด ฯลฯ ส่วนอาการของโรคที่พบเห็นกันบ่อยจะมีอาการทางผิวหนังโดยมักจะมีผื่นแดงขึ้น ที่บริเวณใบหน้าบริเวณสันจมูกและโหนกแก้มคล้ายรูปผีเสื้อ มีผื่นแดงคันบริเวณนอกร่มผ้า มีอาการอ่อนเพลีย ผมร่วงและหากมีอาการมากผิวหนังจะลอก มีการปวดข้อโดยเฉพาะที่ข้อมีการอักเสบ ที่ไตซึ่งอาการทางไตเป็นอาการสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถบ่งบอกถึงความรุนแรง
ในระบบการสร้างภูมิคุ้มกัน หากไตมีความแข็งแรงก็จะไม่มีปัญหา โดยปกติอวัยวะส่วนนี้จะช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เซลล์น้ำเหลือง ฯลฯ ดังนั้นเมื่อทราบว่าไตมีความสำคัญก็จะต้องดูแลในส่วนนี้ และจากแนวทาง การรักษาโรคเอสแอลอี ซึ่ง มีให้เลือกรักษาทั้งทาง แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย จากการศึกษาค้นคว้าการรักษาแบบ แพทย์แผนไทย อาจารย์สุรพรรณ ให้ความรู้ว่าในแนวทางรักษาจะใช้วิธีการตรวจจับชีพจรแก่ผู้ป่วยที่แพทย์แผน ปัจจุบันมีความเห็นว่าผู้ป่วยเป็นโรคเอสแอลอีเพื่อตรวจเช็กสภาพความสมดุล ของอวัยวะภายในร่างกายว่ามีส่วนใดผิดปกติหรือไม่
จากนั้นแพทย์แผนไทยจะใช้สมุนไพรในการรักษา สำหรับสมุนไพรที่ใช้ควรเป็นยาสมุนไพรแบบตำรับยา คือมีตัวยาตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป โดยที่ยาสมุนไพรจะช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยสลายพิษทั้งไตและตับ ทำให้ร่างกายและจิตใจไม่เกิดความเครียด การเลือกใช้พืชสมุนไพรในการดูแลโรคดังกล่าว จึงมีโอกาส ทั้งนี้เพราะธรรมชาติ ต่อธรรมชาติย่อมไม่ทำลายกันและกัน ซึ่งการที่ไม่ทำลายกันก็ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อีกทั้ง ยังทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานดีขึ้น
“พืชสมุนไพรที่นำมาใช้ร่วมกันตำรับหนึ่งประกอบไปด้วยสมุนไพรไทยหลายชนิดจะ ไม่ใช่ใช้สมุนไพรเดี่ยว อย่างเช่น ตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยในระบบภูมิแพ้ที่โบราณมีใช้มายาวนานก็จะมีสมุนไพร หลายชนิด เช่นเดียวกับ กลุ่มสมุนไพรที่มีฤทธิ์ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเซลล์ที่มีความ ผิดปกติ ฯลฯ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคดังกล่าวการคิดค้นยารักษาเป็นตำรับยาไทยก็ จะช่วยรักษาทั้งระบบ”
ขณะที่โรคดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ส่วนมากมักมาจากหลายสาเหตุทั้งการใช้ยารักษาผิดทางเกิดจากโรค การติดยานอนหลับ ยาที่มีส่วนทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ฯลฯ ดังนั้นหากจะตัดตอนจากโรคดังกล่าวก็จำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้ยา หมั่นดูแลสุขภาพซึ่งอาจารย์ท่านเดิมได้ให้มุมมองคำแนะนำ ว่า นอกเหนือจากรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนา การ รับประทานอาหารสุกและสะอาด ทานผัก ผลไม้เน้นพวกผักใบเขียว ไม่เครียดและไม่ควรมองข้ามเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอแล้ว
การดำเนินชีวิตควรหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ขณะที่การใช้ยารักษาโรคก็จำเป็นต้องปรึกษากับผู้ที่มีความรู้จริงศึกษากับ แพทย์ผู้ชำนาญการในการรักษาโรคและในฤดูกาลต่าง ๆ ที่มีสภาพอากาศ เปลี่ยนแปลงก็ควรรู้หลักปรับสมดุลให้กับร่างกาย ปฏิบัติดูแลสุขภาพดำเนินชีวิตอย่างพอดี
จากที่กล่าวมา โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ดังนั้นหากดูแลและรักษาสุขภาพที่ดีแล้ว นอกจากจะทำให้หลีกไกลจากโรคดังกล่าวแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็คงยากที่จะมาเยี่ยมเยือน.
ที่มา : เดลินิวส์

รู้จัก โรคเอสแอลอี หรือโรคพุ่มพวง

        เพราะเคยสร้างความตื่นตะลึงด้วยการคร่าชีวิตราชินีลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” มาแล้ว จึงทำให้คนไทยรู้จัก “โรคเอสแอลอี” กันในนาม “โรคพุ่มพวง” ซึ่งแม้ว่าช่วงนี้เราจะไม่ได้ยินชื่อของโรคนี้บ่อยนัก แต่รายงานทางการแพทย์ก็ยังพบผู้ป่วยด้วยโรคเอสแอลอีอยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ได้นำเสนอข่าวของคุณแม่สู้ชีวิตที่ต้องเผชิญกับโรคเอสแอลอี อีกทั้งลูกชายวัย 3 ขวบเศษก็ต้องเจอโรคทางกระดูกรุมเร้า ทำให้ชีวิตของเธอและลูกชายไม่ได้สุขสบายเช่นคนทั่วไป…

          ขณะเดียวกัน หลายคนที่ได้รับรู้ข่าวนี้ อาจยังไม่รู้จักโรคเอสแอลดี และอยากรู้ว่าโรคนี้ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปค้นคำตอบของโรคเอสแอลอี หรือโรคพุ่มพวงกันค่ะ

          โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus - SLE) หรือ โรคลูปัส จัดเป็นโรคที่เรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันเพี้ยน ซึ่งไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างที่ผู้คนส่วนมากเข้าใจ โรคเอสแอลอีเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการผลิตโปรตีนของภูมิคุ้มกันในเลือดที่ เรียกว่า “แอนติบอดี้” ขึ้นมามากเกินปกติ ทำให้เกิดปัญหาในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ จาก ปกติที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย หรือไวรัสจากภายนอกร่างกาย  แต่กลับต่อต้านร่างกายของตัวเอง จนทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ  ถ้าเป็นรุนแรงจะมีการทำลายอวัยวะภายในด้วย เช่น ไต หัวใจ ปอด และระบบประสาท 

          สำหรับความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนบางคนเป็นรุนแรง บางคนเป็นไม่รุนแรง และในรายที่เป็นไม่รุนแรงวันดีคืนร้ายก็จะเป็นรุนแรงขึ้นมาได้อีก ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติหากรักษาได้ทันท่วงที

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคแอสเอลอี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงวัยสาวถึงวัยกลางคน อายุระหว่าง 20-45 ปี อายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 9:1 และพบได้ในทุกเชื้อชาติ แต่จะพบในคนผิวดำและผิวเหลืองมากกว่าผิวขาว โดยเฉพาะบริเวณเอเชียตะวันออก  เช่น ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกง และจีน 

 สาเหตุของโรคเอสแอลอี 

          ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคเอสแอลอีแน่ชัด  แต่จากหลักฐานทางการวิจัยพบว่า โรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์, ฮอร์โมน และการติดเชื้อโรค (โดยเฉพาะเชื้อไวรัส) นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหรือมีโอกาสเป็นโรคเอสแอลอี มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น แสงแดด โดยเฉพาะแสงอุลตร้าไวโอเลต การตั้งครรภ์ และยาบางชนิด

          1. พันธุกรรม พบว่าในแฝดจากไข่ใบเดียวกันมีโอกาสเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ 30-50 และร้อยละ 7-12 ของผู้ป่วยเอสแอลอี เป็นญาติพี่น้องกัน เช่น แม่และลูกสาว หรือในหมู่พี่น้องผู้หญิงด้วยกัน

          2. ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถค้นพบเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้

          3. ฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะเอสโตรเจน โรคที่พบมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ บ่งชี้ว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังแปรเปลี่ยนตามการมีครรภ์ ประจำเดือน และการใช้ยาคุมกำเนิด

          4. แสงแดดและสารเคมี ยาบางอย่างเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม โรคแสดงอาการของโรคนี้ได้ 

 อาการของโรค

 

 

โรคเอสแอลอี

          โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่มีลักษณะการแสดงออกได้หลากหลาย อาจมีอาการเฉียบพลันและรุนแรง หรือมีอาการค่อยเป็นค่อยไปเป็นช่วยระยะเวลานานหลายปี หรืออาจมีอาการแสดงออกของหลายอวัยวะในร่างกายพร้อมๆ กัน หรือมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งทีละอย่างก็ได้ โดยอาการที่พบบ่อยนั้น ได้แก่ มีไข้ ผื่นขึ้นที่ใบหน้า เกิดแผลในปาก ผมร่วง มีอาการปวดข้อ บางครั้งก็เป็น พอรักษาก็หายไป แต่แล้วก็เป็นขึ้นมาอีก ส่วนอาการอื่นๆ มีดังนี้

           อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในขณะโรคกำเริบ

           อาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปาก ในระยะเฉียบพลันที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ผื่นรูปปีกผีเสื้อ ลักษณะเป็นผื่นบวมแดงนูนบริเวณโหนกแก้มและสันจมูก ผื่นจะเป็นมากขึ้นเมื่อถูกแสงแดด ปลายเท้าซีดเขียวเมื่อถูกน้ำหรืออากาศเย็น ผมร่วง มีแผลในปาก

           อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดข้อมากกว่าลักษณะข้ออักเสบ มักเป็นบริเวณข้อเล็กๆ ของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเท้า หรือข้อเข่า เป็นเหมือนๆ กันทั้ง 2 ข้าง ร้อยละ 17-45 พบอาการปวดกล้ามเนื้อ

           อาการทางไต ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการทางไตเป็นอาการนำ อาการแสดงที่สำคัญของไตอักเสบจากลูปัส ได้แก่ บวม ปัสสาวะเป็นฟอง ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง

           อาการทางระบบเลือด อาการที่พบได้แก่ อ่อนเพลียหน้ามืดจากภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และเกร็ดเลือดต่ำ อาจพบจุดจ้ำเลือดออกตามตัวได้

           อาการทางระบบประสาท อาการที่พบได้ คือ อาการชักและอาการทางจิต นอกจากนี้อาจมีอาการปวดศรีษะรุนแรง หรือมีอ่อนแรงของแขนขา อาจพบได้ในระยะที่โรคกำเริบ

           อาการทางปอดและเยื่อหุ้มปอด อาการที่พบบ่อย คือ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการแสดงคือเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าสุด ตรวจพบมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด บางรายมีอาการปอดอักเสบซึ่งต้องแยกจากปอดอักเสบติดเชื้อ
           อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่พบบ่อยคือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งมักพบร่วมกับเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการ เจ็บหน้าอก มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เหนื่อยง่าย โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะหลอดเลือดแข็งจากการได้รับยา สเตียรอยด์นานๆ นอกจากนี้ภาวะความดันโลหิตสูง ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากไตอักเสบเรื้อรัง และจากการได้รับยาสเตียรอยด์

           อาการทางระบบทางเดินอาหาร ไม่มีอาการที่จำเพาะสำหรับโรคลูปัส อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยารักษาโรคลูปัส เช่น NSAIDS ยาสเตียรอยด์ อาการยังคงอยู่ได้แม้จะหยุดยาไปเป็นสัปดาห์

 การรักษา

          ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาใดที่ทำให้หายขาดได้ แต่การปฏิบัติตัวที่ดี การเลือกใช้ยาที่ถูกต้องทั้งชนิด ขนาด และช่วงเวลาที่เหมาะสม จะสามารถควบคุมอาการของโรคนี้ได้ การรักษาด้วยยายากลุ่ม NSAIDS และยาต้านมาลาเรีย (คลอโรควีนและไฮดรอกซีคลอโรควีน) ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มีปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างโรคตามทางผิวหนัง มีผื่นที่หน้า ปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อ โดยที่ผลการตรวจทางปัสสาวะปกติ อย่างไรก็ตามในกรณียาเหล่านี้ควบคุมอาการไม่ได้ อาจให้ยาสเตียรอยด์ในขนาดต่ำๆ (prednisolone < 10 มิลลิกรัม /วัน) ร่วมด้วย เมื่อควบคุมโรคได้จึงค่อยลดยาลง

          ยาสเตียรอยด์ เช่น prednisolone เป็นยาหลักที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของอวัยวะสำคัญต่างๆ จากโรคลูปัส แพทย์จะปรับขนาดของยาตามอาการและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องให้ยากดระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ ร่วมด้วย

 ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อป่วยเป็นโรคเอสแอลอี 

          1. ในระยะแรกต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด

          2. ควรพยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม และสวมใส่เสื้อแขนยาวเวลาที่จำเป็นต้องออกแดด

          3. ทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรเครียด ถ้อถอย เศร้าใจ หรือกังวลใจ เพราะทำให้อาการกำเริบได้ ควรมีกำลังใจและมีความอดทนต่อการรักษา

          4. เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่างๆ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง

          5. เนื่องจากผู้ป่วยเอสแอลอี มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายจึงต้องคอยระวังตัว ไม่เข้าใกล้ผู้อื่นที่กำลังเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด พยายามไม่อยู่ในที่ผู้คนแออัด นอกจากนี้อาหารที่รับประทานทุกชนิดควรเป็นอาหารที่สะอาดและต้มสุกแล้ว

          6. ทำตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และไปรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและประเมินความรุนแรงของโรค และผลการรักษาแพทย์จะได้พิจารณา ให้การรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

          7. ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาบ่อยๆ เพราะแพทย์คนใหม่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของอาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเป็นอันตรายได้

          8. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา

          9. ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง

          10. ถ้ามีอาการผิดปกติ มีไข้ หรือไม่สบาย ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที หรือหากจะไปหาแพทย์อื่น ควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อว่าแพทย์จะได้จัดยาได้ถูกต้องและสอดคล้องกับยาประจำที่รับประทานอยู่

          11. ผู้ป่วยหญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่ควรมีบุตรในระยะที่โรคกำเริบ เพราะจะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิด เพราะอาจจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น ควรเลี่ยงใช้วิธีอื่น­ๆ แทนโดยการปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้ เมื่อพ้นระยะที่โรคมีความรุนแรงแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลอย่าง ใกล้ชิดจากแพทย์

   คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- thai-sle.com
- siamhealth.net
- vcharkarn.com
- psu.ac.th

“เป็นโรคเอส แอล อี ก็มีสุขได้” ตอนที่ 1

                               เรื่อง “เป็นโรคเอส แอล อี ก็มีสุขได้” ตอนที่ 1    
              

         พูดถึงโรค เอส แอล อี  หลายท่านอาจไม่รู้จัก  พูดถึงโรคลูปัส หลายท่านอาจจะงง  แต่พอบอกว่าโรคพุ่มพวง คนจำนวนไม่น้อยจะร้องอ๋อ    ก่อนหน้าที่จะมีข่าวการเสียชีวิตของนักร้องลูกทุ่งชื่อดังด้วยโรคนี้   คนทั่วไปแทบจะไม่รู้จักโรค เอส แอล อี  ยิ่งพอมีข่าวการเสียชีวิตของดาราวัยรุ่นด้วยโรคนี้อีกคนหนึ่ง  คนไทยก็เริ่มรู้จักโรคนี้กันมากขึ้น  แต่ความรู้จักโรคนี้ของคนไทยเราดูเหมือนจะแฝงไว้ด้วยความหวาดกลัวว่าใครที่ เป็นโรคนี้จะต้องเสียชีวิต   ความเข้าใจนี้ถูกต้องหรือไม่  โรค เอส แอล อี หรือโรคลูปัสหรือโรคพุ่มพวงจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร  เกิดขึ้นได้อย่างไร  ใครบ้างที่จะโชคร้ายมีโอกาสเป็นโรคนี้  ถ้าเป็นโรคนี้แล้วจะมีอาการอะไรบ้าง
          เมื่อไรควรจะสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้  แนวทางในการรักษาโรคนี้เป็นอย่างไรท่านจะได้ทราบต่อไป                 
โรค เอส แอล อี (SLE) มาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า Systemic Lupus Erythematosus  หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า โรคลูปัส  ขณะนี้ยังไม่มีชื่อโรคเป็นภาษาไทยที่เหมาะสม   เนื่องจากเป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอาการจากการเกิดการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ หรือระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้หลายระบบ  ไม่แน่นอนและแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย  การอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป  โดยแทนที่จะทำหน้าที่ต่อต้านกับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคจากภายนอกร่างกาย  ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยกลับมาต่อต้านหรือทำลายเซลของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของผู้ป่วยเอง  จึงจัดอยู่ในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง (autoimmune diseases)  อวัยวะที่เกิดการอักเสบบ่อย ๆ ได้แก่ ผิวหนัง ข้อ ไต ระบบเลือด  ระบบประสาทเป็นต้น   การอักเสบนี้จะเป็นต่อเนื่องจนเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง
 
          โรค เอส แอล อี เกิดขึ้นได้อย่างไร                 
จนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครทราบอย่างแท้จริงว่าโรค เอส แอล อี เกิดขึ้นได้อย่างไร  แต่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่า มีปัจจัยทางกรรมพันธุ์บางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มหรือโอกาสที่จะเป็น โรค เอส แอล อี มากกว่าคนทั่วไป  และสามารถถ่ายทอดไปยังบุตรหลานได้  แต่ไม่เสมอไป  ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้แม่เป็นโรค เอส แอล อี แต่ลูกอาจไม่เป็นก็ได้   ถึงแม้จะมีพันธุกรรมที่มีแนวโน้มที่จะเป็น   นั่นหมายความว่า คงจะมีปัจจัยอะไรบางอย่างนอกเหนือจากกรรมพันธุ์ที่มากระตุ้นให้เกิดโรคเอส แอล อี ขึ้น  เช่น อาจเป็นภาวะติดเชื้อโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อไวรัสบางอย่าง  นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยโรค เอส แอล อี ส่วนมากเป็นผู้หญิง ฮอร์โมนเพศหญิงก็อาจมีส่วนส่งเสริมให้เกิดโรค เอส แอล อี ขึ้น  
              
           ปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรค เอส แอล อี หรือกระตุ้นให้โรคเอส แอส อี กำเริบขึ้นที่สำคัญคือ                 
1. แสงแดด  หรือแสงอุลตร้าไวโอเลต                 
2. การตั้งครรภ์                 
3. ยาหรือสารเคมีบางชนิด                 
4. ภาวะเครียดทางร่างกายและทางจิตใจ                 
5. การตรากตรำทำงานหนักหรือการออกกำลังกายหักโหม 
นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์
 

    Link    https://www.phyathai.com

อัพเดทล่าสุด