ข่าวเกี่ยวกับประกันสังคม ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ได้ที่ไหน


ข่าวเกี่ยวกับประกันสังคม ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ได้ที่ไหน
หลังการประกาศขยายคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคม วาระต่อไปจึงเป็นเรื่องของการผลักดันกองทุน 7 แสนล้านบาท ให้เกิดการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงการสร้างความมั่นคงให้เกิดความยั่งยืนกับกองทุน จึงถึงเวลาที่กองทุนประกันสังคมต้องปฏิรูป ทั้งการบริหารและสิทธิประโยชน์ 
            เมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายแรงงาน โดยคณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์ ได้จัดงานสัมมนา "ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพแรงงาน : ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระและโปร่งใส" ซึ่งในเวทีดังกล่าว นักวิชาการและผู้ประกันตนเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่ประกันสังคมต้อง ปฏิรูปเป็นองค์กรอิสระ รวมไปถึงการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในหลายประเด็น เพราะจากการตรวจสอบพบว่าสิทธิประโยชน์โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาพยาบาล
             นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกถึงประเด็นดังกล่าวว่าสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลยังไม่เป็นธรรม เพราะข้าราชการและบัตรทองรัฐบาลออกให้หมด แต่ สปส.ผู้ประกันตนออกเอง และการใช้เงินยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าสิ่งที่ผู้ประกันตนควรได้รับควรมากกว่านี้ เช่น กรณีเมื่อผู้รับบริการเสียชีวิต ซึ่งบัตรทองและข้าราชการได้รับเงินค่าเสียหาย แต่ สปส.ไม่มี เคยพยายามออกมาแต่ถูกต่อต้าน และระบบปัจจุบันได้น้อยกว่าบัตรทองหลายเรื่อง ดังนั้น จึงควรโอนระบบการรักษาพยาบาลไปอยู่ สปสช.ทั้งหมด เพราะ สปส.ใช้เงินรักษาพยาบาลหัวละกว่า 2 พันบาท ซึ่งแพงเกินไปและเข้าไปสู่โรงพยาบาล ทั้งนี้ มีหลายสิ่งที่ผู้ประกันตนควรได้รับเพิ่มขึ้น อย่างกรณีการผ่าต้อกระจก หัวใจ ควรพัฒนาจนมีศูนย์ผ่าตัดให้มากขึ้น
              "ผมคำนวณตัวเลขแล้วเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายไปนั้นพอเพียง ถ้าทำเช่นนี้จะทำให้ความไม่เป็นธรรมเรื่องการจัดเก็บเงินสมทบหมดไป เราต้องทำให้มีระบบเหมือนกับ สปสช.และสวัสดิการข้าราชการ" นพ.วิชัย กล่าวและว่า ในอนาคตถ้าทั้ง 3 ระบบสร้างความคล้ายคลึงก็จะพัฒนาไปได้ และมีหลายสิ่งที่ผู้ประกันตนจะได้รับเพิ่มขึ้น อย่างกรณีการผ่าต้อกระจกและหัวใจซึ่งคิวยาว แต่ สปสช.พัฒนาจนมีศูนย์ผ่าตัดเหล่านี้มากขึ้นจนขณะนี้คิวสั้นมาก หรือกรณีไตวายรื้อรังก็มีระบบล้างไตที่บ้าน หรือกรณีที่ไปโรงพยาบาลแล้วหมอไม่มา ก็ควรมีระบบสายด่วน ซึ่งบัตรทองทำได้ตลอด แต่ สปส.ทำแค่ในระบบราชการ คือ สัปดาห์ 58 ชั่วโมง ขณะที่ สปสช.ทำสัปดาห์กว่า 100 ชั่วโมง
  ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คนไทย 65 ล้านคน มีเพียงไม่กี่คนที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล คือ ผู้ประกันตน นอกนั้นรัฐบาลจ่ายให้หมด อย่างกรณี ส.ส. โดยจ่ายให้ ส.ส. 5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี นอกจากที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินเองแล้ว ยังได้ของที่แย่กว่า ขณะที่ผู้ใช้แรงงานยังเชื่อว่าระบบ สปส.ดีกว่า แต่ตนได้ศึกษาเปรียบเทียบแล้ว พบว่ามีความต่างกันนับ 100 รายการ
 ขณะ นี้ ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ห้ามป่วยฉุกเฉินเกิน 2 ครั้งต่อปี และยังมีอีกกว่า 10 กลุ่มรายการที่ สปส.ไม่มีให้ แต่บัตรทองกลับมี อยากเสนอทางออก คือ 1. ให้จัดชุดสิทธิประโยชน์เท่ากับบัตรทอง 2. อยากให้ระบบการจัดระบบสวัสดิการสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว เพื่อความเป็นธรรม ซึ่งทำให้มีความเป็นเอกภาพ
 นอกจากนี้ กระบวนการมีส่วนร่วมของฝ่ายแรงงานยังมีน้อย โดย นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูป สปส.ต้องทำเพื่อประชาชนและผู้ใช้แรงงาน แต่ที่ผ่านมา กระบวนการทั้งหมดไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยมี ข้อสังเกต 10 ประการ คือ 1. ไม่มีสิ่งใดได้มาที่ไม่ได้จากการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน 2. การต่อสู้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยกว่าจะได้ระบบประกันสังคมใช้ เวลาถึง 30 ปี ซึ่งตอนนั้นมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ที่ประหลาดใจ คือ ตอนนี้ผู้ไม่เห็นด้วยกลับนั่งจนรากงอกอยู่ใน สปส. 3. ข้อเสนอร่างกฎหมายมักถูกประกบโดยร่างกฎหมายของ ส.ส.หรือรัฐบาล 4. ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานจะถูกย่อยสลายโดยร่าง พ.ร.บ.เหล่านั้น 5. ไม่มี ส.ส.หรือกระทรวงใดเสนอในนามขบวนการแรงงาน แต่อยากได้เสียงจากผู้ใช้แรงงาน
    6. ไม่มีฝ่ายใดส่งเสริมพลังของแรงงานอย่างแท้จริง เพราะพลังแรงงานขัดขวางผลประโยชน์ของคนที่มีอำนาจสูงกว่า ขบวนการแรงงานจึงถูกขังโดยอำนาจรัฐ อำนาจทุนและความแตกแยกของขบวนการแรงงาน 7. การถูกกักขังโดยกำแพง 3 ชั้นนี้ แม้แต่การเข้าชื่อเรียกร้อง พ.ร.บ.ก็ต้องถูกตรวจสอบ และแยกย่อยจนทำให้การเข้าชื่อต้องหล่นหาย
          นายณรงค์ กล่าวอีกว่า 8. พันธมิตรที่แท้จริงของคนงานมีแต่ปัญญาชนบางคนเท่านั้น มีความพยายามแยกสลายปัญญาชน 9. สังคมไทยไม่ส่งเสริมการรวมตัวแบบสหภาพ เรามีลูกจ้างเอกชน 14 ล้านคน แต่ที่รวมตัวเป็นสหภาพไม่ถึง 4 แสน เมื่อมีการเลือกตั้งไตรภาคีต่างๆ เช่น บอร์ด สปส.ซึ่งมีผู้ประกันตน 9 ล้านคน ผู้ประกันตนทั้งหมดกลับไม่มีสิทธิ 10. สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมการค้าและอุตสาหกรรมเต็มตัว มีลูกจ้างทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร แต่ความเข้าใจเรื่องแรงงานนอกระบบและในระบบกลับไม่สามารถจำแนกได้
          ส่วนเสียงจากผู้ใช้แรงงานเอง ก็เห็นไม่แตกต่างจากนักวิชาการ โดย นายชาลี ลอยสูง ประธานสมาพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกันตนควรได้รับการรักษาทุกโรงพยาบาล แต่วันนี้ ยังถูกจำกัดสิทธิไม่ว่าผู้ประกันตนอยู่ส่วนไหนของประเทศควรที่จะเข้าโรง พยาบาลในสังกัดประกันสังคมได้ โดยเฉพาะตอนนี้กำลังมีการขยายไปยังภาคประชาชนทั่วประเทศ จึงควรแก้ไขในเรื่องนี้
          ประเด็นกลไกตรวจสอบบอร์ด สปส. คือ อีกเรื่องที่ นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสมาพันธ์ และอดีตบอร์ด สปส.เสนอ โดยเขามองว่า การบริหารกองทุนหากยังอยู่ในสภาพปัจจุบัน คือ เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่บริหารเงินจำนวนมาก และวิธีคิดเป็นแบบทุนนิยม คือ มุ่งลงทุนในต่างประเทศ หรือตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ผู้บริหารการลงทุนเป็นแค่ข้าราชการ ไม่ทันกับภาคเอกชน ทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างลำบาก ที่สำคัญ คือ เมื่อเสนอเข้าสู่คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมก็ค่อนข้างมีปัญหา เพราะบอร์ดมีปัญหาในการทำความเข้าใจตรงนี้
          "หากยังบริหารเช่นเดิมก็จะซ้ำรอยเดิม และคงไม่มีอะไรใหม่ ปัญหาก็ยังเดิมๆ ตอนนี้สื่อก็ไม่สามารถเข้าไปฟังที่ประชุมบอร์ดได้เหมือนยุคก่อน และกลายเป็นคำถามเรื่องความโปร่งใส นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าไปมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ควรมีกลไกในการตรวจสอบ โดยเป็นคณะกรรมการที่เป็นอิสระและสามารถตอบคำถามผู้ประกันตนได้" นายชัยสิทธิ์กล่าว
            เสียงจากนายจ้างอย่าง นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล บอร์ดประกันสังคมฝ่าย นายจ้าง กล่าวว่า ในเมืองไทยระบบ สปส.เป็นกองทุนของผู้ทำงานที่มีนายจ้างประจำ และ สปส.เป็นสำนักงานดูแลกองทุนนี้ โดยเงินเกือบ 8 แสนล้านบาทนั้น เป็นของลูกจ้างที่มีนายจ้างประจำ แต่รัฐต้องการทำในเรื่องเหล่านี้ให้เสมอภาคสำหรับคนในชาติ ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกันในประชาชนกลุ่มต่างๆ เพราะหากมุ่งแต่ที่กองทุน 8 แสนล้านบาท ก็ทำให้เกิดคำถามว่าคนที่ไม่ได้จ่ายเงินเข้ากองทุนนี้ ทำไมถึงมาใช้เงินก้อนนี้
            ส่วนผู้ใช้แรงงานนอกระบบ นางสุจิน รุ่งสว่าง จากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า รัฐบาลได้ดึงผู้ใช้แรงงานนอกระบบสู่ระบบประกันสังคมโดย แยกเป็น 2 ประเภท คือ เดือนละ 150 บาท โดยรัฐจ่าย 50 บาท และเดือนละ 100 บาท โดยรัฐจ่าย 30 บาท แต่ทั้งสองระบบยังไม่โดนใจแรงงานนอกระบบทั้งหมด เพราะแรงงานนอกระบบอยากได้ทั้งบำเหน็จและบำนาญ นอกจากนี้ ผู้ที่เลือกจ่าย 150 บาทซึ่งได้สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพกลับถูกตัดสิทธิออกจากกองทุนการออมแห่ง ชาติ (กอช.)
           ดังนั้น ควรมีกลไกเชื่อมโยงระหว่าง กอช.กับตรงนี้ด้วย เพราะคนทั้ง 24 ล้านคน คงต้องการเห็นความมั่นคงในยามชราภาพและอยู่ในสังคมอย่างภาคภูมิใจ เพราะไม่ต้องการแบมือขอใคร
          ขณะที่ นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า กำลังดำเนินการเรื่องการรักษาพยาบาลข้ามโรงพยาบาล โดยกำลังคุยในรายละเอียด ซึ่งโรงพยาบาล สปส.มี 90 แห่ง ซึ่งได้แนะนำให้จัดวงคุยกันเพื่อรักษาข้ามโรงพยาบาลได้ และในเดือนเมษายนกำลังพิจารณาให้ข้ามวงจากเอกชนไปโรงพยาบาลรัฐได้ แต่กำลังคุยกันในเรื่องรายละเอียดค่าใช้จ่ายบางตัว เพราะการรักษาในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมินั้นไม่มีปัญหา แต่โรคที่ร้ายแรงกำลังหารือกันอยู่ เพราะอยากให้กระโดดข้ามวงมาได้
          ส่วนข้อเสนอการขยายสิทธิรักษาในอนาคตแล้วอยากให้โรคต่างๆ ไปอยู่ที่ สปสช.โดยเฉพาะโรคที่เหมือนๆ กัน หากเป็นโรคร้ายแรง สปส.ก็ยินดีจ่ายเพิ่ม ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้าง สปส.เป็นองค์กรอิสระนั้น ตอนนี้ สปส.ครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศแล้ว จึงควรเปลี่ยนจากระบบไตรภาคีเป็นพหุภาคี โดยการมีส่วนร่วม แทนที่การปฏิบัติจะถูกสั่งการจากใครก็ไม่รู้ มาเป็นผู้ประกันตนสั่งการและควบคุมดูแล
           "คำถามคือการเข้ามาควบคุมบริหารกองทุนประกันสังคมแค่เฉพาะการเลือกตั้งหรือกรรมการแค่นั้นพอหรือไม่ ผมคิดว่าควรมีรูปแบบของสมัชชาเข้ามากำกับดูแลด้วย" นายปั้นกล่าว
           เสียงจากหลากหลายมุมมองต่างเห็นว่า ถึงเวลาที่ระบบกองทุนประกันสังคมต้องปฏิรูป เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตรวมไปถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา   www.bangkokbiznews.com

อัพเดทล่าสุด