เจ็บหน้าอก (Chest pain)


1,238 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

กระเพาะอาหาร  ปอด  หัวใจ  ระบบทางเดินหายใจ  ระบบทางเดินอาหาร  ระบบหัวใจและหลอดเลือด 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

เจ็บหน้าอก 

บทนำ

เจ็บหน้าอก หรือ แน่นหน้าอก หรือ เจ็บแน่นหน้าอก (Chest pain) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค คือ การเจ็บ/ปวดด้านหน้าและด้านในของทรวงอก ไม่ใช่เจ็บ/ปวดส่วนด้านหลังของทรวงอก

อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการพบบ่อยอีกอาการหนึ่ง พบได้ประมาณ 1-2% ของอาการทั้งหมดที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ โดยพบได้ในทุกอายุ แต่พบบ่อยขึ้นในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผู้หญิงและผู้ชาย มีโอกาสเกิดอาการนี้ได้ใกล้เคียงกัน

อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากอะไร?

อาการเจ็บหน้าอกเกิดได้จาก 6 สาเหตุหลัก คือ

  1. จากโรคหัวใจ ที่พบบ่อย คือ จากโรคหลอดเลือดหัวใจ
  2. จากโรคของปอด เช่น โรคปอดบวม ภาวะหลอดเลือดอุดตันในปอด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) และ โรคมะเร็งปอด
  3. จากโรคของอวัยวะในช่องท้อง เช่น โรคกรดไหลย้อน (ไหลกลับ) โรคกระเพาะอาหารอักเสบ มีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย/ธาตุพิการ) ถุงน้ำ ดีอักเสบ และโรคนิ่วในถุงน้ำดี
  4. จากโรคของกระดูกและกล้ามเนื้อลำคอและทรวงอก เช่น โรคกระดูกคอเสื่อม โรคของกล้ามเนื้อหน้าอก หรือโรคกระดูกซี่โครงอักเสบ
  5. จากโรคงูสวัดที่เกิดในส่วนผิวหนังหน้าอก
  6. ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ เช่น เครียด กังวล โกรธ กลัว และ/หรือจากการเรียกร้องความสนใจ

มีอาการอื่นร่วมกับเจ็บหน้าอกไหม?

อาการอื่นๆที่อาจเกิดร่วมกับการเจ็บหน้าอก ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งอาการร่วมเหล่านี้ แพทย์ใช้เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุได้

  • สาเหตุจากโรคหัวใจ อาการมักเป็นการเจ็บแน่น บีบ กลางหน้าอก มักปวดร้าวไปยังไหล่ แขน หรือกรามด้านซ้าย (แต่พบปวดร้าวมาด้านขวาของอวัยวะดังกล่าวได้) หัวใจเต้นเร็ว เบา มีเหงื่อออกมาก หน้ามืด เป็นลม
  • สาเหตุจากโรคของปอด มักร่วมกับอาการ ไอ มีเสมหะ มีไข้ มักเจ็บบริเวณด้านหน้าของหน้าอกด้านที่มีโรคแต่ไม่ใช่ตรงกลางอก และมักไม่มีการปวดร้าวไปยังตำแหน่งอื่นๆ หอบ เหนื่อย หายใจลำบาก เมื่อมีอาการมาก มือ เท้า ลำตัว อาจเขียวคล้ำจากร่างกายขาดออกซิเจน
  • สาเหตุจากอวัยวะในช่องท้อง มักเป็นอาการจุกเสียด เมื่อเกิดจากโรคของกระเพาะอา หาร หรือมีอาการแสบร้อนกลางอกเมื่อเกิดจากโรคกรดไหลย้อน อาการเจ็บ มักเคลื่อนตำแหน่งได้เมื่อเปลี่ยนท่าทางหากเกิดจากมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อ เรอ หรือ ผายลม ถ้าเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี มักเป็นอาการเจ็บใต้ชายโครงขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของถุงน้ำดี และอาจมีไข้ต่ำ
  • จากโรคของกระดูก กล้ามเนื้อลำคอ และกล้ามเนื้อทรวงอก มักสัมพันธ์กับการงานอาชีพที่ใช้ คอ ไหล่มาก เช่น งานคอมพิวเตอร์ หรือมีประวัติอุบัติเหตุบริเวณลำคอ หรือบริเวณทรวงอก อาจร่วมกับแขน ด้านนั้นชา และ/หรือ อ่อนแรง
  • จากโรคงูสวัด มักมีอาการเจ็บเป็นแนวยาวรอบลำตัว ร่วมกับมีผื่นแดง หรือ ตุ่มน้ำเป็นกระจุก หรือ ตามแนวเส้นประสาท (ตามแนวยาวรอบลำตัว)
  • ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ มักมีประวัติปัญหาชีวิต หรือ ปัญหาครอบครัว

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุเจ็บหน้าอกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการเจ็บหน้าอกได้จาก ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน การตรวจร่างกาย ที่สำคัญคือ การตรวจเพื่อแยกว่า เป็นอาการจากโรคหัวใจหรือไม่ เพราะเป็นอาการเจ็บหน้าอกที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจเอกซเรย์ภาพปอดและหัวใจ นอกจากนั้นคือ การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้น กับอาการร่วมต่างๆ ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น เอกซเรย์คอม พิวเตอร์ช่องอกเมื่อผู้ป่วยเจ็บหน้าอกร่วมกับไอเป็นเลือด และแพทย์สงสัยสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งปอด เป็นต้น

รักษาอาการเจ็บหน้าอกอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการเจ็บหน้าอก คือ การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคหัวใจเมื่ออาการเกิดจากโรคหัวใจ รักษาโรคปอดบวมเมื่ออาการเกิดจากปอดบวม และรักษาโรคกรดไหลย้อนเมื่ออาการเกิดจากโรคกรดไหลย้อน

อาการเจ็บหน้าอกรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง และผลข้างเคียงของอาการเจ็บหน้าอก ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งจะรุนแรงเมื่ออา การเกิดจากโรคหัวใจ แต่จะรุนแรงน้อยกว่ามากเมื่อเกิดจากโรคงูสวัด หรือโรคกรดไหลย้อน

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก คือ

ป้องกันอาการเจ็บหน้าอกได้อย่างไร?

การป้องกันอาการเจ็บหน้าอก คือ การป้องกันสาเหตุจากโรคต่างๆดังได้กล่าวแล้วที่ป้องกันได้ เช่น การป้องกัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกรดไหลย้อน โรคปอดบวม และดูแลปัญหาด้านอารมณ์จิตใจ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็งแรง
ที่มา   https://haamor.com/th/เจ็บหน้าอก/

อัพเดทล่าสุด