รับมืออาการแพ้ หลังฉีดวัคซีน


930 ผู้ชม


"รับมืออาการแพ้ หลังฉีดวัคซีน"

     การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องปกติที่เด็กทุกคนต้องเจอ เพื่อเป็นเกราะป้องกัน ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นกับลูกบ้าง หากรู้จุดสังเกตอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น คุณแม่ก็จะรับมือกับอาการเหล่านั้นได้ดีขึ้นค่ะ

  การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องปกติที่เด็กทุกคนต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนทางเลือก เพื่อเป็นเกราะป้องกัน ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงให้กับลูก แต่การฉีดวัคซีนนั้น อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นกับลูกบ้าง หากรู้จุดสังเกตอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น คุณแม่ก็จะรับมือกับอาการเหล่านั้นได้ดีขึ้นค่ะ
ที่มา...ผลข้างเคียง
          เด็กที่มีอาการข้างเคียงเมื่อได้รับวัคซีน อาจไม่ได้มีอาการจากตัววัคซีนโดยตรง เนื่องจากในวัคซีนป้องกันโรค นอกจากจะประกอบด้วยสารที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรคแล้ว ยังมีสารอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนด้วย เช่น
           อลูมินัม พบในวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบ, ไวรัสตับอักเสบเอและบี
           ยีสต์ พบในวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
           ไข่ พบในวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
           เจลาติน พบในวัคซีนป้องกันสุกใส, หัด หัดเยอรมันและคางทูม
           ยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน พบในวัคซีนป้องกันสุกใส, หัด หัดเยอรมันและคางทูม
          ดังนั้นถ้าเด็กที่มีอาการข้างเคียงจากสารที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีน ก็จะมีอาการข้างเคียงเมื่อได้รับวัคซีนได้ค่ะ


อาการและวิธีรับมือ
          อาการข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันไป วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรนและบาดทะยัก อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ภายในวันที่ฉีดวัคซีน และมักมีอาการไม่เกิน 2-3 วัน ส่วนวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อเป็น เช่น วัคซีนป้องกันโรคสุกใสหรือหัด หัดเยอรมันและคางทูม อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ไข้และผื่น ภายหลังฉีด 5-7 วัน นอกจากนี้วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมันและคางทูม ยังอาจทำให้มีอาการปวดข้อภายหลังฉีด 2-4 สัปดาห์ แต่มักพบในผู้ใหญ่
อาการข้างเคียงของวัคซีนแบ่งเป็น
           อาการข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น ปวดบวมแดงบริเวณรอยฉีดยา
          วิธีดูแล : หากลูกมีอาการปวดบวมแดงบริเวณรอยฉีดยา อาจให้กินยาพาราเซตามอนแก้ปวดและใช้ผ้าเย็นประคบเบา ๆ ไม่ต้องนวดคลึงและไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ
           อาการข้างเคียงทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ ร้องกวน กินอาหารน้อยลง คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ มีผื่น ปวดข้อ
          วิธีดูแล : หากมีไข้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวลดไข้ อาจให้กินยาพาราเซตามอนแก้ไข้และให้เด็กดื่มน้ำบ่อย ๆ แต่ถ้าคลื่นไส้อาเจียนก็ไม่จำเป็นต้องให้กินยาแก้อาเจียน เพียงให้เด็กค่อย ๆ ดื่มน้ำและกินอาหารอ่อนครั้งละน้อย ๆ
           ส่วนใหญ่อาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงอย่าง มีไข้ ปวดบวมแดงบริเวณรอยฉีดยา ร้องกวน มักหายภายใน 2-3 วัน
          อาการข้างเคียงทั่วไปที่ค่อนข้างรุนแรง พบได้น้อยมาก อาการเหล่านั้นได้แก่ มีผื่นลมพิษ, หน้า ปาก มือและเท้าบวม, หายใจหอบ, ความดันโลหิตต่ำและช็อก อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังฉีดวัคซีนไม่กี่นาทีจนถึง 2-3 วัน
          วิธีดูแล : ต้องนำเด็กไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนและควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
วัคซีนตัวไหนต้องระวัง
          ทั้งวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนทางเลือก ต่างก็ทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งนั้น ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง ยังสามารถให้วัคซีนนั้น ๆ ซ้ำได้ แต่ถ้าลูกมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงมาก ไม่ควรให้วัคซีนนั้น ๆ อีก หากลูกที่มีไข้สูง หรือชักหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดสเต็มเซลล์ ควรให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไม่มีเซลล์ซึ่งมีราคาสูงกว่า
          โดยทั่วไปคุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ยาลดไข้กับลูกก่อนฉีดวัคซีน แต่ถ้าลูกเคยชักมาก่อน อาจให้ยาลดไข้ก่อนให้วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรนและบาดทะยัก ประมาณ 30 นาที รวมทั้งหลังได้วัคซีนแล้ว ก็อาจให้ยาลดไข้ต่อทุก 4-6 ชั่วโมง เป็นเวลา 24 ชั่วโมงค่ะ
          ถึงแม้การฉีดวัคซีนในเด็กอาจทำให้มีอาการข้างเคียงบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ลูกของคุณแม่ยังคงได้รับประโยชน์จากการรับวัคซีนมากกว่า ดีกว่าปล่อยให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้นะคะ
ที่มา   https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=1317

อัพเดทล่าสุด