โรคภัย การแพทย์ โรคตาปลา ตาปลา การรักษาโรคตาปลา Corns


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ผิวหนัง  ระบบโรคผิวหนัง 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ก้อนเนื้อ 

บทนำ

โรคตาปลา (Corns) เป็นโรคที่เนื้อเยื่อชั้นบนของผิวหนังมีการหนาตัวและนูนขึ้นมาเป็นตุ่มเล็กๆ และมักมีอาการเจ็บ พบบ่อยบริเวณมือและเท้า โรคนี้เกิดจากมีการเสียดสีเรื้อรังของผิวหนัง จึงไม่ใช่โรคติดต่อ ซึ่งแตกต่างจากโรคหูด หากตาปลาชนิดมีจุดที่กดแข็งอยู่ตรงกลางตุ่มนูนจะเรียกชื่อว่า Corns หรือ Clavus หรือ Heloma แต่หากชนิดไม่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางจะเรียกว่า Callus หรือ Tyloma ซึ่งโรคตาปลาทั้งสองชนิดมีวิธีรักษาให้หายได้หลายวิธี

โรคตาปลาเป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ในคนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย แต่พบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่น

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคตาปลา?

สาเหตุของโรคตาปลาเกิดจากการที่ผิวหนังถูกเสียดสีหรือถูกกดทับกับสิ่งต่างๆ บ่อยๆ และเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของเรา หรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกายเองก็ได้

สาเหตุจากการกระทำของเรา หรือสาเหตุจากภายนอก (Extrinsic factor) ได้แก่ การใส่รองเท้าที่คับและแน่นเกินไป หรือไม่ใส่รองเท้าเวลาเดิน ใช้มือทำงานบางอย่างบ่อยๆ เป็นเวลา นาน เช่น ร้อยพวงมาลัยและใช้นิ้วมือถูกับเข็มร้อยมาลัยบ่อยๆ เขียนหนังสือมากหรือออกแรงใช้นิ้วกดทับดินสอ/ปากกา หิ้วถุงหนักๆโดยใช้นิ้วมือ เป็นช่างตีเหล็ก ช่างเจาะ ช่างขุด เป็นนักกี ฬายิมนาสติก เด็กทารกที่มีการดูดนิ้วมือตัวเองบ่อยๆ ก็อาจพบได้ เป็นต้น

สาเหตุจากความผิดปกติของร่างกาย หรือสาเหตุจากภายใน (Intrinsic factor) ได้แก่ มีเท้าผิดรูป ทำให้เวลาเดิน บางตำแหน่งของเท้าจะรับน้ำหนักและถูกกดทับมากกว่าปกติ หรือมีความผิดปกติมีปุ่มกระดูกยื่นหรือนูนออกมา ทำให้เกิดการเสียดสีเวลาใช้งานได้ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ ซึ่งจะมีข้อนิ้วมือผิดรูป ทำให้การใช้งานไม่เป็นปกติ มีการเสียดสีบางตำแหน่งมากเกินไป หรือ การเป็นโรคอ้วน ก็จะทำให้เท้ารับน้ำหนักมากเกินไป เกิดแรงกดทับบางตำแหน่งมากกว่าปกติ เป็นต้น

โรคตาปลามีอาการอย่างไร?

เนื่องจากมือและเท้าเป็นอวัยวะที่ใช้งานบ่อย รวมทั้งมีการเสียดสีและถูกกดทับได้บ่อย ครั้ง จึงเป็นตำแหน่งที่มักจะพบโรคตาปลา แต่บริเวณอื่นๆที่อาจพบเกิดตาปลาได้ เช่น บริเวณขา และหน้าผาก พบได้ในชาวมุสลิมที่สวดมนต์โดยการคุกเข่าและใช้หน้าผากกดกับพื้นเป็นประจำ เป็นต้น

  1. โรคตาปลาที่เรียกว่า คอร์น (Corns) ตาปลาชนิดนี้จะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง (เรียกว่า Central core, Nucleus หรือ Radix) ซึ่งเกิดจากผิวหนังชั้นบน สุดของหนังกำพร้า (Epidermis) ที่เรียกว่า Stratum corneum มีการหวำตัวลงไป และทำให้ชั้นของขี้ไคล (เคราติน/Keratin) ซึ่งเกิดจากการลอกตัวของผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้านี้ มีการสะสมอัดแน่นจนไปกดเบียดชั้นผิวหนังแท้ซึ่งมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บนั่นเอง แบ่งตาปลาชนิดคอร์นออกได้เป็นอีก 2 ชนิดย่อย คือ
    • ตาปลาชนิดแข็ง (Hard corn หรือ Heloma durum) พบบ่อยสุดที่ในบริเวณด้านข้างของนิ้วก้อยเท้า เป็นตาปลาที่ค่อนข้างแข็ง มีผิวแห้ง เป็นขุย แต่มีความวาวเหมือนขี้ผึ้ง เมื่อใช้มีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบางๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งสีออกใสๆ ขนาด 1-2 มิลิเมตร (มม.)อยู่ตรงกลางของตุ่ม
    • ตาปลาชนิดอ่อน (Soft corn หรือ Heloma molle) พบบ่อยสุดที่ง่ามนิ้วระหว่างนิ้วก้อยและนิ้วนางของเท้า เป็นตาปลาที่นุ่มกว่า มีผิวชุ่มชื้นและมักจะมีการลอกตัวออกของผิวเสมอ หากใช้มีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบางๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกัน
  2. โรคตาปลาที่เรียกว่า คัลลัส (Callus) ตาปลาชนิดนี้จะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังแบบที่ไม่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง พบบ่อยบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าบริเวณใกล้ๆกับนิ้วเท้า อาจจะมีอาการเจ็บหรือไม่มีก็ได้ ขอบเขตของตุ่มนูนในตาปลาชนิดนี้จะไม่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากตาปลาชนิดคอร์น ที่จะมีขอบเขตชัดเจน

แพทย์วินิจฉัยโรคตาปลาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคตาปลาได้จาก อาการและการตรวจรอยโรคเป็นหลัก ที่สำคัญคือ จะ ต้องแยกออกจากโรคหูดที่ผิวหนังเป็นตุ่มนูนแข็งดูคล้ายๆกันได้ แต่สาเหตุและการรักษาแตก ต่างกัน ซึ่งทดสอบได้โดยการใช้มีดเฉือนตุ่มนูนออกบางๆ หากพบจุดดำๆ ซึ่งเป็นจุดเลือดออกเล็กๆ จากเส้นเลือดฝอย ตุ่มนูนชนิดนี้ก็เป็นหูดไม่ใช่ตาปลา นอกจากนี้ถ้าเป็นตาปลา ผู้ป่วยจะเจ็บเมื่อใช้มือกดตรงๆลงไปที่ตุ่มนูน แต่ถ้าเป็นหูด เมื่อกดจากด้านข้าง 2 ข้าง จึงจะเจ็บ การซักประวัติอาชีพการทำงาน หรือกิจกรรมที่ทำเป็นประจำก็จะช่วยในการวินิจฉัยโรคตาปลาได้

สำหรับการวินิจฉัยแยกตาปลาชนิด คอร์น กับ คัลลัส ออกจากกันนั้น ทำได้โดยการใช้มีดเฉือนตุ่มนูนออกบางๆเช่นกัน โดยชนิด คอร์น จะพบจุดแข็งอยู่ตรงกลาง แต่ชนิด คัลลัส จะไม่มีจุดแข็งตรงกลาง นอกจากนี้ผิวของชนิด คัลลัส ยังพบลายเส้นของผิวหนังเป็นปกติ ใน ขณะที่ผิวของชนิด คอร์น จะไม่พบลายเส้นของผิวหนัง การแยกตาปลา 2 ชนิดนี้อาจไม่มีความ จำเป็นมากนัก เนื่องจากไม่มีผลต่อการรักษา

ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัยแยกกับโรคหูด หรือโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ ที่มีตุ่มนูน เช่น ตุ่มนูนเกิดในตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่น่าเป็นตาปลาได้ หรือมีตุ่มนูนหลายตุ่ม เป็นต้น อาจต้องอาศัยการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยถ้าเป็นตาปลาชนิด คอร์น จะพบผิว หนังชั้นหนังกำพร้ามีการหนาตัวขึ้น โดยที่บริเวณตรงกลางของตุ่มนูน ผิวหนังชั้นบนสุด (Stratum corneum) จะมีการหวำตัวลงไป ส่วนตาปลาชนิด คัลลัส จะไม่พบการหนาตัวของผิวหนังชั้นหนังกำพร้า แต่จะพบชั้นขี้ไคลมีการหนาตัวมากขึ้น

เมื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นตาปลาได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ต้องหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดตาปลาขึ้น ได้แก่ การซักประวัติอาชีพการทำงาน กิจกรรมที่ทำเป็นประจำ การตรวจดูรูปร่างของมือ หรือเท้าว่ามีรูปร่างผิดปกติ มีกระดูกยื่นออกมาผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจต้องอาศัยการเอกซเรย์ เพื่อดูรูปร่างกระดูก นอกจากนี้อาจใช้วิธีการตรวจดูการรับน้ำหนักของเท้าขณะเดิน ที่เรียกว่า Pedobarography

โรคตาปลามีผลข้างเคียงจากโรคและมีความรุนแรงอย่างไร?

ตาปลาเป็นโรคไม่รุนแรง ไม่ทำให้เสียชีวิต เพียงก่ออาการเจ็บเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง และผลข้างเคียงจากโรคตาปลา คือ

  1. ตาปลาที่มีอาการเจ็บทำให้ทำงานได้ไม่สะดวก เดินไม่คล่องตัว
  2. ตาปลาชนิด Soft corn ที่ผิวหนังมีการลอกตัว จึงอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เป็นโรคเบาหวาน หรือเมื่อเป็นโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (ส่วนของแขน ขา)
  3. ผู้ป่วยที่รักษาโดยการเฉือนตาปลาออกเอง อาจพลาดเฉือนเอาผิวหนังที่ปกติออกจนเลือดออกและกลายเป็นแผล ทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นมาได้

มีแนวทางการรักษาโรคตาปลาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคตาปลา แบ่งออกเป็น การรักษาตาปลาที่กำลังเป็นอยู่ และการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลา

  1. การรักษาตาปลา โดยการใช้ใบมีดโกนหรือมีดผ่าตัดเฉือนตุ่มตาปลาออก โดยหากเฉือนได้ถูกต้อง เลือดจะไม่ออก และอาจใช้ยาในรูปแบบทา รักษาร่วม หรือหากตาปลามีขนาดเล็ก เพิ่งเป็นมาไม่นาน อาจใช้ยาทารักษาอย่างเดียวก็ได้ โดยยาสำหรับทามีอยู่หลายชนิด ยาเหล่านี้จะไปทำให้ชั้นผิวหนังของตาปลานิ่มลงและค่อยๆหลุดลอกออกไปเอง ชนิดของยา เช่น Salicylic acid, Ammonium lactate และ Urea รวมถึงวิตามินเอในรูปแบบทา ซึ่งวิตา มินเอจะไปช่วยให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเป็นไปอย่างปกติ

    นอกจากนี้ ยังมีวิธีต่างๆ ที่ช่วยทำให้ตาปลานิ่มลง และง่ายต่อการเฉือนออก ได้แก่ การแช่มือหรือเท้าที่เป็นตาปลาในน้ำอุ่น และอาจใช้หินสำหรับขัดตัว ถูบริเวณตาปลาที่แข็งมากๆ

  2. การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลา
    • หากเป็นตาปลาที่เท้า ควรเลือกรองเท้าใส่ให้พอดีกับเท้า ไม่รัดแน่นหรือหลวมจนเกิดการเสียดสีได้ ด้านหน้าของรองเท้าต้องไม่บีบนิ้วเท้า ส้นรองเท้าต้องไม่สูงเกินไป พื้นรองเท้าต้องนิ่มแต่ยืดหยุ่น ถุงเท้าที่ใส่ต้องมีความพอดี ไม่รัดแน่น หรือหลวมไปเช่นกัน
    • ผู้ป่วยที่มีตาปลาอยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้า อาจใช้สำลีหรือฟองน้ำบุระหว่างง่ามนิ้วเท้า
    • หากตาปลาอยู่ตรงฝ่าเท้าด้านหน้าใกล้ๆกับนิ้วเท้า อาจเสริมพื้นรองเท้าเหนือส่วนที่เกิดตาปลาเพื่อลดแรงกด
    • หากเกิดจากมีเท้าผิดรูป หรือการลงน้ำหนักของเท้ามีความผิดปกติ อาจเลือกใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับความผิดปกติแต่ละชนิด
    • ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดซิลิโคนเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกยื่นออกมา เพื่อลดแรงเสียดสีและแรงกดผิวหนังตรงปุ่ม หรือแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดก็ได้
    • ผู้ที่อ้วน มีน้ำหนักมาก และมีตาปลาที่เท้า อาจต้องลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดของเท้ากับพื้น
    • ผู้ที่เป็นตาปลาที่มือ ควรใส่ถุงมือเวลาทำงานเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนัง

ดูแลตนเองและป้องกันโรคตาปลาได้อย่างไร?

ผู้ที่เป็นตาปลาสามารถรักษาด้วยตนเองได้ โดยหากจะใช้ใบมีดเฉือนตาปลา ผู้ป่วยต้องเป็นผู้ที่มีประสาทรับความรู้สึกปกติดี เพราะโดยปกติเมื่อเฉือนไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกเจ็บและผู้ป่วยก็จะหยุดเฉือนต่อ แต่หากประสาทรับความรู้สึกไม่ดี เช่น ในผู้ป่วยโรค เบาหวาน อาจเฉือนลึกเกินไปจนเกิดเป็นแผลและเลือดออกได้

สำหรับการป้องกันการเกิดตาปลาต่อไป คือ ต้องหาสาเหตุของการเกิดตาปลา ได้แก่ การสำรวจรองเท้า ถุงเท้าที่ใช้ การใช้งานของมือ และปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป ผู้ที่มีการผิดรูปของมือ หรือเท้า มีปุ่มกระดูกยื่นออกมาผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมถูกต้อง

เมื่อเป็นโรคตาปลาควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคตาปลา ควรพบแพทย์เมื่อ

  1. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคที่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย หรือมีอาการชาตามมือเท้า การสัมผัสรับความรู้สึกน้อยลง โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย หากเป็นตาปลา ควรพบแพทย์เพื่อรักษาตั้ง แต่ต้น เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  2. เมื่อมีอาการบวมแดงรอบๆตาปลาเกิดขึ้น มีอาการปวดมากขึ้น หรือมีน้ำเหลือง หรือหนองไหลออกมาจากตาปลา ซึ่งแสดงว่าได้เกิดการติดเชื้อขึ้น จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจรักษาเพื่อการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม

ที่มา   https://haamor.com/th/ตาปลา/

อัพเดทล่าสุด