สุดฮิต สปาหอยทากสยาม


1,229 ผู้ชม


 หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยมากว่า 20 ปี ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ค้นพบว่าเมือกของหอยทากในไทยมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกเมื่อนำไปเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางเนื่องจากหอยทากที่อาศัยในเขตร้อนผลิตสารต่อต้านเชื้อราได้ดีกว่าหอยทากในเขตที่คุณอุณหภูมิหนาวเย็นกว่า
 นอกจากนี้จากการทดสอบทางเคมียังพบสารประกอบที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบ โปรตีนและเปปไทด์ที่เป็นประโยชน์ด้านการบำรุงผิวพรรณอีกด้วย โดยจุฬาฯได้ออกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเมือกหอยทากที่ชื่อ Siam Snail หรือ “หอยทากสยาม” ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องสำอางที่มาจากหอยทากในไทยกำลังขยายตัว
 ข้อมูลจากเว็บไซต์ของจุฬาฯระบุว่า ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ เป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้ และได้เปิดเผยว่าลักษณะที่โดดเด่นของหอยทากคือการผลิตเมือกเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างอมตะ ทั้งเมือกจากหอยทากเพื่อให้ประโยชน์ในการเดินที่สง่างามในธรรมชาติ และเมือกจากแมนเทิลให้ผิวพรรณของหอยทากคงความชุ่มชื้นและงดงามมาหลายล้านปีตามการวิวัฒนาการ แม้แต่เมือกที่ขับออกมาเพื่อป้องกันตัวจากศัตรูก็มีประโยชน์เช่นกัน
 “การวิเคราะห์เมือกหอยทากไทยชื่อว่าหอยนวล (Hemiplecta distincta) พบว่าอุดมไปด้วยสารนานาชนิดที่มีประโยชน์มากมาย เหมาะต่อการซ่อมแซมและบำรุงผิว อาทิ อิลาสติน (elastin) อะลันโทอิน (alantoin) กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid) กรดไกโคลิก (glycolic acid) และสานแอนตี้ออกซิแดนท์ (anti-oxidant) เป็นต้น จัดได้ว่าเป็นเมือกคุณภาพชั้นดีเยี่ยมที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านเครื่องสำอางและธุรกิจความงามที่สำคัญและที่น่าภาคภูมิใจคือเป็นผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพของไทยเราเอง” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว
 ศ.ดร.สมศักดิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของป่าเขตร้อน สามารถพบหอยทากบกหลายประเภทที่มีความโดดเด่น ขณะเดียวกันในช่วง ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบหอยทากไทยที่เป็นชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด อาทิ หอยมรกต (Amphidromus classiarius) และหอยบุษราคัม (Amphidromus principalis) หอยสองชนิดนี้ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความหมายทั้งในเชิงวิชาการทางวิวัฒนาการและความงาม
 ขอบคุณ : บีบีซีไทยเรียบเรียง และภาพจากศูนย์วิจัยที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และสปาหอยทากที่เชียงใหม่
ที่มา: khaosod

อัพเดทล่าสุด