ไข่กับโคเลสเตอรอล อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง โคเลสเตอรอลคืออะไร


1,045 ผู้ชม


ไข่กับโคเลสเตอรอล อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง โคเลสเตอรอลคืออะไร



โคเลสเตอรอลกับสุขภาพ

           จากความสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับข้อมูลการบริโภคไข่ที่มีการรายงานว่าคนไทยทุกคนกินไข่ได้ทุกวันโดยที่โคเลสเตอรอลไม่เพิ่มขึ้นนั้น จึงเป็นที่มาของการนำข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคไข่กับความเสี่ยงต่อปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือด และการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ มาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลรอบด้าน แม้ว่างานวิจัยที่มีในรายงานต่างๆ ที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้จะไม่ได้ทำในคนไทย แต่เป็นข้อมูลทางระบาดวิทยาและการศึกษาที่ทำการวิจัยในคนที่น่าจะนำมาพิจารณาเป็นแนวทางการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการบริโภคไข่เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ดังกล่าวแล้ว
           - วารสารทางโภชนาการคลินิกของอเมริกาโดย Weggemans RM และคณะ (Dietary cholesterol from eggs increases the ratio of total cholesterol to high-density lipoprotein cholesterol in humans: meta-analysis. Am J Clin. Nut. ๒๐๐๑;๗๓:๘๘๕-๙๑) ได้ทำการวิเคราะห์งานวิจัยที่มีการทำการศึกษาเกี่ยวกับไข่และโคเลสเตอรอล จำนวน ๒๒๒ การศึกษา ที่มีทั้งรายงานว่ากินไข่แล้วทำให้โคเลสเตอรอลใยเลือดเพิ่มและไม่เพิ่มซึ่งได้รวบรวมงานวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๔๒ และงานวิจัยใหม่ๆ โดยคัดเลือกงานวิจัยที่ใช้ได้คือ มีการวางแผนงานวิจัยอย่างถูกต้องและต้องมีการให้กินไข่อย่างน้อย ๑๔ วัน คัดเลือกตามข้อกำหนดดังกล่าวได้การศึกษานำมาวิเคราะห์ทั้งสิ้น ๑๗ เรื่อง มีอาสาสมัคร ๕๕๖ คน สรุปว่าการได้รับโคเลสเตอรอลจากไข่เพิ่มอัตราส่วนโคเลสเตอรอลทั้งหมดต่อเอชดีแอล โคเลสเตอรอล จึงแนะนำว่า การจำกัดการบริโภคโคเลสเตอรอลโดยการลดการบริโภคไข่และอาหารที่ให้โคเลสเตอรอลสูงอย่างอื่น จึงยังเป็นข้อแนะนำที่ใช้ได้อยู่
          - Nakamura Y และคณะ (Am J Clin Nutr ๒๐๐๔;๘๐:๕๘-๖๓) ศึกษาความสัมพันธ์ของการบริโภคไข่กับภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดและผลต่อสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรญี่ปุ่น (NIPPONCATA ๘๐) โดยติดตามเรื่องการบริโภคอาหารในคนญี่ปุ่นชาย ๕,๑๘๖ คน หญิง ๔,๐๗๗ คน อายุตั้งแต่ ๓๐ ปีขึ้นไปเป็นเวลา ๑๔ ปี สรุปว่าการบริโภคไข่ ๑-๒ ฟองต่อสัปดาห์มีผลลดความเสี่ยงต่ออัตราการตายอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่บริโภคไข่วันละ ๑ ฟอง ผลการศึกษานี้พบความสัมพันธ์ในผู้หญิง แต่ไม่พบความสัมพันธ์ในผู้ชาย จึงให้คำแนะนำว่า การจำกัดการบริโภคไข่อาจมีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับโคเลสเตอรอลส่วนใหญ่มาจากไข่
          - Schaefer (Am J Clin Nutr. ๒๐๐๑;๗๕:๑๙๑-๒๑๒) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไลโพโปรตีน โภชนาการ และความเสี่ยงต่อโรคหัวใจโดยแนะนำไว้ว่าข้อแนะนำเรื่องการปฏิบัติในการบริโภคอาหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เดิมแนะนำให้ลดการบริโภคน้ำมัน น้ำตาล และเกลือ น่าจะเพิ่มในส่วนของการลดการบริโภคไข่แดงด้วย
          - นิตยสารไทม์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๐๐๓ ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The Secrets of Eating Smarter ซึ่งแนะนำเรื่องการบริโภคไข่ว่า “ไข่มีโคเลสเตอรอลมากกว่าเนื้อสัตว์ถึง ๒ เท่า ดังนั้น การบริโภคไข่เพียงสัปดาห์ละ ๓-๔ ฟอง ก็มากพอแล้ว”

           จากข้อมูลรายงานทางระบาดวิทยาและงานวิจัยในคนดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การจำกัดการบริโภคโคเลสเตอรอลโดยการลดการบริโภคไข่สามารถลดความเสี่ยงต่อการเพิ่มปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้
                                  

ข้อแนะนำการบริโภคโคเลสเตอรอลจากอาหาร
           ไข่เป็นอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารในกลุ่มนี้จะให้โปรตีนซึ่งช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอแต่ไข่ก็มีสารอาหารที่ต้องระวังคือ โคเลสเตอรอลและมีในปริมาณสูง คือ ในไข่ ๑ ฟองมีโคเลสเตอรอลประมาณ ๒๐๐-๒๒๐ มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับ ๒ ใน ๓ ของปริมาณที่แนะนำว่าไม่ควรบริโภคเกินต่อวันคือ ๓๐๐ มิลลิกรัม อาหารในกลุ่มนี้ไม่ใช่เฉพาะไข่ที่มีโคเลสเตอรอลสูง ยังมีอาหารประเภทหนังสัตว์ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทะเลประเภทกุ้ง หอยและน้ำมันจากสัตว์ต่างๆ ก็ล้วนมีโคเลสเตอรอลสูง
           ดังนั้น  ในกลุ่มคนที่อายุเกิน ๓๕-๔๐ ปีขึ้นไปจึงควรระมัดระวังการบริโภคไข่และอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่อาจมีความเสี่ยงได้ถ้ากินไข่ทุกวัน ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันเลือดสูง ผู้มีโคเลสเตอรอลสูง และกลุ่มที่มีพันธุกรรมที่ร่างกายไวต่อการดูดซึมโคเลสเตอรอล บุคคลในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรบริโภคไข่สัปดาห์ละ ๓-๔ ฟอง หรือบริโภคไข่วันเว้นวัน หรือบริโภคเฉพาะไข่ขาว ทั้งนี้ไข่ที่บริโภคควรเป็นไข่ที่สุก เพราะไข่ที่ไม่สุกจะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมวิตามินไบโอตินทำให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการจากไข่ลดลง นอกจากนี้ ไข่ที่ไม่สุกร่างกายจะย่อยได้ยาก สำหรับเด็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น และคนวัยทำงานที่ร่างกายปกติสามารถรับกินไข่ได้ทุกวัน วันละ ๑ ฟอง
           การกินอาหารเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงควรปฏิบัติตามโภชนบัญญัติและธงโภชนาการ โดยการบริโภคอาหารให้ครบ ๕ หมู่ และมีความหลากหลายกินอาหารให้มีปริมาณพอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยเกินไป โดยยึดถือทางสายกลาง มีการกินผักและผลไม้ให้มากเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด และเค็มจัด และที่สำคัญคือออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มโคเลสเตอรอลตัวดีคือเอชดีแอล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการควบคุมโคเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด