จริงหรือ?? โทงเทง สมุนไพรไทยหยุดการอักเสบในลำคอ


  จริงหรือ?? โทงเทง สมุนไพรไทยหยุดการอักเสบในลำคอ

    โทงเทง
    โทงเทง หยุดการอักเสบในลำคอ 
              ไปเดินดูผลไม้ในห้างสรรพสินค้า สะดุดตากับผลไม้ที่ใส่กล่องใสไว้ หยิบดูก็รู้เป็นโทงเทง เพียงแต่สงสัยว่าทำไมลูกใหญ่จัง พอพลิกดูชื่อข้างกล่องเขียนไว้ว่า "เคปกูสเบอรี่" แสดงว่าต้องเป็นพืชพันธุ์ต่างประเทศแน่นอน ลองไปค้นข้อมูลก็พบว่า เจ้าผลไม้ที่ว่า เขาเรียกโทงเทงฝรั่ง ก็ถึงบางอ้อ ! 
        
              สำหรับเจ้าโทงเทงฝรั่งนี้จัดเป็นพืชในตระกูลเดียวกับพริก มะเขือ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ พิทูเนีย มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้แถบประเทศเปรู ชิลี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis Peruviana L. เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าอุดมไปด้วยวิตามินซี ที่มีคุณสมบัติป้องกันไข้หวัด ภูมิแพ้ วิตามินเอป้องกันอาการตาบอดในที่มืด ทำให้สายตาดี ผิวพรรณสวย ผมสวยดกดำ ตอนนี้มีการนำมาปลูกเป็นผลไม้เมืองหนาวขายกันแล้ว ทราบว่าในเมืองไทยแถวดอยอินทนนท์ก็มีการปลูกเพื่อจำหน่ายเหมือนกัน

              พอหันกลับมาดูโทงเทงไทย จะพบเห็นขึ้นอยู่ตามข้างทางทั่วไป จัดเป็นพวกวัชพืชที่ไม่ใคร่มีใครรู้คุณค่า เคยพบข้างทางเดินกลับบ้าน เล็งไว้แล้วว่าลูกใกล้สุกเมื่อไหร่เธอเสร็จฉันแน่ แต่พอวันใหม่กะว่าจะไปเมียงมองดูว่ายังอยู่สบายดีหรือเปล่า กลับไม่พบต้นหญ้าและเจ้าโทงเทงแถวนั้นสักตนเลย..เลียบเตียน..สวยงามและสะอาด ต้องปรบมือให้กับความขยันของเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดของเขตที่ขยัน แต่มันกลับทำให้เจ้าต้นโทงเทงของฉันหายวับไปหมด
    โทงเทง
        
              ครั้งแรกที่ได้ลิ้มรสลูกโทงเทงต้องยอมรับว่ารสชาติดีมาก อร่อยและหอมด้วย ที่สำคัญโทงเทงจัดเป็นยาสมุนไพรที่มีประโยชน์มาก ชาวจีนจะปลูกยาตัวนี้เก็บไว้ใช้ประโยชน์ แต่สำหรับหมอไทยก็เก็บเอาจากที่รกชัฏข้างทางไปใช้ได้เพราะมีขึ้นเยอะแยะ แต่พักหลังพวกวัชพืชมักถูกทำลายไปมากจึงไม่ค่อยได้พบโทงเทงมากเท่าไร
        
              ประโยชน์ที่สำคัญของโทงเทงคือ ใช้รักษาอาการทอนซิลอักเสบ หมอพื้นบ้านใช้ทั้งต้นตำให้แหลกละลายกับสุรา เอาสำลีชุบเอาน้ำยาใช้อมไว้ข้างแก้ม กลืนน้ำผ่านลำคอทีละนิด แก้ทอนซิลอักเสบ หรือที่เรียกว่าต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ฝีในคอ ใช้แก้อาการอักเสบในลำคอได้ดี หรือคนที่แพ้แอลกอฮอล์ก็ใช้ละลายกับน้ำส้มสายชูแทน ใช้ภายในแก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ภายนอกแก้ฟกบวมอักเสบทำให้เย็น
                  โทงเทงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น อาทิ โทงเทง โคมจีน เผาะแผะ ทุ้งทิ้ง มะก่องเช้า ตุ้งติ้ง ต็งอั้งเช้า ทุงทิง โคมญี่ปุ่น ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ คือ Physalis minima Linn. วงศ์ Solanaceae เป็นสมุนไพรเล็ก ๆ จำพวกหญ้า ต้นสูงประมาณครึ่งฟุตถึง 2 ฟุต ใบกลมคล้ายใบพิมเสน แต่เล็กกว่าและบางกว่ามาก ดอกสีเหลือง ผลกลมพองเหมือนโคมจีนปลายแหลม โตประมาณเท่าลูกพุทราเขื่องๆ งามน่าดู มีขึ้นอยู่ตามที่ชุ่มชื้น และรกร้างว่างเปล่าทั่ว ๆ ไป
    โทงเทง

    พอค้นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีรายงานทางคลินิกของโทงเทง พบว่า
               แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ทั้งต้นแห้งหนัก 500 กรัม ผสมน้ำเชื่อมให้มีปริมาณ 500 ซีซี รับประทานครั้งละ 50 ซีซี วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร 10 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา กินติดต่อกัน 3 รอบ แต่ละรอบพัก 3 วัน จากการรักษาคนไข้ 50 ราย ได้ผล 39 ราย อาการดีขึ้น 10 ราย ไม่เห็นผล 1 รายจากการรักษาโรคไอมีเสมหะ หอบ หืด ได้ผลค่อนข้างดี ระยะเวลาของการรักษาโดยเฉลี่ย 3-6 วัน ยกเว้น 1 ราย ที่รักษาถึง 20 วัน ในระหว่างการรักษาคนไข้บางคน มีอาการรู้สึกใจคอไม่ค่อยดี อึดอัด เวียนหัว นอนไม่หลับ เหล่านี้เป็นอาการข้างเคียงของยานี้ หลังจากรักษา 1-5 วัน อาการเหล่านี้ก็จะหายไปเอง มีคนไข้รายหนึ่งกินต้นนี้สด ๆ หนัก 750 กรัมในเวลา 2 วัน ก็ไม่ปรากฏอาการเป็นพิษแต่อย่างใด
       
              แก้ดีซ่าน ใช้ทั้งต้น 2 ต้น ต้มน้ำ คั้นเอาน้ำข้นๆ มาผสมน้ำตาลพอสมควร ให้รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง บางคนรับประทาน 10-15 ครั้ง ก็หายตัวเหลือง
        
              แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ใช้ต้นนี้สดๆ (หรืออย่างแห้งก็ใช้ได้) 3 หัว แผ่น ฝักชุบน้ำตาล 2 แผ่น ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือครึ่งถ้วย รับประทานครั้งเดียวหมด เด็กก็รับประทานลดลงตามส่วน จากการรักษาคนไข้ร้อยกว่าราย บางคนรับประทาน 4-10 ครั้งก็หาย บางคนรับประทานติดต่อกันถึง 2 เดือนจึงหาย
              ในตำรายาสมุนไพรไทยได้บันทึกสรรพคุณโทงเทงไว้ว่า มีสรรพคุณแก้โรคเบาหวาน แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้บิดมีตัว แก้พิษ ขับพยาธิในลำไส้ แก้ฟกช้ำ แก้ปวดหู แก้บวมน้ำ ยาระบาย ใช้ทั้งต้น รักษาดีซ่าน ไอหืดเรื้อรัง แผลมีหนอง เจ็บคอ ส่วนราก ใช้ขับพยาธิ รักษาโรคเบาหวาน 

              ช่วงนี้อากาศทางภาคเหนือและอีสานกำลังเดินเข้าสู่ความหนาวเย็น ตามโรงพยาบาลแน่นขนัดด้วยคนไข้ที่มีอาการโรคไข้หวัด โรคภูมิแพ้ เรียกว่าโรคในระบบทางเดินหายใจนำหน้ามาลิ่วเพื่อช่วยลดภาระของแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เราทุกคนต้องดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่น รับประทานอาหารที่ปรุงด้วยผัก-ผลไม้ที่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงและครอบครัวที่มีเด็กและผู้สูงวัยต้องใส่ใจใกล้ชิดให้มากขึ้นนะคะ


ที่มา: health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด