การดูแลเด็กวัยรุ่น


การดูแลเด็กวัยรุ่น วัยรุ่น เป็นวัยที่เชื่อมต่อระหว่างวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ถือเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่สำคัญ เด็กวัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางร่างกาย และจิตใจ         การดูแลเด็กวัยรุ่น วัยรุ่น เป็นวัยที่เชื่อมต่อระหว่างวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ถือเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่สำคัญ เด็กวัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางร่างกาย และจิตใจ 

โดยได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศ ซึ่งโดยทั่วไปพบว่า น้ำหนัก และส่วนสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ววัยรุ่นหญิง จะมีหน้าอกขยายใหญ่ขึ้น เริ่มมีขนบริเวณรักแร้ และหัวเหน่า และเริ่มประจำเดือน ส่วนวัยรุ่นชาย จะมีลูกอัณฑะใหญ่ขึ้น เริ่มมีขนเช่นกัน มีเสียงแตก และมีการหลั่งของอสุจิ

การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ พบว่ามีความสำคัญมาก เด็กวัยนี้จะมีความคิดค่อนข้างอิสระ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง พยายามสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง อยากให้เพื่อนยอมรับตน และต้องการเป็นหนึ่งในกลุ่มเพื่อน เริ่มมองบทบาทของตนเองที่แยกออกจากครอบครัวมากขึ้น เริ่มไม่ยอมรับความเห็นของพ่อแม่ ต้องการความเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกันอารมณ์จะยิงสับสน วู่วาม ขึ้นๆ ลง ทำให้โอกาสที่จะขัดแย้งกับพ่อแม่มีมากขึ้น บางครั้งรุนแรงจนถึงขึ้นหนีออกจากบ้าน หันไปหายาเสพติด หรือเกิดอาการซึมเศร้าจนคิดอยากฆ่าตัวตายได้

กลุ่มเด็กวัยรุ่น

เด็กวัยรุ่น (Adolescents) หมายถึงกลุ่มเด็กในช่วงอายุ 11-21 ปี บางสถาบันทางการแพทย์ให้กลุ่มวัยรุ่นมีช่วงอายุ 11-24 ปี เนื่องจากในปัจจุบันระยะเวลาของการศึกษามีความจำเป็นและต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น ทำให้ความพร้อมที่จะมีครอบครัว ความรับผิดชอบเป็นตัวของตัวเอง มีระยะเวลายาวนานออกไปกว่าจะเข้าไปเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว

กลุ่มเด็กวัยรุ่นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มวัยรุ่นช่วงต้น (Early adolescents) ช่วงอายุ 11-14 ปี
  2. กลุ่มวัยรุ่นช่วงกลาง (Middle adolescents) ช่วงอายุ 15-17 ปี
  3. กลุ่มวัยรุ่นช่วงปลาย (Late adolescents) ช่วงอายุ 18-21 ปี หรือ 24 ปี

การแบ่งดังกล่าวข้างต้นเป็นการแบ่งโดยใช้ช่วงอายุเป็นตัวกำหนดจัดกลุ่ม เนื่องจากในแต่ละช่วงก็มีลักษณะการเจริญเติบโต การพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคมที่แตกต่างกันไป แต่ในความเป็นจริง ในปัจจุบันจะพบว่า เด็กเข้าสู่วัยรุ่นเร็วขึ้นจะเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย เด็กเติบโตเป็นหนุ่มสาวเร็วขึ้น โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง การมีหน้าอก การมีประจำเดือน จะเห็นว่าเด็กวัยรุ่นในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว แต่พัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคม ความคิด ไม่เร็วตามไปด้วย จึงเป็นข้อเสียของเด็กวัยรุ่น แต่สังคมภายนอกคาดหวังว่าเด็กที่โตแล้วเหมือนผู้ใหญ่น่าจะมีความคิด ความรับผิดชอบ มีพฤติกรรมหลายๆ อย่างเป็นแบบผู้ใหญ่ ในความเป็นจริงเด็กโตแต่ตัวเท่านั้น ยังต้องการการดูแล เอาใจใส่ คำแนะนำ การเรียนรู้ทักษะประสบการณ์ในชีวิตต่างๆ อีกหลายอย่างเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งบิดามารดาเป็นบุคคลที่มีบทบาท และมีความสำคัญมากที่สุด ขณะเดียวกันทุกคนในสังคม สิ่งแวดล้อมต่างๆ และบุคลากรทางด้านการแพทย์ รวมทั้งแพทย์ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กวัยรุ่นให้มากขึ้น

องค์ประกอบสำคัญ

การดูแลวัยรุ่นอย่างเหมาะสมมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 อย่างด้วยกัน คือ

  1. ครอบครัว ควรมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น โดยผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่ปรึกษาให้แก่เด็กทุกเรื่อง รวมทั้งเป็นผู้สร้างความรู้สึกมีคุณค่าให้กับลูก เพื่อทำให้ลูกเกิดความมั่นใจในตนเอง และเป็นปัจจัยที่จะเสริมทักษะในการปฏิเสธ เมื่อมีแรงผลักดันจากสังคม เพื่อน ให้ทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนือจริยธรรมของพ่อ และครอบครัว
  2. โรงเรียน เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มคบเพื่อนมากขึ้น และเริ่มสนใจเพศตรงข้าม ต้องการสร้างพฤติกรรมที่โดดเด่น ดังนั้น ครูควรเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ และสั่งสอนให้เด็กมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเพื่อเข้าสู่วัยรุ่น สอนเพศศึกษาให้เด็กทราบถึงผลของการขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่น การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่โน้มน้าวให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์
  3. เพื่อน เด็กวัยรุ่นมักชอบทำในสิ่งที่คล้ายๆ กัน ดังนั้นควรส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยอาจมีการจัดกิจกรรมให้หลากหลายมากขึ้น วัยรุ่นเป็นวัยสำคัญของการก้าวไปสู่การเป็นไปผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต หากถูกละเลยจากครอบครัวและคนใกล้ชิด อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์จนกลายเป็นปัญหาในปัจจุบันได้
  4. นโยบายรัฐบาล รัฐควรสนับสนุนให้เด็กที่มีความสนใจและส่งเสริมการศึกษาในทุกๆ ด้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดให้ทั่วถึง มีบริการทางการศึกษาที่ย่อมเยาและเข้าถึงได้ง่าย เน้นสื่อที่ให้ประโยชน์ สร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอิทธิพลของตะวันตก และสื่อต่างๆ ทำให้วัยรุ่นไทยถูกชักจูงได้ง่าย และมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในครอบครัวและสังคมในการดูแลและเข้าใจพฤติกรรมของวัยรุ่นอย่างถูกต้องและใกล้ชิด

ปัญหาที่พบบ่อยในวัยรุ่น

  1. ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกายที่พบบ่อยๆ และก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่เด็กวัยรุ่น ได้แก่ การเป็นสิว การมีกลิ่นตัว และโรคผิวหนัง ความอ้วน ความผอม ความผิดปกติต่างๆ ทางนรีเวชในวัยรุ่นหญิง เช่น ตกขาว การปวดประจำเดือน การมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ การมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ติดยา อุบัติเหตุและฆ่าตัวตาย
  2. ปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การมีอารมณ์ทางเพศและความขัดแย้งในค่านิยมของสังคม ทำให้มีเด็กมีลักษณะอารมณ์ต่างๆ ออกมา เหตุการณ์ที่สำคัญที่ทำให้วัยรุ่นเกิดปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และสังคม ได้แก่ การมีวุฒิภาวะทางเพศ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะเพศ ทำให้วัยรุ่นที่ไม่ได้รับการเตรียมตัว เกิดความวิตกกังวล อาจรู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจ เมื่อคิดว่าตนเองไม่เหมือนเพื่อนๆ พฤติกรรมทางเพศ จากแรงผลักดันของเพื่อน สื่อมวลชน และแม้แต่ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็ก อาจทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์โดยที่ยังไม่พร้อม ความรู้สึกครั้งแรกต่อการมีเพศสัมพันธ์ มีความหมาย ต่อการพัฒนาทางเพศในระยะต่อมา เด็กที่รู้สึกเจ็บปวด ผิดหวัง เสียใจ และอับอายต่อเรื่องนี้ครั้งแรก จะเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมทางเพศ ที่ผิดปกติภายหลังได้
  3. การเข้าถึงบริการคุมกำเนิด มักจะเป็นปัญหาที่พบบ่อยในวัยรุ่น ที่มีเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักไม่ได้เตรียมตัวในการป้องกัน โดยวัยรุ่นมักจะอายที่จะใช้ เพิกเฉยที่จะเรียนรูวิธีใช้แต่ละวิธี และมักเป็นวิธีที่ไม่ค่อยได้ผล หรือมีความรู้สึกว่าการใช้วิธีคุมกำเนิด มีผลเสียต่อความสนุกทางเพศ หรือมักจะแล้วแต่ว่าคู่ของตนจะยอมใช้หรือไม่ จึงทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการขึ้น
  4. การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ติดยาเสพติด การชอบเสี่ยงภัย ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นอุปนิสัยของวัยรุ่นที่ต้องการเป็นที่ยอมรับของเพื่อน และชอบทดลองเสี่ยงภัย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้น วัยรุ่นที่ไม่มีสัมพันธภาพอันดีกับพ่อแม่ จะยิ่งกังวลแก้ไขปัญหาในทางที่ไม่ถูก อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  5. ปัญหาชีวิต เกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น การสูญเสียบุคคลสำคัญ เข้ากับเพื่อนฝูงไม่ได้ ปัญหาการเรียนและปัญหาครอบครัว
  6. ปัญหาทางเพศ เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลง ของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งภายนอก ภายใน เพื่อพร้อมที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ วัยรุ่นเริ่มมีอารมณ์รักใคร่ ดังนั้นหากเขาเหล่านี้ ไม่ได้รับการเตรียมตัวที่ดีในเรื่องเพศ อาจทำให้เด็ก มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้องได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องระยะยาว ผลของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ อาจเกิดขึ้นโดยเหตุผลักดันทางสรีรวิทยา ประกอบกับการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือถูกข่มขืน กระทำชำเรา

คำแนะนำปรึกษาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ

บิดามารดาส่วนใหญ่เมื่อลูกโตขึ้น และเข้าวัยรุ่น ก็ไม่ค่อยได้พามาพบแพทย์ เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่มีการเจ็บป่วยเป็นโรคที่มีลักษณะเฉพาะในช่วงวัยรุ่น โรคหลายโรค เช่น โรคทางกรรมพันธุ์ ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ฯลฯ ก็ได้ตรวจพบมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ แล้ว แต่จริงๆ มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในตัวของวัยรุ่นที่เป็นปัญหามีผลกระทบต่อภาวะทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างมาก เพียงแต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน หรือตรวจพบได้เหมือนโรคทั่วๆ ไป บิดามารดาส่วนใหญ่จะพาเด็กวัยรุ่นมาพบแพทย์เมื่อมีการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจที่รุนแรงเท่านั้น ซึ่งการให้การดูแลรักษาทำได้ดีในระดับหนึ่งหรือได้ผลไม่เต็มที่ หรือบางรายจะสายเกินไปไม่สามารถแก้ไขได้ สิ่งที่น่าให้ความสนใจ คือ โรค ความเจ็บป่วย หรือปัญหาของเด็กวัยรุ่นนั้น ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่สามารถป้องกัน และแก้ไขได้ ถ้าได้รับการดูแลเอาใจใส่ป้องกันแก้ไข และให้การรักษาตั้งแต่แรกๆ ความรุนแรงของปัญหาก็จะลดน้อยลง การมาพบแพทย์เป็นระยะๆ ตั้งแต่ก่อนเข้าวัยรุ่น และระยะวัยรุ่น ซึ่งจะได้ให้คำแนะนำปรึกษาในการสร้างเสริมสุขภาพ และการดูแลรักษาปัญหาทางสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ไม่เพียงแต่ตัวเด็กวัยรุ่นเท่านั้นบิดามารดาเองก็จะได้รับประโยชน์ว่าสมควรมีบทบาทในการดูแลเด็กวัยรุ่นอย่างไร การมาพบแพทย์ไม่เพียงแต่แพทย์จะได้ตรวจร่างกาย ตรวจค้นหาความผิดปกติหรือการเจ็บป่วยเท่านั้น แพทย์จะได้ติดตามดูการเจริญเติบโต และพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็กพร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการ และรูปแบบในการดำเนินชีวิตของเด็กวัยรุ่นอย่างเหมาะสม เช่น การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การออกกำลังกาย การกินอาหารอย่างเหมาะสม การป้องกันหลีกเลี่ยงสารเสพติด การป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ แพทย์จะช่วยประเมินเกี่ยวกับปัญหาทางด้านพฤติกรรม และอารมณ์ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยรุ่น ปัญหาที่มีผลต่อการเรียน
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=714&sub_id=3&ref_main_id=2

อัพเดทล่าสุด