มะเร็งมดลูก ภัยเงียบที่แฝงมากับอาการประจำเดือนผิดปกติ


2,901 ผู้ชม

มะเร็งมดลูกพบได้ไม่บ่อยเท่ามะเร็งปากมดลูกก็จริง แต่สำหรับสาววัยหมดประจำเดือนไปแล้ว หรือแม้แต่สาววัย 30 ปลาย ๆ ต้องระวังโรคนี้ไว้ให้ดีไม่น้อยไปกว่าโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งปีกมดลูกเลยค่ะ


มะเร็งมดลูกพบได้ไม่บ่อยเท่ามะเร็งปากมดลูกก็จริง แต่สำหรับสาววัยหมดประจำเดือนไปแล้ว หรือแม้แต่สาววัย 30 ปลาย ๆ ต้องระวังโรคนี้ไว้ให้ดีไม่น้อยไปกว่าโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งปีกมดลูกเลยค่ะ
          
มะเร็งมดลูกเป็นคนละที่กับมะเร็งปากมดลูกนะคะ เพราะโดยสถิติแล้วมะเร็งปากมดลูกเริ่มพบได้น้อยลง แต่กลับพบแนวโน้มโรคมะเร็งมดลูกมากขึ้นในหญิงวัย 30 ปลาย ๆ ซึ่งทางการแพทย์สันนิษฐานสถานการณ์นี้ไว้ว่า ผู้หญิงเข้าใจและเข้าถึงการป้องกันมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น รวมทั้งยังคงมีความเข้าใจผิดคิดว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็คือการตรวจคัดกรองมะเร็งมดลูกไปด้วย ทั้งที่จริงแล้วการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่ใช่การตรวจมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ที่ครบถ้วน               
ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวลก็คือ ผู้หญิงจะละเลยการตรวจมะเร็งมดลูก และยังเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับมะเร็งมดลูกกันอยู่ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งมดลูกมาให้ได้เตรียมตัวระวัง พร้อมกับเรียนรู้วิธีลดความเสี่ยงโรคมะเร็งมดลูกกันค่ะ
มะเร็งมดลูกคืออะไร
          
มะเร็งมดลูก ภาษาอังกฤษคือ Uterine Cancer เป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งนรีเวช หรือมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง โดยมะเร็งมดลูกเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก พบได้เป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะเพศสตรี รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ โดยจากสถิติของสำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติ พบว่ามีสตรีไทยเป็นมะเร็งมดลูกปีละประมาณ 920 คน เสียชีวิต 288 คน หรือร้อยละ 32 โดยส่วนใหญ่ของมะเร็งมดลูกร้อยละ 95-97 เป็นมะเร็งที่เยื่อบุโพรงมดลูก และอีกร้อยละ 3-5 เป็นมะเร็งของกล้ามเนื้อหรือผนังมดลูก
มะเร็งมดลูกสาเหตุเกิดจากอะไร
          
มะเร็งมดลูกหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งมดลูกได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ว่าก็มีดังนี้
          
- อายุที่มากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะพบในสตรีสูงอายุหลังวัยหมดประจำเดือน ในช่วงอายุ 51-60 ปี
          
- มีน้ำหนักตัวเกิน และอ้วน
          
- ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรน้อย เพียง 1-2 คน
          
- มีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ คือเป็นประจำเดือนตอนอายุน้อยกว่า 12 ปี
          
- หมดประจำเดือนช้ากว่าคนทั่วไป คือหมดประจำเดือนตอนอายุเกิน 55 ปี
          
- เป็นโรคเบาหวาน
          
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง
          
- กินยาฮอร์โมนเพศหลังหมดประจำเดือนแล้ว
          
- กินยาฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่เรียกว่ายาทามอกซิเฟน (Tamoxifen)
          
- เคยได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน เอสโตรเจนเป็นเวลานาน หรือเคยได้รับการฉาย รังสีที่บริเวณเชิงกราน
          
- กินอาหารไขมันสูงต่อเนื่องเป็นประจำ
          
- เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม และ/หรือโรคมะเร็งรังไข่
          
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด โดยเฉพาะหากมีคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
          
- เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเกินปกติ ชนิดเจริญนอกแบบ (Complex atypical endometrial hyperplasia)

มะเร็งมดลูก อาการเป็นอย่างไร
          
- มีเลือดออกทางช่องคลอด ในสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือมีเลือดออกผิดปกติในสตรีที่ยังคงมีประจำเดือนอยู่
          
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มาบ้างไม่มาบ้าง หรือมาเกินกว่าปกติที่เคยมี
          
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
          
- คลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อย
          
- ปวดท้องน้อย ปวดหลัง เนื่องจากมดลูกโตไปกดแผงประสาท
          
- รู้สึกเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธุ์
          
- คลื่นไส้ รู้สึกเหนื่อย เบื่ออาหาร 
          
- ปวดหลัง ปวดขา หรืออุ้งเชิงกราน 
          
- ไอ หอบ ต่อมน้ำเหลือโต หรือปวดกระดูก มักพบในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ              
ทั้งนี้อาการสำคัญของโรคมะเร็งมดลูกคือมีประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งหากพบภาวะนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ควรละเลยเด็ดขาดนะคะ และควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุโดยเร็วที่สุด

มะเร็งมดลูก มีกี่ระยะ
          
มะเร็งมดลุกสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
          
มะเร็งมดลูกระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ภายในมดลูก
          
มะเร็งมดลูกระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามไปที่ปากมดลูก
          
มะเร็งมดลูกระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามไปนอกมดลูก และเข้าไปบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียง ซึ่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกรานหรือต่อมน้ำเหลือง
          
มะเร็งมดลูกระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามไปเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณท้องหรืออวัยวะอื่น เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ตับ หรือปอด รวมทั้งอาจแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า หรือเซลลมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ลามไปจนถึงกระดูก

มะเร็งมดลูก ตรวจหาอย่างไรได้บ้าง
แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งมดลูก แต่ในทางการแพทย์ก็มีวิธีตรวจหาความผิดปกติของมดลูกได้ ซึ่งแนวทางวินิจฉัยก็ตามนี้เลยค่ะ
1. ซักประวัติของผู้ป่วย          
2. ตรวจภายใน เพื่อเช็กว่ามีเลือดออกจากโพรงมดลูก มีก้อนเนื้อในมดลูกที่คลำได้ หรือมีภาวะมดลูกโตหรือไม่          
3. การขูดมดลูก เพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

มะเร็งมดลูก รักษาอย่างไร
การรักษาโรคมะเร็งมดลูกสามารถทำได้ 4 แนวทางดังนี้
1. ผ่าตัด
หากตรวจพบมะเร็งมดลูกในระยะเริ่มแรก จะสามารถเลือกวิธีผ่าตัดเอามดลูก พร้อมทั้งรังไข่และท่อนำรังไข่ทั้งสองข้างอกทางหน้าท้อง หรือใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งจะช่วยให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่ ทั้งนี้การผ่าตัดรักษามะเร็งมดลูกในระยะแรกจะให้ประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีที่สุด และผู้ป่วยมีโอกาสหายได้ถึง 90%
2. ฉายรังสี             
ในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่อุ้งเชิงกรานซ้ำอีก แพทย์จะทำการฉายรังสีเพื่อลดการลุกลามของเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีฉายรังสีในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดได้
3. เคมีบำบัด             
ในรายที่มะเร็งกระจายไกลออกไปจากช่องเชิงกรานแล้ว แพทย์จะใช้วิธีรักษาด้วยเคมีบำบัดตามชนิดของมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนนั้น ๆ 
4. ฮอร์โมนบำบัด             
วิธีรักษามะเร็งมดลูกด้วยฮอร์โมนบำบัดมักจะใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งมดลูกระยะสุดท้าย โดยแพทย์จะจ่ายฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ชนิดเม็ด เพื่อลดการลุกลามของเซลล์มะเร็ง

มะเร็งมดลูก ป้องกันได้ไหม
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของมะเร็งมดลูกที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ทำได้คือ หยุดความเสี่ยงอันเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคนี้ได้ค่ะ อย่างเช่น  
1. หากมีประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือน
2. ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน 
3. ดูแลสุขภาพไม่ให้เสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
4. หลีกเลี่ยงการรับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) โดยไม่เหมาะสม
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง
6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          
จริง ๆ แล้วโรคมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งเยื่อุโพรงมดลูกสามารถป้องกันและรักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม ฉะนั้นหากรู้ตัวว่าตัวเองมีประจำเดือนไม่ปกติ ก็อย่านิ่งเฉยนะคะ เป็นอะไรให้รีบปรึกษาแพทย์จะดีกว่า
ที่มา                     kapook.com 

อัพเดทล่าสุด