แผลเป็นนูน(Keloidsหรือ Hypertrophic Scar)


2,496 ผู้ชม


  • แผลเป็นรอยนูน( Keloids) เป็นผลจากการเรียงตัวผิดปกติ ของการหายของแผล ซึ่งอาจเกิดจาก อุบัติเหตุ แผลไฟไหม้ แผลผ่าตัด หรือ แ�
��ลติดเชื้อ โดยมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเป็นก้อนค่อนข้างแข็ง มีสีคล้ายสีของผิวหนัง หรืออาจสีคล้ำ หรือ แดง ( ดูภาพประกอบ รูปที่ 1 )
  • ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ อกด้านบน ใบหู คาง ไหล่ คอ หลัง ท้อง และขา
  • แพทย์บางท่าน แยกคำจัดความของ Keloids เป็นแผลนูนหนาที่เกิดเลยขอบเขตของแผลเดิม และ Hypertrophic Scar คือรอยแผลนูนหนาที่เกิดเฉพาะบริเวณแผลเดิม เพราะ Keloids อาจเป็นมากขึ้น และดื้อต่อการรักษา อาจมีการอักเสบเป็นหนอง หรือ โตเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ ไม่ได้ถูกกระทบกระเทือน ส่วน Hypertrophic Scar อาจจะค่อยๆ ราบเหลือเป็นรอยสีขาวๆ และราบหายไป ภายใน 6-24 เดือน
  • การรักษาแผลเป็นนูนหนา ( Keloid) 
        1. การฉีดยา Corticosteroids เช่น Kenacort เฉพาะที่บริเวณ keloids โดยเชื่อว่ายาจะไปลดการสร้างคอลลาเจน และเนื้อเยื่อบริเวณคีลอยด์ ลดอาการอักเสบ ทำให้ลดขนาดลง ไม่โตขึ้น และมักใช้กรณีที่ keloids มีเจ็บปวด หรือขนาดใหญ่มาก ทำให้ขาดความสวยงาม ฉีดได้ทุก 2 อาทิตย์ ถ้ายังยุบไม่หมด อาจผสม ยาชาร่วมด้วย ในแพทย์บางท่านจะนิยมฉีดคีลอยด์ ด้วยยา Corticosteroid ประมาณ 1เดือนก่อนผ่าตัด และฉีดซ้ำหลังผ่าตัดอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ และดูผลและฉีดซ้ำ ทุกเดือนจนครบ 6 เดือน 
        2. การจี้ด้วยไอเย็นจากไนโตรเจนเหลว มักทำร่วมกับการฉีดคีลอยด์ด้วยยา Corticosteroid 
        3. การผ่าตัดแล้วเย็บปิด แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นที่เดิมได้ 60 % มักป้องกันโดยฉีดยาในข้อ 1 ตรงแผลผ่าตัด และนัดมาฉีดยาซ้ำตามข้อ 1 แล้วนัดดูผลประมาณ 2 ปี 
        4. การแต้มด้วย 50 % TCA มักใช้ในกรณีที่ Keloids เริ่มยุบตัวได้ดี และทำให้หลุดลอกออก 
        5. การตัดออกด้วยเลเซอร์( CO2 Laser) จะได้ผลดีเฉพาะคีลอยด์บริเวณใบหู ส่วนการตัดออกด้วย CO2 laser บริเวณหน้าอกและไหล่ได้ผลไม่ดีนัก มักเป็นซ้ำและมากกว่าเดิม ประมาณ 55 % ในความเห็นของผู้เขียนไม่ค่อยแนะนำให้ทำเลเซอร์รักษาคีลอยด์ 
        6. การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้า โดยการใช้กระแสไฟฟ้าบวก ได้มีรายงานว่าได้ผลดี แต่ยังอยู่ในการศึกษากันอยู่ 
        7. การใช้ Silicone gel หรือ Plaster ที่ประกอบด้วย Polymethylsilicone polymer แปะบนผิวของคีลอยด์ พบว่าได้ผลดีเฉพาะในกรณีลดอาการคันและเจ็บ โดยแปะอย่างน้อย 12 ชม.ต่อวัน แต่การป้องกันและรักษา Keloids ยังไม่มีรายงานระบุชัดว่าได้ผลดี 
    8. ครีมรักษาแผลเป็นนูน : ปัจจุบันมีครีมชนิดหนึ่งที่ได้รับการรับรองจากหลายสถาบันแพทย์ผิวหนังในหลายประเทศ ว่าช่วยทำให้แผลเป็นนูนดีขึ้น ได้แก่กลุ่มสารออกฤทธิ์ที่สำคัญสองชนิดคือ สารสกัดจากหัวหอมที่ชื่อว่า Cepalin และสาร Allantoin ที่ช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัด รอยเย็บแผล ทำให้แผลเป็นนูน นุ่มขึ้นและราบลง ซึ่งอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=3&&col_id=225 
        9. การใช้ผ้ารัด หรือ อีลาสติก รัดและกดให้แน่น เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของคีลอยด์ มักใช้หลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีคีลอยด์ได้ง่าย แต่ก็มีข้อลำบากในการทำ เพราะต้องกดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลานานต่อเนื่อง ถึง 1-2 ปี และใช้แรงกดประมาณ 25-40 ทอรร์ ซึ่งไม่ค่อยนิยมกัน และไม่ค่อยได้ผล ถ้าคีลอยด์มีอายุมากกว่า 6-12 เดิอน
  • ข้อแนะนำในคนที่มีประวัติ Keloids มาก่อน และป้องกันไม่ให้มี Keloids ในตำแหน่งอื่นๆ ได้อีก ควรปฏิบัติตนดังนี้ 
        1. หลีกเลี่ยงการผ่าตัดในผู้ที่เคยมีรอยแผลเป็นนูนหนา เพราะแผลผ่าตัดใหม่อาจเกิดKeloids ใหม่และเป็นมากขึ้น 
        2. หลีกเลี่ยงการจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า ในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็น Keloids 
        3. เมื่อเป็นสิว หรือ ต่อมเหงื่ออักเสบ ควรรีบพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ หรือ Isotretinoin อย่างเต็มที่ เพราะถ้าปล่อยให้แผลหายเอง อาจเกิด keloids ได้ 
        4. ไม่ควรเจาะหูเพื่อใส่ตุ้มหู ในคนประเภทนี้ ถ้าทำควรระมัดระวัง เรื่องความสะอาด การติดเชื้อ เพราะจะเกิดรอยแผลเป็นนูนหนาได้ง่าย
  • ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการรักษา keloids ที่ได้ผล หายดี 100 % ดังนั้นการรักษาแบบผสมผสานหลายๆ วิธีข้างต้น จึงยังเป็นการรักษาที่ดีที่สุด แม้จะได้มีการค้นคิดวิธีต่างๆ แต่ก็อยู่ในช่วงวิจัยและทดลองกันอยู่มาก ดังนั้นการป้องกันการเกิด Keloids จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 
    เรียบเรียงใหม่ โดยนพ. จรัสพล รินทระ ......................06/07/2004

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=3&sdata=&col_id=55

อัพเดทล่าสุด