เมื่อลูกมีความบกพร่องในการเรียนรู้ จะช่วยได้อย่างไร


1,371 ผู้ชม


หน้าที่ 1 - เมื่อลูกมีความบกพร่องในการเรียนรู้ จะช่วยได้อย่างไร

 


           คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมว่าในแต่ละวันหลังเลิกเรียนเด็กๆ ใช้เวลาในการทำการบ้านนานเท่าไหร่ เด็กบางคนอาจจะทำแป๊บเดียวก็เสร็จ บางคนทำการบ้านนานหลายชั่วโมง หรือเด็กบางคนไม่ชอบทำการบ้านเลย เรื่องแบบนี้อาจพบเห็นอยู่บ่อยๆ และมองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะการบ้านบางวิชาอาจมียากง่ายสลับกันไป แต่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะการทำการบ้านเร็วหรือนานอาจบ่งบอกได้ว่าเด็กกำลังมีความบกพร่องในการเรียนรู้ หรือ Learning Disabilities (LD) อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียน และการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กได้
           ดร. เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา ผู้อำนวยการฝ่ายบริการจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวบำบัด และการประเมินค่าทางจิตวิทยาทางการศึกษา โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความบกพร่องทางด้าน การเรียน หรือ Learning Disabilities (LD) ว่า เป็นความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งในกระบวนการทำงานของสมองในการรับ ตีความ หรือสื่อสารข้อมูล ซึ่งข้อมูลก็จะมีหลากหลาย เช่น ข้อมูลทางภาษา ข้อมูลทางชีวภาพ และข้อมูลทางคณิตศาสตร์ตัวเลข โดยข้อมูลจากสถิติพบว่าร้อยละ 80-90 ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนจะเป็นเด็กในวัย 6-15 ขวบ
           ดร.เพ็ญนี อธิบายถึงสาเหตุของความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของสมอง ซึ่งความผิดปกตินี้อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนคลอด ขณะที่สมองของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดากำลังเจริญเติบโต เซลประสาท neurons ที่กำลังเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาไปอย่างรวดเร็ว อาจจะไปอยู่ผิดที่หรืออาจจะเชื่อมโยงไม่ถูกคู่ นอกจากนี้ความบกพร่องในการเรียนรู้อาจจะเกิดจากการได้รับบาดเจ็บทางสมอง ระหว่างคลอด หรือหลังคลอดการได้รับบาดเจ็บนี้อาจเป็นเพียงเล็กน้อย (minimal brain dysfunction) สมองและระบบประสาทส่วนกลางยังทำงานได้ดีเป็นส่วนมาก มีบางส่วนเท่านั้นบกพร่องไปบ้าง ทำให้สมองมีปัญหาในการรับข้อมูล ตีความ หรือสื่อข้อมูล เมื่อการทำงานของสมองบกพร่องในเรื่องการตีความ เด็กอ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือ เมื่อการทำงานของสมองบกพร่องในเรื่องการลำดับความ เมื่อเวลาสื่อออกมาเป็นประโยค คำพูดอาจจะไม่เชื่อมโยงและไม่ต่อเนื่อง
           ดร.เพ็ญนี กล่าวว่า ความบกพร่องในการเรียนรู้บางอย่างสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในการอ่าน การเขียน และความเข้าใจ สภาพแวดล้อมก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น มีสารตะกั่วอยู่ในอากาศปริมาณมาก หรือสารตะกั่วเหล่านั้นปนเปื้อนอยู่ในน้ำ เมื่อเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าไป หรือร่างกายขาดสารอาหารในวัยทารกและวัยเด็ก การขาดโอกาสทางการศึกษา ตลอดจนการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะไม่ใช่สาเหตุที่ก่อให้เกิดความบกพร่องในการเรียน รู้โดยตรงแต่องค์ประกอบเหล่านี้อาจทำให้สภาพความบกพร่องเลวร้ายลงได้
           ดร.เพ็ญนี กล่าวต่อว่า เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเท่ากับหรือฉลาดกว่า เด็กปกติทั่วไปแต่เด็กเหล่านี้มีปัญหาในการเรียน ทำให้มีผลการเรียนต่ำกว่าเด็กอื่นๆ ในวัยเดียวกัน ความบกพร่องในการเรียนรู้มีหลายประเภท แต่ปัญหาด้านการอ่านเป็นความบกพร่องที่พบได้บ่อยที่สุด การที่ผู้ปกครองบางคนจะเร่งให้เด็กฝึกอ่านและเขียน ถ้าเป็นเด็กที่มีความพร้อมก็จะไปได้เร็ว แต่เด็กที่ไม่มีความพร้อมทางพัฒนาการของสมองหากเร่งมากก็อาจจะส่งผลเสียต่อ เด็ก ทำให้เด็กมีสติปัญญาปานกลางถดถอยด้วยซ้ำ เด็กที่ถูกบังคับให้เรียนเมื่อโตขึ้นมักจะมีความรู้สึกไม่อยากเรียน เพราะไม่มั่นใจ คิดว่าประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ บางคนก็เกิดความกลัวไม่อยากไปโรงเรียนและไม่ชอบโรงเรียน หนีเรียน ออกไปเล่นเกม เที่ยวเตร่
           “ความบกพร่องทางการเรียนรู้มีหลายประเภท เด็ก LD บางคนมีภาษาพูดที่มีรูปแบบไม่สมบูรณ์เหมือนเด็กทั่วไป มีความยากลำบากในการแสดงความคิดหรือความรู้สึกของตนเอง ไม่สามารถทำตามคำสั่งหรือเข้าใจคำถาม บางคนมีความยากลำบากในการอ่านภาษากาย ภาษาท่าทาง บางคนมีปัญหาทางคำนวณ ไม่เข้าใจความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์”

           ดร.เพ็ญนี ยกตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอันเนื่องจากบกพร่องทางการ เรียนว่า การอ่านที่เห็นภาพตัวเลข 6 เป็น 9 มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันมาก เช่น การรับเช็คมา หรือเขียนเช็คผิดพลาด แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่เขามองภาพกลับ จะไม่ถูกมองว่าเขามีปัญหาเรื่องนี้ จนกระทั่ง 8 ขวบไปแล้ว เพราะถ้าต่ำกว่านี้ ธรรมชาติของเด็กบางทีด้านซ้าย-ขวาก็สลับกัน สมองยังพัฒนาได้ ทางการแพทย์จึงไม่ถือว่าเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องใน การเรียนรู้
           ดร.เพ็ญนี กล่าวว่า เด็กที่เป็น LD นอกจากพ่อแม่ที่ต้องเข้าใจเด็กแล้ว ครูและโรงเรียนถือเป็นคนสำคัญเช่นกันที่จะต้องเข้าใจและสามารถช่วยให้เด็กมี พัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ซึ่งข้อแนะนำมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ ดังนี้


ดร.เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา

           1. ผู้ปกครองควรพยามช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตนมีความสามารถ เป็นที่รักของคนที่บ้าน ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองนั้นมีคุณค่า ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ดังนั้นพ่อแม่ควรมีเวลาให้กับลูก หมั่นสังเกตพฤติกรรมการทำการบ้าน การเรียน การอ่าน การพูดจาของลูกว่าสื่อสารกัน ติดต่อกันได้ดีไหม มีพัฒนาการ ทักษะที่เหมาะกับวัยของตนหรือไม่  

           2. ครู ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความบกพร่องทางด้านการเรียน เพื่อที่จะสอนเด็กได้ สอนให้เด็กรู้ว่าศักยภาพด้านสติปัญญาของตัวเองว่าไม่ได้ด้อย อาจจะเก่งกว่าเด็กธรรมดาด้วยซ้ำ การทำงานกับเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ คงไม่ใช้คำว่าแค่แก้ปัญหา แต่ต้องเข้าใจปัญหา และรับมือกับมันให้ได้ เพราะจุดที่บกพร่องบางอย่างแก้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่อวัยวะที่บกพร่อง แต่เป็นวิธีการทำงานของสมองที่ไม่สม่ำเสมอ คล้ายกับคลื่นวิทยุที่ไม่นิ่ง
           3. โรงเรียนจะต้องสนับสนุนการเรียนของเด็กให้เกิดการบูรณาการ เพราะปัญหาชีวิตไม่ได้แก้ไขที่ด้านใดด้านหนึ่ง ต้องดูหลายด้าน ดังนั้นการเรียนที่ดีต้องมีความสอดคล้องทั้งรายวิชา และผู้สอนกับผู้เรียน โดยแต่ละรายวิชาต้องส่งเสริมกัน เมื่อเด็กเรียนไปแล้วสามารถสร้างความรู้ต่อได้ หากไม่สอดคล้องกันเด็กจะเรียนไม่ได้ เพราะในการบำบัดรักษาเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนจะต้องยึดหลักวิธีการสอนของ ครู วิชาที่สอน และการเรียนของเด็กที่เอื้อผลกันมากที่สุดซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้

           ความรู้ความเข้าใจถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลรักษาและบำบัดเด็กที่มี ความบกพร่องทางการเรียนและพัฒนาการ เพราะหากพ่อแม่และครูไม่เข้าใจเด็กแล้ว ก็อาจทำให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้แต่ละคนจะมีลักษณะจำเพาะบุคคล การบำบัดความบกพร่องในการเรียนรู้จึงต้องเป็นแผนดำเนินการที่สร้างขึ้นมา เฉพาะบุคคล โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์พ่อ-แม่-ลูกและลักษณะจำเพาะของครอบครัวเป็นสำคัญ ยิ่งพ่อแม่ และครูไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของจิตวิทยา และลักษณะของความบกพร่องทางการเรียนแล้วก็ย่อมทำให้เป็นเรื่องยากที่เด็กจะดีขึ้นได้
ที่มา   https://vcharkarn.com/varticle/40078

อัพเดทล่าสุด