ระวัง แสงแดด ทำร้ายผิวลูก


"ระวัง แสงแดด ทำร้ายผิวลูก"

    วันหยุดช่วง Summer แบบนี้ เจ้าตัวน้อยคงจะดีใจที่ได้ไปเที่ยวสนุกกัน ทั้งเล่นน้ำ วิ่งเล่นตามชายหาด ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องพบกับแสงแดดที่อาจจะทำให้ผิวของลูกน้อยเป็นอันตรายได้

เราจึงนำเรื่อง Sunburn ผิวไหม้แดดของเด็กมาฝากค่ะ โดยมีพญ.นวลรัตน์ หาญศิริพันธุ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเด็ก มาให้ความรู้และข้อแนะนำดีๆ ค่ะ


แสงแดดที่ส่องลงมาถึงเรานั้นมีรังสีหลายชนิดด้วยกันค่ะ แต่แสงที่เป็นอันตรายกับผิวหนังมากที่สุดคือ รังสีอัลตราไวโอเลตหรือที่เราเรียกว่า แสง UV นั่นเอง เพราะรังสีนี้สามารถผ่านชั้นบรรยากาศลงมาโดนผิวหนังได้ ซึ่งถ้าได้รับรังสีนี้มากเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนังถึงขั้นเป็นมะเร็งผิวหนังในระยะยาวได้ค่ะ
เมื่อลูกน้อยต้องออกแดดหรือเล่นกลางแจ้งนั่นไม่ใช่หมายถึงเพียงเฉพาะเวลาที่แดดเปรี้ยงๆ หรือแค่ตอนเที่ยงเท่านั้นนะคะ ช่วงเวลา 10 โมงถึง 3 โมงเย็น จะเป็นเวลาที่แสงแดดสามารถทำอันตรายต่อผิวได้ค่ะ ส่วนสีผิวของเด็กก็มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกันค่ะ คือ เด็กที่มีผิวขาวยิ่งถ้าขาวมากเท่าไรก็จะมีโอกาสเกิดผิวไหม้แดดได้เร็วเท่านั้น เช่น เด็กทางยุโรป ที่มีผมสีทอง ตาสีฟ้า เพราะมีโอกาสเกิดผิวไหม้แดดมากกว่าเด็กที่มีผิวสีคล้ำ ซึ่งแสดงว่ามีเม็ดสีปกคลุมที่ผิวหนังมาก ปฏิกิริยาที่ไวต่อแสงแดดก็จะน้อยกว่าด้วยค่ะ

 
อาการแบบนี้เรียกว่า...Sunburn
คุณพ่อคุณแม่คงจะดีใจที่ได้เห็นลูกน้อยวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานโดยไม่รู้เลยว่าแสงแดดนั้นคอยแผดเผาผิวอ่อนนุ่มของลูกน้อยอยู่ เนื่องจากว่าผิวของเด็กนั้นบอบบางและไวต่อแสงแดดมาก ทำให้ถูกแดดเผาได้มากกว่าผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันลูกน้อยก็ชอบเล่นกลางแจ้งมาก จึงทำให้วันต่อมาคุณพ่อคุณแม่ต้องกลุ้มใจเมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กมีอาการ Sunburn นั่นคือ มีอาการอักเสบของผิวหนัง เนื่องจากโดนรังสี UV ในแสงแดด ทำให้เกิดอาการคือ
เมื่อได้รับแสงแดดประมาณ 6-12 ชั่วโมงแรก จะแสบร้อนผิว และมีอาการเป็นผื่นแดง หลังจากนั้นผิวหนังก็จะไหม้ แล้วก็จะลดลงประมาณ 3-5 วัน แต่เด็กบางคนที่มีการตอบสนองกับรังสีมากกว่าคนอื่นก็จะไม่ได้เป็นแค่ผื่นแดงเท่านั้น ผิวหนังจะขึ้นเป็นตุ่มน้ำพุพองตรงบริเวณที่โดนแดด ความรู้สึกเหมือนกับโดนน้ำร้อนหรือน้ำมันลวกเลยค่ะ นั่นเป็นเพราะว่าชั้นผิวหนังกำพร้าตายกลายเป็นตุ่มน้ำ เมื่อมีตุ่มน้ำก็เหมือนผิวหนังถูกทำลายเกราะป้องกัน ฉะนั้นโอกาสที่จะติดเชื้อก็จะยิ่งง่ายขึ้นด้วยค่ะ
ผลในระยะยาว เช่น สีผิวเปลี่ยน และการเกิดมะเร็ง เพราะปกติคนผิวดำหลังจากโดนแดด 6-8 ชั่วโมงก็จะหาย หรือต้องใช้ปริมาณรังสี UV ที่ทำให้ดำมากกว่าคนผิวขาวถึง 33 เท่า ในขณะที่คนผิวขาวจะมีโอกาสเกิดฝ้าและกระได้มากกว่า คือจะขึ้นอยู่กับสีผิวของคนเราด้วย


วิธีที่ดีในการรักษา
คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะเมื่อเห็นลูกน้อยมีผื่นแดงไหม้ที่ผิวหนัง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเลยคือ ให้นำผ้าชุบน้ำเย็นมาประคบผิวที่ไหม้แดดไว้จนอาการแสบร้อนหาย เนื่องจากผิวไหม้จาก Sunburn เกิดอยู่ที่ผิวชั้นหนังกำพร้า จะมีอาการที่แสบร้อนมาก การเอาผ้าชุบน้ำเย็นจะช่วยให้อาการเหล่านี้ลดลงและหายไป 
หากลูกเป็นเยอะ ควรพยายามอาบน้ำทำให้ตัวเย็นเพื่อลดความร้อนของผิวหนังลูกน้อยค่ะ แต่ถ้า 2-3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นยังปวดแสบปวดร้อนอยู่ แนะนำให้ไปพบแพทย์ผิวหนังค่ะ ส่วนถ้ามีอาการทางด้านร่างกายด้วยคือ มีไข้ ก็ให้ทานยาลดไข้ได้ แต่หากผิวไหม้จนเป็นปุ่มน้ำคุณหมอไม่แนะนำให้รักษาเองนะคะ ให้พบแพทย์อย่างเดียวเลย เพราะว่าอาการแบบนี้ค่อนข้างรุนแรงค่ะ


กันไว้ดีกว่าแก้
ผิวของลูกน้อยจะนุ่มอ่อนเยาว์สดใสดี หากคุณพ่อคุณแม่มีวิธีการดูแลดังต่อไปนี้ค่ะ
1. หลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น ไม่ว่าลูกน้อยจะอยู่ในบ้านหรือในที่ร่มก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะแสงแดดสามารถทะลุผ่านกระจก พื้นคอนกรีต เข้ามาในตัวบ้านได้ค่ะ ในช่วงเช้าหรือตอนเย็นที่แสงแดดไม่ได้เป็นอันตรายกับผิวหนังมาก อาจพาลูกน้อยไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายก็ได้ เพราะการให้ลูกเล่นกลางแจ้งจะได้ผลดีทั้งร่างกายและจิตใจมากกว่าอยู่ในห้องแอร์อย่างเดียว 
2. เด็กทารก 0-6 เดือนหากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ควรหลบแสงแดดไว้ก่อนค่ะ เพราะว่าผิวของเด็กๆ มีความต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ และแพ้แดดได้ง่ายกว่าด้วย
3. เมื่อออกไปข้างนอกในวันที่มีแดดเปรี้ยงควรสวมเสื้อแขนยาว ใส่หมวกหรือกางร่มด้วยก็ได้ ที่สำคัญคือให้ลูกสวมแว่นกันแดดปกป้องดวงตาจากแสงจ้าด้วยค่ะ 
4. หากเด็กๆ จะต้องลุยแดดกันนานๆ เช่น เล่นน้ำทะเล ว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณครึ่งชั่วโมงและทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยสามารถหาซื้อครีมกันแดดได้ตามท้องตลาด ซึ่งครีมกันแดดส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารกันแดด 2 ชนิด คือ
Chemical sunscreen คือสารกันแดดที่สามารถดูดซึมรังสี UVสารกันแดดในกลุ่มนี้ทาแล้วไม่มีสี แต่มีข้อเสียคืออาจมีโอกาสเกิดอาการแพ้และระคายเคืองต่อผิวหนังได้ในบางคนค่ะ
Physical sunscreen คือสารกันแดดที่สามารถสะท้อนและกระจายได้ทั้ง UV-Aและ UV-Bทาแล้วจะไม่เกิดอาการแพ้หรืออาการระคายเคืองต่อผิวหนังค่ะ
ครีมกันแดดที่ใช้ควรเป็นครีมกันแดดสำหรับเด็กโดยเฉพาะค่ะ เพื่อไม่ให้ลูกได้รับสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย และควรเลือกครีมกันแดดชนิดที่มีค่าตั้งแต่ SPF20-25 ขึ้นไปค่ะ
ที่มา    https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=815

อัพเดทล่าสุด