ทำไมวัตถุโบราณของหลายๆ ประเทศจึงไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตะวันตกเยอะ?


1,578 ผู้ชม

เมื่อเร็วๆ นี้มีการค้นพบทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งหนึ่งในรัฐซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ...


ทำไมวัตถุโบราณของหลายๆ ประเทศจึงไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตะวันตกเยอะ?

เมื่อเร็วๆ นี้มีการค้นพบทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่พิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งหนึ่งในรัฐซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการปลุกกระแสการ “ทวงคืน” สมบัติของชาติขึ้นมาอีกหลังจากที่มีการพบว่าโบราณวัตถุของไทยที่มีความสำคัญหลายร้อยชิ้นได้หายไปในช่วงปี พ.ศ 2508 และไปปรากฏในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก

1

ปราสาทหนองหงส์
โบราณวัตถุอย่างเทวรูปหรือทับหลังนั้นเมื่อแยกออกจากโบราณสถานแล้วจะขาดมูลค่าทางประวัติศาสตร์และขาดความเชื่อมต่อกับท้องถิ่น ในยุคของการล่าอาณานิคมการเก็บสะสมโบราณวัตถุเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ทางการเมืองและอำนาจ แสดงถึงความศิวิไลซ์ของผู้เก็บและศึกษา โดยการศึกษาและจัดแสดงจะนำออกมาแสดงโดดๆ ในเชิงรูปลักษณ์ ความเก่าแก่ อัตลักษณ์ ความหมายในเชิงปรัชญาและศาสนา จากการที่มีนักเก็บสะสมมากขึ้นทั้งชนชั้นบนของเจ้าอาณานิคมตะวันตกและชนชั้นบนของที่อื่นๆซึ่งต้องการลอกเลียนแบบความศิวิไลซ์และโอ่อ่าในแง่พฤติกรรมการจัดแสดงและศึกษาประวัติศาสตร์โบราณผ่านวัตถุ

ทับหลังปราสาทหนองหงส์
ทำให้เกิดความคิดที่จะจัดแสดงและเก็บรักษาของเก่าจากทั่วโลกให้เป็นระบบและนี่คือจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์และวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งมีนัยยะเชื่อมต่อกับกิจกรรมสังคมเมืองและสังคมมีความรู้ ดังนั้นการตามซื้อตามหาโบราณวัตถุมาเก็บเอาไว้โดยพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่สร้างหน้าตาให้กับผู้บริจาคเงินและวงการวิชาการที่หล่อเลี้ยงองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุนั้นๆ

แม้แต่ในสมัยปัจจุบันพิพิธภัณฑ์คือนโยบาย Soft Power หรือ อำนาจอ่อนเชิงการเมืองของประเทศมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเป็นแหล่งยืนยันความศิวิไลซ์และเจริญในเชิงศึกษาวิชาการ รวมไปถึงธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพิพิธภัณฑ์ ในทางกลับกันเมื่อโบราณวัตถุเป็นกรรมสิทธิ์ของพิพิธภัณฑ์นั้นๆ เจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งของโบราณวัตถุจะไม่ได้ทั้งค่าเช่าในการจัดแสดงหรือกระทั่งผลกระทบภายนอกที่ดี (Positive Externalities) ที่เกิดจาก โบราณวัตถุที่อยู่ในสถานที่นั้นๆอย่างทัศนียภาพที่ดีเพราะมีของประดับเมืองหรือรูปเคารพบูชาของท้องถิ่นในกรณีที่ยังเป็นสิ่งที่คนให้ความเคารพบูชาอยู่

เราสามารถแบ่งโบราณวัตถุได้คร่าวๆ เป็นสามกลุ่ม

หนึ่งคือกลุ่มที่หาที่มาไม่ได้จริงๆ คือ แลกเปลี่ยนขุดค้นกันตั้งแต่สมัยยุคล่าอาณานิคมโดยฝรั่งและนักสะสมท้องถิ่น ของที่อยู่ในกลุ่มนี้มีตัวอย่างเช่นเทวรูปทั่วไปที่เห็นในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ หรือถ้าเป็นของเอเชียก็มักเป็นพวกเครื่องถ้วยชามจีน พระเครื่องที่สะสมกันที่หาไม่ได้ว่ามาจาก “กรุ” ไหน กลุ่มนี้คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่ายกให้เป็นความรู้และของสวยงามของโลกไปในแง่กฏหมาย

กลุ่มที่สองคือของที่ปล้นมาอย่างแน่นอนในสมัยหลังอาณานิคมเพื่อมาขายในตลาด กลุ่มโบราณวัตถุชนิดนี้แยกง่ายๆ คือปรากฏในตลาดเมื่อมีนักโบราณคดีขุดค้นของได้และเริ่มดังทำให้นักสะสมอยากได้ กลุ่มนี้บางชิ้นก็เป็นการที่คนท้องถิ่นหรือผู้มีอิทธิพลล่าสมบัติไปขายหรือไม่ก็เป็นลักษณะใบสั่งรายการสินค้า ตัวอย่างของในกลุ่มนี้ของโบราณของไทยเช่นพระพุทธรูปและโบราณวัตถุเอเชียส่วนใหญ่จะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มนี้เพราะเป็นงานศิลปะไว้ให้สะสมและขายความศิวิไลยของผู้ซื้อในแง่การ “เป็นคนที่สนใจศิลปะวัฒนธรรมโลก”

กลุ่มที่สามคือของที่ตกค้างมาตั้งแต่ล่าสมัยอาณานิคมมีประวัติการแย่งชิงเอามา ของในกลุ่มนี้ที่ดังๆ ส่วนใหญ่เป็นกรณีของโบราณจากกรีกและอียิปต์ อย่าง Elgin Marble ของวิหารพาร์เธนอนในเอเธนส์ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกฤษแต่ก็มีอีกหลายส่วนกระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของเยอร์มันและฝรั่งเศส และ เร็วๆนี้ก็เกิดประเด็นกลุ่มที่สี่ขึ้นคือของที่ออกมาจากประเทศที่อยู่ในสภาวะสงครามหรือมีปัญหาทางความมั่นคง กลุ่มนี้มีพวกของตะวันออกกลาง เปอร์เซีย และ ของกัมพูชาที่ถูกขายออกไปในสมัยเขมรแดงอยู่ด้วย

Elgin Marble ที่ British Museum

กฏหมายควบคุมการค้าโบราณวัตถุอาจจะทำอะไรกับกลุ่มแรกไม่ได้แต่กลุ่มแรกนั้นก็มีของในจำนวนที่จำกัดในขณะที่อีกสามกลุ่มคือสิ่งที่ต้องร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดการเฟ้อของจำนวนขึ้น

พระโพธิสัตว์สัมฤทธ์แบบปลายบัดที่ Metropolitan Museum of Art

ทำไมวัตถุโบราณของหลายๆ ประเทศจึงไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตะวันตกเยอะโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา?

พิพิธภัณฑ์ของตะวันตกนั้นแบ่งคร่าวๆได้สองชนิด ชนิดแรกคือพิพิธภัณฑ์ศิลปะและมนุษยวิทยา ซึ่งเน้นการศึกษาวัตถุ แนวทางศิลปะ เชิงสัญลักษณ์ เป็นชิ้นโดดๆ พิพิธภัณฑ์ชนิดนี้จะมีฝ่ายบริหารดูแลเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งเน้นการวิเคราะห์รูปลักษณะของวัตถุและใช้เนื้อหาทางโบราณคดีเช่นตำแหน่งที่พบโบราณวัตถุหรือวัฒนธรรมของสังคมของวัตถุเป็นเครื่องช่วยวิเคราะห์ พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาจัดอยู่ในกลุ่มนี้เยอะเช่น Metropolitan Museum of Art ที่นครนิวยอร์คที่พบเทวรูปปลายบัดจากไทย และ Cleveland Museum of Art ที่มีกรณีซื้อเทวรูปที่ถูกปล้นไปจากปราสาทเจิน เกาะแกร์ ในกัมพูชาช่วงปี พ.ศ 2525 เป็นต้น ทุนทรัพย์ในการซื้อของโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะในอเมริกามีทุนสูงกว่าที่อื่นและมีเอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะตรงที่ไม่ต้องสนใจ Provenience (ที่มาในชิงสามมิติทางโบราณคดี กล่าวคือ บริบทของสถานที่ ต่ำแหน่งในดิน และ เวลา)

แต่ให้ความสำคัญแค่ Provenance หรือที่มาคร่าวๆ เช่น เทวรูปนี้มีลักษณะทางศิลปะที่มีที่มาจากแถบโคราชหรือบุรีรัมย์เป็นต้น พิพิธภัณฑ์เหล่านี้จึงมักมีนโยบายบริหารที่หละหลวมเรื่องการซื้อวัตถุโบราณและมักเกิดกรณีการซื้อวัตถุโบราณที่ถูกปล้นมา พิพิธภัณฑ์อีกชนิดคือพิพิธภัณฑ์โบราณคดี เช่น British Museum หรือ พิพิธภัณฑ์โบราณคดีและมนุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียที่ได้ทำการคืนของในการเก็บรักษาของตนให้กับไทยเป็นต้น

กลุ่มพิพิธภัณฑ์นี้จะมีการบริหารงานการศึกษาและดำเนินการโดยนักโบราณคดีซึ่งให้ความสำคัญกับแหล่งโบราณคดีมากกว่าวัตถุ และมักจะเน้นนโยบายการเช่าหรือยืมเพื่อมาจัดแสดงและศึกษามากกว่าซื้อขาดและหากจะซื้อขาดจะเน้นประวัติของของที่หาที่มาไม่ได้แล้ว เช่น เทวรูปกรีกที่มีการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมเป็นต้น หรือ ของบริจากที่เป็นมรดกภายในตะกูลเศรษฐีโบราณ

แต่พิพิธภัณฑ์เหล่านี้มีทุนทรัพย์น้อยในการซื้อโบราณวัตถุและไม่มีนโยบายไปแย่งซื้อตลาดค้าของเก่าและจะระวังเรื่องผลงานวิจัยซึ่งอาจจะไปเพิ่มมูลค่าของโบราณวัตถุในตลาดที่ผิดกฏหมายเป็นพิเศษ พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในอังกฤษปัจจุบันอยู่ในกลุ่มนี้ทำให้ตลาดการค้าของโบราณเริ่มถดถอยแต่จะเน้นนโยบายหวงของเดิมที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเพื่อยึดตำแหน่งทางด้านผู้นำในการศึกษาวิชาการไว้มากกว่า

จุดที่น่าสนใจของประเด็นชนิดของพิพิธภัณฑ์และลักษณะการซื้อและศึกษาแบบนี้คือประเทศจีนและสิงคโปร์ (อาจมีประเทศอื่นในเอเชียตามมา) ซึ่งกำลังเข้าสู่ยุคพิพิธภัณฑ์รุ่งเรืองและมีความนิยมในการเปิดพิพิธภัณฑ์ในเชิงศิลปะและโบราณวัตถุโดยเอกชนอย่างมากและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อสร้างอำนาจอ่อนขึ้นในเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และ การเมือง

เมื่อการควบคุมของเหล่านี้ในเอเชียหล่ะหลวมรวมกับความสนใจที่ตลาดจีนมีมากขึ้นต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงอีกไม่นานที่เราอาจจะมีกรณีทวงคืนทับหลังหรือเทวรูปจากพิพิธภัณฑ์จีน?

บทความโดย พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด การเมืองต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์

อัพเดทล่าสุด