แนะนำให้เด็กเรียนรู้จากการเล่น เพื่อพัฒนาการที่ดี


733 ผู้ชม


อ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ 

ถาม.คุณค่าของการเล่นจะช่วยพัฒนาการของเด็กในด้านใดบ้าง 
ตอบ. ตอบ การเล่นของเด็กไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ การเล่นของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมากและมีคุณค่ามหาศาล เราจะเปรียบเทียบการเล่นของเด็กว่ามีความหมายอย่างไร เทียบได้กับการที่ผู้ใหญ่ทำงาน ผู้ใหญ่จะพัฒนาผ่านการอบรม การนั่งเรียน การฝึกฝน การทำงาน ประสบการณ์ แต่สำหรับเด็กแล้วพัฒนาการของเด็กจะพัฒนาการผ่านการเล่นเป็นสื่อกลาง จะถามว่าพัฒนาการด้านไหนบ้าง แทบจะเรียกได้ว่าทุก ๆ ด้านทางการเล่น คือ การพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก หมายถึงการใช้มือ การหยิบจับ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการที่เด็กจะพัฒนาการ การเขียน การทำงานในชีวิตประจำวัน การช่วยเหลือตัวเอง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ก็คือ กล้ามเนื้อแขนขา การทรงตัว จากการเล่น เด็กลงสนามวิ่งเล่น ทำให้เด็กเป็นคนที่เล่นกีฬาได้ดีขึ้น เป็นคนที่คล่องแคล่ว ทะมัดทะแมง รวมทั้งเรื่องของสังคม เพราะการที่เด็กเล่นเป็นกลุ่ม เด็กก็จะได้เรียนรู้การที่จะปรับตัวอยู่กับคนอื่น ทำอะไรร่วมกันมีกิจกรรมร่วมกัน การทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น นอกจากนั้นแม่แต่ด้านภาษา การเล่นหลาย ๆ อย่าง เด็กจะต้องมีการพูดจา มีการสื่อสาร มีการตอบโต้ โดยเฉพาะการเล่นบางอย่างก็จะต้องใช้การพูดในการเล่น สมมุติ เช่น การเล่นเป็นหมอ พยาบาล พ่อแม่ลูก เป็นการเล่นทางด้านภาษาอย่างดี นอกจากนั้นยังจะมีในเรื่องของจริยธรรมอีกด้วย คือ เรื่องของกฎเกณฑ์การอยู่ในข้อตกลงของสังคม ว่าการเล่นของเด็กโตก็จะมีกติกาเกิดขึ้น นั้นก็คือ พื้นฐานที่เด็กจะได้พัฒนาในด้านของการที่จะเติบโตขึ้นมาอยู่ในกฎ ระเบียบของครอบครัว โรงเรียนและสังคมได้

ถาม.ลักษณะรูปแบบของการเล่นแบ่งได้อย่างไร
ตอบ.การเล่นจะมีหลากหลายแตกต่างกันไปหลายอย่าง เช่น วัย อุปกรณ์ ลักษณะการเล่น เช่น การเล่นแบบลักษณะของการจินตนาการ ซึ่งเป็นการเล่นที่มีประโยชน์มาก คือ การเล่นที่เด็กจะต้องใช้การนึกคิด การแต่งเรื่อง สร้างภาพสมมุติเข้ามาร่วม การเล่นแบบนี้มีประโยชน์ เช่น การเล่นตุ๊กตา การเล่นวาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน ต่าง ๆ เหล่านี้ เด็ก ๆ ก็จะต้องมีการแต่ง สร้างเป็นเรื่องเป็นราวเกิดขึ้น โดยจะใช้จินตนาการของตัวเอง แม้แต่การเล่านิทานสมมุติ การสมมุติให้ตัวเองเป็นตัวในนิทานที่เด็กแต่งขึ้น หรือเลียนแบบภาพยนตร์ ก็เป็นการเล่นสมมุติแบบหนึ่ง นอกจากยังมีการเล่นอีกหลายอย่าง เช่น เกมส์ การเล่นเกมส์ก็จะต้องเล่นเป็นกลุ่ม มีกติกา ข้อตกลง หรือการเล่นที่ต้องลงสนามเตะฟุตบอล การขี่จักรยาน การเล่นไล่จับ การปีนอุปกรณ์ ชิงช้าไม่ลื่นทั้งหลาย ซึ่งก็จะเป็นการเล่นที่แตกต่างกันไป และก็จะให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไปด้วย ปัจจุบันมีการเล่นหลายอย่างที่ให้ประโยชน์น้อย การเล่นที่ต้องใช้วัตถุ เด็กไม่ต้องคิด ไม่ต้องลงทุนกระทำ เป็นการเล่นแบบมองเฉย ๆ ซึ่งปัจจุบันนี้มีเยอะ เช่น ของเล่นที่ต้องใช้เล่นที่ต้องใช้ถ่าน ใช้ไฟนำและเด็กกดปุ่ม เครื่องเล่นจะหมุนเอง เด็กก็เพียงแต่นั่งมองแบบนั้น เด็กจะไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร แถมยังมีราคาแพงอีกด้วย

ถาม.ในแต่ละวัย จะมีความแตกต่างในเรื่องของการเล่นอย่างไร
ตอบ.การเล่นในแต่ละวัย แน่นอนว่าจะต้องแตกต่างกัน ต่างกันเพราะว่าแต่ละวัยมีความพร้อมทางร่างกายไม่เหมือนกัน รวมทั้งความคิดสติปัญญาต่าง ๆ ก็ยังต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญมากถ้าพ่อแม่เข้าใจว่าในแต่ละวัยเล่นอะไร พ่อแม่จะได้ช่วยสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง จริง ๆ แล้วเด็กนั้นเล่นตั้งแต่แรกเกิด อย่าคิดว่าเด็กเล็ก ๆ จะเล่นอะไรไม่เป็น เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้จะมีของเล่น เด็กตั้งแต่วัยขวบปีแรกที่ยังเดินไม่ได้ ของเล่นก็จะเป็นลักษณะของที่มีสีสันสดใส ของที่หยิบแล้วมีเสียงดัง หยิบได้เขย่าได้ กลิ้งได้ ของเล่นวัยนี้จะทำให้เด็กได้พัฒนาในด้านของการใช้มือ การมองตามความเคลื่อนไหว สีสันสดใสจะทำให้มองตาม เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดย่อยการเล่นของเด็กช่วยขวบปีแรกก็จะเป็นการเล่นแบบคนเดียว การเล่นของเด็กที่โตขึ้นอีกประมาณ 2-4 ขวบ ก็จะเป็นการเล่นเข้ากลุ่ม แต่จะเป็นต่างคนต่างเล่น เราจะเห็นว่าเมื่อเด็กเห็นคนอื่นเล่น ก็จะสนใจและเดินเข้ามาเล่นด้วย แต่เวลาเล่นแล้วก็จะเล่นคนเดียว จะไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน ของเล่นเด็กวัยนี้ก็จะเป็นของเล่นที่เริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดย่อยและมัดใหญ่เข้ามาบ้าง เช่น การขีดเขียนของเล่นที่มีการตอก มีการเรียง มีการเตะ การขว้างเกิดขึ้นบ้าง สามารถที่จะเรียงบล็อก สามารถต่อภาพจิ๊กซอได้บ้าง เล่นตุ๊กตาได้ ถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นอีก เช่น เด็ก 5 ขวบขึ้นไป เด็กก็จะเริ่มเล่นเป็นกลุ่ม เข้ากลุ่มกันที่เรียกว่า ปฏิสัมพันธ์กัน วัยนี้ก็จะเป็นในเรื่องของการลงสนามมากขึ้น เช่น ไปวิ่งเล่น ไปขี่จักรยาน สนามวิ่งเล่นต่าง ๆ การเล่นแบบเกมส์ก็จะเริ่มเข้ามา คือ การเล่นแบบมีกติกา ซึ่งเด็กที่เล็กกว่านี้จะเล่นไม่ได้เนื่องจากไม่เข้าใจ แต่วัยนี้ 5-6 ขวบก็จะเล่นได้ การเล่นแบบเกมส์ เช่น หมากฮอส เกมเศรษฐี งูไต่บันได เด็กก็จะเริ่มเข้าใจกติกาการเล่นได้บ้างแล้ว ในวัยนี้การเล่นจะช่วยพัฒนาในเรื่องขอการเข้าสังคมได้มาก ถ้าเลยวัยเรียนขึ้นไปหรือวัยรุ่น ก็จะเริ่มในรูปแบบของกีฬามากขึ้น บางคนตั้งแต่ 8-9 ขวบขึ้นไป

ถาม. อุปกรณ์การเล่นของเด็กมีส่วนสำคัญในเรื่องการช่วยพัฒนาของเด็กระหว่างที่เล่นหรือไม่
ตอบ. 
 ใช่ครับอุปกรณ์มีความสำคัญและเหมาะกับวัยของเด็ก ว่าวันไหนเด็กกำลังสนใจอะไร ต้องการเล่นอะไร และยากเกินไปไหม เช่น การเล่นสมมุติ อุปกรณ์จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากจะเล่น ถ้าเด็กได้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ซึ่งการเลือกอุปกรณ์ก็จะต้องมีข้อระมัดระวัง คือ ในเรื่องของความปลอดภัย เช่น ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เราก็ต้องระวังของเล่นจะต้องดูเรื่องสี ควรเป็นสีที่ไม่อันตราย เพราะเด็กชอบเอาของเล่นเข้าปาก สีบางอย่างอาจจะมีสารตะกั่ว, สารปรอทผสมอยู่ เพราะฉะนั้น ในของเด็กสำหรับเด็กเล่นจะมีเขียนไว้ว่าใช้สีที่ไม่อันตราย นอกจากนั้น จะต้องระวังของเล่นที่เป็นวัตถุเล็ก ๆ สามารถถอดได้ บางทีอาจจะหลุดเข้าปากทำให้เด็กสำลัก ติดคอเป็นอันตรายได้ รวมถึงความปลอดภัยด้านอื่นๆ เช่น ความมีคมของของเล่นอาจจะไปบาด หรือทิ่มต่ำได

ถาม. คุณพ่อ คุณแม่จะมีส่วนส่งเสริมและช่วยพัฒนาการเล่นของลูกอย่างไรบ้าง
ตอบ.พ่อแม่จะมีบทบาทหลายประการที่จะช่วยส่งเสริมในจุดนี้ ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจ และเห็นความสำคัญก่อนว่า การเล่นนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาของเด็ก มีประโยชน์ต่อสมองเด็กมาก เพราะปัจจุบันเราอาจจะไปเน้นเรื่องของการเรียนอย่างเดียว เด็กไม่ได้เล่นอย่างเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนการช่วย คือ 
            1. การเตรียมอุปกรณ์ สนับสนุนชุดรองเท้า ที่ต้องใช้ในการเล่น 
            2. คุณพ่อคุณแม่จะส่วนช่วยในการจัดเวลา กิจวัตรประจำวันจะต้องจัดให้เหมาะสม มีโอกาสได้เล่นสม่ำเสมอ 
            3. ในการสร้างทัศนคติที่เหมาะสม พ่อแม่จะส่วนชักจูงให้เด็กเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกีฬา การเล่นกีฬาสำหรับเด็กโต พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างปลูกฝัง ชี้แบบอย่างให้เด็กดูและเห็นว่า การออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประโยชน์ ซึ่งเด็กจะได้อย่างจะร่วมกิจกรรมมากขึ้น และที่สำคัญมากก็คือ การที่พ่อแม่จะไปร่วมเล่นกับเด็กด้วย จะช่วยอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ๆ ตั้งแต่เด็กทารกแรกเกิดถึง 5-6 ปี วัยนี้ ถ้าหากพ่อแม่จะให้เด็กเล่นได้อย่างสร้างสรรค์และได้ประโยชน์เต็มที่ มีจินตนาการ มีการพัฒนาการได้อย่างถูกต้อง พ่อแม่ควรจะลงไปร่วมเล่นกับเด็กด้วย ไม่เพียงแต่นำของเล่นมาให้เด็กเล่นคนเดียว บางทีเด็กจะเล่นไปเพียงชั่วเวลาหนึ่ง หรือเล่นแบบจำกัดมาก ไม่มีการสร้างจินตนาการมากขึ้น แต่ถ้าพ่อแม่ลงไปร่วมด้วย เด็กจะสนุกได้มีส่วนได้ชี้แนะในระหว่างการเล่นจะเป็นการที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีความผูกพัน มีความใกล้ชิดมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นในระหว่างนั้น

ถาม. ถ้าเด็กถูกบังคับในเรื่องของการห้ามเล่น จะมีผลกระทบต่อเด็กในด้านใดบ้าง
ตอบ.มีผลกระทบหลายด้านอย่างที่ว่าความสำคัญของการเล่นในเด็ก คือ เด็กจะต้องเล่น ไม่ใช่เพียงแต่เล่นหรือไม่เล่นก็ได้ เหมือนกับคนที่กินข้าว เด็กจะพัฒนาได้จะต้องเล่น เพราะฉะนั้นถ้าเด็กถูกบังคับและถูกจำกัดได้เล่นตามวัยแล้ว ก็มีผลเสียหลายอย่าง ทั้งร่างกายและจิตใจ ทางด้านจิตใจเด็กจะหงุดหงิด เด็กจะเครียด เด็กจะไม่แจ่มใสร่าเริง หงอยเหงา เด็กจะเป็นเด็กเฉือยชา ไม่มีชีวิตชีวา ในด้านของการพัฒนาการในด้านของสังคม ภาษา และจินตนาการ และผลกระทบจะเป็นไปในระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าหากเด็กได้เล่นอย่างเหมาะสม ตามวัย มันจะเป็นพื้นฐานที่เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ดีด้วย อันที่เป็นการปูพื้น อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

ถาม. การที่เด็กถูกบังคับหรือจำกัดการเล่น ทำให้มีพฤติกรรมการแสดงออกเปลี่ยนไปหรือไม
ตอบ.เด็กที่ไม่ได้เล่น หรืออยู่กับผู้ใหญ่ คุณปู่ คุณย่า หรือคนที่อายุเยอะ ๆ ไม่รู้จะเล่นกับใคร จะมีผลกระทบในด้านของบุคลิกลักษณะของเด็กด้วย เราจะพบว่าเมื่อต้องเข้าไปเรียนหนังสือ อยู่ในสังคมวัยเดียวกัน เด็กจะปรับตัวยากว่าจะเข้ากับใคร อย่างไรในเรื่องของทักษะในด้านของกีฬาก็จะไม่ดี เด็กจะรู้สึกเฉย เด็กจะดูนุ่มนิ่มเกินไป จะส่งผลให้เด็กลำบากในการเข้าสังคม ไม่สนุกสนาน มีชีวิตชีวา ต้องระมัดระวัง

ถาม.ข้อแนะนำที่ควรทราบ
ตอบ.อย่างที่ได้คุยกัน จะเห็นว่าการเล่นมีความสำคัญมีประโยชน์ต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันนี้มีการเล่นที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็จะเป็นคนที่จะต้องช่วยกันเลือก การเล่นที่ไม่เหมาะสม เช่น การเล่นวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์เกมส์ เกมส์สะกดทั้งหลาย ก็จะส่งผลเสียหลายอย่าง เด็กไม่ได้ออกกำลัง เด็กอาจจะมีความก้าวร้าวแฝงเข้ามาด้วย ท้ายที่สุด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรที่จะพิจารณานอกจากดูว่า ลูกเราวัยนี้ ควรจะรับประทานอะไร เรียนอะไร เราควรจะต้องคำนึงถึงว่า เราจะช่วยเหลือและส่งเสริมให้เด็กเล่นอะไร ให้เด็กได้มีโอกาส มีอุปกรณ์และร่วมเล่นกับเด็กด้วย

ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article264.html

อัพเดทล่าสุด