การดูแลเล็บเท้า


1,042 ผู้ชม


การดูแลเล็บเท้า ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการดูแลเล็บเท้า ซึ่งท่านควรตรวจดูด้วยตนเองบ่อยๆ ถ้าหากพบความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เริ่มแรก การรักษาจะไม่ยุ่งยาก         การดูแลเล็บเท้า ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการดูแลเล็บเท้า ซึ่งท่านควรตรวจดูด้วยตนเองบ่อยๆ ถ้าหากพบความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เริ่มแรก การรักษาจะไม่ยุ่งยาก 

ความผิดปกติที่อาจพบได้แก่ สีเล็บเปลี่ยนไป เล็บหนาตัวขึ้น หรืองอกผิดปกติ มีการอักเสบของผิวหนังรอบๆ เล็บ หรือไม่ การตัดเล็บเท้า ดูเหมือนของง่าย แต่ต้องระวัง เพราะถ้าตัดลึกเกินไป เกิดแผลเลือดออก มีโอกาสติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ตาไม่ดี หรือเท้าชาจนไม่รู้สึกเจ็บ ตัดไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดเล็บขบ บางรายก็มีเล็บงอกแทงเข้าไปในเนื้อ ถ้าอักเสบจะตามมาด้วยปวด บวม แดง เป็นหนอง และลุกลามได้ หรือกรณีตัดไม่ถึง เพราะอ้วนเกินไปก้มไม่ลง ตัดไม่ได้ เพราะตามองไม่เห็น หรือเป็นอัมพาต บางคนเลยปล่อยเล็บ ยาว แห้ง แข็ง ดำ สกปรก หรือฉีกขาด แล้วมีโอกาสติดเชื้ออักเสบลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ภายหลัง การดูแลเล็บเท้าให้สะอาด และตัดเล็บเท้าให้สั้นพอดี เป็นส่วนหนึ่งการดูแลสุขภาพเท้า

โดยเฉลี่ยแล้วเล็บมืองอกยาววันละ 0.1 มิลลิเมตร นั่นคือเดือนละ 3 มม. หากเล็บมือหลุด จะต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน จึงจะงอกทดแทนใหม่ได้หมด ส่วนเล็บเท้านั้นงอกช้ากว่าเล็บมือ 2 ถึง 3 เท่า จึงกินเวลานาน 1 ปีถึง 1 ปีครึ่งจึงงอกทดแทนได้ ดังนั้น เมื่อเป็นโรคเชื้อราที่เล็บมือ แพทย์จึงต้องให้ยากินเพื่อฆ่าเชื้อรานานต่อเนื่องกันถึง 6 เดือน ส่วนโรคเชื้อราที่เล็บเท้านั้น ต้องได้รับยาต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี เล็บจะงอกเร็วในช่วงวัยเด็ก ขณะตั้งครรภ์ และฤดูร้อน นอกจากนั้น การกัดเล็บ พิมพ์ดีด และเล่นเปียโน ก็ช่วยเร่งให้เล็บยาวเร็วขึ้น นิ้วที่ยิ่งยาว เล็บยิ่งงอกเร็ว ดังนั้น เล็บมือของนิ้วกลางจึงงอกเร็วที่สุด พบว่าเล็บมือของมือขวา มักงอกเร็วกว่าเล็บมือของมือซ้าย เมื่อมีอายุมากขึ้น เล็บจะงอกช้าลง จากช่วงอายุ 25 ปีถึง 95 ปี พบว่าอัตราการงอกของเล็บลดลงได้ถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว คนชราจะมีการหนาตัวของเล็บ โดยเฉพาะเล็บเท้าทำให้เล็บเท้าผิดรูปผิดร่างไปได้

เล็บอาจเปรียบเป็นหน้าต่างที่บอกถึงความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ปอด หัวใจ เบาหวาน และการขาดอาหาร เป็นต้น คนที่ได้รับสารหนูจากยาหม้อจะพบเส้นขึ้นที่เล็บ ถ้าเป็น 2 เส้นขนานกันตามขวางอาจแสดงถึงภาวะเลือดมีโปรตีนต่ำ ถ้ามีเล็บขาวขุ่นครึ่งเล็บทางด้านโคนส่วนครึ่งปลาย มีสีชมพูตามปกติ อาจเป็นอาการของโรคไตเรื้อรัง ถ้ามีสีขาวขุ่นเกือบทั้งเล็บโดยที่มีสีชมพูน้อยกว่าร้อยละ 20 มักเกิดในผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำให้เป็นโรคตับแข็ง

การตัดเล็บให้ถูกวิธี

  1. สิ่งที่มีความสำคัญในการดูแลเล็บเท้าได้แก่ การตัดเล็บให้ถูกวิธี ควรตัดเล็บมือเป็นประจำ สัปดาห์ละครั้ง ส่วนเล็บเท้า 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง
  2. ท่านควรระมัดระวังการตัดเล็บตรงด้านข้าง อย่าตัดเข้าไปใกล้เนื้อจนมากไป ไม่ควรตัดเล็บจนชิดบริเวณผิวหนังส่วนปลายนิ้วเกินไปเพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการเป็นแผลแล้วยังทำให้พื้นที่หน้าเล็บสั้นลงได้
  3. อย่าพยายามเอาอะไรไปงัดขอบเล็บที่งุ้มลงไป เพราะส่วนใหญ่จะทำให้มีเลือดออก และเกิดการอักเสบลุกลามเป็นหนองได้ สำหรับเล็บเท้าควรตัดในแนวตรงเป็นทรงเหลี่ยม ไม่ควรตัดเล็บลงซอกข้างเล็บมากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดเล็บขบได้
  4. ควรใช้ที่ตัดเล็บเท่านั้นไม่ควรใช้กรรไกร หรือใบมีดมาตัดเล็บ เพราะพลาดพลั้งทำให้เกิดบาดแผลได้ ธรรมชาติสร้างเล็บให้ออกมาในรูปแบบของแผ่นโปรตีนชนิดแข็ง และให้ทำหน้าที่ปกป้องปลายประสาทที่มีอยู่มากบริเวณปลายสุดของร่างกายไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือน อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยในการหยิบจับ และแกะเกา
  5. ในกรณีที่เล็บของท่านมักจะงอกออกมา และงุ้มเข้าหาผิวหนัง ท่านอาจจะใช้สำลีขนาดเล็กๆ วางกันเอาไว้ตรงขอบเล็บก็ได้
  6. การตัดหนังข้างเล็บจะทำให้เกิดรอยแผลเป็นหนาๆ แข็งๆ ยิ่งตัดมันมากเท่าไหร่ จะยิ่งหนามากขึ้นเท่านั้น การใช้น้ำยาที่ช่วยขัดลอกหยังข้างเล็บซึ่งมีสวนผสมของกรด AHA จะช่วยขัดลอกหนังที่ตายแล้วออกไป

บาดแผล

  1. หากเกิดบาดแผลเลือดออก ท่านต้องทำความสะอาดให้ดี อาจใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ เช็ดบริเวณที่เป็นแผล
  2. การตัดเล็บเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่ตรงมุมจะเกิดความคม ซึ่งสามารถกดหนังข้างเล็บให้เจ็บและอาจเกิดบาดแผลได้ เพราะฉะนั้นควรตัดเล็บตรงด้านมุมให้เป็น มุมมนๆ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

การอักเสบ

หากเกิดการอักเสบมากจนนิ้วเท้าบวมแดง สงสัยว่าจะมีหนองตรงขอบเล็บ ท่านควรไปรับการตรวจรักษาให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น เพราะหากรอไว้การอักเสบอาจลุกลาม จนต้องตัดเล็บออกบางส่วน เพื่อให้หนองไหลออกได้ มิฉะนั้น การอักเสบติดเชื้อจะไม่หายไป

การทำความสะอาด

  1. ทำความสะอาดมือ เท้า และเล็บ โดยการใช้แปรงขนนุ่ม กับสบู่อ่อนๆ ถูเบาๆ บริเวณมือ เท้า และเล็บ อย่าลืมที่จะถูใต้เล็บ เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่มีเชื้อโรคเข้าไปสะสมอยุ่มากที่สุด หลังจากนั้นก็ล้างออกด้วยน้ำอุ่น
  2. นวดนิ้วมือ และเท้าด้วยครีมบำรุงหรือน้ำมันบำรุงผิว ประมาณ 3-5 นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตบริเวณมือและเท้า ควรนวดบริเวณปลายนิ้ว และเล็บด้วยเพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมสร้างเล็บที่อยู่บริเวณโคนเล็บ ถ้าไม่สะดวกระหว่างวันสามารถทำได้ในช่วงก่อนเข้านอนแล้วสวมถุงมือผ้าและถุงเท้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซึมซาบสู่ใต้ผิวของน้ำมัน หรือครีมบำรุง หรือจะใช้สครับสำหรับนวดเท้า เพื่อการไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น
  3. ควรทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำทุกวัน เพราะการทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำจะช่วยป้องกันผิวมือไม่ให้หยาบกระด้าง โดยเฉพาะหลังจากที่มือต้องสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน อีกวิธีหนึ่งที่เป็นการป้องกันก็คือ ในช่วงที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ ก็ให้สวมถุงมือทุกครั้ง

การล้างเท้า

  1. การล้างเท้าไม่ควรใช้น้ำร้อนเกินกว่า 37 องศา ควรใช้ปรอทวัดอุณหภูมิน้ำ ไม่ควรใช้มือลองวัดดู เพราะประสาทรับความรู้สึกไม่ดี น้ำอาจร้อนจนพองได้ ควรใช้สบู่อ่อนๆ ล้างเท้า
  2. การแช่น้ำก่อนตัดเล็บจะทำให้ตัดเล็บได้ง่ายขึ้น ไม่ควรแช่เท้านานเกินกว่า 5-10 นาที เพราะจะทำให้ผิวเปื่อยเกิดเป็นแผลได้
  3. อาจใช้ Ointment เช่น Lanolin หรือ Vasaline ทาได้ แต่ไม่ควรทาบริเวณซอกนิ้ว เพราะถ้าชื้นมากอาจเกิดเป็นแผลเปื่อยได้
  4. ต้องเช็ดเท้าให้แห้งสนิทเสมอ ผู้ที่เหงื่อออกตามเท้าบ่อยๆ จะต้องเปลี่ยนถุงเท้าบ่อยๆ และใส่รองเท้าที่ไม่อบ
  5. หลังอาบน้ำต้องเช็ดเท้าให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาดและนุ่ม เช่น ผ้าขนหนู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณซอกนิ้วเท้า

โภชนาการ

  1. รับประทานที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ เพราะเล็บก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่ต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตเหมือนกัน ส่วนสารอาหารที่เล็บต้องการ เช่น โปรตีน วิตามินเอ ซี และอี รวมถึงแร่ธาตุสังกะสีที่มีอยู่ในอาหารทะเล และเมล็ดธัญพืช
  2. ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเรื่องการกินเจลาตินทำให้เล็บแข็งแรง เล็บประกอบไปด้วยเคราตินแบบเดียวกับเส้นผม แต่เคราตินในเล็บจะหนา และหยาบกว่าในผิวและเส้นผม จึงแข็งกว่า อาหารที่ช่วยให้เส้นผมแข็งแรง จึงสามารถช่วยให้เล็บแข็งแรงได้เช่นกัน

คนที่ชอบทาเล็บ

  1. ทาน้ำยารองพื้นเล็บก่อนทาสี เพื่อป้องกันการเกิดสีที่ไม่พึงประสงค์หลังจากการทาเล็บได้ระยะหนึ่ง
  2. ทาน้ำยาเคลือบเงาเล็บเพื่อความวาวและติดทนนาน แต่ไม่ควรทาเล็บสีเข้มติดต่อกันนานๆ ควรสลับสีอ่อนบ้าง และควรหยุดพักการทาเล็บเมื่อเห็นว่าสภาพเล็บดูแห้ง หรือเกิดสีผิดปกติ
  3. ในการเลือกซื้อน้ำยาทาเล็บ ควรคำนึงถึงการเลือกสีให้เหมาะสม ทั้งกับสีผิว โอกาสที่ใช้ สีเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และบุคลิกของตัวเอง ยาล้างเล็บที่มีส่วนผสมของอะซีโทนสามารถขจัดเม็ดสีออกจากเล็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ทิ้งคราบเลอะเทอะตกค้าง ขณะที่น้ำยาล้างเล็บแบบไม่ผสมอะซีโทนจะระเหยช้ามาก และทิ้งฟิลม์เหนียวๆเอา ไว้ข้างหลัง
  4. ศึกษาอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ เช่น วันหมดอายุ หรือสังเกตสภาพของผลิตภัณฑ์ว่ายังมีคุณภาพดีหรือไม่ โดยทั่วไปอายุของเครื่องสำอางเล็บอยู่ที่ประมาณ 3 ปี หรือดูจากลักษณะการแยกตัวของสีหากหมดอายุแล้วไม่ควรใช้เด็ดขาด
  5. เคราตินในเล็บเป็นเคราตินที่ตายแล้ว จึงไม่ต้องการหายใจ การเคลือบเล็บไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ตั้งแต่น้ำยารองพื้นหรือสีทาเล็บ ถือเป็นการปกป้องเล็บจากสภาพแวดล้อมต่างๆได้และป้องกันไม่ให้เล็บแห้งและเปราะ

เลือกรองเท้า

  1. ควรเลือกรองเท้าให้เหมาะกับรูปร่างเท้าของเรา โดยควรเลือกรองเท้าที่สวมใส่พอดี ไม่คับ หรือหลวมจนเกินไป เพราะการเสียดสีในขณะที่เดินนานๆ จะทำให้ผิวเท้าเกิดหนังที่แข็งด้าน และการใส่รองเท้าที่คับเกินไปบริเวณปลายเท้าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเล็บขบ เวลาที่เหมาะสมในการเลือกซื้อรองเท้า คือช่วงกลางวันที่เท้าได้เดินจนขยายตัวแล้ว และหลังจากที่ใส่รองเท้าส้นสูงมาตลอดทั้งวัน หลังเลิกงาน ลองแช่เท้าในน้ำอุ่นสัก 10-15 นาที จะช่วยผ่อนคลายอาการเมื่อล้าได้

ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=751&sub_id=95&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด