โรคหัวใจโตรักษาหายไหม โรคหัวใจโตเกิดจากอะไร โรคหัวใจโตผิดปกติ


54,171 ผู้ชม


โรคหัวใจโตรักษาหายไหม โรคหัวใจโตเกิดจากอะไร โรคหัวใจโตผิดปกติ

             โรคหัวใจโตรักษาหายไหม

โรคหัวใจ Heart Disease

โรคหัวใจ Heart Disease


โรคหัวใจ
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
          ชั่วโมงการทำงานที่อัดแน่นด้วยความเครียด และการกินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและเกลือ กำลังคุกคามสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน อีกไม่นาน... การใช้ชีวิตสมัยใหม่แบบนี้ อาจทำให้ โรคหัวใจ ระบาดทั่วเมือง... 

          หัวใจคนเรามี 4 ห้อง แบ่งซ้าย - ขวา โดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งเป็นห้องบน –ล่างโดยลิ้นหัวใจ ในทุกๆ วัน หัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน เปรียบเสมือนการทำงานปกติของ "หัวใจ" แต่ถ้าวันหนึ่ง... หัวใจเราเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไร...?
          ทั้งนี้ นายแพทย์สุรพันธ์ สิทธิสุข แพทย์จากหน่วย โรคหัวใจ และหลอดเลือด คณะแพทย์ศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็น โรคหัวใจ สามารถแบ่งได้หลายชนิด ดังนี้
 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน... 

          คือ อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ที่บ่งชี้ว่าอาจเป็น โรคหัวใจ พบบ่อยในคนทั่วไป ที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี ทั้งที่ความจริงอาจเป็นโรคหัวใจในระยะแรกเริ่ม มีดังนี้

           1. เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย เพราะหัวใจทําหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขณะที่เราออกกําลังกาย หัวใจจะทํางานหนักมากขึ้น ปกติเวลาที่เราออกกำลังกายไปถึงระดับหนึ่งจะรู้สึกเหนื่อย แต่ในรายของคนที่มีอาการเริ่มต้นของ โรคหัวใจ แม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย จะรู้สึกเหนื่อยผิดปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นหากออกกำลังกาย แล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ
           2. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก มักพบบ่อยในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ อาการดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกเหมือนหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก เหมือนมีของหนักทับอยู่ หรือรัดไว้ให้ขยายตัวเวลาหายใจ โดยมากอาการนี้ จะแสดงออกเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างการออกกำลังกาย หรือใช้แรงมากๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า อาจเป็น โรคหัวใจ
           3. ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อย ทั้งที่ออกกำลังกายเพียงนิดหน่อย หรือเหนื่อยทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ ในกรณีที่เป็นมาก อาจทำให้ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก นอกจากนั้น อาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึกอีกด้วย อาการภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ หากไม่รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
           4. ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติหัวใจของเราจะเต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60 -100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจขยับไปถึง150 -250 ครั้ง/นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนี้ จะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน
           5. เป็นลมหมดสติ คืออีกหนึ่งอาการที่เตือนว่าคุณอาจเป็น โรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติสูง เนื่องจากจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เพราะเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ให้จังหวะไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนทำให้เป็นลมไปชั่วคราวได้ ทั้งนี้ การเป็นลมหมดสติ มักจะเกิดในท่ายืนมากกว่านั่ง ทำให้ขณะล้มลงศีรษะมีโอกาสฟาดพื้น และเกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองได้มากกว่า ดังนั้น ใครที่เป็นลมบ่อยๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็น โรคหัวใจ ได้
           6. หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ในกรณีนี้มักเกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง และมักเกิดกับคนปกติที่ไม่มีอาการของ โรคหัวใจ มาก่อนล่วงหน้า ซึ่งหากมีอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็ว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่สังเกตได้จากร่างกาย... 

          นอกจากความผิดปกติชนิดเฉียบพลันแล้ว อาการบ่งชี้ที่สังเกตได้จากร่างกายของเราเอง ก็เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่เตือนให้รู้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ และควรไปพบแพทย์โดยด่วนได้เช่นกัน เป็นต้นว่า...

           1. ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ
 เมื่อกดดูแล้วมีรอยบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป ซึ่งหากเกิดขึ้นกับใคร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คโดยด่วน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เวลานี้คุณอาจอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวโดยที่ไม่รู้ตัว 
                
           2. ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ อาการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ทางเดินของเลือดในหัวใจห้องขวากับห้องซ้ายมีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการผสมของเลือดแดงกับเลือดดํา และทําให้ปริมาณของออกซิเจนในเลือดมีปริมาณน้อยลง
 
 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่ตรวจพบขณะตรวจร่างกาย...

 
          การไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถคาดคะเนความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจ ได้ เช่น ตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นเบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน หรือเอ็กซเรย์แล้วพบว่า ขนาดของหัวใจโตกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว และกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลังลง ทำให้ห้องต่างๆ ของหัวใจขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
 
 ป้องกัน โรคหัวใจ อย่างไรดี... 
          
          ข้อมูลที่ได้บอกไปข้างต้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เรามีอัตราเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็นโรคหัวใจ เท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะวินิจฉัยว่าเราเป็น โรคหัวใจ หรือไม่ คือแพทย์ โรคหัวใจ เท่านั้น ดังนั้นหากพบความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนดีที่สุด
 
 สำหรับคนที่หัวใจยังเป็นปกติ เรามีข้อแนะนำในการดูแลหัวใจ (ก่อนสายเกินไป) ดังนี้ค่ะ
           สังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจปกติดีหรือไม่ เจ็บหน้าอก ใจสั่นบ่อยๆ หรือเปล่า เป็นต้น
                
           ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สุขภาพจิตแจ่มใสแล้ว ยังช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้นอีกด้วย
 
           ดูแลสุขภาพใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ พยายามไม่เครียด รู้จักควบคุมอารมณ์ และพึงระลึกไว้เสมอว่า ความเครียดและความโกรธ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจเต้นแรง และทำงานหนักขึ้น
 
           รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยงดอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้ง่าย และหันไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น
                
           ควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและรักษาโรคร้ายที่อาจคาดไม่ถึง เช่น โรคหัวใจ ซึ่งแฝงอยู่ในตัวเราตั้งแต่เนิ่นๆ
 

        Link     https://health.kapook.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++=

         โรคหัวใจโตเกิดจากอะไร

คำถามที่ผู้ป่วยถามเกี่ยวกับ "หัวใจโต" ได้ยินกันเสมอในหมู่อายุรแพทย์ และ แพทย์โรคหัวใจ เป็นความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มี “โรคหัวใจโต” มีแต่ “ภาวะหัวใจโต” ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ หัวใจก็เป็นอวัยวะเช่นเดียวกันกับอวัยวะอื่นๆ เมื่อต้องทำงาน หนักมากกว่าปกติ หรือมีปัญหาอื่นๆ ก็อาจทำให้ขนาดหัวใจโตขึ้น ดังนั้น หัวใจที่โตขึ้นจึงไม่ใช่ “โรค” แต่เป็นผลตามมา เนื่องจากโรคอื่นๆ

หัวใจโต โตจากอะไร

ขนาดหัวใจที่โตกว่าปกตินั้น อาจแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ โตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ ลองนึกภาพคนเล่นกล้าม นักเพาะกาย กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น เพราะทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือ ลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนา ขึ้นได้ อีกประการหนึ่งคือขนาดของหัวใจโตขึ้นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี มีเลือด คั่งค้างในห้องหัวใจมากคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ทำให้ขนาดโตขึ้น มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจ ที่เป็นดาราประจำก็ คือ ความดัน โลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนา กว่าปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคหัวใจจากแอลกอฮอล์ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งเช่นกัน

รู้ได้อย่างไรว่าหัวใจโต

ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใดๆ หากจะมีอาการก็จะเป็นอาการเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ และ อาการจาก หัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย หอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น การตรวจร่างกายจะบอกได้หากหัวใจมีขนาดโตมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว การตรวจร่างกายจะมุ่งหาสาเหตุของหัวใจโต มากกว่าที่จะ บอกขนาดของหัวใจ การตรวจที่จำเป็นคือคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ เอกซเรย์ทรวงอก (ปอดและหัวใจ) หากกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก หรือ เคยมีปัญหา กล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน จะแสดง ให้เห็นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่มีความไวต่ำ หมายความว่า แม้คลื่นไฟฟ้า หัวใจปกติ ก็มิได้หมายความว่าหัวใจไม่โต หรือ ไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจบอกว่าโต แต่จริงๆแล้วไม่โตก็ได้ เอกซเรย์ ทรวงอกบอกขนาด หัวใจได้ดีพอสมควร แต่ก็ผิดพลาดได้ง่าย เพราะขึ้นกับเทคนิค ระยะห่างระหว่างหัวใจกับฟิล์ม การหายใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ดูว่าหัวใจโตจากเอกซเรย์ แต่จริงๆแล้วขนาดหัวใจปกติ ไม่โตเลย

ในทางกลับกันเอกซเรย์บอกว่าปกติแต่ความจริงมีกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมากก็เป็นได้ ต้องเข้าใจว่า การตรวจเหล่านี้ ล้วนมีข้อจำกัดทั้งสิ้น บ่อยครั้งที่แพทย์สั่งตรวจพิเศษเหล่านี้หลายๆอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการให้ความเห็นและรักษา กรุณาอย่าคิดว่าแพทย์สั่งตรวจมากๆเพราะไม่เก่งหรือเพราะต้องการค่าแพทย์มากๆ

ตรวจวิธีไหน ดีที่สุด

ไม่มีวิธีไหนดีที่สุดโดยไม่มีข้อจำกัดในการตรวจเลย วิธีดูขนาดหัวใจที่ยอมรับกันว่าดีมากในปัจจุบัน คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียง ความถี่สูง หรือ คลื่นอัลตราซาวน์นั่นเอง การตรวจชนิดนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “เอกโค่คาร์ดิโอกราฟฟี่” (echocardiography)หลักการคือ เครื่องมือจะส่งคลื่นเสียงเสียง ความถี่สูง ทะลุผ่านอวัยวะต่างๆที่จะตรวจเมื่อผ่านส่วนต่างๆคลื่นเสียงเหล่านี้จะสะท้อนกลับ ความสามารถในการสะท้อนกลับขึ้นอยู่กับชนิดของ เนื้อเยื่อที่มันผ่าน เช่น เลือด กระดูก กล้ามเนื้อ เหล่านี้ให้สัญญาณการ สะท้อนกลับแตกต่างกัน คอมพิวเตอร์จะบันทึกสัญญาณสะท้อนกลับเหล่านี้ นำมาสร้างภาพขึ้นเห็นเป็นอวัยวะที่แพทย์กำลังตรวจอยู่ ดังนั้นหากตรวจที่หัวใจ ก็จะเห็นห้องหัวใจ ซึ่งวัดขนาดได้ว่าโตหรือไม่ เห็นการทำงาน ของลิ้นหัวใจ เห็นกล้ามเนื้อหัวใจ และ ความ สามารถในการบีบตัวว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงให้รายละเอียดได้มากกว่าการตรวจอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจชนิดนี้ไม่เห็น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และเห็นภาพไม่ชัดนักในผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีโรคปอด (ยกเว้นการตรวจโดยผ่านหลอดอาหาร)

ใครบ้างควรตรวจ เอคโค่

ผู้ที่มีอาการของหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือตรวจร่างกายทางระบบหัวใจผิดปกติ ควรได้รับการตรวจนี้ เพื่อดูความสามารถ    ในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนั้นแล้วผู้ที่เอกซเรย์พบว่าขนาดโตกว่าปกติบางราย ควรดูให้แน่ใจว่า โตจริงไหม ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์โรคหัวใจ จะพิจารณาเป็นรายๆ ในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน หากพบว่า หัวใจโตจากเอกซเรย์ก็ควรตรวจละเอียดเช่นกัน เนื่องจาก ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการ

เป็นแล้วรักษาอย่างไร

การรักษาภาวะหัวใจโต คือการรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาความดันโลหิตสูง ผ่าตัดลิ้นหัวใจ หรือรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น แม้ว่าการรักษาอาจ ไม่ได้ลดขนาดหัวใจลงให้เห็นได้ชัดเจนจากเอกเรย์ในบางราย แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้โตขึ้นเรื่อยๆได้

Link       https://www.thaiheartweb.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

            โรคหัวใจโตผิดปกติ

หัวใจโต เป็นอย่างไร เป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งหรือไม่ น.พ.บัญชา ศันสนีวิทยกุล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ให้คำตอบไว้ในรายการ ไทยคลินิค ดอท คอม

ถาม : หัวใจคนปกติขนาดเท่าไร
ตอบ : ขนาดหัวใจคนปกติโดยทั่วไป ขนาดเท่ากับกำปั้นมือของเจ้าของ ไม่เล็กไม่ใหญ่ ขนาดพอดี
ถาม : อาการโรคหัวใจ หรืออาการผิดปกติ เกี่ยวกับหัวใจมีอะไรบ้าง
ตอบ : โรคหัวใจมีหลายอย่าง เวลาคนไข้มาสอบถามว่า กลัวจะเป็นโรคหัวใจ เป็นโรคหัวใจหรือเปล่า คนไข้จะไม่รู้ว่า ความจริงแล้วโรคหัวใจมีหลายประเภท เช่น โรคหัวใจ ลิ้นหัวใจ เช่น การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ การถูกทำลายที่ลิ้นหัวใจ หรือว่าเป็นโรคของกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม คือ กล้ามเนื้อหัวใจที่เคยบีบตัวมาตลอดชีวิต ก็เริ่มทำงานลดลง เสื่อมสภาพไปเร็วกว่ากำหนด หรือโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดทุกวันนี้ คือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีหลากหลายเหลือเกิน
ถาม : ที่พบมากที่สุดคือ หลอดเลือดหัวใจตีบ ใช่ไหมคะ
ตอบ : ใช่ครับ โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ซึ่งเปลี่ยนจากสังคมตะวันออก เป็นสังคมตะวันตก คือว่าเรามีการบริโภคอาหาร ที่มีไขมันมากขึ้น มีความเครียดมากขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เป็นภัยต่อหัวใจมากขึ้น ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับโรคหัวใจชนิดอื่นๆ
ถาม : การเกิดโรคของแต่ละอย่าง ทั้งที่เกี่ยวกับลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ หรือว่าเส้นเลือด สาเหตุของมันแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ : แตกต่างกันค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง เช่น โรคลิ้นหัวใจ ที่มักจะเกิดในสภาพสังคมคน ที่ค่อนข้างจะยากจนซักหน่อยนึง เพราะสาเหตุการเกิดเนื่องจาก มีการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจ หลังจากนั้นเชื้อ หรือปฏิกิริยาจากการติดเชื้อ ก็ลงไปจู่โจมที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจเกิดการอักเสบ เกิดการทำลายเกิดขึ้น แล้วเกิดลิ้นหัวใจตีบ และลิ้นหัวใจรั่วตามมา ซึ่งภาวะนี้ทุกวันนี้ ในสังคมที่พัฒนาขึ้นแล้วอย่างบ้านเรา พอเป็นไข้หวัดขึ้นที เราก็มักจะได้รับยาปฏิชีวนะกันค่อนข้างเร็ว เชื้อโรคก็ไม่เพิ่มปริมาณมากขึ้น ปฏิกิริยาต่อสู้กับเชื้อโรค ก็ไม่ไปจู่โจมที่หัวใจ เพราะฉะนั้น โรคลิ้นหัวใจ จึงลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในชุมชนเมือง ก็ยังเหลือแต่ในชนชนบท ซึ่งยังห่างไกลการรักษาพยาบาลอยู่ แต่เรื่องของหลอดเลือดตีบที่พบบ่อย และเป็นที่กังวลของคนมากขึ้น ทุกวันนี้ เราลองมานึกดูนะครับว่า หัวใจคนเรา เคยทานหัวใจหมู ก็จะเห็นว่าเป็นอวัยวะที่เป็นก้อน และก็จะมีผนังกล้ามเนื้อหัวใจอยู่ กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานตลอดเวลา 24 ช.ม.ต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ / 52 สัปดาห์ต่อปี จะเห็นว่า หัวใจก็ต้องการอาหารไปเลี้ยงเหมือนกัน เพราะเขาทำงานหนัก จึงจะต้องมีเลือดมาเลี้ยงเขา เลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ ก็อยู่บนผิวของหัวใจ และส่งมาเลี้ยงหัวใจ เพื่อให้หัวใจทำงานได้ตามปกติ ทีนี้วันดีคืนดี หลอดเลือดหัวใจ ที่เคยไหลเวียนได้สะดวก เหมือนกับท่อส่งน้ำ ก็เกิดอาการอุดตันเกิดขึ้น ไหลเวียนไม่สะดวก แต่การที่ท่อส่งน้ำจะเกิดตีบตันขึ้นมา มันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ มันมีตัวเร่งอยู่ประมาณ 7 อย่าง ที่ทำให้มันตีบมากขึ้น คือ
 
1.
เพศชาย : เพศชายค่อนข้างจะเสียเปรียบกว่าเพศหญิง เกิดก็ยาก ตายก็ง่าย โรคหัวใจก็เป็นง่ายกว่าเพศหญิงเยอะ พออายุเกิน 45 ปี ก็เริ่มเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ พร้อมอายุที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้หญิงมักจะต้องเกิดเมื่อ 55 ปีไปแล้ว หรือหลังจากวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว
 
2.
อายุ : เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็จะเพิ่มขึ้น ถึงแม้หน้าตาจะดูเด็ก แต่เราก็เปลี่ยนความเสื่อมภายในไม่ได้อยู่ดี
 
3.
พันธุกรรม : ถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคหัวใจเร็ว แนวโน้มเราจะมีโรคหัวใจ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว บางคนอายุ 35 ปี ก็มาด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายแล้ว ดังนั้นพันธุกรรมก็เป็นตัวกำหนดว่า เราจะเป็นโรคหัวใจ ชนิดหลอดเลือดหัวใจตีบมากง่ายหรือเปล่า
 
4.
การสูบบุหรี่ : ยิ่งสูบมากเท่าไหร่ โรคหัวใจก็ถามหาเร็วขึ้นไม่ใช่แต่โรคปอดเท่านั้น
 
5.
โรคความดันโลหิตสูง
 
6.
โรคเบาหวาน
 
7.
โรคไขมันสูง
 
8.
ภาวะเครียด : คนที่ชอบการแข่งขัน ชอบเอาชนะและไม่เดินทางสายกลาง ก็มักจะได้โรคหัวใจแถมไปด้วย และจะยืนอยู่บนความสำเร็จไม่ได้นาน นี่คือสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่วนสาเหตุของโรคหัวใจอื่นๆ ก็จะหลากหลายกันออกไป (แต่โรคใจอ่อน ใจง่ายนั้นไม่เกี่ยว แล้วแต่บุคคลเอง) และผ่าตัดแปลงเพศแล้ว มันก็ไม่ได้เปลี่ยนพันธุกรรม ของความเป็นเพศชายไปได้ มันแก้ไขไม่ได้ แต่มีปัจจัยบางอย่างที่แก้ไขได้ก็คือ ถ้าเป็นเบาหวาน ก็ควบคุมเบาหวานให้ดี อย่าบริโภคอาหารที่หวาน เกินกำลังของร่างกาย ถ้าเป็นความดันโลหิตสูง ก็ควบคุมความดัน ถ้าเป็นคนที่ชอบสูบบุหรี่ อันนี้ต้องลดลงชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมระยะยาว ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีหลายปัจจัยที่ควบคุมได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าต้องอาศัยความอดทนเป็นแบบนักกีฬา
ถาม : สรุปโรคหัวใจโต คืออะไรกันแน่คะ เพราะคุณผู้ฟังสงสัย
ตอบ : ภาวะหัวใจโต ไม่ถือเป็นโรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของโรคหัวใจ นั่นหมายความว่าโรคหัวใจ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มาถึงจุดหนึ่ง เมื่อปล่อยให้โรคดำเนินไปมากๆ ขึ้นแล้ว จะเกิดภาวะหัวใจโตขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าปล่อยให้หัวใจโตแล้ว จะเป็นสัญญาณเตือนว่า วันข้างหน้าโรคหัวใจนี้ จะพัฒนาขึ้นสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจล้มเหลว เข้าสู่โรคหัวใจระยะสุดท้าย และมีโอกาสเสียชีวิต สรุปก็คือ ไม่ว่าโรคหัวใจจะอยู่เฉยอย่างไรก็ตาม ถ้ารักษาไม่ดีก็นำมาซึ่งภาวะหัวใจโต แล้วก็ทำให้หัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด
 
       
    แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลวิภาวดี - www.vibhavadi.com

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อัพเดทล่าสุด