นี่ล่ะ..สังคมแรกของหนู


718 ผู้ชม


"นี่ล่ะ..สังคมแรกของหนู"

    ลูกน้อยของเราเรียนรู้เกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างไร เด็กน้อยเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับการมีเพื่อนได้อย่างไร คำตอบทั้งหมดนี้อยู่ที่เรา...คนเป็นพ่อแม่นี่เองค่ะ

เพราะเมื่อเป็นพ่อแม่ เราคือเพื่อนเล่นคนแรกของลูก เราจะกลายเป็นคนที่ลูกชื่นชอบมากที่สุด ลูกน้อยจะรู้สึกพอใจเมื่อได้ยินเสียงของเรา ได้เห็นหน้าของเรา ได้รับสัมผัสอันนุ่มนวลอบอุ่นจากมือของเรา และด้วยความช่วยเหลือของเรา ลูกน้อยจะสามารถทำความคุ้นเคยกับผู้อื่น และเริ่มสนุกในการคบหาสมาคมกับผู้อื่นต่อไปได้

ทั้งหมดนี้เองคือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านทักษะทางสังคมของลูกน้อย

เรียนรู้ในการตอบสนอง

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และแม้กระทั่งเด็กแรกเกิดก็เป็นสัตว์สังคมด้วยเช่นกัน ตั้งแต่ช่วงที่เกิดมาแรกๆ เด็กก็เรียนรู้ในการปรับตัวและตอบสนองต่อผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวได้แล้ว

ระหว่างขวบปีแรกของชีวิต นอกจากลูกน้อยจะพุ่งความสนใจไปที่การค้นหาว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง เช่น คว้าจับสิ่งของ คลาน นั่ง เดิน หรือทักษะอื่นๆ แล้ว ความสนใจอีกอย่างหนึ่งที่เด็กน้อยพุ่งเป้าไปสู่ก็คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ โดยเด็กสามารถที่จะเล่นสนุกกับคนอื่นๆ ได้บ้าง แต่คนที่พวกเขาต้องการเห็นหน้าและชื่นชอบเป็นอันดับแรกคือพ่อแม่

เด็กๆ ชอบให้พ่อแม่สัมผัส อุ้ม ส่งเสียงพูดคุย และยิ้มให้ และสังเกตดูสิคะว่าลูกจะเริ่มทดลองทำหน้าตาแบบต่างๆ ให้พ่อแม่เห็นอยู่เสมอ และสนุกสนานในการมองหน้าเราค่ะ ทั้งยิ่งสนุกมากกว่านั้นด้วยการเลียนแบบหน้าตาท่าทางของพ่อแม่ได้อีกด้วย ไม่เชื่อลองแลบลิ้นใส่ลูกดูสิคะ และคอยดูหน้าลูกให้ดี บางทีลูกจะแลบลิ้นตอบเราด้วยล่ะ

พ่อแม่คือเพื่อนเล่นที่ดีที่สุด

สำหรับทารก ลูกน้อยจะใช้เวลาช่วงที่ตื่นเพื่อมองดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ ตัวของเขาบ้าง และเมื่อเริ่มยิ้มให้พ่อแม่ครั้งแรกได้ จากนั้นลูกก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสื่อสารด้วยการยิ้ม หรือจะเรียกว่า "พูดคุยด้วยรอยยิ้ม" แล้วลูกก็จะเริ่มต้นมีปฏิสัมพันธ์กับเราด้วยการส่งยิ้มกรุยทางมาก่อนเสมอ พร้อมกับส่งเสียงอ้อแอ้มากับรอยยิ้มด้วย

เมื่อโตขึ้นอายุสัก 4-5 เดือน ลูกน้อยจะเปิดตัวเองกับคนอื่นๆ มากขึ้น เมื่อเห็นคนแปลกหน้าก็จะทักทายด้วยการส่งเสียงอ้อแอ้ หรือทำเสียงคิกคักๆ แต่อย่างไรก็ตามพ่อแม่ยังเป็นคนที่เด็กรู้สึกใกล้ชิดมากที่สุด และคนที่ลูกกระตือรือร้นในการมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากที่สุดก็ยังเป็นพ่อแม่อยู่นั่นเอง ซึ่งนี่แสดงถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่พ่อแม่ลูกมีต่อกันค่ะ

ครั้นอวัยวะต่างๆ ของลูกทำงานได้ดีขึ้น เช่น เริ่มใช้มือคว้าจับได้ หันซ้าย หันขวาได้ หากช่วงนี้ลูกน้อยมีโอกาสได้พบกับเด็กคนอื่นๆ เขาจะเริ่มให้ความสนใจ แต่เป็นความสนใจที่จำกัดมาก อาจจะเพียงแค่ชำเลืองมอง หรือพยายามจะคว้าจับเด็กอีกคน หรืออย่างมากก็แค่ส่งยิ้มให้ แล้วก็ส่งเสียงทักทายกัน แต่ที่น่ารักคือเด็กๆจะส่งเสียงโต้ตอบกัน และพยายามเลียนแบบเสียงของอีกฝ่ายหนึ่งโต้ตอบกันค่ะ แต่ถึงอย่างไรเด็กๆ ในวัยนี้ก็ยังสนใจอยู่กับของเล่นตรงหน้ามากกว่าจะสนใจเพื่อนเล่นที่เป็นเด็กด้วยกัน

ลองสังเกตดูสิคะ ถ้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ มาเล่นอยู่ใกล้ๆ กัน เด็กทั้งสองจะง่วนอยู่กับของเล่นของตัวเอง แต่จะไม่เล่นด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพราะลูกช่วงวัยนี้ยังทุ่มเทความสนใจให้กับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของตัวเองให้สมบูรณ์มากกว่าจะรู้สึกเอาใจใส่กับเพื่อนเล่นค่ะ

แต่ถึงแม้เด็กวัยนี้จะยังไม่สนใจเพื่อนเล่นเป็นเด็กวัยเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังชอบเล่นกับคนในครอบครัว พ่อแม่ หรือคนที่เขาคุ้นเคย สรุปก็คืออย่างไรเสียพ่อแม่ก็ยังเป็นเพื่อนเล่นที่หนูชอบที่สุด เพราะหนูยังไม่สนใจอยากเล่นกับเด็กอื่นมากนักนั่นเอง

หนูกลัวคนแปลกหน้า

ช่วงใกล้ๆ จะครบขวบสิคะที่จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับลูกของเรา เพราะเด็กน้อยจะเริ่มแสดงอาการเหมือนกับต่อต้านสังคมอยู่กลายๆ เช่น ลูกจะร้องไห้ทันทีเมื่อเราหายไปจากสายตา หรือไม่ก็จะรู้สึกวิตกกังวล ตื่นกลัวเมื่อพ่อแม่ส่งให้คนอื่นอุ้ม

การที่ลูกมีอาการแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงกลัวการพรากจากพ่อแม่ ในราวอายุ10-18 เดือน วัยนี้ลูกจะกีดกันทุกคนออกไปให้ห่างด้วยการแสดงความต้องการพ่อแม่อยู่เสมอ และจะรู้สึกทุกข์ใจมากถ้าพ่อแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ร้องไห้จ้าเมื่อเราหายไปจากสายตา โดยสิ่งที่จะทำให้ลูกสงบลงได้ก็มีแต่การปรากฏตัวให้เห็นของพ่อแม่เท่านั้น

ช่วยลูกเรียนรู้ทักษะสังคม

คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่ให้เวลาในการพูดคุยกับลูกให้มากที่สุด วิธีการคุยกับลูกก็คือให้ยื่นหน้าของเราเข้าไปมองหน้าลูกให้ใกล้ชิดมากๆ ระยะห่างประมาณ 7-8 นิ้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนแรกๆ ลูกจะชื่นชอบการไดัรับความใส่ใจเป็นพิเศษ และจะสนุกสนานในการทำหน้าตาต่างๆ โต้ตอบกับเรา

นอกจากนี้อย่าลืมชวนให้ญาติๆ หรือเพื่อนๆ มาเยี่ยมลูกและยื่นหน้าเข้าไปคุยกับลูกของเราอย่างใกล้ชิดแบบที่เราทำด้วยนะคะ เด็กวัยนี้ชอบให้คนมาเยี่ยมค่ะ ไม่ว่าเด็กไม่ว่าผู้ใหญ่ หนูน้อยชอบหมด โดยเฉพาะถ้าคนที่มาเยี่ยมเข้าไปพูดคุยส่งเสียงทักทายกับเขาอย่างใกล้ชิด ลูกน้อยจะชอบมากทีเดียว

แต่เมื่อถึงเวลาที่ลูกพัฒนาความรู้สึกกลัวคนแปลกหน้าขึ้นมาก็ไม่ต้องตกใจหรือรู้สึกอับอายนะคะ เพราะพออายุประมาณ 7 เดือน ลูกจะรู้สึกวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามาก

ดังนั้น ถ้าลูกร้องไห้มาก เมื่อเราส่งให้ญาติอุ้ม ควรเอาลูกคืนมาก่อน ในขั้นแรกควรอุ้มลูกเพื่อให้ลูกรู้สึกถึงความปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมแขน ให้ญาติพูดคุยและเล่นกับลูกในขณะที่เราอุ้มลูกอยู่ ให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยก่อนแล้วจึงค่อยๆ ส่งลูกให้กับญาติ โดยที่เรายังอยู่ใกล้ชิดลูกให้มาก

และขั้นสุดท้ายพยายามหาทางออกไปจากห้องนั้นสัก 2-3 นาที และแอบดูว่าลูกเป็นอย่างไรบ้าง หากเพียงเราออกไปจากห้อง ลูกก็ร้องไห้แล้ว ให้ลองพยายามต่อไป โดยเข้าๆ ออกๆ จากห้องหลายๆ ครั้ง ซึ่งในที่สุดลูกน้อยจะพัฒนาความรู้สึกปลอดภัยขึ้นมาได้ เพราะเขารู้ว่าถึงแม้เราจะไม่อยู่ในห้องในช่วงเวลานั้น แต่ไม่นานเราก็จะกลับเข้าไปหาเขา

ควรใช้วิธีนี้ค่อยๆ ทำให้ลูกคุ้นเคยกับญาติๆ หรือเพื่อนๆ ของเราเป็นรายๆ ไปนะคะ ซึ่งในที่สุดจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าคนแปลกหน้าไม่ได้น่ากลัว และพ่อแม่จะไม่หายไปไหน แต่จะกลับมาหาเขาเสมอค่ะ

ด้วยความใกล้ชิดเอาใจใส่จากพ่อแม่ ซึ่งถือเป็นสังคมแรกของเด็กๆ นี้เอง ที่จะทำให้เด็กน้อยรู้สึกมีความสุข รู้สึกมั่นคงปลอดภัย ในที่สุดเด็กๆ จะค่อยๆ เรียนรู้วิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์ทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กๆ เรียนรู้ว่า จะให้ความเห็นอกเห็นใจเด็กคนอื่นได้อย่างไร และรู้สึกสนุกสนานมากเพียงใดที่ได้มีเพื่อนเล่น ในตอนนั้นล่ะที่เขาจะพัฒนาความสามารถในการสร้างมิตรภาพที่แท้จริงและยั่งยืนกับคนอื่นๆ ต่อไปค่ะ

ที่มา    https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=199

อัพเดทล่าสุด