การทำหมันหญิง (Tubal ligation)


ระบบและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง :

ท่อนำไข่  ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี 

อาการที่เกี่ยวข้อง :

การทำหมันหญิงคืออะไร?

การทำหมันหญิง (Tubal ligation หรือ Female surgical sterilization) เป็นการคุมกำเนิดชนิดหนึ่ง มีประสิทธิภาพสูง มีอัตราการล้มเหลว (การตั้งครรภ์หลังการผ่าตัด) ต่ำ (0.5-0.7%) ประหยัด ปลอดภัย ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ฮอร์ โมน เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือมีข้อห้ามในการตั้งครรภ์ หรือมีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน

การทำหมันหญิง เป็นการทำให้ท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างอุดตัน มีผลให้ตัวอสุจิ (Sperm/สเปิร์ม) ไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้

การทำหมันหญิงมีกี่ประเภท? อะไรบ้าง?

ประเภทของการทำหมันหญิง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. การทำหมันหลังคลอด (การทำหมันเปียก)

    เป็นการทำหมันภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด นิยมทำในช่วง 48 ชม. (ชั่วโมง) หลังคลอด เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย แผลผ่าตัดเล็ก เพราะมดลูกยังมีขนาดโต ลอยอยู่ในช่องท้องเหนืออุ้งเชิงกราน จึงทำให้สามารถหาท่อนำไข่ 2 ข้างได้ง่าย วิธีที่นิยม คือ การผูกท่อนำไข่ และตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้งสองข้างโดยลงแผลผ่าตัดใต้สะดือ ขนาดแผลยาวประมาณ 2-5 ซม. (เซ็นติเมตร)

  2. การทำหมันปกติ (การทำหมันแห้ง)

    เป็นการทำหมันในระยะที่ไม่ใช่ 6 สัปดาห์หลังคลอด มดลูกมีขนาดปกติและอยู่ในอุ้งเชิงกราน จึงมีความยากในการหาท่อนำไข่มากกว่าการทำหมันหลังคลอด แบ่งวิธีทำหมันได้เป็น 2 วิธี คือ

    • การผ่าตัดหน้าท้อง โดยลงแผลผ่าตัดบริเวณเหนือหัวหน่าว จากนั้นหาท่อนำไข่เพื่อทำการผูกและตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้ง 2 ข้าง
    • อีกวิธีคือการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยลงแผลผ่าตัดขนาดเล็ก 2-3 แผล จากนั้นใช้จี้ไฟฟ้าจี้ท่อนำไข่ ร่วมกับตัดท่อนำไข่ทั้งสองข้างออกบางส่วน หรืออาจใช้อุปกรณ์รัดท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ข้อจำกัดของการทำหมันผ่านกล้อง คือ ต้องดมยาสลบ นอนในท่าศีรษะต่ำ และต้องใส่ก๊าซในช่องท้องระหว่างการผ่าตัด ซึ่งเป็นข้อห้ามในผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือมีภาวะผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต (เลือด) รวมทั้งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออวัยวะข้างเคียงในกรณีที่ใช้จี้ไฟฟ้า

ข้อดีของการทำหมันหญิงมีอะไรบ้าง?

ข้อดีของการทำหมันหญิง คือ

  • เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการวางแผนครอบ ครัว
  • ไม่ขัดขวาง หรือเป็นอุปสรรคในการกำหนดระยะเวลาในการร่วมเพศ
  • ไม่มีผลต่อการให้นมบุตร
  • ไม่ต้องเสียเวลาในการเข้ารับบริการการคุมกำเนิด
  • ไม่ต้องใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในการคุมกำเนิด
  • ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาฮอร์โมนคุมกำเนิด
  • ไม่ต้องพะวงเกี่ยวกับการลืมรับประทาน หรือฉีดยาคุมกำเนิด

ข้อจำกัดของการทำหมันหญิงมีอะไรบ้าง?

ข้อจำกัดของการทำหมันหญิง คือ

  • ต้องได้รับการผ่าตัดในห้องผ่าตัด
  • บุคลากรด้านการแพทย์ผู้ให้การผ่าตัด ต้องมีความรู้ ความชำนาญในการผ่าตัดทำหมัน
  • ผู้มารับบริการมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง
  • ต้องใช้ยาระงับปวด และยาดมสลบระหว่างผ่าตัด
  • หากการคุมกำเนิดล้มเหลว มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง
  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • เป็นการคุมกำเนิดถาวร หากต้องการตั้งครรภ์ ต้องมาผ่าตัดแก้ไข ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และอัตราการประสบความสำเร็จจากการแก้ไขต่ำ

ผลข้างเคียงจากการทำหมันหญิงมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากการทำหมันหญิง พบได้น้อยกว่า 1% ที่อาจพบได้ คือ

  1. จากยาชา หรือยาดมสลบ โดยอาจพบอาการแพ้ยาชา ยาดมสลบ บางรายอาจมีปัญหาต่อระบบไหลเวียนโลหิต และการหายใจในกรณีได้รับการดมยาสลบ
  2. อันตรายต่ออวัยวะข้างเคียง โดยอาจได้รับบาดเจ็บร่วมด้วยได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ และมดลูก
  3. ภาวะเสียเลือด ระหว่างผ่าตัดอาจมีการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณท่อนำไข่ หรือไหมผูกที่บริเวณท่อนำไข่หลุด (ซึ่งช่วยห้ามเลือดออกจากแผลผ่าตัดท่อนำไข่) ทำให้มีเลือดออกในช่องท้องได้
  4. ภาวะติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน และ/หรือการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด
  5. การตั้งครรภ์นอกมดลูก แม้ว่าการทำหมันจะเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิ ภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูง แต่ถ้ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  6. อาการปวดท้องน้อย อาจพบในบางราย ส่วนมากเป็นอาการปวดท้อง น้อยเรื้อรัง ปวดพอรำคาญจากการมีพังผืดบริเวณที่ตัดผูกท่อนำไข่ ไม่พบเป็นอันตรายแต่อย่างใด

อนึ่ง โดยทั่วไปการผ่าตัดทำหมันเป็นหัตถการที่ทำได้ง่ายในผู้ที่ได้รับการฝึกฝน ใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 15-30 นาที เป็นหัตถการที่พบภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก โดยภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่มักเกิดจากการดมยาสลบ ดังนั้นการหลีก เลี่ยงภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวคือ การใช้ยาชาเฉพาะที่ และมีการงดน้ำ งดอาหารก่อนทำหัตถการอย่างน้อย 6-8 ชม.

การทำหมันหญิงมีผลต่อความรู้สึกทางเพศหรือไม่?

การทำหมันหญิงไม่มีผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่ทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง มีการศึกษาพบว่าหลังทำหมันมีการเพิ่มความรู้สึกทางเพศ เนื่องจากหมดกังวลเรื่องปัญหาการตั้งครรภ์

การทำหมันหญิงมีผลต่อประจำเดือนหรือไม่?

การทำหมันหญิงไม่มีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ยกเว้นภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ผลข้างเคียงจากการทำหมันหญิง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดเพียงบางส่วนของท่อนำไข่ ไม่มีผลต่อรังไข่และมด ลูก ไม่มีผลรบกวนฮอร์โมนเพศในร่างกาย สามารถมีประจำเดือนได้ตามปกติ

โอกาสตั้งครรภ์หลังทำหมันหญิงมีหรือไม่? อย่างไร?

หลังทำหมันหญิงพบมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ พบอัตราการล้มเหลว/การตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 0.2-0.7% ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น มีการตั้งครรภ์อยู่แล้วก่อนการทำหมัน ความชำนาญของผู้ผ่าตัด ความยาวของท่อนำไข่ที่ตัดออก วิธีการผ่าตัด แม้ ว่าจะทำการผ่าตัดโดยผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์สูง และใช้วิธีการผ่าตัดที่ถูกต้อง ยังมีรายงานพบการเชื่อมต่อกันเองของปลายท่อนำไข่ ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้

มีข้อห้ามของการทำหมันหญิงไหม?

ข้อห้ามการทำหมันหญิง คือ

  • ยังต้องการมีบุตรอีกในอนาคต
  • มีภาวะ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • มีการติดเชื้อที่ผิวหนังหน้าท้องบริเวณที่จะลงแผลผ่าตัด
  • มีพังผืดในช่องท้องมาก
  • ผู้ที่เข้ารับการบริการต้องไม่มีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อน และต้องงดยาก่อนทำการผ่าตัดตามแพทย์สั่ง
  • มีการเสียเลือดมากจากการคลอดจนความดันโลหิต (เลือด) ต่ำ (ควรแก้ ไขให้สัญญาณชีพ (ชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และอุณหภูมิร่างกาย) คงตัว ร่างกายพร้อมรับการผ่าตัดก่อน

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อทำหมันหญิง?

เนื่องจากบางครั้ง หรือบางสถานพยาบาล ใช้ยาดมสลบ หรือยาฉีดให้สลบ ดังนั้น เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการสำลักอาหารจากกระเพาะอาหารระหว่างสลบ จึงควรงดน้ำ งดอาหารก่อนทำหมันอย่างน้อย 6-8 ชม. ควรถอดฟันปลอม คอนแทคเลนส์ออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด ควรปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะแฟบก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะ

หลังผ่าตัดควรนอนพักอย่างน้อย 2-3 ชม. เพื่อสังเกตอาการ บางครั้งอาจมีการมึนงงจากยาชา และยาสลบ จึงควรมีญาติพากลับบ้าน ไม่ควรขับรถ หรือเดิน ทางกลับเพียงลำพัง จากนั้นสังเกตอาการด้วยตนเอง หากมีอาการปวดแผลผ่าตัดมาก หรือมีเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด ควรรีบกลับไปโรงพยาบาล และควรระวังไม่ให้แผลผ่าตัดถูกน้ำจนกว่าจะครบกำหนดเปิดแผล คือ ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การเดินนานๆ หรือการทำงานหนักหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์

ในระยะยาว อาจมีอาการปวดแปลบๆเล็กน้อย บริเวณท้องน้อยทั้งสองข้าง ซึ่งเกิดจากพังผืดจากการผ่าตัด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ตามปกติ แต่หากมีอาการปวดท้องน้อยมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์

หากประจำเดือนขาดหลังทำหมัน ควรรีบตรวจการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีอัตราล้มเหลว 0.2-0.7% หากพบมีการตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์เนื่องจากมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง

หากต้องการมีบุตรหลังทำหมันหญิงสามารถทำได้หรือไม่? อย่างไร?

หากต้องการมีบุตรหลังทำหมันหญิง เช่น มีการแต่งงานใหม่ บุตรเสียชีวิต สามารถตั้งครรภ์ได้โดย

  1. การผ่าตัดแก้หมัน โดยการผ่าตัดเชื่อมต่อท่อนำไข่ที่ถูกตัดขาดออกจากกัน ต้องทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญ ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ มีโอกาสตั้งครรภ์ 15-90% ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด และเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด การใช้กล้องขยายช่วยในการผ่าตัด ตำแหน่งที่ถูกตัดท่อนำไข่ ความยาวของท่อนำไข่ที่เหลือ วิธี การผ่าตัดทำหมัน ระยะเวลาหลังจากการผ่าตัดทำหมัน อายุ และสุขภาพของผู้ทำหมัน และของสามี
  2. การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ได้แก่ การทำเด็กหลอดแก้ว โดยใช้ยากระตุ้นไข่และใช้เข็มดูดเก็บไข่จากรังไข่ จากนั้นนำมาผสมกับอสุจินอกร่างกาย จนได้ตัวอ่อน จึงย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไป วิธีนี้ค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้แพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะด้าน ต้องมีอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือพิเศษ ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ 25-40%

ที่มา   https://haamor.com/th/ทำหมันหญิง/

อัพเดทล่าสุด