รักลำเอียง...ทำหนูถดถอย


680 ผู้ชม


"รักลำเอียง...ทำหนูถดถอย"

    เสียงบ่นของคุณแม่ยังสาวดังขึ้น ผสมกับเสียงลมหายใจเฮือกยาวเป็นระยะ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยในทุกครอบครัว

ต่างกันแต่ว่าคนที่เข็มตาชั่งในใจเอียงนั้น จะเป็นสมาชิกคนไหนของครอบครัว
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความลำเอียงจากสมาชิกคนไหน ก็ส่งผลร้ายให้เจ้าวัยซนทั้งนั้น เพราะ

เด็กวัยใกล้ 3 ขวบ มักมีอารมณ์อ่อนไหว แสนงอน ยิ่งไปเจอช่วงที่แกกำลังวีน เพื่อจะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ถามอะไรก็ตอบแต่ " ไม่ " คงดูไม่น่ารักแน่ในสายตาผู้ใหญ่เมื่อเทียบกับเจ้าตัวกระเปี๊ยกที่นอนแบเบาะอยู่ ผู้ใหญ่หลายคนจึงชอบพูดว่า " ทำแบบนี้ไม่น่ารักเลย ...ไม่รักแล้ว รักน้องดีกว่า"
อย่าดูถูกความจำเด็กนะคะ เพราะเด็กวัยนี้จะเริ่มจำได้แล้วค่ะว่าใครพูดอะไรบ้าง ลองถามตัวเองดูสิคะว่ามีเหตุการณ์ไหนบ้าง ที่คุณรู้สึกว่าพ่อแม่ของคุณลำเอียงสุดๆ นึกขึ้นมาทีไร เป็นต้องเจ็บจี๊ดๆ ทุกทีไป แต่ที่คุณผ่านมาได้ โดยไม่ได้รู้สึกมีปมด้อยหรือเก็บกด นั่นเป็นเพราะคุณได้ประจักษ์ในความรักของพ่อแม่ และปมในใจได้ถูกคลี่คลายไปแล้วต่างหาก

แล้วถ้าปมในใจไม่ได้ถูกคลี่คลาย ก็อาจจะนำไปสู่บุคลิกภาพและอารมณ์ทางด้านร้ายของลูกได้


จากความลำเอียงสู่ปมในใจ

1. เกิดความคับข้องใจ หรือติดอยู่ในหัวใจ หากแกระบายออกบ้าง คงไม่เป็นไร ถ้าน้องหนูไม่รู้จะระบายออกอย่างไร อาจทำให้เก็บกดแบบสะสม และนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวในที่สุด
2. ขาดความมั่นใจในตัวเอง จากคนเคยเป็นที่รัก กลับไม่มีใครเหลียวแล อย่างนี้จะไม่ให้เสีย self อย่างไรไหว 
3. ไม่เห็นคุณค่าตนเอง น้องหนูจะเติบโตมาแบบที่เชื่อว่า น้องดีและเก่งกว่าตัวเองเสมอ ยิ่งถ้าพ่อแม่สอนให้ยอมน้องทุกเรื่อง แกก็จะกลายเป็นคนขี้ใจน้อยและมักจะทำในสิ่งที่เรียกว่าไม่รักตัวเองได้ง่าย เช่น ยอมติดยาเพราะเพื่อนทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า 
4. เรียกร้องความสนใจ ในกรณีนี้น้องหนูจะไม่แสดงออกโดยการโวยวาย อาละวาด หรือก้าวร้าวหรอกค่ะ ตรงกันข้ามแกจะใช้ความอ่อนแอขอความเห็นใจแทน เช่น ดูท่าทางเป็นเด็กไม่แข็งแรง ป่วยง่าย มีอาการปวดหัวบ่อยๆ


ความลำเอียงที่ไม่ตั้งใจ
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่รักลูกอยู่แล้ว แต่อาจมีพลั้งเผลอไปบ้าง จนดูเหมือนลำเอียงเพราะ...
1. พ่อแม่ส่วนใหญ่มักสอนให้พี่ยอมน้อง เพราะน้องตัวเล็กกว่าและดูแลตัวเองไม่ได้
2. ปู่ย่าตายายและญาติผู้ใหญ่ ชอบเห่อลูกหลานแรกคลอด นัยว่าเป็นการรับขวัญเจ้าตัวน้อย แต่เจ้าวัยเตาะแตะแกไม่รู้ด้วยว่า หนูก็เคยถูกเห่อด้วยเหมือนกัน เพราะจำไม่ได้แล้ว 
3. การเปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไปสะกิดใจน้องหนู เช่น พัฒนาการการเรียนรู้ หน้าตา หรือความเชื่อที่ว่าลูกคนไหนนำโชคมากกว่ากัน
4. พัฒนาการที่น่ารัก น่าหมั่นไส้ของเด็กวัยนี้ จนทำให้คะแนนนิยมตก
* อารมณ์แห่งความวุ่นวาย โดยเฉพาะช่วง 2 ขวบ ถึง 2 ขวบครึ่ง จะต้องการความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็กลัวการแยกจาก 
* น้องหนูวัย 2 ขวบครึ่งไปแล้ว จะทำอะไรที่เป็นเหตุให้ต้องโดนดุบ่อยๆ เช่น หวงของส่วนตัว เช่น ไม่ยอมใก้ใครมานั่งเก้าอี้ประจำตำแหน่งของแก

 
12 วิธีคลายปมในใจลูก
1. ให้เวลา คุณปู่คุณย่าสัก 1-2 เดือน ท่านน่าจะพอรู้ตัวเองบ้าง
2. หาทางบอกญาติผู้ใหญ่ตามตรงว่าอย่าเห่อหลานคนเล็กจนหลานคนแรกหงอย 
3. ถ้าคุณไม่กล้าเพราะเป็นญาติผู้ใหญ่ข้างสามี ก็ให้คุณพี่สามีเป็นคนบอกเสียเอง
4. ให้โอกาสหลานอยู่ตามลำพังกับคุณปู่คุณย่า แล้วคุณก็พาเจ้าตัวเล็กชิ่งหลบไปก่อน เพื่อน้องหนูจะได้รู้ว่าคุณปู่คุณย่ายังรักแกอยู่
5. หาโอกาสให้ได้อยู่พร้อมหน้ากัน แทนที่จะต่างคนต่างแยกกิจกรรมกันทำ เพื่อให้ลูกคนโตได้แสดงบทฮีโร่ดูแลน้องบ้าง
6. เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูก ด้วยท่าทางสัญลักษณ์ที่ทำให้รู้ว่าคุณยังรักแกอยู่ เช่น โอบกอด หอมแก้มก่อนนอน หรืออื่นๆ ที่คุณเคยทำเป็นประจำ
7. ให้คำชมเชยเมื่อลูกทำอะไรได้เอง เพื่อป้องกันพฤติกรรมถดถอย
8. อย่าพูดเล่าความผิด หรือเรื่องหน้าแตกของลูกต่อหน้าธารกำนัลบ่อยนัก และเห็นเป็นเรื่องตลกประจำวงสนทนา เพราะน้องหนูเขารู้ความแล้วค่ะ
9. เปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความในใจบ้าง โดยไม่เอาเรื่องเหตุผลและความถูกต้องมาเป็นเครื่องปิดกั้น เช่น ถ้าลูกบอกเกลียดคุณปู่ ก็ถามว่าทำไมเกลียด หากแกใช้คำไม่สุภาพบ้างอย่าขัดจังหวะหรือเทศนาช่วงนี้ ปล่อยให้แกพูดให้หนำใจก่อน
10. คุ้ยภาพถ่ายสมัยแกยังเป็นขวัญใจประจำบ้านมาเป็นหลักฐาน พร้อมอธิบายว่า " เด็กเล็กแรกคลอด ต้องมีการรับขวัญเป็นธรรมดา ตอนหนูเกิด ทุกคนก็รับขวัญหนูนะ "
11. ถ้าเห็นว่าไม่สามารถทำให้คนในครอบครัวเข้าใจได้ คุณคือกุญแจดอกสำคัญ ในการให้ความรักทดแทน แต่ให้ระวังเรื่องการให้ท้ายด้วยนะคะ
12. อย่าสอนลูกให้ยอมน้องด้วยเหตุผลเพราะเขาเป็นน้อง แต่ควรมีคำพูดอื่นด้วยเช่น " น้องยังทำเองไม่เป็น ถ้าลูกช่วยน้อง อีกหน่อยน้องต้องทำเองเป็น " และคุณควรแสดงบทตุลาการบ้าง เมื่อน้องเป็นคนทำผิดเสียเอง


คงต้องมีสักครั้ง ที่เข็มตาชั่งในใจคุณอาจสั่นเอียงไปบ้าง (แม้ไม่ได้ตั้งใจ) เมื่อไหร่ที่นึกขึ้นได้ รีบนำเข็มนั้นกลับมาตรงกลางเถอะค่ะ เพื่อลูกจะได้มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีต่อไป
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=174

อัพเดทล่าสุด