เคยสังเกต “เหงือก” ตัวเองไหม...แบบไหนที่อันตราย...ตรวจเช็คก่อนสายด้วยวิธีง่ายๆแบบนี้


ปัญหาช่องปาก เป็นปัญหาที่พบมากที่สุดในโลก เพราะเกินกว่าครึ่งของประชากรโลก ล้วนแต่มีปัญหาสุขภาพช่องปากกันทั้งนั้น ซึ่งปัญหาที่พบมากที่สุดคือ “โรคฟันผุและโรคเหงือก” ซึ่งในส่วนของโรคเหงือก ประชากรโลกกว่า 90% กำลังเป็นกันอยู่ แต่ไม่ค่อยจะรู้ตัวสักเท่าไร
ถ้าเปรียบเทียบแล้ว โรคเหงือกอาจจะฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และคงไม่ค่อยจะอันตรายอะไร แต่คุณรู้หรือไม่ว่า หากปล่อยให้เป็นโรคเหงือกเรื้อรังไปเรื่อยๆ นานวันเข้าปัญหาโรคเหงือกก็จะรุนแรง และอาจส่งผลให้ถึงตายได้ และสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ของคุณแม่อาจมีผลกระทบตามมาด้วย
ก่อนอื่นมารู้จักกับโรคเหงือกกันก่อนดีกว่า
โรคเหงือกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1) เหงือกอักเสบ กับ 2) ปริทันต์อักเสบ
1) เหงือกอักเสบ อาการเริ่มต้นจะสังเกตได้จาก “สีของเหงือกที่เปลี่ยนไป” จากสีชมพูสดใสจะกลายเป็นสีแดงหรือแดงเข้มจนบางครั้งเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ และจากเหงือกที่ดูบางแบน กดแล้วเด้งกลับได้ จะกลายเป็นเหงือกที่หนา เต่ง กดแล้วนิ่มยวบ ที่สำคัญคือ พบอาการเลือดออกได้ง่าย แต่สามารถรักษาให้หายได้เพียงแค่เราดูแลรักษาความสะอาดให้ดี 
2) ปริทันต์อักเสบ เป็นอาการที่ต่อเนื่องจากเหงือกอักเสบจนเกิดการละลายตัวของกระดูกที่หุ้มรากฟัน ทำให้เกิดการโยกคลอนได้ง่าย หากไม่ได้รับการรักษาอาจต้องถอนฟันในที่สุด  อาการเริ่มต้นที่สังเกตได้ง่าย คือ “อาการเหงือกร่น” “มีกลิ่นปากรุนแรง”และ เหงือกมีเลือดออกได้ง่ายมาก”

ความร้ายแรงที่มากไปกว่านั้น คือ ปริทันต์อักเสบที่รุนแรงจะมีความสัมพันธ์กับโรคร้ายแรงอีกหลายโรค เพราะแบคทีเรียในช่องปากจะเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางแผลบริเวณเหงือกนั่นเอง 

โรคร้ายแรงดังกล่าว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูห์มาตอย โรคปอดอักเสบ  และยังอาจส่งผลแทรกซ้อนต่อการตั้งครรภ์ของคุณแม่ เช่น คลอดก่อนกำหนด ทารกแรกคลอดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราก็ควรดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอ และไม่ควรปล่อยให้เป็นโรคเหงือก การแปรงฟันที่ถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย และเลือกน้ำยาบ้วนปากที่เหมาะสม สามารถลดปัญหาที่ว่านี้ลงไปได้

ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยหนึ่ง ที่มีการศึกษาเรื่องการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของน้ำมันสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ 4 ชนิด ผลการทดลองพบว่า หลังการแปรงฟันต่อเนื่องเป็นประจำ กลุ่มผู้ทดสอบมีปริมาณเหงือกอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ถึง 5 เท่า

วิธีตรวจสอบสุขภาพช่องปากด้วยตัวเองทำได้โดย

1. สังเกต “สีของเหงือกที่เปลี่ยนไป”  ถ้ามีสีแดงเข้มหรือม่วงคล้ำ คือ อันตราย
2. สังเกต “อาการเลือดออกในช่องปาก” ทุกครั้งที่แปรงฟันจะมีเลือดออกเสมอ คือ อันตราย
3. สังเกต “การเปลี่ยนแปลงเมื่อโดนแรงกด” ถ้ากดแล้วไม่เด้งกลับ หรือนิ่มยวบ คือ อันตราย
4. สังเกต “อาการเหงือกร่น”
5. สังเกต “กลิ่นปาก” ต้องให้คนรอบข้างช่วยสังเกตอีกแรง

การดูแลช่องปากของตัวเองจึงมีผลต่อเรื่องนี้อย่างแท้จริง อย่ามัวแต่พูดว่าเดี๋ยว เพราะโรคเหงือกไม่เคยรอคุณอยู่แล้ว! อีกทั้งยังควรตรวจสอบสุขภาพช่องปากอยู่เสมอ

ที่มา: www.manager.co.th

อัพเดทล่าสุด