5 สัญญาณโรคหัวใจ รู้ไว้ก่อนปลอดภัยต่อชีวิต โดย มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


1,771 ผู้ชม

สำหรับโรคหัวใจแล้ว หลังส่งสัญญาณแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นเรามา รู้จักสัญญาณของโรคหัวใจเบื้องต้นกันดีกว่า ...


5 สัญญาณโรคหัวใจ รู้ไว้ก่อนปลอดภัยต่อชีวิต โดย มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สำหรับโรคหัวใจแล้ว หลังส่งสัญญาณแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นเรามา รู้จักสัญญาณของโรคหัวใจเบื้องต้นกันดีกว่า

1. อาการแน่นหน้าอกตรงกลาง หรือจุกใต้ลิ้นปี่ร้าวไปถึงไหล่ คอสะบักหลัง คอหอย หรือกราม
รู้สึกเจ็บหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ กดทับไว้ หลายคนบรรยายว่าเป็นอาการที่ "เจ็บหน้าอกที่สุดในชีวิต"บางคนเจ็บจนร้าวไปตามต้นแขน ไหล่คอ สะบักหลัง คอหอย หรือกรามอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากมีไขมันอุดตันในหลอดเลือด ดังนั้นต้องรีบไปพบแพทย์ด่วนที่สุด มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้ทันทีในรายที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน และมีภาวะหัวใจหยุดเต้น

2. อาการใจสั่น หัวใจเต้นรัว หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ
ปกติหัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 70–110 ครั้งต่อนาทีขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพ คนที่อายุมากขึ้นหัวใจจะเต้นช้าลง และในคนที่อายุเท่ากันนั้น ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หัวใจจะเต้นช้ากว่าผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเมื่อเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแพทย์จะวิเคราะห์ว่าเป็นแบบใด เช่น หากเป็นการเต้นแทรกธรรมดาจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง แต่ตรวจแล้วไม่พบสัญญาณของหลอดเลือดอุดตันหรือ หัวใจอ่อนแรงก็ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าเป็น"หัวใจเต้นพลิ้ว" หรือ "Atrial Fibrillation"อาจเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ กล่าวคือ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และอัมพฤกษ์อัมพาตได้

3. อาการเป็นลมหมดสติ
อาการเป็นลมหมดสติชั่วคราวเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคหัวใจ โดยเฉพาะกรณีที่หัวใจเต้นช้าเกินไป หรือมีจังหวะหยุดนานเกินกว่า 3 วินาที ทำให้เป็นลมหมดสติชั่วคราวแต่ฟื้นได้เองเมื่อหัวใจเริ่มเต้นเป็นปกติ มักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมสภาพของจุดกำเนิดไฟฟ้าในห้องหัวใจ ที่เรียกว่ากลุ่มอาการ Sick Sinus Syndrome (SSS) อาการคือหัวใจมีการเต้นช้า เร็วสลับกัน หรือมีภาวะหัวใจหยุดเต้นประมาณ 3 วินาที ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม ซึ่งเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอในช่วงเวลานั้น อาการเช่นนี้หากไม่ได้รับการช่วยชีวิตอย่างทันท่วงทีอาจถึงแก่ความตายได้

4. อาการเจ็บหน้าอกคล้ายถูกมีดแทงหรือมีอาการเจ็บแปลบๆ
อาจเป็นสัญญาณจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยอาการจะดีขึ้นในท่านั่งและเอนตัวไปข้างหน้า แต่จะเจ็บขึ้นถ้านอนหรือหายใจเข้าแรงๆ ส่วนอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากการปริของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่จะ รุนแรงกว่า เพราะมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายในจึงอาจเจ็บทะลุไปจนถึงด้านหลังได้และทำให้เสียชีวิตได้

5. อาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้
อาจมีอาการนอนไม่หลับหรือตื่นขึ้นมาไอและหอบตอนกลางคืน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าเมื่อนอนหลับไปแล้ว 3–4 ชั่วโมง จะตื่นขึ้นมาเนื่องจากมีอาการแน่นหน้าอก ต้องลุกขึ้นมานั่งหายใจแรงๆ หรือมีอาการไอเป็นชุด หลายครั้งจึงจะหลับได้ หรือจะดีขึ้นเมื่อนอนหัวสูง ใช้หมอนหลายใบ อาการเช่นนี้เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหอบหืด สาเหตุเป็นจากโรคหัวใจหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบกล้ามเนื้อหัวใจพิการ กล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างบีบตัวอ่อนจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ รวมทั้งบางรายเกิดจากโรคหอบหืด หลอดลมตีบ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นคร่าวๆเป็นแนวทางให้ผู้อ่านรู้จักการดูแลตัวเอง และผู้ใกล้ชิด ซึ่งรายละเอียดของแต่ละอาการนั้น เราจะเจาะลึกในบทความต่อๆ ไป ถ้ามีอาการดังกล่าว หรือไม่แน่ใจ ให้ไปปรึกษา และตรวจรักษากับอายุรแพทย์ หรืออายุรแพทย์โรคหัวใจ

อัพเดทล่าสุด