ว่างงาน ต้องแก้อย่างไร ... ในยุคไทยแลนด์ 4.0


1,439 ผู้ชม

จากผลสำรวจภาวการณ์มีงานทำของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนมกราคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง (หลังเก็บเกี่ยว) ...


"ว่างงาน" ต้องแก้อย่างไรในยุคไทยแลนด์ 4.0

จากผลสำรวจภาวการณ์มีงานทำของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนมกราคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง (หลังเก็บเกี่ยว) จำนวนกำลังแรงงานหดตัวเกือบ 2 แสนคนมาอยู่ที่ 37.94 ล้านคน ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มค่อนข้างสูงถึง 1.2% เทียบกับ 0.9% ของเดือนเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้มีจำนวนผู้ว่างงานเกิน 4.4 แสนคน สูงขึ้น 1 แสนคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

คำถามที่ท้าทายแรงงานในยุค 4.0 คือ การที่เรามีปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับกลางสาย S&T ( วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) และมีแรงงานส่วนเกินในระดับปริญญาตรีจำนวนมาก ถ้าประเทศต้องปรับทิศทางใหม่ไปในทิศทางของไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมนำการพัฒนา

ทั้งนี้ตามแนวทางของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้ทิศทางการพัฒนาเกี่ยวกับตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ เช่นเน้นไปที่สิ่งที่ไทยมีทรัพยากรเป็นของตนเองคือเกี่ยวกับอาหาร การเกษตรสมัยใหม่ และ ไบโอเทคโนโลยี ถ้าด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตควรมุ่งสู่นวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ Wellness และเวชภัณฑ์ต่างๆ หรือถ้าออกไปทางอุตสาหกรรม 4.0 คงหนีไม่พ้นนวัตกรรมอัจฉริยะ โรบอท และด้าน mechatronics หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น smart enterprises หรือ startups

ขณะเดียวกันถ้าต้องการสนับสนุน high value tourism ต้องปรับการบริการให้เป็นบริการคุณภาพสูงที่สอดแทรกความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบ และเหนืออื่นใดนวัตกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยุคดิจิทัล internet of things (IoT) และพวกเทคโนโลยีฝังตัวทั้งหลายซึ่งความรู้ชั้นสูงเช่นนี้กำลังคนที่มีอยู่ (stock) มีจำนวนไม่มากที่มีความพร้อม

เห็นทีจะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายในเวลาอันสั้น สำหรับกำลังแรงงานกลุ่มแรกที่มีอยู่ (stock) เป็นแรงงานจบม.ต้นหรือต่ำกว่าประมาณร้อยละ 68 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งว่างงานในขณะนี้รวมกันประมาณ 2 แสนคน คงจะปรับให้เป็นคนฉลาดและมีสมรรถนะสูงเพื่อนำมาใช้ใน Thailand 4.0 ได้ยาก ดังนั้นจะต้องสนับสนุนให้พวกเขาทำในสิ่งที่ถนัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

ขณะเดียวกันคนว่างงานระดับสายวิชาชีพ และมัธยมปลายประมาณ 1 แสนคน ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราคัดเลือกกลุ่มที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์หรือ S&T ก็น่าจะสามารถนำมาฝึกอบรมยกระดับได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งผู้ตกงานระดับอุดมศึกษาอีก 1.6 แสนคน ทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถทำการคัดเลือกมาฝึกโปรแกรมเพิ่มขีดความสามารถได้ (capacity buildings) โดยสถาบันฝึกอบรมชั้นสูง เพื่อนำเข้าสู่ตลาดแรงงานความสามารถสูงเพื่อตอบสนอง ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไปได้

ส่วนแรงงานที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบันที่จะจบการศึกษา (flow) ควรจะมีวิธีเข้าไปปรับ talents ให้ตรงกับความต้องการของ talent market ด้วยการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นประมาณ 1 ปีหรือจนกว่าจะทดสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานสมรรถนะที่กำหนด โดยวิธีการรับสมัครจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล โดยรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณต่อหัวอย่างเต็มที่ มีการฝึกฝนการปฏิบัติงานจริงร่วมกับทางสถานประกอบการที่มีความพร้อม ซึ่งคาดว่าจะผลิต talent workforces ได้ปีละหลายหมื่นคน เพื่อนำไปใช้ในไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งแน่นอนคงเน้นไปที่เด็กนักเรียนหรือนักศึกษาระดับมัธยมปลายจนถึงปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับไทยแลนด์ 4.0

ขณะเดียวกันหัวใจที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นแรงจูงใจผู้ปกครองและเด็กนักศึกษาก็คือ ต้องการันตีการมีงานทำ ต้องการันตีค่าตอบแทนที่สูงกว่าตลาดแรงงานตามปกติอย่างน้อย 1 เท่า บวกกับสวัสดิการอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างอนาคตให้กับเยาวชนกลุ่มพิเศษนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติสูงที่ทั้งเก่งฉลาดและเป็นคนดีเช่นนี้จะแยกตัวออกมาบรรจุไว้ในฐานข้อมูลของ talent market เป็นการเฉพาะโดยมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ในแต่ละช่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม stock ของแรงงานที่มีจำนวนมากยังคงต้องตอบสนองตลาดแรงงานระดับล่างและระดับกลางต่อไป เนื่องจากยังมีเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ 2.0 หรือ 3.0 โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ Thailand 4.0 ได้แต่จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อความอยู่รอด

บางส่วนจากบทความโดย : ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

อัพเดทล่าสุด