ขมิ้นชัน สมุนไพรไทย ครบเครื่องเรื่องประโยชน์


1,157 ผู้ชม


ขมิ้นชัน สมุนไพรไทย ครบเครื่องเรื่องประโยชน์

ขมิ้นชัน สมุนไพรสีเหลือง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
          นอกจากสีสันและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว รู้หรือไม่ว่าเจ้าขมิ้น สมุนไพรสีเหลืองนี้ ยังมีประโยชน์อีกมากเลยเชียวล่ะ
          ขมิ้น สมุนไพรโบราณที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นสมุนไพรที่มีสีสันสดใส รวมทั้งกลิ่นของขมิ้นที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้คนนิยมนำมาใช้ในการปรุงอาหาร และถูกนำไปเป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอางประทินผิวพรรณต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนอกจากเราจะรู้จักมันดีในฐานะสมุนไพรไทยใกล้ครัวแล้ว เจ้าขมิ้นสีเหลืองสดนี้ยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคมายาวนานกว่า 5,000 ปี  และที่สำคัญการบริโภคขมิ้นชันก็ยังส่งผลดีกับสุขภาพของเราอีกด้วยล่ะ สงสัยกันแล้วใช่ไหมคะว่ามันมีประโยชน์อย่างไรกับสุขภาพของเราบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอนำตัวอย่างของคุณประโยชน์จากข้อดีที่มีมากมายของขมิ้นมาฝากกันจากเว็บไซต์ huffingtonpost.com มาเล่าสู่กันฟังค่ะ ขอบอกเลยว่าเจ้าขมิ้นนี้ประโยชน์ของมันยอดเยี่ยมพอ ๆ กับสีสันที่จัดจ้านของมันเลยล่ะ
 บรรเทาอาการกดไหลย้อนและท้องไส้ปั่นป่วน
          ในการศึกษาปี 1989 (พ.ศ. 2532) พบว่าอาหารเสริมที่มีขมิ้นเป็นส่วนผสมมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการกรดไหลย้อนและท้องไส้ปั่นป่วนได้มากกว่ายาแป้ง หรือยาหลอก (Placebo) นั่นก็เพราะว่าต้นของขมิ้นมีสารชนิดหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ในการช่วยต่อสู้กับอาการอักเสบได้นั่นเอง
ขมิ้นชัน สมุนไพรสีเหลือง

 ช่วยป้องกันการหัวใจวาย
          เคอร์คูมิน (Curcumin) เป็นสารที่ทำให้ขมิ้นมีสีเหลืองสด ซึ่งเจ้าสารชนิดนี้นอกจากจะมีสีสันสดใสแล้วยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วยเพราะในการศึกษาปี 2012 พบว่า สารเคอร์คูมินช่วยป้องการเกิดโรคหัวใจวายได้ โดยในการศึกษาได้ติดตามอาการของผู้ป่วยโรคหัวใจที่ทำการบายพาสหัวใจในระหว่างปี 2009 - 2011 พบว่า ผู้ป่วยที่รับประทานขมิ้นแคปซูลในช่วง 3 วันก่อนผ่าตัดจนถึง 5 วันหลังผ่าตัดมีอาการหัวใจวายเพียง 13% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รับประทานยาแป้งซึ่งมีอาการหัวใจวายถึง 30% นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รับประทานขมิ้นแคปซูลยังมีความเสี่ยงหัวใจวายลดลงถึง 65% อีกด้วย
 ชะลอการเกิดโรคเบาหวาน
          มีการศึกษาพบว่าขมิ้นช่วยชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ โดยในการศึกษาได้ให้กลุ่มตัวอย่างที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวานรับประทานอาหารเสริมที่มีสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในขมิ้น ติดต่อกันเป็นเวลา 9 เดือนโดยพบว่ามีเพียงแค่ 16% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นก็เป็นเพราะว่าในสารเคอร์คูมินที่อยู่ในขมิ้น มีคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยต่อต้านอาการอักเสบได้อีกด้วย
 ช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็ง
          แม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับขมิ้นในมนุษย์เพิ่งจะเริ่มต้น แต่ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการซึ่งทดลองกับสัตว์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสารเคอร์คูมินมีความสามารถในการต่อสู้และป้องกันมะเร็ง โดยไปรบกวนการพัฒนาของเซลล์มะเร็งรวมทั้งยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย นอกจากนี้สมาคมมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกายังพบอีกว่าเจ้าสารเคอร์คูมินยังช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้เนื้องอกหดตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเคมีบำบัดอีกด้วย
ขมิ้นชัน สมุนไพรสีเหลือง

 ช่วยป้องกันสมองจากความเสียหาย
          การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่าน้ำมันหอมระเหยในขมิ้นมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมสเต็มเซลล์ในสมอง โดยการศึกษาได้แสดงให้เห็นผลกระทบที่เกิดกับสเต็มเซลล์ที่อยู่ในหนูซึ่งเป็นสเต็มเซลล์ชนิดเดียวกับที่มีในสมองมนุษย์ โดยสเต็มเซลล์เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสมองจากโรคเกี่ยวกับระบบประสาท อย่างเช่นโรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาปี 2008 ยังพบว่าสารเคอร์คูมินยังช่วยฟื้นฟูความทรงจำของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย
 ช่วยลดอาการปวดตามข้อได้
          เคอร์คูมินเป็นสารที่อยู่ในขมิ้นซึ่งช่วยต่อต้านอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีการศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่าการรับประทานขมิ้นช่วยให้ผู้ที่่มีอาการปวดตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย หรือเป็นโรคไขข้ออักเสบมีอาการลดลงได้ เพราะสารในขมิ้นนั้นจะทำหน้าที่เช่นเดียวกับยา ibuprofen ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการปวดได้
          ถึงแม้ว่าขมิ้นจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพเพียงใด แต่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้ทำการรับรองให้ขมิ้นเป็นอาหารเสริมเช่นเดียวกับอาหารเสริมชนิดอื่น ๆ เนื่องจากขมิ้นอาจมีผลข้างเคียงกับผู้ใช้ยาบางชนิดได้ นอกจากนี้ขมิ้นยังมีส่วนในการชะลอการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการรับประทานขมิ้น และควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะนำขมิ้นมารับประทานด้วยนะคะ
          สมุนไพร ขึ้นชื่อว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายก็จริงแต่ก็ควรใช้ให้เหมาะสม และควรศึกษาผลข้างเคียงให้ดี เพราะบางทีการนำสมุนไพรมาใช้โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของมันต่อสุขภาพก่อน แทนที่มันจะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ หรือรักษาโรคได้ ก็อาจจะทำให้สุขภาพของเราแย่ลงได้ คราวนี้ล่ะ ที่จะหายป่วยก็ไม่หาย แต่ยังป่วยหนักขึ้นกว่าเดิม ไม่รู้ด้วยนะ 

ที่มา: health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด