“อีสุกอีใส” ภัยเงียบกวนใจแม่ช่วงลมหนาว


"อีสุกอีใส" ภัยเงียบกวนใจแม่ช่วงลมหนาว

ปฏิทินวันเวลาเดินทางเข้ามาสู่ช่วงฤดูหนาวกันแล้ว หลายคนตื่นเต้นกับเทศกาลส่งมอบความอบอุ่นและความสุขให้แก่กัน แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับอากาศที่หนาวเย็นและยากจะหลีกหนี ทำให้ผิวของทุกคนแห้งตึงและแตกเป็นขุยๆ รวมถึงผิวที่บอบบางของลูกน้อยด้วย นอกจากนั้นคุณพ่อคุณแม่ยังต้องเฝ้าระวังโรคยอดฮิตช่วงฤดูหนาวอย่าง "โรคอีสุกอีใส" อีกด้วย

            จากศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวว่า โรคอีสุกอีใสเป็นอีกโรคหนึ่งที่มักแพร่ระบาดในฤดูหนาวยาวนานไปจนถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับบรรดาคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย เพราะโรคนี้จะส่งผลต่อสุขภาพและทิ้งร่องรอยแผลเป็นให้แก่ผิวใสๆ ของลูกๆ
             ถึงแม้คุณแม่มือใหม่หลายท่านอาจจะไม่กังวลใจ เพราะรู้ไม่เท่าทันภัยจากโรคนี้ โดยคิดว่าโรคอีสุกอีใสไม่ได้ร้ายแรงมากนัก แต่ความจริงแล้วเป็นโรคที่น่ากลัวเหมือนกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความรู้ในการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับโรคนี้ ดังนั้นทุกคนควรมาทำความรู้จักกับโรคอีสุกอีใสกันค่ะ
             "โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Varicella virus มักระบาดในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แต่สามารถพบได้ประปรายตลอดทั้งปี สามารถเกิดได้กับคนทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หายใจรดกัน สัมผัสเนื้อตัว หรือใช้ของร่วมกับคนที่เป็นอีสุกอีใสอยู่"

             ส่วนอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคนี้จะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ในช่วงแรกจะเริ่มขึ้นเป็นผื่นแดงราบ ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ ข้างใน มีอาการคัน โดยที่ผื่นและตุ่มแดงๆ จะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า หนังศีรษะ หน้าอก และตามลำตัว นอกจากนั้นอาจมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ และกลายเป็นตุ่มหนองประมาณ 2-4 วัน จึงจะตกสะเก็ดและแห้ง

             อย่างไรนั้น แม้ว่าอีสุกอีใสจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง เนื่องจากสามารถรักษาให้หายได้ โดยใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ แต่ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้ หากมีเชื้อหลบอยู่ที่ปมประสาท ซึ่งอาจเกิดเป็นโรค "งูสวัด" ภายหลังได้ บางรายมีเชื้อแบคทีเรียที่แทรกซ้อนอยู่โดยอาจจะกระจายเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ และปอดบวมได้ แต่ที่เห็นได้ชัดมากที่สุดก็คือ รอยแผลเป็นที่ทิ้งไว้บนผิวหนัง บางคนรอยแผลเป็นอาจจางหายไปเอง แต่บางคนอาจมีรอยแผลเป็นติดตัวไปตลอดชีวิต สร้างความน่ารำคาญและมีผลต่อบุคลิกภาพและภาพลักษณ์ในอนาคตได้

 

             ทั้งนี้ หากทุกบ้านรู้จักวิธีการปกป้องและบำรุงผิวที่เกิดจากโรคอีสุกอีใสอย่างถูก ต้อง ก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องผิวพรรณของลูกน้อยอีกต่อไป ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพแนะนำว่า การดูแลผิวพรรณสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสทำได้ง่ายๆ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ อย่าเกาและแกะตุ่มคัน เพราะจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อจนกลายเป็นตุ่มหนองได้

             ขณะเดียวกัน ข้อควรระวังหากลูกน้อยมีไข้สูงควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ และรับประทานยาลดไข้ แต่ถ้าจะให้ดีการป้องกันไว้ก่อนในการฉีดวัคซีนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ง่ายและมีประสิทธิภาพด้วย เพราะจะเป็นผลดีสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 1-12 ปี ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน เพราะเด็กวัยนี้จะมีการสร้างภูมิต้านทานที่ตอบสนองกับวัคซีนได้ดี โดยวิธีการฉีดนั้นเด็กอายุ 1-12 ปี ฉีดเพียง 1 เข็ม ส่วนเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป จะต้องรับวัคซีนถึง 2 เข็ม ในระยะที่ห่างกัน 4-8 สัปดาห์ จึงเพียงพอที่จะกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้สูงพอที่จะป้องกันโรค ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาแล้วจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนอีก
             ถึงตอนนี้คุณพ่อคุณแม่คงจะพอเข้าใจเกี่ยวกับโรคอีสุกอีใสกันบ้างแล้วว่ามีผลเสียต่อสุขภาพลูกน้อยของคุณอย่างไรบ้าง ฉะนั้นช่วงหน้าหนาวนี้พาลูกน้อยของคุณห่างไกลโรคอีสุกอีใสไว้ก่อนที่โรคนี้ จะมอบ "รอยแผลเป็น" ทำร้ายผิวของลูกน้อยจนอดอวดผิวสวยๆ ในอนาคตกันค่ะ

ที่มา    https://vcharkarn.com/varticle/41792

อัพเดทล่าสุด