“ฟองน้ำล้างจาน” แหล่งสะสมเชื้อโรค-แบคทีเรียเยอะเท่าอุจจาระ !


2,017 ผู้ชม

ฟองน้ำล้างจาน แหล่งสะสมเชื้อโรคในบ้านที่หลายคนมองข้าม แม้จะใช้ฟองน้ำล้างจานกันอยู่ทุกวัน เราเลยอยากให้รู้ทันเชื้อโรคในฟองน้ำล้างจาน ที่จริง ๆ แล้วเป็นอุปกรณ์สุดสกปรกในบ้านอย่างคาดไม่ถึง !


ฟองน้ำล้างจาน แหล่งสะสมเชื้อโรคในบ้านที่หลายคนมองข้าม แม้จะใช้ฟองน้ำล้างจานกันอยู่ทุกวัน เราเลยอยากให้รู้ทันเชื้อโรคในฟองน้ำล้างจาน ที่จริง ๆ แล้วเป็นอุปกรณ์สุดสกปรกในบ้านอย่างคาดไม่ถึง !
ฟองน้ำล้างจานเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ทุกบ้านต้องมี แม้แต่คนอาศัยอยู่ในหอพักหรือคอนโดมิเนียมก็ตาม ฟองน้ำล้างจานก็เป็นสิ่งของจำเป็นต้องใช้ แต่รู้ไหมคะว่าในฟองน้ำล้างจานที่เราใช้ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหารอยู่ทุกวัน ฟองน้ำชิ้นนั้นแหละเชื้อโรคเพียบเลย

ฟองน้ำล้างจานสกปรกจริงไหม
คำถามนี้เราขอนำงานวิจัยมาตอบให้เคลียร์ไปเลยแล้วกัน​ โดยคณะวิจัยของศาสตราจารย์ Markus Egert นักจุลชีววิทยาจาก University of Furtwangen ประเทศเยอรมนี เผยผลการทดลองว่า ในฟองน้ำล้างจานแอบซ่อนเชื้อแบคทีเรียอยู่มากถึง 362 สายพันธุ์ และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือทีมวิจัยพบว่า มีเชื้อแบคทีเรียประมาณ 82 ล้านตัวต่อพื้นที่ฟองน้ำขนาดหนึ่งนิ้ว ซึ่งความชุกของแบคทีเรียที่พบในฟองน้ำนั้น เทียบเท่ากับจำนวนเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระของมนุษย์เลยทีเดียว !
ทั้งนี้นักวิจัยยังอธิบายไว้ด้วยว่า ฟองน้ำเป็นเสมือนโรงแรมชั้นห้าดาวของเชื้อแบคทีเรีย ด้วยความชื้นของฟองน้ำ อุณหภูมิ และเศษอาหารที่หลงเหลือจากการล้างจาน เชื้อแบคทีเรียเลยกินอิ่มนอนหลับ และแพร่พันธุ์ลูกหลานได้มากมายภายในฟองน้ำขนาดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เราใช้อยู่ทุกวันได้ง่าย ๆ นั่นเอง

เชื้อโรคจากฟองน้ำ อันตรายต่อสุขภาพไหม
จากจำนวนเชื้อแบคทีเรียในฟองน้ำที่ได้ทราบกันมาแล้ว ทุกคนคงสงสัยว่าเชื้อแบคทีเรียในฟองน้ำอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์มากแค่ไหน สำหรับประเด็นนี้ทีมวิจัยก็ตอบไว้ว่า เชื้อโรคจากฟองน้ำอาจก่อให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดโมราเซลล่า ที่สามารถอาศัยตามผิวหนังของมนุษย์ได้ ซึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว ในคนที่มีภูมิคุ้มกันดีอาจไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่หากวันไหนที่ภูมิคุ้มกันเราอ่อนแอ เชื้อแบคทีเรียนที่เกาะบนผิวหนังชนิดนี้อาจก่อให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบ และอาการป่วยตามมาได้ 
โดยเฉพาะอาการอาหารเป็นพิษ หรืออุจจาระร่วง ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดซัลโมเนลล่า ซึ่งเราอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จากช้อน ส้อม จาน ชาม ที่ล้างด้วยฟองน้ำอันเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคก็เป็นได้
เชื้อโรคในฟองน้ำ ฆ่าด้วยการนำเข้าไมโครเวฟได้ไหม
วิธีทำความสะอาดฟองน้ำล้างจานที่หลายคนคิดว่าเวิร์ก อย่างการนำฟองน้ำล้างจานไปอบในไมโครเวฟ หรือนำไปต้มในน้ำเดือดเพื่อหวังให้ความร้อนจัดการเชื้อโรคในฟองน้ำให้ แต่สิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นดันกลับกันค่ะ เพราะงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่ในฟองน้ำทนต่อความร้อนได้ดีมาก ซึ่งนอกจากความร้อนจะไม่ทำให้แบคทีเรียตายแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหากเราคิดว่าทำความสะอาดฟองน้ำจนสะอาดดีแล้ว และนำกลับไปใช้ล้างจานตามปกติ เชื้อแบคทีเรียตัวใหม่ที่ติดมากับเศษอาหารก็จะเพิ่มพูนในฟองน้ำมากยิ่งขึ้น ดีไม่ดีอาจเป็นการกระจายเชื้อแบคทีเรียไว้ในไมโครเวฟต่อไปอีกด้วยนะ

ทำความสะอาดฟองน้ำยังไงถึงจะปลอดภัย 100%
นักวิจัยแนะนำวิธีใช้ฟองน้ำล้างจานให้ปลอดจากเชื้อโรคและไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ไว้ว่า เราควรเปลี่ยนฟองน้ำล้างจานใหม่ทุก ๆ 1 สัปดาห์ หรือหากคิดว่าการทิ้งฟองน้ำที่ยังดูใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่น่าเสียดายและอาจเพิ่มขยะให้โลกใบนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการทำความสะอาดฟองน้ำก็คือนำฟองน้ำไปซักในเครื่องซักผ้าด้วยระบบน้ำร้อน โดยใส่ผงซักฟอกและสารฟอกขาวลงไปทำความสะอาดด้วย จากนั้นก็ควรนำฟองน้ำที่ทำความสะอาดแล้วไปใช้ในห้องอื่น ๆ ของบ้านที่ไม่ใช่ในครัว เช่น อาจนำฟองน้ำที่ซักแล้วไปใช้ทำความสะอาดห้องน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้อีกหนึ่งวิธีใช้ฟองน้ำอย่างปลอดภัยตามที่กรมอนามัยแนะนำก็คือ หลังการใช้งานทุกครั้ง ควรนำฟองน้ำล้างจานหรือแผ่นใยขัดมาล้างน้ำเปล่าให้สะอาด และนำไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือใช้น้ำส้มสายชู 4 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำเปล่าครึ่งลิตร แล้วนำฟองน้ำหรือแผ่นใยขัดแช่ไว้ 1 คืน และต้องเปลี่ยนน้ำส้มสายชูทุกวัน หรืออาจใช้ผลิตภัณฑ์ล้างจานที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งแบคทีเรียล้างทำความสะอาดฟองน้ำได้เช่นกัน 
และที่สำคัญ ควรแยกฟองน้ำที่จะใช้ล้างภาชนะให้เหมาะกับแต่ละประเภท เช่น จาน ชาม กระทะ แก้วน้ำ ฟองน้ำควรแยกชนิดกันอย่างชัดเจน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการกระจายตัวของเชื้อแบคทีเรียได้
อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่าหลังการใช้ฟองน้ำล้างจานแต่ละครั้ง ควรนำฟองน้ำมาล้างน้ำเปล่าจนไม่เหลือฟองจากน้ำยาล้างจานและเศษอาหารอีก จากนั้นควรบิดฟองน้ำให้แห้งสนิท และเก็บฟองน้ำในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดส่องถึงด้วยก็จะยิ่งดีเลยค่ะ 

อัพเดทล่าสุด