มหัศจรรย์สมุนไพรจีนสารพัดประโยชน์


สมุนไพรจีนได้รับความนิยมกันมาอย่างแพร่หลายด้วยเป็นเพราะคนจีนมีอายุที่ยืนยาว และมีสุขภาพที่แข็งแรง คนไทยจึงนำสมุนไพรจีนมาทาน และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน         สมุนไพรจีนได้รับความนิยมกันมาอย่างแพร่หลายด้วยเป็นเพราะคนจีนมีอายุที่ยืนยาว และมีสุขภาพที่แข็งแรง คนไทยจึงนำสมุนไพรจีนมาทาน และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน 

ทุกวันนี้ชื่อใบแปะก๊วย หรือเห็ดหลินจือเหล่านี้อาจไม่ได้แปลกหูอะไรมากนัก แต่ถ้าหากคุณเบื่อกับสรรพคุณแบบครอบจักรวาล ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เราเลยจะเน้นสมุนไพรจีนที่มีประโยชน์ทั้ง 4 อย่างที่สารพัดประโยชน์จริงมาให้คุณได้ทดลองทานกัน

ใบแปะก๊วย
ชื่ออื่น ๆ:กิงโกะ ไบโอบา (Gingko Biloba) มรดกสำคัญจากการแพทย์แผนจีนตั้งแต่หลายพันปีที่แล้ว ทุกวันนี้สารสกัดจากใบแปะก๊วยได้กลายเป็นอาหารเสริมสมุนไพรที่ติดท็อปชาร์ตของชาวอเมริกันและชาวยุโรป ในแง่การกระตุ้นความจำและลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมหลายชนิด แต่ เจ้ากิงโกะยังมีทีเด็ดอื่น ๆ อีกด้วย จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปัจจุบันแพทย์ในแถบประเทศยุโรปได้นำสารสกัดจากใบแปะก๊วยเข้ามาช่วยในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Artery Disease หรือ PAD) ที่ทำให้มีอาการเจ็บหรือปวดเท้าเวลาเดิน รวมถึงปวดขา และเป็นตะคริวบ่อย ๆ โรคนี้หนุ่ม ๆ ที่มีน้ำหนักมาก ติดบุหรี่ หรือความดันโลหิตสูง ต้องระวังให้ดี
ด้วยคุณสมบัติในการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ขยายหลอดเลือด ทำให้มีการพูดถึงคุณสมบัติในการเสริมสมรรถภาพทางเพศ (ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในสหรัฐฯ ระบุว่าต้องใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วย 50-100 มิลลิกรัมต่อวัน จึงอาจมีผลดังกล่าว) ใบแปะก๊วยยังเป็นที่ยอมรับในเรื่องของการลดอนุมูลอิสระตัววายร้ายบ่อนทำลายเซลล์ในร่างกายเราจนถึงระดับดีเอ็นเอ นั่นหมายถึงช่วยลดความเสี่ยงตั้งแต่โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด จอประสาทตาเสื่อม รวมถึงความถดถอยของสมอง ถึงผลการศึกษาพบว่า แม้จะได้รับสารสกัดจากแปะก๊วยเต็มอัตราที่แนะนำต่อวัน (120 มิลลิกรัม) ต่อเนื่องหลายปี ก็จะไม่สามารถ “ฟื้นฟู” อาการสมองเสื่อมในผู้ป่วยสูงอายุได้ แต่คุณสมบัติที่หาตัวจับยากของกิงโกะในการกระตุ้นหลอดเลือด และปกป้องเซลล์ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มันเป็นหนึ่งในสุดยอดจอมยุทธในศึกสุขภาพของผู้คนยุคนี้
เก๋ากี้
ชื่ออื่น ๆ: โกจิเบอร์รี่ (Goji Berry) หรือวูล์ฟเบอร์รี่ (Wolfberry) ลูกเกดสีแสดที่พบเห็นได้ไม่ยากในหลากเมนูเด็ดย่านเยาวราช เก๋ากี้ เบอร์รี่แห่งเอเชียที่กำลังมาแรงสุด ๆ ผลตากแห้งสามารถนำมาทานเล่น ใส่ในเมนูอาหารตำรับไทย จีน และฝรั่ง หรืออาจมาในรูปของน้ำผลไม้ ทุกวันนี้เก๋ากี้ถูกตอกหมุดให้เป็นหนึ่งใน "ซูเปอร์ฟู้ด" ด้วยทีเด็ดอย่างวิตามินซี  วิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มแคโรทีนอยด์ อย่างเบต้าแคโรทีนที่อัดแน่น มีการนำงานวิจัยของสถาบันวิจัยโภชนาการปักกิ่งในปี ค.ศ. 1988 มากล่าวอ้างกันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับการค้นพบ (ที่ยังไม่มีการรับรอง และมีการถกเถียงโจมตี) ว่าผลเก๋ากี้ตากแห้งนั้นเมื่อเทียบจากน้ำหนักที่เท่ากัน จะให้เบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอท และมีวิตามินซีสูงกว่าส้มถึงห้าร้อยเท่า ซึ่งวิตามินซีนั้นทุกวันนี้เรารู้กันดีว่าเป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงอานุภาพในด้านคงความอ่อนเยาว์ของผิวพรรณ ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารที่สำคัญมากมาย ช่วยป้อนออกซิเจนใส่เกียร์ความแรงในการออกกำลังกาย แถมยังลดอาการปวดเมื่อยหลังออกกำลังกาย
เมื่อศึกษาวัดค่า ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity) หรือค่าประสิทธิภาพในการดูดจับอนุมูลของออกซิเจน ซึ่งเป็นวิธีที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ เมืองบอสตัน พบว่า โกจิเบอร์รี่ให้ค่า ORAC สูงกว่าบรรดาเบอร์รีที่โดดเด่นด้านสารต้านอนุมูลอิสระ อาทิ บลูเบอร์รี่ ราสป์เบอร์รี่ หรือแครนเบอร์รี่ อยู่หลายช่วงตัว การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นชี้ว่า การรับประทาน
โกจิเบอร์รี่ประมาณ 10-30 กรัม ต่อวันถือว่ากำลังดี ส่วนศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์ผู้โด่งดังอย่าง คริส คิลแฮม ในรัฐแมสซาซูเซตส์ กล่าวกับนิตยสาร Growing สหรัฐฯ ว่า แน่นอนว่าไม่ได้รักษาทุกโรค แต่ต้องยอมรับว่าโกจิเบอร์รี่ถือเป็น "สุดยอดในด้านสารต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะสารซีแซนทีนที่ดีอย่างมากต่อดวงตา"
เจียวกู่หลาน
ชื่ออื่น ๆ: เรียกทับศัพท์เป็นสากลว่า เจียวกู่หลาน (Jiaogulan) ในบ้านเราอาจเรียก ปัญจขันธ์ เมื่อปี ค.ศ. 1976 แพทย์ชาวญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยฮิริมา กำลังง่วนกับการควานหาพืชที่สามารถให้ความหวานแทนน้ำตาลได้  แต่กลับไปสะดุดตาพืชเถาที่ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนหรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับโสม แต่กลับมีสารเคมีสำคัญหลายชนิดที่คล้ายคลึงกับโสม แถมยังดูเหมือนจะเด็ดกว่าเรื่องของน้ำตาลในเจียวกู่หลานจึงชะงักอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อพบสิ่งที่ใหญ่โตกว่ามีการขนานนามว่าเจียวกู่หลานคู่ "พืชแห่งความอมตะ" บ้างก็เรียก "น้ำพุแห่งความเยาว์วัย" สารสำคัญในเจียวกู่หลานอย่างซาโปนินที่พบมากกว่าโสมเกือบ 4 เท่าตัว พบว่ามีบทบาทในการควบคุมเกื้อหนุนการทำงานของร่างกายหลายด้านให้ดำเนินไปอย่างปกติ ที่สนใจกันมากคือการควบคุมความดันโลหิต และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ดูเหมือนว่าเจียวกู่หลานกับสารซาโปนินจะถูกพูดถึงในงานวิจัยหลายร้อยชิ้นทั่วโลก
การที่เจียวกู่หลานมีบทบาทต่อระบบการทำงานที่สำคัญ ๆ ของร่างกาย โดยมีงานวิจัยยืนยันขยายวงกว้าง ทำให้กลายเป็นน้องใหม่ไฟแรงที่ติดในสมุนไพรกลุ่มปรับสมดุล หรือ Adaptogen (เช่นเดียวกับเห็ดหลินจือและใบแปะก๊วย) ซึ่งหมายถึงสมุนไพร ที่ช่วยให้ระบบประสาทและร่างกายยืนหยัด ตั้งรับภาวะตึงเครียดที่เกิดจากสิ่งเร้าแย่ ๆ ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นความเครียด มลภาวะการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และอายุที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของสภาพร่างกายที่โรยราก่อนวัย รวมถึงโรคร้ายต่าง ๆ สมุนไพรชนิดนี้มักใช้ชงเป็นชา หรือมาเป็นสารสกัดในรูปแบบเม็ด ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประเทศไทย ศึกษาพบว่าการได้รับแคปซูลที่มีสารสกัดจิบเปโนไซด์ (Gypenosides สารกลุ่มซาโปนิน) จากเจียวกู่หลาน 40 มิลลิกรัม วันละ 1-2 แคปซูล ติดต่อกัน 2 เดือน ไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ
เห็ดหลินจือ
ชื่ออื่น ๆ: ในภาษาอังกฤษอาจพบสองคำ ได้แก่ Lingzhi หรือ Reishi เห็ดหลินจือถูกยกให้เป็น "ยาในร่างกายของเห็ด" การศึกษาเกี่ยวกับเห็ดหลินจือดำเนินมาอย่างเข้มข้นหลายทศวรรษแล้ว 
มีงานวิจัยหลายพันชิ้นทั่วโลกเกี่ยวกับเห็ดชนิดนี้ที่ยังทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พบว่าเห็ดหลินจือมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง และช่วยกระตุ้นการตอบสนองต่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึงการปกป้องหัวใจและหลอดเลือดล่าสุดมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการสหราชอาณาจักร ซึ่งย้ำผลของเห็ดหลินจือสกัดในการลดไขมันร้ายอย่างไตรกลีเซอไรด์ (ที่มาจากการกินไขมันสัตว์ หรือไม่ออกกำลังกาย) ขณะที่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีหรือ HDL ให้สูงขึ้น ในกลุ่มตัวอย่างที่มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอลสูง
เห็ดหลินจือ รวมถึงเห็ดที่เพิ่งมาฮิตในเมืองไทย อย่างเห็ดไมตาเกะและเห็ดชิตาเกะ อุดมไปด้วยเบต้ากลูแตน โมเลกุลน้ำตาลเชิงซ้อน ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสูงด้านการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย พร้อมควบคุมไม่ให้ภูมิคุ้มกันทำงานเกินพอดีจนทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง สารไตรเทอร์ปินอยด์ในเห็ดหลินจือยังช่วยกระตุ้นการทำงานของตับในการกำจัดสารพิษ และยังมีการพูดถึงประโยชน์ในการลดภาวะอุดตันของทางเดินปัสสาวะในเพศชายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ผลในด้านการต้านภูมิคุ้มกัน ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในสหรัฐฯ แนะนำว่าคุณควรได้รับจากสารสกัดเม็ด 150-300 มิลลิกรัม 2-3 ครั้งในทุก ๆ วัน หรือแบบสกัดเข้มข้น ประมาณ 30-60 หยด 2-3 ครั้งต่อวัน

 
ที่มา  https://www.108health.com/108health/topic_detail.php?mtopic_id=2622&sub_id=12&ref_main_id=3

อัพเดทล่าสุด