มาดูแลฟันกัน...ทำไม?? เลือดออกตามไรฟัน


1,009 ผู้ชม


มาดูแลฟันกัน...ทำไม?? เลือดออกตามไรฟัน

ฟัน ส่วนที่แข็งที่สุดของร่างกาย เป็นปราการด่านแรกในการบดเคี้ยวอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย สุขภาพช่องปาก จึงต้องดูแลให้แกร่งกล้าต่อการกินอย่างมีคุณภาพ แต่ถ้ามีสิ่งบอกเหตุกับปากด้วยมีเลือดไหลออกซอกฟัน นั่นเป็นเรื่องที่เรานิ่งนอนใจไม่ได้แล้ว ก่อนจะเกิด เหงือกจ๋า ฟันลาก่อน
การที่มีเลือดออกตามไรฟันเป็นประจำ และพบว่าเมื่อน้ำลายผสมกับเลือดมีกลิ่นรุนแรงมากทุกเช้า ทั้งๆ ที่มีการแปรงฟันก่อนเข้านอน ทั้งยังพบว่าเหงือกยังเป็นสีม่วง และเห็นเป็นลักษณะของเส้นเลือดนั้น ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์และหินปูน (หรือหินน้ำลาย) ถ้ามีการสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ ตัวฟัน เนื้อเยื่อรอบตัวฟันนี้ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ และกระดูกเบ้าฟัน อาการทั้งหมดที่บอกเล่ามาในข้างต้นนี้ เป็นอาการของโรคปริทันต์ ซึ่งคนในสมัยก่อนมักจะเรียกว่าเป็น โรคเหงือก หรือ โรครำมะนาด

ปริทันต์ระยะแรก
โรคปริทันต์เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่มีภาวะของเหงือกอักเสบเรื้อรังมานาน โดยเริ่มต้นจากคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้นบนตัวฟัน โดยเฉพาะบริเวณใกล้ขอบเหงือกและเข้าไปในร่องเหงือก จึงทำให้เกิดการอักเสบของเหงือก ซึ่งจะมีลักษณะบวมและมีสีแดง (โดยปกติเหงือกจะมีสีชมพูซีด และรัดแน่นรอบตัวฟัน) การอักเสบจะทำให้เหงือกไม่รัดแน่นกับตัวฟัน ทำให้จุลินทรีย์สามารถเข้าไปในร่องเหงือกได้ง่ายขึ้น และทำอันตรายมากขึ้น ร่างกายของเราจะทำการต่อสู้กับเชื้อโรคโดยการส่งเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายใหญ่ขึ้น เหงือกจึงมีลักษณะบวมและแดง ดังนั้น เมื่อโดนแปรงสีฟันหรือมีแรงกดเพียงเบาๆ ก็สามารถทำให้เลือดออกได้

การเดินทางของโรค
เหงือกอักเสบระยะแรกมักเกิดจากการแปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือไม่ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีทุกวัน จนเกิดการสะสมของจุลินทรีย์บริเวณขอบเหงือกและร่องเหงือก คราบจุลินทรีย์ คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่มที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน ไม่สามารถกำจัดออกโดยการบ้วนน้ำ กระบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นจากกการแปรงฟันแล้ว 2 – 3 นาที โดยมีเมือกเหนียวๆ ของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน
จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่ประจำในช่องปากจะมาเกาะและเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ และเชื้อโรคจะเพิ่มความรุนแรงของโรคมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการดำเนินของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ นานเข้าจุลินทรีย์จะจับหนาและแข็งตัวจนเปลี่ยนเป็นหินปูน และอาการของโรคก็หนักมากขึ้น จนกระทั่งเกิดการทำลายของเนื้อเยื่อรอบๆ ตัวฟัน
เมื่อเหงือกบริเวณรอบตัวฟันไม่รัดแน่น ร่องเหงือกก็จะลึกมากขึ้น เรียกว่า เกิดร่องลึกปริทันต์ และลักษณะของเหงือกจะบวมมากขึ้น และมีสีแดงคล้ำหรือสีแดงอมม่วง การรักษาในระยะนี้ควรรีบมาพบทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยการขูดหินปูนร่วมกับการเกลารากฟัน ถ้าปล่อยไว้จนอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟันไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเกิดการสูญเสียกระดูกเบ้าฟันไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของรากฟัน ผู้ป่วยอาจสูญเสียฟันซี่นั้นไปได้
เมื่อมีการละลายตัวของกระดูกเบ้าฟัน ร่องลึกปริทันต์ก็จะลึกมากขึ้นไปทางปลายรากฟัน การสะสมของตัวเชื้อโรคในร่องลึกปริทันต์ก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื้อโรคพวกนี้อาจทำให้เกิดหนองในร่องลึกปริทันต์ ทำให้เกิดกลิ่นปาก โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนน้ำลายจะออกน้อย ทำให้ปากค่อนข้าแห้ง

การรักษา
หากมีอาการของโรคเกิดขึ้นแล้ว เช่น มีเลือดออกจากเหงือก เหงือกบวม มีหนองไหลซึมออกจากขอบเหงือก ฟันโยกและเจ็บ การขูดหินปูนอย่างเดียวร่วมกับการแปรงฟันให้สะอาด อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้โรคหายได้ การรักษาอาจยุ่งยากมากขึ้น เช่น ต้องเกลารากฟัน หรืออาจต้องผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี แล้วแต่ความแรงของโรค
อย่างไรก็ตาม การรักษาแม้เสร็จสิ้นเรียบร้อยจนหายเรียบร้อยแล้ว หากมีหารดูแลความสะอาดใสช่องปากไม่ดีเกิดขึ้นอีก โรคก็อาจกลับและรุนแรงหนักขึ้น จนอาจต้องถอนฟันทิ้งก็ได้

เคล็ดฟันไม่ลาเหงือก

 
1.
ควรแปรงฟันอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ในแต่ละวัน เพื่อขจัดหรือลดคราบจุลินทรีย์
 
2.
พบหมอตรวจช่องปากทุก 6 เดือน
 
3.
หากมีอาการหนัก ควรพบหมอฟันที่ชำนาญเฉพาะทาง คือ ทันตแพทย์โรคปริทันต์ จะช่วยให้โรคไม่ลุกลามมาก
ที่มา: yourhealthyguide.com

อัพเดทล่าสุด