สองสามวันแรกของการให้นมเจ้าตัวเล็ก


"สองสามวันแรกของการให้นมเจ้าตัวเล็ก"

    มีคุณแม่หลายๆ ท่านที่ตั้งใจอย่างมุ่งมั่นว่าจะให้นมเจ้าตัวน้อยเองหลังคลอด เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากการให้นมลูกน้อยมีมากมายเหลือเกินค่ะ

• คุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าสำหรับลูกน้อยและท้องน้อยๆ ของลูก

• ประหยัดเงินจากการซื้อนมผงสูตรพิเศษสำหรับเลี้ยงทารก

• ลดความยุ่งยากในการล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อขวดนม

• เป็นเวลาสร้างความผูกพันระหว่างคุณแม่และลูกน้อย

• ลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม

• ลดน้ำหนักของคุณแม่ได้เร็วยิ่งขึ้น!

ถ้าคนที่อยู่แวดล้อมคุณแม่เป็นคนที่เคยมีประสบการณ์ในการให้นมบุตรมาก่อน หรือการให้นมบุตรเป็นเรื่องที่สามารถทำได้สะดวกในย่านที่คุณแม่อาศัยอยู่ คุณแม่ก็อาจมีแนวโน้มที่จะคิดว่า การฝึกให้นมเจ้าตัวน้อยเป็นเรื่องง่ายๆ

แต่ในระหว่างชั้นเรียนสำหรับเตรียมตัวก่อนคลอด ซึ่งมักมีหลักสูตรที่อธิบายเกี่ยวกับวิธีการให้นมบุตร รวมถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการดูดนมของน้อง ลักษณะการเคลื่อนไหวของปากน้องขณะดูดนม และรายละเอียดอื่นๆ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้คุณแม่เริ่มคิดว่า ทำไมสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการออกแบบจากธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ตามธรรมชาติใช่ไหมคะ คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกเหนื่อยล้าที่พบว่า ตัวเองคือแหล่งอาหารอย่างเดียวที่ลูกสามารถทานได้ ใจเย็นๆ ค่ะ เพราะเรากำลังจะบอกเล่าประสบการณ์ของคุณแม่บางท่านที่เคยผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้มาแล้ว ลองมาดูกันค่ะว่าคุณแม่ท่านนี้ต้องพบกับอะไรบ้าง

วันที่ 1 หลังจากที่คลอดน้องได้หนึ่งชั่วโมง พยาบาลก็พาน้องมาดูดหัวน้ำนมที่แสนล้ำค่าจากอกคุณแม่ มันดูง่ายๆ... แต่ก็ลำบากนิดหน่อยที่ต้องพยายามให้เจ้าตัวเล็กที่กำลังหลับตื่นขึ้นมาดูดนม แต่มันน่าประหลาดใจเหลือเกินที่ได้เห็นว่า หัวน้ำนมข้นเหนียวนั้นสร้างความพอใจให้เจ้าตัวเล็กได้มากเพียงใด นี่นะหรือคือการให้นมลูก ดูแล้วก็ไม่น่ายากใช่ไหม การให้นมลูกอาจเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าที่คิด!

วันที่ 2 คุณแม่ท่านนี้เริ่มกังวลที่จะให้นมลูก เพราะดูเหมือนน้ำนมจะมีไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่เต้านมคัดตึง แต่น้ำนมกลับไหลออกมาไม่มากพอ พยาบาลผดุงครรภ์ให้กำลังใจคุณแม่ว่า อีกไม่นานน้ำนมก็จะมาเอง

วันที่ 3 ลูกน้อยเริ่มหิว! ดูเหมือนว่ารอบการให้นมลูกจะมาถึงเร็วเหลือเกิน ตอนนี้ลูกน้อยผล็อยหลับไปแล้ว แต่อีกสักพักก็จะตื่นขึ้นมาและร้องหิวนมอีก ต้องมีบางอย่างผิดปกติแน่ๆ...เพราะคุณแม่รู้สึกทรมานเวลาที่ให้นมน้อง และเจ็บหัวนม

วันที่ 4 พยาบาลแจ้งว่า น้ำนมของคุณแม่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถให้นมน้องได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญ คุณแม่ยังคงรู้สึกเจ็บเวลาที่ให้นมน้องอยู่เลย! คุณแม่ท่านนี้คิดว่า รูปถ่ายตามหน้านิตยสารที่มีภาพแม่กำลังให้นมลูกน้อยที่มีใบหน้าเปี่ยมสุขนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความจริง อย่างน้อยก็ไม่ใช่สำหรับคุณแม่ท่านนี้ เพราะลูกน้อยดูเหมือนจะไม่มีความสุขเลยสักนิด

โชคดีที่คุณแม่มีตารางเข้าเรียนวิธีการให้นมบุตรที่สอนโดยผู้ให้คำปรึกษาด้านการให้นมบุตร ผู้เชี่ยวชาญสอนคุณแม่ถึงเทคนิคในการอุ้มน้องให้ถูกวิธี และการจัดท่าทางน้องเพื่อให้สามารถดูดนมได้อย่างถูกต้อง ซึ่งพอคุณแม่ท่านนี้ลองทำตาม ก็พบว่าการให้นมน้องไม่เจ็บปวดและทรมานอีกต่อไป แถมยังผ่อนคลายและเพลิดเพลินกับการให้นมน้องมากขึ้นด้วย ลูกน้อยของคุณแม่ก็หลับอย่างมีความสุข พยาบาลผดุงครรภ์บอกกับคุณแม่ว่า คุณแม่ไม่ใช่คนเดียวที่กำลังเรียนรู้ทักษะใหม่นี้ ลูกน้อยของคุณแม่ก็กำลังเรียนรู้ไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น คุณแม่จึงควรอดทนให้มากๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การมีปัญหาระหว่างการให้นมบุตรคือเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ทุกคน เมื่อได้ฟังเช่นนี้ คุณแม่ท่านนี้จึงผ่อนคลายลง

และพยายามจดจำลักษณะการดูดนมที่ถูกต้องของลูก เพื่อจะได้จัดท่าทางน้องให้เหมาะสมเวลาให้นมแต่ละครั้ง แต่กว่าจะทำได้อย่างสมบูรณ์แบบก็อาจต้องใช้เวลาถึงสองสัปดาห์ ดังนั้นคุณพ่อจึงต้องให้กำลังใจคุณแม่มากๆ หน่อยนะคะ

คุณแม่อาจลองใช้คำแนะนำต่อไปนี้เป็นแนวทางในการให้นมน้องนะคะ

1. อ่านหนังสือเกี่ยวกับการให้นมลูกและเข้าเรียนในชั้นเรียนสำหรับเตรียมตัวก่อนคลอด การเตรียมตัวอย่างดีจะช่วยคุณแม่ได้มาก โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเจอปัญหาระหว่างให้นมน้อง ข้อมูลที่ดูเหมือนจะแปลกประหลาดและไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้เลยนั้น จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในเวลาที่คุณแม่เจอปัญหาต่างๆ

2. ทำความเข้าใจว่า การให้นมลูกไม่ควรเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวด หยุดและลองใหม่ถ้าลูกดูดนมด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ความรักที่พร้อมเสียสละของคุณแม่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่การให้นมด้วยความรู้สึกทรมานนั้นไม่ควรนับรวมอยู่ในการเสียสละด้วยนะคะ คุณแม่ต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพราะจะมีผลต่อการไหลของน้ำนมและปริมาณน้ำนมที่ร่างกายผลิตได้ด้วยค่ะ

3. อยู่ท่ามกลางผู้คนที่พร้อมสนับสนุนการให้นมบุตร  ถ้าคุณแม่ตั้งใจที่จะให้นมน้องเองเป็นเวลาหลายเดือน กำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนฝูงคือสิ่งที่สำคัญมากๆ เลยค่ะ คำพูดเชิงลบเกี่ยวกับคุณภาพที่ไม่ดีพอของน้ำนมคุณแม่ หรือน้ำหนักตัวที่ขึ้นช้าของลูกคือสิ่งบั่นทอนกำลังใจที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงค่ะ

4. ขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา  หน่วยงานให้คำปรึกษาด้านการให้นมบุตร พยาบาลผดุงครรภ์ และแพทย์คือคนที่จะช่วยสอนเทคนิคต่างๆ และท่าทางที่สบายในการให้นมลูกน้อยค่ะ

เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่น้ำหนักตัวของคุณแม่เริ่มหายไป คุณแม่จะพบว่านี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ไม่มีอะไรเทียบได้เลยค่ะ

อัพเดทล่าสุด