เทรนด์โรคเสี่ยงแห่งปี 58


1,058 ผู้ชม


เทรนด์โรคเสี่ยงแห่งปี 58

ทุกคนล้วนมีเส้นทางชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บ้างก็ร่ำรวยตั้งแต่กำเนิด อาศัยอยู่บนรากฐานของความสะดวกสบาย แต่อีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกกำหนดให้ดำเนินชีวิตด้วยความยากบาก บางคนสุขภาพดีแข็งแรงสมบูรณ์มาแต่กำเนิด หรือบางคนอาจป่วยเจ็บมาตั้งแต่เกิด อย่างไรก็ตามทุกคนมีสิทธิ์รู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมรับมือได้เท่าๆ กัน

ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยให้รางวัลกับตัวเอง อย่าลืมหมั่นออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการติดตามข่าวสารด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เรารู้เท่าทันโรคใหม่ๆ โดยเฉพาะโรคเสี่ยงในปี 2558 ใน 3 กลุ่ม ที่สำคัญที่ นิตยสาร Hospital healthcare คัดมานำเสนอในฉบับนี้

- โรคติดเชื้อ

เชื้อโรคต่างๆ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อ และในปัจจุบันเชื้อโรคบางชนิดได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นเชื้อชนิดใหม่หรือที่เรียกว่า "โรคอุบัติใหม่" มีต้นตอมาจากสัตว์ที่แพร่เชื้อมาสู่คน กระทั่งพัฒนาเป็นการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในชุมชน อย่างเช่น โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ติดต่อจากสัตว์สู่คนด้วยการสัมผัสสัตว์ในขณะชำแหละสัตว์ที่ตาย หรือรับประทานเนื้อสัตว์ทั้งดิบและสุก และสามารถติดต่อจากคนสู่คนด้วยการสัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อสารคัดหลั่ง อาทิ น้ำเหลือง น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เป็นต้น

ขณะที่โรคเดิมๆ ที่รู้จักกันอยู่แล้ว เคยแพร่ระบาดในอดีต แต่กลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง หรือ "โรคอุบัติซ้ำ" จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้รักษายากขึ้น และดื้อยามากขึ้น เหล่านี้พบว่ามีปัจจัยมาจากพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป การคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย ผู้คนสามารถเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างสะดวก การค้าสัตว์ป่า การทำลายระบบนิเวศ รวมถึงสภาวะโลกร้อน ที่เพิ่มโอกาสการส่งผ่านเชื้อโรคชนิดใหม่ๆ ได้มากขึ้น

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ระบุว่า สำหรับโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ที่ต้องเฝ้าระวังในไทยอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงนี้ ประกอบด้วย 1.โรคไข้กาฬหลังแอ่น 2. โรคไข้เลือดออก 3. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา 4.โรคไข้หวัดนก 5.ไข้เหลือง 6.โรคชิคุนกุนยา 7.โรคมือเท้าปาก 8.โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสซูอิส 9.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) 10.โรคทูลารีเมีย 11. โรคเมลิออยโดซิส 12.โรคลิชมาเนีย และ13.โรควีซีเจดี หรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่ ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้รู้ว่าประเทศเรายังคงมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำอยู่เสมอ และอาจกลายเป็นโรคที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น หากประชากรไม่ร่วมมือกันป้องกัน ดูแลสุขภาพของตนเอง และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด

- โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กำลังเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและในไทย โดยกลุ่มโรคที่จัดอยู่ในขั้นวิกฤต มี 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง กลุ่มโรคดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หรือเกิดจากเชื้อโรค หรือติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี ตัวนำโรค(พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่างๆ แต่อย่างใด แต่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมสุขภาพ อาทิเช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา บริโภคอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พักผ่อนไม่เพียงพอ และมีความเครียด

จากสถิติผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ในปี 2552 พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด 63% เกิดจากกลุ่มโรค NCDs ซึ่งเป็นประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนาถึง 80% ขณะที่ไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคในกลุ่มนี้ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 3 แสนคน หรือคิดเป็น 73% ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด และมากกว่าครึ่ง เสียชีวิตก่อนอายุ 60ปี ทั้งนี้แม้ว่าค่าสถิติการป่วยและการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs จะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงได้ ก็จะสามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นหนึ่งในผู้ป่วยกลุ่มโรคNCDs มากถึง 80% ลดโอกาสในการเป็นมะเร็งได้ 40% โรคหลอดเลือดและหัวใจ และโรคเบาหวานประเภทที่2 ได้ถึง 80%

- สุขภาพจิต

นอกจากโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแล้ว เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวังก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อสุขภาพจิต ซึ่งหลายคนมักมองข้ามว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่มีกันในชีวิตประจำวัน แต่รู้หรือไม่ว่าผลกระทบด้านจิตใจเป็นบาดแผลภายในใจที่ยากจะลบเลือน และกระตุ้นให้ปรากฏอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ มีปัญหาในการนอน เหนื่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง

อาการทางจิตใจ เช่น เครียด ซึมเศร้า สิ้นหวัง หวาดระแวง อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย นึกภาพของความรุนแรงนั้นซ้ำๆ คิดฆ่าตัวตาย และอาการทางพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว พูดคนเดียว ไม่สนใจตนเองและสิ่งแวดล้อมเดินเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมาย เก็บตัว ติดเหล้า ติดยา อาการเหล่านี้หากปล่อยให้สะสมเป็นเวลานาน สามารถส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์แปรปรวน โรควิตกกังวล โรคประสาท โรคจิตเภทตามมาได้ในอนาคต

จวบจนวันนี้แม้ว่าเราจะยังไม่มีใครคอยดูแล หรือเข้าใจถึงสภาวะจิตใจก็ตาม แต่เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองได้ด้วยการหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ รวมถึงสามารถตรวจสุขภาพของตัวเองได้อยู่เสมอ เพราะการที่เรามีสุขภาพที่ดี เราก็ย่อมจะเป็นผู้ที่มีชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน

ที่มา: women.sanook.com

อัพเดทล่าสุด