การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)


1,111 ผู้ชม


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ไขกระดูก  ระบบโลหิตวิทยา  ระบบมะเร็งวิทยา 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

ซีด  ต่อมน้ำเหลืองโต  อ่อนเพลีย  ห้อเลือดง่าย 

บทนำ

การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด (Peripheral blood stem cell transplantation) หรือเรียกย่อว่า พีบีเอสซีที (PBSCT) และการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation) หรือ เรียกย่อว่า บีเอ็มที (BMT) เป็นการนำสเต็มเซลล์ชนิดเป็นเซลล์ในระบบโลหิตวิทยา (ระบบเลือด) มาใช้รักษาโรค ซึ่งได้แก่ สเต็มเซลล์จากเม็ดเลือดในหลอดเลือดดำ (การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด) และสเต็มเซลล์จากไขกระดูก (การปลูกถ่ายไขกระดูก) ทั้งนี้การปลูกถ่าย สเต็มเซลล์โดยใช้เซลล์ทางระบบโลหิตวิทยา (จากเลือดและจากไขกระดูก) รวมเรียกว่า “Hematopoietic stem cell transplantation” หรือเรียกย่อว่า เอชเอสซีที (HSCT)

ก. สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)

สเต็มเซลล์แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สเต็มเซลล์จากเซลล์ของตัวอ่อนเอ็มบริโอ (Embryo) เรียกว่า Embryonic stem cell และสเต็มเซลล์จากเซลล์ร่างกาย เรียกว่า Adult หรือ Somatic stem cell

  • สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนเอ็มบริโอ Embryonic stem cell (ได้จากการผสมของไข่กับอสุจิในห้องปฏิบัติการ) จะเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตเป็นเซลล์ได้หลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของเซลล์ในขณะนั้น เช่น เปลี่ยนแปลงไปเป็น เซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ผิว หนัง ไข่ หรือของอสุจิ เป็นต้น
  • ในขณะที่สเต็มเซลล์จากร่างกาย Adult หรือ Somatic stem cell จะเจริญเติบโตซ่อมแซมและชดเชยเซลล์ที่ตายแล้วตาเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่สเต็มเซลล์ร่างกายอยู่ แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในการศึกษาวิจัยพบว่า สามารถเปลี่ยนแปลงสเต็มเซลล์จากร่างกายให้เป็นเซลล์หลากหลายชนิดได้ ซึ่งเป็นความหวังในการนำมารักษาโรคต่างๆที่รักษายาก เช่น โรคทางสมอง และโรคของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะสเต็มเซลล์ร่างกาย จะมีต้นกำเนิดที่หาได้ง่ายกว่า จากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนเอ็มบริโอ เช่น ได้จาก ไขกระดูก เม็ดเลือด เยื่อบุช่องปาก หรือ เนื้อเยื่อฟัน เป็นต้น

ข. ไขกระดูก (Bone marrow)

อนึ่ง การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยใช้เซลล์ทางระบบโลหิตวิทยานี้ ได้นำมารักษาโรคทางโลหิตวิทยาหลากหลายโรค เช่น ในโรคธาลัสซีเมีย โรคของไขกระดูกบางชนิด และโรคมะเร็งในระบบโลหิตวิทยาในบางระยะโรคเกือบทุกชนิด แต่ที่ให้ผลการรักษาที่ดี มีอัตรารอดที่ 5 ปี ประมาณ 75-80% และใช้เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานวิธีหนึ่ง คือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน

ในบทนี้ จะกล่าวถึงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาเฉพาะที่ใช้รักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะชนิดที่การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ฯได้รับการยอมรับเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานวิธีการหนึ่ง ซึ่งได้แก่ ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด และในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บางชนิด

สเต็มเซลล์จากเลือดและจากไขกระดูกได้มาจากไหน?

สเต็มเซลล์จากเลือดและจากไขกระดูกที่จะนำมาปลูกถ่ายได้มาจาก สเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูกของผู้ป่วยเอง ของผู้อื่น หรือของฝาแฝดที่เกิดมาจากไข่ใบเดียวกัน (Monozygotic twins หรือ Identical twins) โดยทางแพทย์จะเรียกผู้ป่วย/ผู้ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ว่า โฮสต์ (Host) และเรียกผู้ให้ หรือผู้บริจาคสเต็มเซลล์ว่า โดเนอร์ (Doner)

  • เมื่อเป็นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด จากเลือดจากรก (Cord blood) หรือจากไขกระดูกที่ได้จากตนเอง (จากตัวผู้ป่วยเอง) เรียกว่า “Autologous transplantation” โดยแพทย์จะค่อยๆทยอยเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ และกรองเอาแต่สเต็มเซลล์เก็บสะสมไว้ เม็ดเลือดตัวแก่ก็นำกลับมาให้ร่างกายใช้ใหม่ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Leukocytopheresis หรือทยอยเจาะเก็บไขกระดูกผู้ป่วย โดยการเจาะดูดไขกระดูกจากบริเวณกระดูกเชิงกราน
  • หลังจากการได้สเต็มเซลล์ในแต่ละครั้ง แพทย์จะเก็บรักษาไว้ในตู้เก็บที่มีอุณหภูมิประ มาณ -150 องศาเซลเซียส (Cryopreservation) เพื่อรักษาเซลล์ให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงปกติมากที่สุด และพร้อมที่จะนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยต่อไปตาตารางการรักษาที่แพทย์ได้กำหนดไว้
    • ข้อดีของการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แบบนี้ คือลดโอกาสที่ร่างกายจะต่อต้าน หรือ สลัดสเต็มเซลล์ (Graft rejection) ดังนั้นการปลูกถ่ายจึงมีโอกาสได้ผลสูง และยังลดการใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายเพื่อป้องกันร่างกายสลัดสเต็มเซลล์ ดังนั้นโอกาสเกิดผลข้าง เคียงจากการรักษาจึงน้อยลง โอกาสติดเชื้อก็ลดลงด้วย แต่ข้อเสีย คือ มีการศึกษาพบว่า วิธี การนี้อาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งย้อนกลับมาได้สูงกว่าการปลูกถ่ายโดยการใช้สเต็มเซลล์ของผู้อื่น และข้อจำกัดของวิธีนี้ คือ บางครั้งไม่สามารถเก็บสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยได้เพียงพอ จากการที่ไขกระดูกของผู้ป่วยฝ่อ หรือ ถูกทำลายไปมากแล้วจากยาเคมีบำบัด (การจะปลูกถ่าย สเต็มเซลล์ได้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด อาจร่วมกับรังสีรักษาเฉพาะจุดจนโรคอยู่ในภาวะสงบก่อน) จนสร้างสเต็มเซลล์ออกมาได้น้อยทั้งในไขกระดูก และในเลือด
  • เมื่อเป็นการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้อื่น หรือจากเลือดจากรกของผู้อื่น
    • ข้อดีของการใช้สเต็มเซลล์จากผู้อื่น คือ พบว่าเมื่อใช้รักษาในโรคมะเร็ง อาจช่วยลดโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคลง จากได้ภูมิคุ้มกันต้านทานจากสเต็มเซลล์ของผู้บริจาค แต่ข้อเสียคือ โอกาสเกิดการต้านสเต็มเซลล์ใหม่จากร่างกายจะสูงขึ้น ผลสำเร็จในการปลูกถ่ายฯจึงมีโอกาสลดลง และมีผลข้างเคียงจากการต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการนี้กรณีไม่สามารถเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ
    (Cord blood) จะเรียกว่าเป็น “Allogeneic transplantation” ทั้งนี้วิธีในการได้สเต็มเซลล์มาและการเก็บ สเต็มเซลล์จะเช่นเดียวกับในการปลูกถ่ายจากสเต็มเซลล์ของตนเอง เพียงแต่แหล่งที่มาของ สเต็มเซลล์เป็นเซลล์จากผู้อื่น ซึ่งมีประเภทหรือชนิดเลือดเข้าได้กับเลือดของผู้ป่วย เพื่อลดโอ กาสร่างกายต้านสเต็มเซลล์ใหม่ โดยผู้บริจาคสเต็มเซลล์อาจเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อน หรือบุคคลอื่นๆ ซึ่งได้บริจาคเลือดหรือไขกระดูกไว้กับธนาคารไขกระดูก หรือ ธนาคารเลือด แต่ด้วยเทคนิคการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในปัจจุบัน การใช้สเต็มเซลล์จากผู้ที่มีเลือดเข้ากันไม่ได้กับผู้ป่วยก็สามารถนำมาปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าในอดีต
  • เมื่อเป็นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ได้จากฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกัน เรียกว่า “Synge neic transplantation” ซึ่งเป็นแหล่งสเต็มเซลล์ที่มีโอกาสนำมาใช้ได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอีกทั้ง 2 วิธีที่ได้กล่าวแล้ว โดยเทคนิคในการเก็บสเต็มเซลล์จะเช่นเดียวกับในการใช้สเต็มเซลล์จากผู้อื่น

อนึ่ง ปัจจุบัน การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยา นอกจากแหล่งสเต็มเซลล์จะมาจากเลือดและจากไขกระดูกแล้ว ยังสามารถใช้สเต็มเซลล์ที่อยู่ในเลือดของสายสะดือและของรกได้ (Cord blood) โดยการเก็บหลังการคลอดทารกแล้ว และนำเลือดนั้นมาเก็บด้วยวิธีการเดียวกับในการเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกและจากเลือด ซึ่งเลือดจากสายสะดือและจากรกจะมีปริมาณสเต็มเซลล์ที่สูงกว่าในเลือดทั่วไป รวมทั้งยังจัดเป็นสเต็มเซลล์ชนิดที่มีคุณภาพดี เพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกถ่ายฯให้ได้รับผลดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในการจะเลือกว่า ผู้ป่วยคนใดควรเป็นการปลูกถ่ายจากสเต็มเซลล์ของตนเอง หรือจากของผู้อื่น จะขึ้นกับ ชนิดของโรคมะเร็งและของเซลล์มะเร็ง อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ ป่วย ความรุนแรงของโรค การจะได้สเต็มเซลล์ในปริมาณที่พอเพียงต่อการปลูกถ่ายหรือไม่ และดุลพินิจของแพทย์

การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูกใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง?

การปลูกถ่ายโดยใช้สเต็มเซลล์ของตนเองทางโลหิตวิทยา จะใช้รักษาผู้ป่วย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล ซึ่งการรักษาให้ผลดี และยอมรับเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ส่วนในโรคมะเร็งอื่นๆที่กำลังอยู่ในขั้น ตอนการศึกษา คือ มะเร็งของประสาทซิมพาทีติกในเด็ก (Neuroblastoma) มะเร็งสมองในเด็กชนิด Medulloblastoma มะเร็งอัณฑะ หรือรังไข่ชนิด Germ cell tumor และมะเร็งโรคเลือดชนิดเกิดกับกระดูกที่เรียกว่า Multiple myeloma หรือเรียกย่อว่า MM

การปลูกถ่ายโดยใช้สเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาจากผู้อื่น ที่เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐาน คือ ในโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล มะเร็งเลือดขาวเอเอ็มแอล มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน ส่วนโรคมะเร็งอื่นๆที่ยังอยู่ในการศึกษา คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล และมะเร็งโรคเลือดชนิดเกิดกับกระดูกชนิด MM

อนึ่ง ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล และในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานวิธีการหนึ่ง โดยให้อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปีประมาณ 70-75% นั้น แพทย์จะใช้เป็นวิธีรักษาในกรณี เป็นโรคชนิดดื้อยา เป็นโรคในกลุ่มที่มีโอกาสเกิดการย้อนกลับเป็นซ้ำสูง และเป็นโรคในระยะที่ย้อนกลับเป็นซ้ำหลังครบการรักษาครั้งแรกไปแล้ว

การรักษาโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โรคมะเร็งโดยใช้สเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยาที่ยังอยู่ในการศึก ษามีหลายโรค เช่น โรคภูมิต้านตนเองบางโรค (เช่น โรคเอสแอลอีโรคการมีโปรตีนบางชนิดมากผิดปกติจนไปจับเกาะตาเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ (Amyloidosis) โรคซีดจากไขกระดูกไม่ทำ งาน (Aplastic anemia) และโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง เป็นต้น

มีขั้นตอนอย่างไรในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูก?

แพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยจะเป็นผู้ประเมินว่า ผู้ป่วยคนใดจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยา โดยประเมินจากชนิดของโรค ระยะโรค สุขภาพและโรคร่วมต่างๆของผู้ป่วย และอายุ

การรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยานี้มีค่าจ่ายสูงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงการรักษาได้ ยกเว้นในโรคที่ยอมรับแล้วว่าวิธีนี้เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งผู้ป่วยจะมีกองทุนการกุศลต่างๆร่วมกับคณะกรรมการด้านการรักษาโรคซับซ้อนของกระทรวงสาธารณ สุขร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ในกรณีโรคอื่นๆ ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง

ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ที่มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง เพราะในการรักษา ผู้ป่วยจะต้องอยู่แยกตัวในห้องปลอดเชื้อ รวมทั้งในเรื่องของอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อยประมาณ 2-3 สัปดาห์ จนกว่าร่างกายจะยอมรับสเต็มเซลล์ใหม่ มิฉะนั้นแล้วผู้ป่วยจะมีผลข้างเคียงจากการติดเชื้อที่สูงมากจนเกิดอันตรายต่อชีวิตเฉียบพลันได้

ครอบครัวจะต้องสนับสนุนและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ในผู้ป่วยเด็ก ผู้ปกครองจำ เป็นต้องอยู่กับเด็กตลอดเวลา เพราะเด็กไม่สามารถจะอยู่ลำพังคนเดียวในห้องแยกได้

เมื่อแพทย์แนะนำ และผู้ป่วยและครอบครัวยอมรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ฯ ผู้ป่วยจะได้ รับการตรวจสุขภาพ ตรวจประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะทุกระบบ เช่น ไขกระดูก ปอด หัวใจ ไต ตับ ช่องปาก และฟัน และได้รับการประเมินสุขภาพจิต ซึ่งทุกอวัยวะต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีโรคเรื้อรัง ถ้าเป็นโรคเฉียบพลันต้องเป็นชนิดรักษาได้หาย เช่น การติดเชื้อในปอด เป็นต้น และเป็นผู้มีสุขภาพจิตปกติ ผู้ป่วยจะมีตารางการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และในช่วงก่อนการเก็บสเต็มเซลล์อาจจำเป็นต้องมีการฉีดยากระตุ้นการทำงานของไขกระดูก

การที่ไขกระดูกจะยอมรับเซลล์ใหม่ และจะรักษาโรคมะเร็งได้หาย ต้องมีการทำลายเซลล์ไขกระดูกเดิมและเซลล์มะเร็งให้หมดไปก่อน ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดอย่างเข้มข้น อาจร่วมกับการฉายรังสีรักษาทั้งตัว หรือที่เรียกย่อว่า ทีบีไอ (TBI,Total body irradiation หรือ Whole body irradiation) ซึ่งในสภาพที่ไม่มีไขกระดูก ก่อนที่สเต็มเซลล์จะติดและเจริญเป็นไขกระดูกใหม่ (ประมาณ 2-3 สัปดาห์) ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียจากภาวะซีดจากขาดเม็ดเลือดแดง ติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงเพราะขาดเม็ดเลือดขาว และเลือดออกชนิดหยุดยากจากอวัยวะต่างๆเพราะขาดเกล็ดเลือด ซึ่งภาวะติดเชื้อ และภาวะเลือดออก เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในระยะเฉียบพลันหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ฯ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในโรงพยา บาลและในห้องแยกปลอดเชื้อ

การรักษาในช่วงนี้ คือ การป้องกันการติดเชื้อ และการป้องกันภาวะเลือดออกด้วยการให้เลือด ให้เม็ดเลือดขาว ให้เกล็ดเลือด และการให้ยาปฏิชีวนะตามความเหมาะสม

ในผู้ป่วยบางคน หรือในบางระยะของโรค แพทย์อาจลดการให้ยาเคมีบำบัดเข้มข้นลง เพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษา เพื่อให้เหมาะสมกับสุขภาพผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งอาจเพิ่มโอ กาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำให้สูงขึ้นได้ แต่ก็สามารถลดโอกาสเสียชีวิตจากผลข้างเคียงโดย เฉพาะการติดเชื้อลงได้ เรียกว่า เป็นการปลูกถ่าย สเต็มเซลล์ทางระบบโลหิตวิทยาแบบ “Mini Transplant” หรือ “Non-myeloablative transplant”

ภายหลังสเต็มเซลล์/ไขกระดูกติดดีแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ยังต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะจะยังเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อ และภาวะเลือดออก ซึ่งจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยทั่วไปการที่ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เต็มที่ อาจใช้เวลาเป็นเดือน หรือ หลายเดือน ขึ้นกับสุขภาพดั่งเดิม และอายุของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จนกว่าไขกระดูกจะกลับมาทำ งานตามปกติ (ผลตรวจเลือดซีบีซี/CBC และการตรวจไขกระดูกกลับมาปกติ) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลานานหลายปี บางคนอาจจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย

การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูกมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทางโลหิตวิทยา จะแบ่งใหญ่ๆ เป็นผลข้างเคียงเฉียบพลัน (Acute complication) ผลข้างเคียงกึ่งเฉียบพลัน (Subacute complication) และผลข้างเคียงเรื้อรัง/ผลข้างเคียงในระยะยาว (Chronic หรือ Delayed complication)

ผลข้างเคียงทางด้านจิตใจ ที่จะเกิดเป็นระยะๆ ตลอดชีวิตของผู้ป่วย คือ อาการกังวล กลัว และซึมเศร้า

ดูแลตนเองอย่างไรหลังปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดหรือจากไขกระดูก?

การดูแลตนเองภายหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ฯ ได้แก่ การปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำอย่างถูกต้อง เคร่งครัด การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อความแข็ง แรงทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต เข้าใจโรค ทั้งธรรมชาติของโรคมะเร็ง การรักษา ผลข้าง เคียง การต้องดูแลตนเองเคร่งครัดกว่าผู้อื่นตลอดชีวิต และต้องพบแพทย์ตามนัดเสมอ

ควรต้องรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีไข้ มีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ หรือมีความกังวลในอาการ

  • สติปัญญา

    จะอยู่ในเกณฑ์ปกติตามธรรมชาติของคนๆนั้น แต่จากการต้องดูแลตนเองที่แตกต่างจากผู้อื่น ในการเรียน และในการงาน ผู้ป่วยจึงควรเลือกให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต เพื่อช่วยลดความเครียดของชีวิตลง
  • เพศสัมพันธ์

    ผู้ป่วยยังมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
  • การมีบุตร

    ผู้ป่วยจะมีบุตรยาก อาจถึงขั้นเป็นหมัน (ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย) ในผู้หญิง มีโอกาสแท้งและเด็กคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคนทั่วไป แต่เมื่อเด็กรอดแล้ว ยังไม่พบว่า บุตรของผู้ป่วย (ทั้งผู้ป่วยหญิง และชาย) มีความผิดปกติ หรือ มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งแตกต่างจากเด็กทั่วไป

ที่มา   https://haamor.com/th/การปลูกถ่ายสเต็มเซลล-ไขกระดูกในโรคมะเร็ง/

อัพเดทล่าสุด