เพราะอะไรเด็กไทยไอคิวต่ำ


1,634 ผู้ชม


วันนี้เราจะนำเรื่องที่มีการพูดคุยกันในระดับที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีครับ ถือว่าเป็นเรื่องที่เราได้รับเกียรติในการหยิบยกเอาเรื่องของเด็ก โดยท่านนายกรัฐมนตรี พูดถึงเด็กไทยไอคิวต่ำ ปัญหาเกิดจากอะไร มีการพูดคุยกัน เพื่อหาคำถามและคำตอบกันอย่างกว้างขวางครับ แต่ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขครับ ได้พูดกันว่า มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางด้านสาธารณสุขที่จะให้คำตอบตรงนี้ได้ ด้านหนึ่งมีการเอ่ยอ้างถึงพันธุกรรมครับ รวมถึงมีเรื่องการวิจัยในเรื่องของพันธุกรรมด้วย ซึ่งหลายคนบอกว่าการวิจัยในเชิงตรงนี้ เป็นสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น ที่เขาจะมีวิธีการศึกษาได้ แต่เราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่มีการวิจัยทางด้านนี้อยู่ด้วยเช่นเดียวกันครับ คนที่มีส่วนในการทำงานด้านนี้อยู่กับเราในรายการนี้ด้วยครับ ในฐานะที่อาจารย์ดูแลเด็กที่มีปัญหาเรื่องของไอคิวอยู่ มีคำตอบหรือไม่ครับว่าเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง

นพ.อุดม ต้องเรียนก่อนว่า ไอคิวต่ำ ไม่ใช่ภาวะปัญญาอ่อน เพียงแต่เมื่อเทียบกับเด็กอื่นๆทั่วโลกแล้ว เราจะอยู่ค่อนข้างที่จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยส่วนหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ฐานเดิมเป็นยังไงเราก็ยังไม่รู้ เพิ่งมามีการวัดครั้งนี้ ตอนนี้ และเห็นว่าของเราต่ำครับ

พิธีกร อาจารย์ได้ข้อมูลจากใครครับ

นพ.อุดม มีโครงการวิจัยโครงการหนึ่ง ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่มาก เขาเรียกว่า โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย ซึ่งเราเริ่มทำมาได้ประมาณสองสามปีแล้วครับ เด็กไทยตั้งแต่เกิดเราจะตามไปจนถึงอายุยี่สิบห้าปี ว่าจะมีเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กของเรา เรื่องสุขภาพ เรื่องอะไรทั้งหลาย ทางด้านจิตใจ จริยธรรม เป็นโครงการที่ใหญ่มากครับ ในโครงการนี้มีการประเมินภาวะระดับสติปัญญา แล้วลองไปเปรียบเทียบกับทั่วโลกดูว่าเป็นยังไง ก็พบว่าค่าของเราดูแล้วไม่ใช่ปัญญาอ่อน แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก คำถามที่คุณหมอถามว่า มีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าเรามองข้อมูลในขณะนี้ สิ่งที่เราพบจากงานการวิจัยที่โครงการนี้ทำ  ผมได้เพียงแค่เข้าไปสัมผัส คือ ระหว่างตั้งครรภ์ เรายังพบว่ามีแม่ส่วนหนึ่ง ยังมีภาวะน้ำหนักขึ้นได้ไม่เต็มที่ ก็แสดงว่าภาวะโภชนาการอาจจะยังมีปัญหาอยู่ มีส่วนหนึ่งซึ่งเราพบว่า การที่น้ำหนักแม่เพิ่มขึ้นมันหมายถึงน้ำหนักของลูกในท้อง ซึ่งตรงนี้น้ำหนักของเด็กมีผลกับระดับสติปัญญา อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งครับ ซึ่งเราตั้งค่ามาตรฐานของเราไว้ว่า เด็กไทยแรกคลอดน้ำหนักไม่ควรต่ำกว่า 2,500 กรัม แต่เรายังพบว่ามีเด็กที่ต่ำกว่าตรงนี้ ซึ่งก็แสดงว่าที่เราทำไปอาจจะยังไม่สมบูรณ์ อาจจะมีบางส่วนที่เราอาจจะต้องเร่ง จริงๆแล้วการแก้ปัญหาในเรื่องลักษณะอย่างนี้ คงไม่ได้หมายความว่าวิธีการเดียวจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด คือปัญหาเรื่องสาธารณสุขมันเป็นปัญหาที่มีหลายสาเหตุ 80% อาจจะแก้ได้ด้วยมาตรการที่เหมือนกันทั้งหมด แต่จะมีส่วนย่อย บางทีเราจะต้องมามองมาตรการพิเศษ ซึ่งตรงนี้เรามีการพูดคุยกันว่า 1. ทางกรมอนามัยคงจะต้องจัดการอะไรบางสิ่งบางอย่าง  2. ในขณะนี้เรายังพบภาวะเลือดจางในหญิงตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งเดิมเราเชื่อว่า มันน่าจะเป็นจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อสมองของเด็กเหมือนกัน แต่พบว่าไม่ใช่ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นจากเรื่องธาลัสซีเมียหรือเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งโรคนี้เป็นปัญหาใหญ่ของเราอันหนึ่งเหมือนกัน เพราะแม่ที่เป็นโรคนี้ หรือเป็นพาหะของโรคเวลาตั้งครรภ์จะมีผลไปสู่ลูก จะมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก เรายังพบเด็กที่คลอดมีน้ำหนักน้อยประมาณ 9%กว่าๆ จากการทดลองของการวิจัยโครงการนี้ ที่ตามเด็กอยู่ประมาณสามพันกว่าคน ซึ่งถ้าคลอดออกมาน้ำหนักน้อยแน่นอนมีผลต่อสมอง แต่ที่เราเห็นและรู้สึกน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะว่าปัจจัยทั้งหมดที่ผมกล่าวมาในตอนนี้ ยังเป็นปัจจัยที่อาจจะต้องใช้เทคนิคทางการแพทย์ แต่ปัจจัยที่เราพบว่าทำให้ระดับสิตปัญญาเด็กต่ำลงได้ ถึงขนาดเป็นเด็กปัญญาอ่อนได้คือ การขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม เรายังพบอยู่ครับ จริงๆแล้วในช่วงสองขวบปีแรก สมองมนุษย์จะฉลาดหรือไม่ฉลาดมันอยู่ที่การเชื่อมต่อของเซลล์สมอง มันจะมีใยเชื่อมต่อ ใยนี้จะเกิดการเชื่อมต่อกันในสองปีแรกของชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าในสองปีแรกการกระตุ้นเรื่องตรงนี้ไม่ดี ใยสมองเชื่อมกันไม่ถี่ ไม่เยอะ ความฉลาดก็จะลดลงครับ เราพบว่าพ่อแม่ที่จะเล่นกับลูก เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือชวนลูกทำกิจกรรมอะไร เขามักจะพูดว่าไม่มีเวลา ซึ่งตรงนี้เป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและในชนบท เพราะฉะนั้นการขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม จะมีผลต่อระดับสติปัญญาของเด็ก โดยเฉพาะในสองปีแรกครับ

พิธีกร ยังไม่เห็นกล่าวถึงพันธุกรรมอะไรเลยครับ พันธุกรรมทำให้ไอคิวต่ำด้วยหรือไม่ครับ

นพ.วีรยุทธ อย่างที่ท่านผู้อำนวยการบอกไว้ครับ สาเหตุของการเกิดภาวะปัญญาอ่อนคร่าวๆมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น ขาดสารอาหาร เรื่องของโรคติดเชื้อต่างๆ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ต้องเรียนว่าความผิดปกติทางพันธุกรรม บางส่วนทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อน บางส่วนอาจจะไม่ทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อน ยกตัวอย่างเช่น ในระยะหลังเราทราบว่า มียีนบางอย่างที่ทำให้คนเป็นมะเร็งเต้านม หรือความผิดปกติของยีนบางอย่าง อาจจะทำให้มีผิวหนังผิดปกติ หรือผมผิดปกติ แต่สติปัญญายังปกติอยู่ครับ

พิธีกร เด็กไทยไอคิวต่ำยังไม่ได้เป็นปัญญาอ่อนเป็นกลุ่มหนึ่ง ถ้าไอคิวปกติค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปต้องเท่าไหร่ครับ

นพ.อุดม ค่าเฉลี่ยของเด็กไทยรู้สึกว่าอยู่ที่ประมาณ 90 กว่าครับ แต่ค่าทั่วโลกเกินกว่าเราครับ

พิธีกร เรียกว่ายังไม่ถึงกับน่ากลัวอะไรมากมาย

นพ.อุดม ถ้ามองแค่ลูกหลานเราไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อนก็คงสบายใจได้ แต่ถ้ามองว่าลูกหลานเราต้องไปแข่งกับลูกหลานคนอื่น ตรงนี้คือปัญหาครับ

พิธีกร ที่บอกว่ายังไม่ถึงขนาดปัญญาอ่อน อันนี้เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่ครับ

นพ.วีรยุทธ ก็มีบางส่วนครับ มีความผิดปกติบางส่วนที่ทำให้กระทบกระเทือนต่อการพัฒนาของสมองครับ ขึ้นอยู่กับว่าความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบนั้นมีผลมากหรือไม่ ถ้ามีผลเล็กน้อยก็จะทำให้สมองพัฒนาช้าไปหน่อย อาจจะไม่อยู่ในระดับที่เรียกว่าปัญญาอ่อน แต่ปัญญาทึบ เรียนช้าหรือมีสติปัญญาช้ากว่าเด็กทั่วๆไป ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง ที่มีผลกับการเจริญเติบโตของสมองค่อนข้างรุนแรงจะทำให้เด็กอยู่ในระดับปัญญาอ่อนได้ครับ

พิธีกร ตรงนี้จะมีความสับสนครับ หลายคนบอกว่าคนไทยโง่ทั้งประเทศหรือเปล่า ไม่ใช่ครับ ต่ำกว่าค่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ บ้างเท่านั้นเอง แต่กับคนที่ปัญญาอ่อนอันนี้คือ ต่ำแบบมากๆ จนไม่สามารถที่จะเป็นเหมือนเด็กปกติทั่วไปได้ นี่คือสิ่งที่ยังสับสนกันอยู่ครับ

U-Life คนทั่วไปเข้าใจเรื่องของเด็กที่มีปัญหาไอคิวต่ำ หรือปัญญาอ่อนกันยังไงบ้าง

- รู้ว่าเด็กที่มีอาการเป็นดาวน์ซินโดมเป็นยังไง แต่สาเหตุยังไม่แน่ใจครับ

- คิดว่าเป็นจากพ่อแม่สูงอายุค่ะ

- น่าจะเป็นเพราะขาดสารอาหารบางอย่างครับ

- เป็นเพราะความผิดปกติของยีนค่ะ

- เด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดมจะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ พ่อแม่ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดครับ

- ควรใกล้ชิดกับเด็กให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ

- ถ้าเขาได้รับการดูแลที่ดีขึ้น เขาก็น่าจะดีขึ้นค่ะ

- พ่อแม่ควรรู้ก่อนที่จะคลอดเด็กคนนี้ออกมาครับ

- ต้องดูแลเด็ก คอยใกล้ชิดกับเด็ก คอยสังเกตว่าเด็กมีพฤติกรรมยังไงในระยะนี้ ถ้าเด็กอาการไม่ดีสมควรปรึกษาแพทย์ค่ะ

- ควรจะปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ลูกเพิ่งเกิด และควรจะรักษาและปรึกษามาเรื่อยๆ เพราะว่าอาจจะมีทางที่ทำให้ลูกเขามีอาการที่ดีขึ้นได้ค่ะ

- ควรจะพบแพทย์ครับ เพื่อดูว่าเด็กต้องการอะไร และจะอยู่ในสังคมได้ยังไง เพราะการเจริญเติบโตในสังคมของเด็กพวกนี้จะมีความคิดช้ากว่าเด็กทั่วๆไป ต้องพยามให้เขาปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ง่ายขึ้นครับ

- ต้องให้โอกาสเด็ก อาจจะมีการให้ความช่วยเหลือเรื่องค่ารักษา

- ควรจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือค่ะ

- สำคัญคือ ให้โอกาสครับ เพราะมีบางอย่างเท่านั้นเองที่เขาต่างไปจากเรา แต่ในหลายๆอย่างเขาก็ทำได้เหมือนเรา น่าจะให้โอกาสเขาในส่วนที่เขาทำได้ครับ

- สังคมควรจะให้โอกาสและให้การดูแลเป็นพิเศษ เพราะว่าเด็กเหล่านี้นอกจากจะมีปัญหาทางกายแล้ว ถ้าได้รับการปฏิบัติที่นานไปก็จะไม่เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตค่ะ

พิธีกร นั่นคือความเห็นครับ ถ้าเด็กที่เป็นปัญญาอ่อนไปแล้วนั่นก็คือ มีความผิดปกติในเรื่องของเชาว์ปัญญาไปแล้ว อาจจะต้องมีคนคอยดูแล กระตุ้นพัฒนาการหรืออะไรก็ตามแต่ครับ แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ ณ.ปัจจุบันที่อาจารย์กล่าวถึงก็คือ พบว่ามีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่อื่นๆ วันนี้เราจะมาดูกันที่กลุ่มที่เป็นปัญญาอ่อน และมีการวิจัยค้นคว้ากันในเรื่องของทางด้านพันธุกรรม มีเหตุอะไรได้บ้าง ซึ่งอาจจะเป็นฐานความรู้ที่จะทำให้เรานำมาช่วยในเด็กกลุ่มที่มีไอคิวต่ำบ้างก็ได้ครับ คงต้องมาขอความรู้จากท่านอาจารย์ว่า ตอนนี้ไปไกลถึงไหนแล้วครับ ในเรื่องของทางด้านพันธุกรรม กับการวิจัยหรือศึกษาในเรืองนี้ครับ

นพ.วีรยุทธ ตั้งแต่มีการศึกษาเกี่ยวกับทางด้านพันธุกรรม ผลพวงตรงนี้ทำให้มีการตื่นตัวและมีความเจริญก้าวหน้า ในเรื่องของการศึกษาในโรคต่างๆ รวมทั้งเรื่องของภาวะปัญญาอ่อนด้วย ถ้าจะแบ่งง่ายๆ การเกิดภาวะปัญญาอ่อนที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม อาจจะแบ่งว่าเป็นระดับของโครโมโซม ถ้าพูดถึงภาวะปัญญาอ่อน เรามักนึกถึงเด็กดาวน์ซินโดม จริงๆแล้วเด็กดาวน์เป็นหนึ่งในหลายๆกลุ่มของเด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อน เพียงแต่เราเจอได้ค่อนข้างบ่อยหน่อยเท่านั้นเองครับ

พิธีกร เขาเป็นเด็กที่มีรูปหน้าเฉพาะของเขาใช่ไหมครับ

นพ.วัรยุทธ ใช่ครับ กลุ่มของเด็กดาวน์จะมีลักษณะหน้าตาที่คล้ายๆกัน เช่น ตาจะค่อนข้างเล็กและหางตาจะชี้ขึ้น 

พิธีกร ตาเขาจะห่างกันด้วยใช่ไหมครับ

นพ.วีรยุทธ จะค่อนข้างห่างนิดหน่อยครับ และใบหน้าจะค่อนข้างแบน แรกเกิดจะมีกล้ามเนื้อที่ค่อนข้างจะอ่อนแรงมาก พัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ ทางด้านภาษา ทางด้านการใช้มืออะไรต่างๆจะค่อนข้างช้าครับ

พิธีกร อาจารย์บอกว่าเป็นเรื่องความผิดปกติของโครโมโซม แล้วปกติคนเราจะมีโครโมโซมเท่าไหร่ครับ

นพ.วีรยุทธ ปกติคนเราจะมีโครโมโซมอยู่ 23 คู่ครับ

พิธีกร ที่ศึกษาคือศึกษาตรงนี้ใช่ไหมครับ

นพ.วีรยุทธ ใช่ครับ

พิธีกร นี่คือตัวหนึ่งที่จะบอกถึงเรื่องของพันธุกรรม

นพ.วีรยุทธ ทำไมโครโมโซมถึงมีเป็นคู่ ข้างหนึ่งจะได้มาจากคุณพ่อ อีกข้างหนึ่งจะได้มาจากคุณแม่ คนปกติจะมีทั้งหมด 23 คู่ อาจจะเกิดมีความผิดปกติอะไรบางอย่าง ที่ทำให้จำนวนโครโมโซมที่ได้มาเกินไป เช่น คู่ที่ 21 แทนที่จะได้มาสองตัว ปรากฏว่าได้มาสามตัว บางคนรู้สึกมีเกินมาน่าจะดี แต่ในเรื่องของพันธุกรรมเราต้องการความพอดีๆครับ ไม่ขาดไม่เกิน เพราะการที่เกินมาก็ทำให้เกิดมีปัญหา ความผิดปกติในระดับนี้เราเรียกว่า ความผิดปกติในระดับของโครโมโซมครับ แต่ยังมีความผิดปกติที่มีระดับเล็กกว่านั้นอีก เราต้องใช้เทคนิคบางอย่าง เพื่อตรวจหาในระดับของยีนครับ

พิธีกร ยีนเล็กกว่าโครโมโซมอีก

นพ.วีรยุทธ ถ้าเราพูดถึงเรื่องของโครโมโซม ถ้าเราดูโดยละเอียดบนโครโมโซมจะมียีนอยู่ ซึ่งมนุษย์เราประมาณกันว่ามียีนอยู่สามถึงสี่หมื่นยีน ในแต่ละยีนจะควบคุมลักษณะต่างๆ เช่น เลือดกรุ๊ปอะไร เป็นเพศชายเพศหญิง ควบคุมให้นิ้วมีห้านิ้ว เพราะฉะนั้นยีนในแต่ละตัวจะทำงานแตกต่างกันออกไปครับ

พิธีกร เด็กคนนี้ดูแล้วก็ไม่น่ามีอะไรผิดปกติ

นพ.วีรยุทธ แต่ในสายตาของนักพันธุศาสตร์ หรือคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะรู้สึกว่าเขาแตกต่างไปจากครอบครัวเขา โดยความแตกต่างนี้จะมีลักษณะบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงลงไปครับ

พิธีกร ถ้าเอาโครโมโซมคนนี้มานับยังเป็น 46 เหมือนเดิม เราต้องไปดูในระดับยีนถึงจะเห็นความผิดปกติ

นพ.วีรยุทธ ใช่ครับ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างกลาง คือ อยู่ระหว่างของโครโมโซมและยีน ต้องใช้การตรวจพิเศษ(ย้อมสี)มาช่วยครับ

พิธีกร ถ้านับโครโมโซมเป็นคู่มีเหมือนคนปกติ ถ้าคนปกติต้องมีสีเขียวและสีแดง แต่ปรากฏว่ามีอยู่คู่หนึ่งที่มีสีเขียวอย่างเดียว สีแดงหายไป

นพ.วีรยุทธ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าของน้องคนนี้เขาขาดไปจริงๆ แต่ขาดไปเล็กพอสมควร

พิธีกร นี่คือกลุ่มอาการ วิลเลี่ยมซินโดม เป็นคนละชนิดกับดาวน์ซินโดม หน้าตาจะแตกต่างออกไป

นพ.วีรยุทธ ใช่ครับ

พิธีกร นี่แค่ 3 ตัวอย่างเท่านั้นครับ ยังมีอีกเยอะมากในเรื่องของโรคทางพันธุกรรม แล้วเราจะมีวิธีอะไรที่จะรู้ได้ก่อนบ้างหรือไม่ครับ

นพ.วีรยุทธ จริงๆแล้วคำตอบอาจจะยังไม่ค่อยน่าพอใจนัก สิ่งที่เราพูดถึงตรงนี้เป็นสาเหตุของทางพันธุกรรม โดยเทคโนโลยี ณ.ปัจจุบันของประเทศไทยก็ไม่ได้ด้อยกว่าต่างประเทศครับ จากประสบการณ์ของเราที่สถาบันราชานุกูล ไม่ว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่แล้ว เราสามารถค้นพบสาเหตุได้ประมาณ 50% เท่านั้นเองครับ

พิธีกร ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศของเอเชียที่มีการศึกษาในเรื่องตรงนี้ ทำไมประเทศไทยถึงได้เข้าไปอยู่ในห้าอันดับได้ครับ

นพ.อุดม การศึกษาด้านพันธุศาสตร์เป็นความจำเป็นสำหรับการทำงานกับภาวะปัญญาอ่อน จริงๆแล้วเราทำงานเรื่องนี้มาประมาณ 30 ปีแล้วครับ เพียงแต่ในช่วงแรกที่เราทำจะเน้นไปในเรื่องของการวินิจฉัยโรค ในช่วงหลังท่านอาจารย์เชาวรา เทียนธนู ซึ่งเป็นคนแรกที่ทำเรื่องนี้อยู่ ท่านได้วางทายาทคือ นายแพทย์วีรยุทธ โดยการส่งไปเรียน

พิธีกร ได้ยินว่าประเทศไทยไม่ได้พึ่งมาก้าวตรงนี้ครับ แต่ทำมาแล้ว 30 ปี

นพ.อุดม สมัยก่อนอาจจะมีปัญหาว่า เทคนิคทางด้านคอมพิวเตอร์ ดิจิตอลเทคโนโลยียังไม่มีและยังไม่ก้าวกระโดดเหมือนสมัยนี้

พิธีกร เมื่อ 30 ปีที่แล้วทำอะไรครับ

นพ.อุดม เราใช้ในเรื่องของการวินิจฉัยตรวจโครโมโซมครับ

พิธีกร สมัยนู้นเห็นแล้ว

นพ.อุดม เห็นแล้วครับ เพียงแต่ว่าในช่วงหลังมามีเทคนิคอื่นที่สามารถทำให้มองเห็นส่วนที่หายไป ทำให้ศึกษาได้ละเอียดมากขึ้น และงานวิจัยชิ้นหนึ่งของเราที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ก็คือ ตอนนี้เห็นก็ดีแล้ว แต่เราจะทำให้เห็นได้มากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ก็เสร็จเกือบ 100% แล้วครับ

พิธีกร เห็นอะไรครับ

นพ.อุดม เห็นโครโมโซมให้มากขึ้น จะทำให้เราสามารถวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น และลดการนำเข้า ในตอนนี้ห้องLAB ของผมจะเป็นจุดที่ต้องจ่ายเงินเยอะที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายสูง ถ้าเราพัฒนา LAB ตรงนี้เสร็จสมบูรณ์ เราจะสามารถลดการนำเข้า เพราะเราทำ LAB ของเราขึ้นมาเอง ซึ่งอันนี้เป็นโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่จวนจะแล้วเสร็จครับ

พิธีกร วันนี้พูดกันคงไม่เพียงพอครับ ยังมีโครงการวิจัยต่างๆที่ดีอยู่ที่สถาบันราชานุกูลครับ เราคงจะต้องมานั่งคุยกันในรายละเอียดอีกทีครับ เด็กดาวน์ซินโดมถึงแม้ไอคิวจะมีปัญหาแต่เขาก็มีความสามารถใช่ไหมครับ

นพ.อุดม จริงๆแล้วเด็กดาวน์ซินโดมไม่ได้เป็นปัญอ่อนทุกคนครับ ในช่วงหลังเราเชื่อว่า ไอคิวที่เราเคยเชื่อว่ามันพัฒนาไม่ได้ ในกลุ่มดาวน์ซินโดมมีงานวิจัยที่บอกว่า ถ้ามีการกระตุ้นที่เหมาะสมไอคิวขยับขึ้นมาได้ครับ

พิธีกร ขึ้นได้นะครับ ดูอย่างสายัญเป็นต้น

นพ.อุดม สายัญพัฒนาขึ้นทุกปีครับ ถ้าเราดูเทปเก่าๆของเขา เราจะเห็นความแตกต่างจากปัจจุบันครับ

พิธีกร เขารับมุขอะไรต่างๆ และเรียนรู้ได้เร็วด้วย

นพ.อุดม เขามีพัฒนาการครับ เพราะถูกกระตุ้น ถูกฝึกอยู่บ่อยๆ

พิธีกร ขึ้นเวทีครั้งหนึ่งได้เยอะแยะ ได้ทั้งความรู้และได้เงินด้วย

นพ.อุดม รายได้โดยเฉลี่ยของสายัญประมาณเดือนละเจ็ดหมื่นบาทครับ

พิธีกร ข้าราชการปริญญาเอกยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเขาเลยครับ ถ้าเราเห็นเหตุ เราจะแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างไรครับ

นพ.วีรยุทธ จริงๆแล้วมีลักษณะบางอย่าง ที่จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงอะไรบ้างหรือไม่ แต่โดยทั่วไปควรเริ่มตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์เสียด้วยซ้ำ อย่างที่เรียนให้ทราบว่ามีปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย และปัจจัยทางพันธุกรรมด้วยที่จะก่อให้เกิดภาวะปัญญาอ่อนขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ทั้งคุณแม่และคุณพ่อต้องดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง และป้องกันโรคหลายๆอย่างที่สามารถป้องกันได้ เช่น เรื่องของหัดเยอรมัน เราทราบว่าถ้าแม่ตั้งครรภ์แล้วเป็นหัดเยอรมันก็มีโอกาสที่ลูกจะเกิดมาพิการได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนก่อนที่จะตั้งครรภ์ครับ เรื่องการได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการวิจัยระยะหลังๆ ที่พบว่าการขาดวิตามินบางตัว(กรดโฟลิค)มีผลต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาท และพบว่าคุณแม่ที่ขาดกรดโฟลิคแล้วตั้งครรภ์ ลูกมีโอกาสที่จะมีปัญหาเรื่องระบบประสาทได้ เช่น ศีรษะเล็ก สมองไม่ปิด กระโหลกไม่ปิด หรือระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติไป

พิธีกร โฟลิคต้องไปหาซื้อกินเองหรือเปล่าครับ

นพ.วีรยุทธ จริงๆแล้วกรดโฟลิคมีในอาหารทั่วๆไปครับ

นพ.อุดม ถ้าคุณแม่ได้รับอาหารครบ คือ ก่อนการตั้งครรภ์ ตอนตั้งครรภ์ ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ครบ เราพบว่ามักจะไม่ค่อยมีปัญหาครับ

พิธีกร ต้องไปซื้อวิตามินมากินเสริมหรือไม่ครับ

นพ.อุดม ถ้าไปฝากครรภ์ที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล อันนี้เป็นสิ่งที่แพทย์จัดการให้อยู่แล้วครับ

พิธีกร แพทย์จัดให้อยู่แล้วครับ

นพ.วีรยุทธ ในระหว่างที่มีการตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลโดยการไปฝากครรภ์จากสถานพยาบาลหรือแพทย์ผู้เกี่ยวข้องครับ เพราะเราสามารถที่จะตรวจได้ว่า น้ำหนักขึ้นน้อยหรือคุณแม่มีความดันโลหิตสูง หรือมีไข่ขาวในปัสสาวะ พวกนี้ก็เป็นความเสี่ยงกับเด็กได้เหมือนกันครับ ในระหว่างการคลอดก็ทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อนได้ เช่น คลอดลำบาก เด็กขาดออกซิเจน หรือเด็กมีการสำลักน้ำคร่ำอะไรต่างๆก็ได้ แม้กระทั่งหลังคลอดเองเด็กก็เกิดปัญญาอ่อนได้ ถ้าเกิดมีอะไรก็ตามที่กระทบกระเทือนกับสมอง เช่น เกิดการติดเชื้อในสมองหรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุ ในต่างประเทศจะบอกว่า หมวกกันน็อคป้องกันปัญญาอ่อนได้ เวลาเราดูภาพยนตร์ต่างประเทศ เราจะเห็นว่าเด็กต่างประเทศเวลาที่เขาขี้จักรยานเขาจะใส่หมวกกันน็อค

พิธีกร เขากันสมองไว้อย่างเต็มที่

ทางบ้าน คุณแม่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ได้กินยาอะไร และตอนนี้กำลังตั้งครรภ์ได้ห้าเดือน สุขภาพอื่นๆปกติดี ขอถามว่าโรคนี้จะมีผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่ จะมีผลอย่างไร และการตรวจน้ำคร่ำจะช่วยอะไรได้บ้างหรือไม่

นพ.วีรยุทธ ในประเด็นของมะเร็ง คงจะไม่สามารถตอบได้ละเอียดมากนัก ผลของมะเร็ง อาจจะทำให้แม่มีโลหิตจางร่วมด้วย หรือภาวะโภชนาการของแม่อาจจะแย่ลงไป ซึ่งอาจจะเกิดผลกับเด็กได้ครับ ซึ่งตรงนี้อยากจะแนะนำให้คุณแม่ได้ปรึกษากับคุณหมอที่ทำการรักษาอยู่ครับ

พิธีกร อาจจะเท่านั้นครับ แต่ถ้าอยู่ในการดูแลของแพทย์ท่านจะดูแลให้ครับ

นพ.อุดม ถ้าดูแลสุขภาพ ดูแลเรื่องอาหารไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่ดี น้ำหนักน้อย ขาดสารอาหาร และไม่มีภาวะซีด ไม่น่าจะมีปัญหาครับ

พิธีกร จำเป็นต้องตรวจน้ำคร่ำหรือไม่ครับ

นพ.วีรยุทธ สำหรับประเด็นเรื่องการตรวจน้ำคร่ำ จะไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งครับ

พิธีกร คนละเรื่องกัน ตรวจน้ำคร่ำเพื่ออะไรครับ

นพ.วีรยุทธ การตรวจน้ำคร่ำ เรามักจะตรวจในช่วงการตั้งครรภ์ระหว่าง 16-20 สัปดาห์ หลักการตรวจน้ำคร่ำ คุณหมอจะใช้เข็มเจาะและดูดน้ำคร่ำออกมาครับ

พิธีกร เพื่อดูความผิดปกติของเด็กในระดับที่เป็นโครโมโซม อย่างนี้ควรจะดูดหรือไม่ครับ

นพ.วีรยุทธ เรื่องมะเร็งไม่ใช่ข้อบ่งชี้ครับ

นพ.อุดม สงสัยว่า คุณแม่จะห่วงว่าลูกในท้องจะมีปัญหาหรือเปล่า ถ้าดูจากตรงนี้ผมคิดว่าไม่ได้มีอะไรที่โยงไปว่าจะก่อให้เกิดปัญหา ยกเว้นว่า ถ้าดูแล้วมีสัญญาณอะไรบางอย่าง ที่เราจะทำส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่มที่เสี่ยง เช่น แม่อายุมากเกินไป อายุน้อยเกินไป และเคยมีประวัติเรื่องของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง อันนั้นเราจะทำครับ แต่ในกรณีนี้เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถ้าสมมุติว่า ภาวะโภชนาการของแม่ยังดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรครับ

พิธีกร อย่างไรก็ตามแต่ ขอให้ปรึกษากับสูตินรีแพทย์ที่ดูแลท่านอยู่ครับ

ทางบ้าน น้องสาวอายุ 36 ปี ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน เป็นครรภ์แรก ตรวจน้ำคร่ำพบว่าโครโมโซมคู่ที่ 9 กลับหัวกลับหางกัน ขอถามว่าเป็นโรคอะไรได้บ้าง ต้องปฏิบัติตนอย่างไร

นพ.วีรยุทธ โครโมโซมคู่ที่ 9 เป็นตัวซึ่งเจอว่ามีการกลับได้ค่อนข้างเยอะ ตำแหน่งที่พบว่ามีการกลับได้บ่อยที่สุด จะเป็นตำแหน่งที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งการกลับตรงนี้เราพบได้ในคนปกติทั่วๆไป แต่ในคำถามนี้จะต้องดูในรายละเอียดอีกทีว่า คำว่ากลับกัน กว้างกว่านั้นหรือไม่ เช่น สมมุติว่า มีการกลับตั้งแต่ตำแหน่งตรงนี้จนกระทั่งถึงตำแหน่งตรงนี้ อันนี้อาจจะมีปัญหา แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเราตรวจพบว่ามีโครโมโซมผิดปกติจากการเจาะน้ำคร่ำ เรามักจะต้องตรวจในคุณพ่อคุณแม่ด้วยครับ เพราะเราพบในหลายกรณีเหมือนกันว่า คุณพ่อคุณแม่ก็มีลักษณะแบบนี้ โดยไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น เราเจอในหลายๆ รายที่ไม่ใช่เป็นโครโมโซมกลับอย่างเดียว อาจจะเป็นการสลับที่กัน เบอร์6 สลับไปอยู่เบอร์2 หรืออะไรทำนองนี้ครับ

พิธีกร ไม่เป็นอะไรครับ เพราะฉะนั้นต้องให้คุณหมอดูแลอย่างใกล้ชิดครับ

นพ.วีรยุทธ เพราะฉะนั้นถ้าเจอตรงนี้แล้ว ส่วนใหญ่คุณหมอที่เจาะน้ำคร่ำ มักจะต้องขอเจาะตรวจคุณพ่อคุณแม่ดูด้วยครับ หลังจากนั้นคุณหมอจะให้คำแนะนำต่อไปครับ

ทางบ้าน ที่ว่าเด็กไทยไอคิวต่ำนั้น ทำไมถึงแข่งโอลิมปิกวิชาการ ได้เหรียญทองมามายมายหลายสาขา หรืออาจจะเป็นเพราะคนที่มีปัญญาเลี้ยงลูกมีลูกน้อยลง คนไม่มีปัญญาเลี้ยงลูกมีลูกมากขึ้น สัดส่วนเด็กที่ไม่มีคุณภาพก็เลยมากกว่าเด็กที่มีคุณภาพ อาจจะเป็นปัญหาที่ทำให้ไอคิวโดยเฉลี่ยลดลงหรือเปล่า

นพ.อุดม จริงๆแล้วไอคิวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ผมไม่คิดว่าเกิดจากความผิดปกติที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นก็คือ การขาดการกระตุ้นที่เหมาะสมครับ ไม่ได้หมายความว่าเด็กไทยไม่เก่งนะครับ จะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เก่ง เพราะถูกกระตุ้นได้เหมาะสม ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่จะมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อาจจะทำให้ค่าเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆก็คือ ในช่วงสองสามขวบปีแรกซึ่งเป็นวัยสำคัญ เขาขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม ก็เลยทำให้สมองไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นเหตุทำให้คะแนนของเราต่ำลงมาครับ

พิธีกร อย่างไรก็ตามแต่ครับ มีสูงๆเยอะๆก็ดี แต่ขณะเดียวกันก็มีต่ำๆ เยอะๆ ตรงนี้มากๆ  ก็เป็นพวกกลุ่มดาวน์ มันก็สมดุลกัน จึงไม่ทำให้ค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป ไม่ลงไปอย่างนี้ใช่ไหมครับ

นพ.อุดม ก็อาจจะเป็นอย่างนั้นครับ

พิธีกร ค่าเฉลี่ยของการตรวจจะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว มีทั้งสูง มีทั้งต่ำ

นพ.อุดม ถ้ามีต่ำมากๆ มันก็ไม่ดี เราก็อยากจะให้มีสูงๆมากๆครับ เพราะตอนนี้ที่เราทำเรื่องงานวิจัยทางพันธุศาสตร์ก็เพื่อ อะไรที่เรายังไม่รู้หรือยังรักษาไม่ได้ เราพยามจะเดินเข้าไปสู่ตรงนี้ ถ้าเราสามารถป้องกันดาวน์ซินโดมได้ ถ้าเราสามารถรักษาได้ ต่อไปเราอาจจะมองถึงเรื่องวิศวพันธุศาสตร์อะไรพวกนี้ มีการดัดแปลงยีน ตัดต่อยีน และมีวิธีการรักษาในอนาคตครับ


พิธีกร
 วันนี้เราได้ความรู้ในเรื่องของทางด้านไอคิวของเด็กที่ต่ำ มีทางแก้ไขยังไงได้บ้าง โยงไปถึงความรู้ในเรื่องของพันธุศาสตร์ ซึ่งวิทยากรรับเชิญทั้งสองท่าน ได้มาให้ความรู้กับเราในวันนี้ แต่แค่นี้คงยังไม่พอครับ ผมคงต้องขอเรียนเชิญอาจารย์ในครั้งหน้าอีกสักครั้งหนึ่ง จะเน้นเรื่องการตรวจน้ำคร่ำ เรื่องการตรวจเซลล์ ตรวจโครโมโซม โดยเฉพาะเลยครับ ขอกราบขอบพระคุณวิทยากรทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่งครับ
ที่มา https://www.thaihealth.net/h/article459.html

อัพเดทล่าสุด