วิถีรอมฎอน วิถีมุสลิมล้านนา ในสังคมพหุวัฒนธรรม


1,508 ผู้ชม

เชียงใหม่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีประเพณีและวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่น งดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง รวมทั้งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะด้วย ...


วิถีรอมฎอน วิถีมุสลิมล้านนา ในสังคมพหุวัฒนธรรม

ชุมพล ศรีสมบัติ
ตีพิมพ์ในนิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับที่ 45กรกฎาคม 2559

"ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผาชาติล้วนงามตา นามล้ำค่า นครพิงค์" นี่เป็นคำขัวญประจำเมืองนครพิงค์ เชียงใหม่มีอายุครบ 720 ปีแล้วในปี2559 เมืองแห่งนี้เป็นศูนย์รวมแห่งความเจริญทางศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ พญามังรายได้ทรงปรึกษากับพระสหายคือพญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหงในการสร้างเมืองใหม่ในบริเวณที่ราบดอยสุเทพ ให้เป็นเมืองหลวง ของอาณาจักรล้านนา จึงทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้น โดยมีชื่อเต็มว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ หรือ เวียงพิงค์

เชียงใหม่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีประเพณีและวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่น งดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง รวมทั้งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะด้วย ที่เป็นเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากการที่เมืองเชียงใหม่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซ้ำยังเคยเป็นราชธานีและเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านของอาณาจักรล้านนา จึงทำให้เชียงใหม่รับเอาวัฒนธรรมจากต่างถิ่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตน รวมทั้งยังได้รับวัฒนธรรมจากพระพุทธศาสนา คริสต์ศาสนา อิสลาม เข้ามาอีกทอดด้วย จึงทำให้เชียงใหม่มีการผสมผสานหล่อหลอมวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่กลายมาเป็นวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตน

ในจังหวัดเชียงใหม่มีมุสลิมที่มีเชื้อสายจีน เชื้อสายอืนเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน มาลายู ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาอยู่ในเชียงใหม่กว่า 150 ปี จึงก่อเกิดวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เรียกได้ว่า เป็นพูหุวัฒนธรรม ที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้น

มัสยิดในเชียงใหม่ มีจำนวนถึง 17 มัสยิด ครอบคลุมพื้นที่ ทั่วอาณาบริเวณ มีมัสยิด ในพื้นที่ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย ซึ่งสัปปุรุษ์ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนยูนนาน จำนวนถึง 5 มัสยิด ที่เหลือก็กระจายในพื้นที่ อำเภอเมือง 6 แห่ง อำเภอสันกำแพง 3 อำเภอสันป่าตอง และอำเภอดอย อีกอำเภอละหนึ่งมัสยิดซึ่งแต่ละมัสยิด ก็ตั้งอยู่ในพืื้นที่ ที่มีพี่น้องต่างศาสนิกอยู่รายรอบ แต่กลับอยู่ด้วยกันอย่างสงบ สันติมาอย่างยาวนาน สะท้อนถึงความเข้าใจ ในสังคมที่มีความต่าง แตกต่างมิแตกแยก

ในช่วงรอมฎอน เป็นอีกเดือนหนึ่ง ที่มุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่ทุกมัสยิดจัดเลี้ยงละศีลอด โดยพี่น้องในพื้นที่สลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ จึงทำให้เดือนนี้เป็นเดือนที่ผู้คนแข่งขันกันทำความดี เพื่อสนองตอบต่อคำบัญชาใช้ของศาสนา ในการให้อาหารแก่ผู้ละศีลอด ซึ่งแน่นอนผลบุญคุณคุณค่าในการกระทำดีในเดือนนี้ย่อมเพิ่มผลมากมายกว่าวันหรือเดือนปกติ

ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนพี่น้องตามมัสยิดต่างๆในพื้นที่ เราได้พบกับใบหน้าที่ยิ้มแย้ม พบกับการต้อนรับ ที่ประทับใจของเจ้าของบ้านแต่ละพื้นที่ ถึงแม้นจะอ่อนเพลียจากการถือศีลอดมาทั้งวัน แต่น้ำใจของพี่น้องก็หาเหือดแห้งเลยแม้นแต่น้อย

อาหารละศีลอดแต่ละมัสยิด น่าสนใจ สะท้อนถึงวิถีวัฒนธรรม ที่มีการผสมกลมกลืนกับถิ่นล้านนา บนโต๊ะอาหาร เราจะเห็นเมนูที่หลากหลาย อาจกล่าวได้ว่าในหนึ่งสำหรับ ประกอบด้วยอาหารนานาชาติ อาทิ อาหารล้านนา น้ำพริกอ๋อง ลาบเนื้อ แกงอ๋อม น้ำพริกหนุ่ม ยังผสมผสานด้วยอาหารอินเดีย ไม่ว่าเป็นแกงมัสร่า อาจาดโรตี ส่วนอาหารจีนของพี่น้องมุสลิมเชื้อสายจีนยูนนานก็จะมี แกงข้าวแป้ง อาหารยอดฮิตที่ทุกมัสยิด ทำกินกัน มากมายหลายเมนูให้ได้ชิมกัน สะท้อนให้เห็นถึงความกลมกลืน กับ แผ่นดินเกิดของมุสลิมในเชียงใหม่อย่างชัดเจน

นอกจากนั้น มัสยิดส่วนใหญ่ ยังจัดกิจกรรม เชิญพี่น้องต่างศาสนิกมาร่วมเรียนรู้วิถีรอมฏอน โดยเชิญผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมาร่วมรับประทานอาหาร สร้างความรัก ความเข้าใจ ในวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิม ซึ่งมีการปฏิบัติเช่นนี้กันทุกปี

เดือนรอมฎอน นอกจาก การได้ปฏิบัติในคำสั่งใช้ของศาสนาของพี่น้องมุสลิม ยังเป็นโอกาส ที่พี่น้องมุสลิมในเชียงใหม่ เผยแพร่คำสอน ความมีน้ำใจสู่การเอื้ออาทร ที่หยิบยื่นให้กับ พี่น้อง ร่วมชาติต่างศาสนิก ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของมัสยิด

#ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี จากมหาวิทยาลัยพายัพเชียงใหม่ ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
"สังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่การมีคนต่างกัน ไม่ใช่แค่มีคนต่างศาสนา ไม่ใช่มีคนต่างความคิดมาอยู่ร่วมกัน แต่ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันและกัน การอยู่รวมกันในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่มีการทำความเข้าใจต่อกัน ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกันเลย ไม่ใช่สังคมพหุวัฒนธรรม

สันติสุขจะไม่มีวันเกิดขึ้น หากแต่ละศาสนาไม่สัมพันธ์กัน แม้ว่ามนุษย์จะต่างกันในเรื่องความเชื่อทางศาสนา แต่การสัมพันธ์กันของคนในสังคมที่มีคววามเชื่อที่ต่างกันนั้น ไม่ใช่การร่วมกันทางความเชื่อ พิธีกรรมของแต่ละศาสนา แต่หมายถึงในด้านทั่วไปที่ไม่ก้าวก่ายในเรื่องความเชื่อความศรัทธา"

ณ ที่นี้จึงสะท้อนวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว ท่ามกลางความหลากหลาย ทางวัฒนธรรมกันมาอย่างช้านาน

อัพเดทล่าสุด