แนะวิธีเช็ก สมาธิสั้น ให้ลูก


ลูกชายอายุ 1 ขวบกับอีก 5 เดือนกว่า แต่แกเป็นเด็กที่ซนมากๆ คะ ซนแบบไม่เคยอยู่เฉยๆ หรืออยู่กับที่ได้เกิน 5 นาที แบบนี้เรียกว่า Hyper หรือเปล่าคะ และมีอันตรายต่อพัฒนาการของแกหรือเปล่า         ลูกชายอายุ 1 ขวบกับอีก 5 เดือนกว่า แต่แกเป็นเด็กที่ซนมากๆ คะ ซนแบบไม่เคยอยู่เฉยๆ หรืออยู่กับที่ได้เกิน 5 นาที แบบนี้เรียกว่า Hyper หรือเปล่าคะ และมีอันตรายต่อพัฒนาการของแกหรือเปล่า 

Situation

ลูกชายอายุ 1 ขวบกับอีก 5 เดือนกว่า แต่แกเป็นเด็กที่ซนมากๆ คะ ซนแบบไม่เคยอยู่เฉยๆ หรืออยู่กับที่ได้เกิน 5 นาที แบบนี้เรียกว่า Hyper หรือเปล่าคะ และมีอันตรายต่อพัฒนาการของแกหรือเปล่า

นงลักษณ์ / จ.กาญจนบุรี

 

Expert พญ.สุธิรา ริ้วเหลือง

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์

 

Solution

มีคุณแม่หลายท่านที่ถามเข้ามาลักษณะแบบนี้ว่าลูกอยู่ไม่เฉย ซนหรือวิ่งตลอด ทำอะไรไม่นาน และหันไปทำอย่างอื่นต่อเรื่อยๆ หรือบางครั้งก็เป็นคนอื่นที่ทัก เช่น คุณครูที่โรงเรียนบ้าง เพื่อนบ้านบ้างหรือแม้กระทั่งคุณปู่คุณย่าในบ้านเราเอง ซึ่งทำให้คุณแม่หลายคนเริ่มไม่แน่ใจหรือกังวลว่าลูกของเราจะเป็น Hyper (แบบที่คุณแม่เรียก) หรือศัพท์ทางการแพทย์ที่แปลว่าเด็กซนสมาธิสั้น (ADHD : Attention Deficit Hyperactive Disorder)หรือไม่นั้น คงต้องมีเกณท์ค่ะว่าอาการอย่างไรที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็น และถ้าเป็นจะมีการช่วยเหลืออย่างไร

 

หมอขอเรียกว่าโรคสมาธิสั้นนะคะ โดยมีหลักเกณฑ์ที่เราอาศัยการวินิจฉัยโรคตามคู่มือจำแนกโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ปี ค.ศ.1994 ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบประเมินสำหรับครูหรือนักสุขภาพจิต โดยแบบประเมินนี้ให้บิดามารดาเป็นผู้ประเมิน เพื่อประกอบการวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น

 

เกณท์เบื้องต้นก่อนที่จะประเมิน คือ

- เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้น 'บ่อย' หรือ 'บ่อยมาก' ในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา และพบ

อย่างน้อย 6 ข้อในจำนวน 9 ข้อ ของแต่ละกลุ่มอาการ

- พฤติกรรมเหล่านี้ไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการเมื่อเทียบกับเด็กในระดับพัฒนาการ

เดียวกัน เช่น ในเด็กเล็กๆ ที่อายุประมาณก่อนเข้าโรงเรียน คือ ก่อน 5 ขวบพบว่าไม่ค่อยนิ่งตามพัฒนาการอยู่แล้วค่ะ

- พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน คือ พบหลายๆ สถานที่โดยต้องพบ 2 ที่

ขึ้นไป

- พฤติกรรมเหล่านี้มีผลกระทบต่อการเรียน การงาน และการเข้าสังคมกับเพื่อน เช่น งานไม่เสร็จ เพื่อนไม่เล่นด้วย เป็นต้น

- มีอาการเริ่มต้นก่อนอายุ 7 ปี คือ เป็นมาแต่เล็ก

- ไม่ใช่อาการของโรคอื่นๆ อาทิ Pervasive developmental disorder (Autistic) โรคทางสมองทุกชนิด ชัก หรือ โรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า เป็นต้น เพราะว่าโรคเหล่านี้เด็กก็มีอาการซน ไม่นิ่งได้เช่นเดียวกันค่ะ รายละเอียดของแต่ละโรคติดตามได้ในล้อมกรอบค่ะ

อีกอย่างลูกของคุณแม่น้องนนท์อายุยังไม่มาก เราก็พบได้ค่ะว่าซน พูดไม่ฟัง ไม่นิ่ง ทำกิจกรรมได้ไม่นาน ดังนั้นก่อนจะสงสัยว่าลูกของคุณแม่เป็นหรือไม่ ก็ขอให้แยกโรคแบบง่ายๆก่อน โดยตรวจสอบจากข้อคำถามตามคู่มือจำแนกโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ปี ค.ศ.1994 ข้างต้น โดยควรมีอาการอย่างน้อย 6 อาการขึ้นไปในข้อ ก. และหรือ ข. เป็นเวลานานอย่างน้อยติดกัน 6 เดือน

 

ก.อาการขาดสมาธิ (Inattentive symptom)

1.ไม่สามารถจดจำรายละเอียดของงานที่ทำได้ หรือทำผิดเนื่องจากขาดความรอบคอบ

2.ไม่มีสมาธิในการทำงาน หรือการเล่น

3. ไม่สนใจฟังคำพูดของผู้อื่น หรือไม่ฟังเวลาพูดด้วย

4. ไม่สามารถตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดของคำสั่ง ทำให้ทำงานไม่เสร็จหรือผิดพลาด

5. ทำงานไม่เป็นระเบียบ

6. ไม่เต็มใจหรือหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้ความคิด

7. ทำของใช้ส่วนตัวหรือของจำเป็นสำหรับงานหรือการเรียนหายอยู่บ่อยๆ

8. วอกแวกง่าย

9. ขี้ลืมบ่อยๆในกิจวัตรประจำวันที่ทำเป็นประจำ

 

ข. อาการซน/หุนหันพลันแล่น (Hyperactivity/Impulsivity symptoms)

1. ยุกยิกอยู่ไม่สุข ชอบขยับมือและเท้าไปมา

2. ชอบลุกจากที่นั่งเวลาอยู่ในห้องเรียนหรือในสถานที่ที่เด็กจำเป็นต้องนั่งเฉยๆ

3. ชอบวิ่งหรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ

4. ไม่สามารถเล่นหรืออยู่เงียบๆได้

5. ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลาเหมือนมีเครื่องยนต์ติดตัวอยู่

6. พูดมาก พูดไม่หยุด

7. ชอบโพล่งคำตอบเวลาที่ถามยังไม่จบ

8. มีความลำบากในการเข้าคิว หรือรอคอย

9. ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังคุยกันหรือแย่งเพื่อนเล่น

เป็นที่น่าสังเกตค่ะว่า อาการที่หมอเขียนมาเป็นอาการของเด็กที่อยู่ในวัยเรียน นั่นเป็นเพราะว่าเราจะวินิจฉัยอาการเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้นั้น มักอยู่ในช่วงวัยเรียน เราจะวินิจฉัยในเด็กเล็กๆลำบากเนื่องจากอาการซนนั้น แยกจากพัฒนาการเด็กเล็กที่ซนได้ยากค่ะ

 

ท้ายนี้หมอหวังว่าคุณแม่จะสบายใจขึ้นนะคะเมื่อได้ลองทำตามแบบสอบถามแล้ว แต่ถ้าคุณแม่ยังไม่แน่ใจสามารถพาไปพบแพทย์ได้ โดยเป็นกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กก็ได้ค่ะ แพทย์ส่วนมากอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐบาลทั่วไป การประเมินก่อนอื่นก็คุยกัน ซักประวัติเพื่อถามอาการทั้งหมดที่หมอเขียนมา ช่วงระหว่างที่คุณหมอถามผู้ปกครองคุณหมอจะสังเกตเด็กไปด้วย อาจให้เด็กได้มีกิจกรรมในห้องเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความสามารถหรือความผิดปกติ เช่น ชวนคุย ถามเรื่องโรงเรียน ที่บ้าน หรือเพื่อน และให้วาดรูป มีการให้เขียนชื่อ หรืออาจมีบวกลบเลข อาจมีอย่างอื่นอีกแล้วแต่ว่าเด็กทำได้มากน้อยแค่ไหน

 

ทั้งหมดอาจดูเป็นเรื่องที่ธรรมดาๆ แต่สิ่งเหล่านี้แหละค่ะจะเป็นการประเมินเบื้องต้นที่ดีทีเดียวเพราะเด็กบางคน หมอสามารถวินิจฉัยอาการได้ตั้งแต่ครั้งแรก การประเมินนอกจากพูดคุย ถามตอบเด็กโดยตรง อาจมีการสังเกตเด็กโดยในบางโรงพยาบาลอาจจะมีห้องกระจกที่คุณแม่ถามมาหรือห้อง play room เป็นห้องเล่นของเด็กที่จัดไว้ให้เด็กเล่น มีการจัดของเล่นตามหมวดหมู่ นอกจากให้เด็กเล่นแล้วจะยังมีการสังเกตเด็กผ่านทางกระจก(เป็นห้องที่ติดกันค่ะ เด็กจะไม่เห็นพวกหมอที่สังเกต เราเรียกว่า one way mirror) ดูพัฒนาการทุกด้านรวมทั้ง การเล่น และสมาธิ หลังจากพบหมอ ถ้ายังไม่ชัดเจนเรื่องการวินิจฉัย อาจมีการประเมินทางจิตวิทยาเพิ่มเติมได้ค่ะ

 

โรค Pervasive developmental disorder (Autistic) หรือที่เรียกว่าออทิสติก จะมีปัญหาทางการ พูด พูดช้า พูดซ้ำกับที่เราพูด หรือพูดภาษาแปลกๆ ร่วมกับมีปัญหาทางพัฒนาการทางสังคม ไม่มองหน้า ไม่สบตา ไม่ยิ้ม หรือยิ้มเรื่อยเปื่อย และอาการสุดท้ายคือ มักชอบทำพฤติกรรมซ้ำๆ เขย่งเท้า หมุนตัว เล่นสมมุติไม่ได้

 

โรคทางสมอง คือ ทุกอย่างที่กระทบสมองหรือมีผล เช่น ชัก อุบัติเหตุ โรคพัฒนาการช้าทั้งหมด ประวัติที่ได้มักเป็นแบบว่ามีอาการไม่ดีตอนแรกเกิด บาดเจ็บทางสมอง ชัก พัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งช้า

 

โรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า แบบนี้คุณแม่ควรดูอาการของลูกว่าเด็กดูไม่ยิ้ม ซึม หน้าเครียดๆ ดูไม่มีความสุขน่ะค่ะ

 

พื้นฐานของเด็กเอง หรือพัฒนาการตามวัย พบได้บ่อยๆเลยค่ะว่าเด็กบางคนเป็นเด็กที่ซน active มีกิจกรรมตลอดโดยไม่ก่อความเดือดร้อนมากมาย อย่างนี้ก็ถือว่าปกติค่ะ

 ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=728&sub_id=2&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด