อาหารสําหรับคนท้อง 5 เดือน อาหารสําหรับคนท้อง 6 เดือน อาหารสําหรับคนท้อง 7 เดือน


7,785 ผู้ชม


อาหารสําหรับคนท้อง 5 เดือน อาหารสําหรับคนท้อง 6 เดือน อาหารสําหรับคนท้อง 7 เดือน

 

 

3 มื้อคุณภาพ เพื่อแม่ท้อง
  

เวลามื้ออาหารโดยปกติของเรามี 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น แม่ท้องก็เช่นกัน แต่ด้วยระบบร่างกายของแม่ท้องเปลี่ยนไป อาจทําให้การทํางานในร่างกายถูกรบกวนไปบ้าง รวมทั้งระบบการย่อย คุณหมอจึงมักแนะนําให้คุณแม่ท้อง แบ่งซอยมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อเล็กๆ แทน 3 มื้อใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายถึง ข้าวหรือก๋วยเตี๋ยวทั้ง 6 มื้อ (ไม่อย่างนั้นน้ำหนักคุณแม่ต้องเกินพิกัดไปมากแน่ๆ) เวลา 3 มื้อหลัก ก็ยังคงเป็นอาหารหลักตามปกติ แต่อาจจะลดจํานวนลงเล็กน้อย และหันมารับประทานอาหารที่ไม่หนักท้องเกินไปในช่วงสาย จะทําให้คุณแม่อิ่มแต่ไม่ทําให้อึดอัด
แม่ท้องอ่อน (ไตรมาสที่ 1)
          การตั้งครรภ์ช่วงนี้กว่าคุณแม่บางท่านจะรู้ว่าท้องก็อาจจะล่วงมา 2 เดือนแล้วก็เป็นได้ ช่วงนี้สําคัญมาก เพราะตัวอ่อนกําลังสร้างฐานของอวัยวะที่สําคัญทั้งหมด
          โดยในช่วงแรกๆ ตัวอ่อนยังอาศัยอาหารจากถุงไข่แดงที่ติดกับตัวอ่อนตั้งแต่เกิดการปฏิสนธิ ยังไม่ได้รับจากแม่เท่าใดนัก แต่ถ้าแม่รับอาหารที่ไม่ดี หรือเป็นพิษ เช่น แอลกอฮอล์ ก็สามารถ ส่งผลต่อลูกได้เช่นกัน และสําหรับคุณแม่บางท่านก็อาจจะไม่รู้สึกอยากรับประทานอะไรเลย เพราะมีอาการแพ้ท้อง ก็ไม่ต้องฝืนมากนัก แต่เมื่อรู้สึกดีขึ้น ก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ตัวอย่างอาหารแนะนํา
มื้อเช้า : ข้าวต้ม ปลาทอดชิ้นเล็ก ผักต้ม กล้วย นม
มื้อสาย : ซาลาเปา น้ำผลไม้คั้นสด
มื้อเที่ยง : ผัดมักกะโรนีกุ้ง สลัดผักจานเล็ก ส้ม
มื้อบ่าย : ขนมถั่วแปบ น้ำผลไม้คั้นสด
มื้อเย็น : ข้าวกล้อง ไข่ลูกเขย ยําปลาทู แกงจืดสาหร่าย  มะละกอ
มื้อค่ำ  : นมสด ขนมปังปิ้งทาแยม
แม่ท้องสาว (ไตรมาสที่ 2)
          ช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกสบายตัวขึ้นจากอาการแพ้ท้อง และความเคยชินในการเป็นคนท้อง จะทําอะไรก็คล่องแคล่วกว่าที่ผ่านมา เพราะมักรู้จังหวะของตนเองดีขึ้น ไม่เกร็ง หรือวิตกกังวลเหมือนช่วงแรก ถึงแม้ท้องจะใหญ่ขึ้นจนต้องหาชุดคลุมท้องมาใส่กันแล้วก็ตาม แต่ก็มีอาการอื่นๆ บ้าง เช่น ท้องผูก ริดสีดวง ปวดหลัง ตะคริว ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของคนท้อง อาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งส่วนสําคัญก็อยู่ที่ภาวะโภชนาการของคุณแม่ด้วยส่วนหนึ่ง และที่สําคัญต่อไปนี้ลูกน้อยจะรับสารอาหารผ่านทางสายรก ซึ่งยึดติดกับแม่นั่นเอง
          สารอาหารที่สําคัญ คือ โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินซี และอาหารที่มีกากใย
ตัวอย่างอาหารแนะนํา
มื้อเช้า : โจ๊กหมูใส่ผัก  ยํากุ้งแห้ง ส้ม นมสด
มื้อสาย : ฝรั่ง
มื้อเที่ยง : ข้าวกล้อง แกงเลียงหัวปลี ปลาผัดขึ้นฉ่าย ผัดผักรวม มะละกอ น้ำผลไม้สด
มื้อบ่าย : บัวลอยงาดําน้ำขิง
มื้อเย็น : ข้าวกล้อง ยําปลาเล็กๆ ปลานึ่งผักรวม สลัดผักไข่ต้ม แอปเปิ้ล
มื้อค่ำ  : นมสด เค้กกล้วยหอม
แม่ใกล้คลอด (ไตรมาสที่ 3)
          ใกล้วันคลอดเข้ามาทุกที คุณแม่หลายท่านเริ่มบ่นอึดอัด แต่ก็ยังมีความอยากอาหาร ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่จะน้ำหนักตัวขึ้นเร็วกว่าช่วงที่ผ่านมา เหนื่อยมากขึ้นเพราะมีเลือดเพิ่มขึ้นถึง 40% ทําให้หัวใจทํางานหนักขึ้น คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยง่าย อึดอัด และอยากพักผ่อน แต่ก็นอนไม่ค่อยหลับ สิ่งสําคัญในช่วงนี้ของคุณแม่ คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เหมือนเดิม
ตัวอย่างอาหารแนะนํา
มื้อเช้า : ซุปข้าวโพด ขนมปังโฮลวีต นมสด
มื้อสาย : ข้าวต้มมัด น้ำผลไม้สด
มื้อเที่ยง : ข้าวผัดไก่ แกงจืดผักกาดขาวใส่เต้าหู้ สับปะรด
มื้อบ่าย : ถั่วเขียวต้ม
มื้อเย็น : ข้าวกล้อง ไข่เจียว ปลาทอดน้ำปลา ผัดผักน้ำมันหอย ฝรั่ง
มื้อค่ำ  : นมสด คุกกี้
          ทุกวัน คุณแม่รับประทานอาหารให้ได้ครบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินจากผักและผลไม้ ไขมัน และที่สําคัญคือ การดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว และการดื่มน้ำสะอาดให้มากพอ รวมทั้งพิถีพิถันในเรื่องความสะอาดของอาหาร จะทําให้สุขภาพทั้งของคุณแม่และคุณลูกในท้องแข็งแรง 


แหล่งที่มา : happybaby.in.th

อัพเดทล่าสุด